Skip to main content

"ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" กับ "ภาพลวงประวัติศาสตร์ของคนไทย" (3)

คอลัมน์/ชุมชน


"อิสรภาพที่ไม่มีอยู่จริง"


 


                        " สมเด็จพระนเรศวร จึงออกพระโอษฐ์ตรัสประกาศแก่เทพยเจ้าทั้งหลาย


อันมีอิทธิฤทธิ์และทิพจักขุ ทิพโสต ซึ่งสถิตอยู่ทุกทิศานุทิศจงเป็นทิพยาน


ด้วยพระเจ้าหงหงสาวดีมิได้ตั้งอยู่โดยคลองสุจริตมิตรภาพขัตติยประเพณี


เสียสามัคคีรสธรรม ประพฤติพาลทุจริต คิดจะทำภยันตรายแก่เรา ตั้งแต่วันนี้ไป


กรุงพระมหานครศรีอยุธยากับเมืองหงสาวดี มิได้เป็นสุวรรณปฐพีเดียวดุจหนึ่งแต่ก่อน


ขาดจากกันแต่วันนี้ไป ตราบเท่ากัลปาวสาน"


                                                            สมเด็จพระนเรศวรมหาราช


                                                            ใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา


                                                                                    (ชำระขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔)


 


เย็นวันหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ เสียงดังกล่าวก้องในหัวขณะที่ผมเดินออกจากโรงภาพยนตร์ด้วยความรู้สึกกระอักกระอ่วน


 


ทั้งที่ "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๒ ประกาศอิสรภาพ" ดีกว่าภาคแรกหลายจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มเติมตัวละครที่ในประวัติศาสตร์จริงๆ ไม่มีเพื่อสร้างสีสันให้ภาพยนตร์ เช่น เลอขิ่น พระธิดาของกษัตริย์เมืองคังที่ออกญาราชมนูหลงรักแล้วเกี้ยวพาราสีจนเกิดบทรักสไตล์ตะวันตกขึ้น


 



 


ในฐานะที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้คนไทยซึ่งมีความคิดและมีข้อมูลชุดหนึ่งได้ข้อยุติในระดับหนึ่งเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรดู (บทสัมภาษณ์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ใน "ตามรอยนเรศวรมหาราช นอกกรอบประวัติศาสตร์ชาตินิยม" นิตยสาร สารคดี  ฉบับ ธ..2549) ก็คงไม่เสียหายอะไร ซ้ำยังทำให้ตัวละครในประวัติศาสตร์มีชีวิตและใกล้ชิดคนดูยิ่งขึ้นด้วยการแสดงความเป็นมนุษย์ที่มีรัก โลภ โกรธ หลง


 


แต่ - - ฉากทั้งหลายต่อไปนี้จนถึงฉากประกาศอิสรภาพก็น่ากลัวที่จะทำให้คนไทยจำนวนหนึ่ง (และผมเชื่อว่าเป็นจำนวนมากเสียด้วย) เชื่อว่ามันเป็น "เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์" โดยไม่มีการพินิจพิเคราะห์ เนื่องจากมันถูก "ผลิตซ้ำ" ผ่านแบบเรียนระดับมัธยมที่เด็กไทยเมื่อวันวาน (ซึ่งกลายเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้) และเด็กไทยวันนี้ (ที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า) อ่านกันมาเกือบครึ่งศตวรรษ


 


และบางฉาก ก็ควรที่จะต้องมีการทำความเข้าใจเพิ่มเติม


 


ฉากแรก คือฉากพระนเรศวรประพาสต้นซึ่งท่านมุ้ยใช้ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาฉบับ "วันวลิต" แทบทั้งดุ้นมาสร้าง


ทั้งนี้ "วันวลิต" หรือ "เยเรมีส ฟาน ฟลีต" (Jeremes Van Vlite) เป็นพ่อค้าชาวฮอลันดาที่มาเยือนกรุงศรีอยุธยาหลังสมเด็จพระนเรศวรสวรรคต 48 ปี (ปี 2182) แล้วบันทึกเรื่องของกษัตริย์อยุธยาตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าอู่ทองไปจนถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ โดยใช้วิธีจดปากคำชาวอยุธยาแล้วทำเป็นรายงานเสนอกลับไปยังบริษัทแม่


 


กล่าวกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ว่า ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต "มีสีสัน" และ "อ่านสนุก" กว่าประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาฉบับอื่นที่ตกทอดถึงคนรุ่นปัจจุบัน  เพราะเป็นการมองอยุธยาจากสายตาชาวต่างชาติ สะท้อนแง่มุมแปลกๆ แตกต่างจากพงศาวดารขนบเดิมๆ ซึ่งมักบันทึกแบบ "เฉลิมพระเกียรติ" จนเกินจริง แต่หลายเรื่องก็ต้องระวังในแง่ของความถูกต้อง เพราะอย่างไรก็ดีวันวลิตเป็นชาวต่างชาติ จึงยังไม่สามารถเข้าใจวัฒนธรรมของชาวอยุธยาได้ทั้งหมด


 


เนื้อหาที่ท่านมุ้ยมาก็คือ ตอนที่วันวลิตที่เล่าเรื่องพระนเรศวรประพาสต้นแล้วเจอฝนห่าใหญ่จนต้องหลบไปพักในบ้านหญิงชรานางหนึ่ง ซึ่งหญิงชรานั้นก็ได้เตือนพระองค์ว่าไม่ควรส่งเสียงดัง เพราะได้ข่าวว่ากษัตริย์จะมาแถบนี้ ทั้งได้เตือนว่าอย่ารับประทานน้ำตาลเมาเพื่อแก้หนาว เพราะอยู่ในช่วงเข้าพรรษา แต่พระองค์ก็ทำทุกอย่างที่นางห้าม ซึ่งภายหลังวันวลิตก็ระบุว่า พระองค์กลับสู่พระราชวังแล้วนำหญิงชราคนนั้นมาเลี้ยงดูเหมือนมารดาด้วยความกตัญญู


 


นั่นคือต้นฉบับ - - แต่สิ่งที่ปรากฎในภาพยนตร์คือ การสอดแทรกความทุกข์ร้อนของราษฎรซึ่งลูกหลานถูกเกณฑ์ไปรบผ่านหญิงชราซึ่งเอ่ยถึงการสูญเสียลูกชายเพราะ "องค์ดำเอาแต่เล่นศึกไม่รู้วาย" โดยนางเองต้องใช้ชีวิตอย่างลำบากเพราะตาบอดสนิท


 


ไม่มีประวัติศาสตร์ฉบับทางการของอยุธยาฉบับใดกล้าเขียนถึงเรื่องนี้


ท่านมุ้ยเขียนบทให้สมเด็จพระนเรศวรทรงดำริอะไรบางอย่าง แต่ในที่สุดก็ตัดสินพระทัยทำสงครามต่อ


 


สำหรับผม ฉากนี้สำคัญมาก เพราะเป็นการเปิดมุมมองใหม่ทางประวัติศาสตร์ เป็นการตอกย้ำว่าสงครามไม่เคยให้อะไรกับประชาชนมาตั้งแต่สมัยอดีตกาล


 


แต่น่าผิดหวังตรงที่ "ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ภาคนี้สื่อต่อไปว่า พระนเรศวรทรงเด็ดเดี่ยวตัดสินใจรบต่อ เอาชีวิตไพร่ (ย้ำว่า "ไพร่" มิใช่ "ประชาชนหรือพลเมือง") ในอาณาจักรไปแลกกับอิสรภาพของอาณาจักร ซึ่ง….ฟังดูดี ถ้า "อาณาจักรสมัยโบราณ" มีค่าเท่ากับ "รัฐประชาชาติ" สมัยปัจจุบัน


 


แต่ความจริง อาณาจักรสมัยโบราณอย่างอยุธยา แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ "รัฐประชาชาติ" สมัยนี้ 


 


 


 


มีงานวิชาการหลายชิ้นของนักประวัติศาสตร์ไทยสนับสนุนเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นงานของ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล  งานของ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หรือแม้แต่งานของอาจารย์ต่างประเทศอย่าง เบเนเดิก แอนเดอร์สัน ที่เล่าถึง "ชุมชนในจินตนาการ" (Imagined Community) ซึ่งก่อตัวขึ้นในศตวรรษที่ 19 อันเป็นต้นกำเนิดของรัฐประชาชาติในยุคปัจจุบันนั่นเอง


 


อาจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศนันต์ ซึ่งปัจจุบันศึกษาระดับปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์อยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าให้ผมฟังว่า การรบในสมัยโบราณมิได้เป็นการรบเพื่อปกป้อง "ประเทศ" หรือ "รัฐชาติ" ซึ่งมีอาณาเขตแน่นอนเหมือนปัจจุบันแต่อย่างใด กลับกัน มันคือสงครามระหว่างรัฐราชวงศ์ เรียกตามภาษาชาวบ้านว่าสงครามของพระราชา ซึ่งองค์หนึ่งต้องการมีอำนาจเหนืออีกองค์หนึ่ง เพื่อแสดงบุญญาบารมีตามคติ "จักรพรรดิราช" นั่นเอง - - สงครามจึงเกิดขึ้นเพียงเพราะพระราชาต้องการจะเพิ่มอำนาจ ทั้งนี้ ในยุคโบราณ อำนาจยังหมายถึง "กำลังคน" ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดที่จะให้ประชากรเพิ่มขึ้นก็คือการไปกวาดต้อนผู้คนอีกเมืองหนึ่งมาไว้ในเมืองของตน


 


ซึ่งย่อมหนีไม่พ้นการทำสงคราม


 


และเมื่อได้ชัยชนะ ก็ต้อง "เก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง" กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินที่ยึดได้กลับไปเมืองของตน ชาวบ้านซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่กับการต่อสู้ของพระราชา ๒ องค์ ก็ต้องเผชิญการปล้น ฆ่า ข่มขืน จากกองทหารอีกฝ่าย เพราะพวกเขาจากบ้านมานานหลายปี ต้องเตรียมเสบียงอาหารเองไม่มีกองพลาธิการแบบกองทหารสมัยใหม่ ทำให้มีลักษณะอดๆ อยากๆ พร้อมที่จะแสดงสันดานดิบออกมาตลอดเวลา


 


นี่คือเรื่องธรรมดาของสงครามสมัยโบราณ นี่คือ "ค่าปฏิกรณ์สงคราม" ในยุคนั้น


 


ดังนั้นการที่บุเรงนองมาตีกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ ๑ อย่าคิดว่าท่านได้ปล้นอยุธยานะครับ ตรงกันข้าม ปล้นจนหนำใจทีเดียว จนเหลืออะไรให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาไม่มากนัก


 


การที่สมเด็จพระนเรศวรตัดสินพระทัยรบต่อ ก็เท่ากับพระองค์ตีความว่าความเป็นอิสระของ "อาณาจักร" ที่มีพระราชาเป็นเจ้าของ สำคัญกว่า "ชีวิตไพร่" ที่มีค่าเป็นแค่ "เบี้ย" มากมายนัก


 


ทรงเลือก "รบ" เพื่อกอบกู้อาณาจักรมากกว่าสนใจความทุกข์ยากของราษฏรโดยปรับเปลี่ยนนโยบายการรุกไปในแดนศัตรูมาเป็นเน้นป้องกันประเทศและฟื้นฟูความเป็นอยู่ของประชาชน


 


ซึ่งนั่นเป็นเรื่องธรรมดาของกษัตริย์โบราณ  และคนรุ่นปัจจุบันอย่างผมว่าพระองค์ได้ลำบาก  อีกทั้งโลกทัศน์ของพระองค์ก็ต่างกับคนสมัยปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง เพราะรัฐโบราณเป็นของ "พระราชา" มิใช่เป็น "ประเทศของประชาชน" เหมือนสมัยนี้ (ซึ่งขณะนี้ ก็น่าจะตั้งคำถามเช่นกัน ว่าบางประเทศในอาเซียนขณะนี้เป็นของประชาชนแน่หรือ)


 


เพียงแต่อย่าเอามาให้น้ำหนักเท่ากับ "ชาติ" ในสมัยนี้เท่านั้น เพราะมันผิดตรรกะ


 


สิ่งที่ท่านมุ้ยคิดไม่ถึงในการนำเสนอสิ่งที่วันวลิตบันทึกคือ มันสื่อสารชะตากรรมของชาวบ้านยุคโบราณออกมาว่าต้องเผชิญ "ราชภัย" (ภัยจากพระราชา) อยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีสิทธิใดๆ ในการปกครองและตัดสินชะตากรรมตนเอง ทั้งในยามที่รัฐพระราชานั้น "เป็นเอกราช" หรือ "เสียเอกราช"


 


ลองอ่านขุนช้างขุนแผน ท่านผู้อ่านจะยิ่งเข้าใจเรื่อง "ราชภัย" มากขึ้น       


 


ชาวอยุธยาสมัยสมเด็จพระนเรศวรนั้น จึงมิได้มีสถานะเป็น "พลเมือง" ที่มีสิทธิมีเสียงเหมือนประชาชนในประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยซึ่งเพิ่งก่อกำเนิดขึ้นในช่วง 200 ปีให้หลังนี้แต่อย่างใด 


และไพร่ยุคนั้นก็ใช่จะภูมิใจกับการรบของพระราชาแต่อย่างใด เพราะซวยตลอดศก


 


เกินไปไหม ถ้าจะบอกว่าการกู้ชาติยุคนั้น เป็นไปเพื่อให้ชนชั้นปกครองได้สุขสบายเก็บภาษีในราชอาณาจักรของตนเองต่อไปได้โดยอิสระ ซึ่งส่งผลให้ผมดูฉากประกาศอิสรภาพที่เมืองแครงด้วยความพะอืดพะอม เพราะพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ ซึ่งบันทึกขึ้นใกล้ช่วงดังกล่าวมากที่สุด ก็กล่าวเพียงว่าทรงเสด็จไปถึงเมืองแครงแล้วเสด็จกลับโดยไม่พูดถึงสถานการณ์สำคัญระดับประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้นเป็นตุเป็นตะในหัวของคนยุคนี้แต่อย่างใด


 


เหตุการณ์ระดับนี้ ผมไม่เข้าใจว่าผู้ที่มีหน้าที่บันทึกในสมัยนั้นตกหล่นไปได้อย่างไร


 


และถ้ามีการประกาศอิสรภาพจริง มันก็คงมีแต่อิสรภาพของ "ราชวงศ์สุโขทัย" ของพระนเรศวรเท่านั้นที่อาจจะถูกประกาศขึ้นในสมัยนั้น เพื่อให้สามารถบริหารอยุธยาและเก็บภาษีจากเมืองขึ้นได้อย่างอิสระโดยไม่มีเจ้าจากอีกเมืองหนึ่งมาคุม


 


แถมการเอามาทำเป็นรูปธรรมในภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังมีบทให้ทหารโห่ร้องแล้วตะโกนพระนาม "นเรศวร" ออกมาจนอึกทึกลั่นท้องทุ่งเมืองแครงไปหมด ซึ่งถ้าเป็นเรื่องจริง โดยประเพณีต้องนั่งลงแล้วหมอบกราบอย่างเดียว


 


ชูมือ ชูแขน ชูดาบ หัวขาดถ้วนหน้าครับ !


 


ท่านมุ้ยคงได้รับอิทธิพลหนังฝรั่งมากไปหน่อย เช่นเดียวกับคนไทยที่ดูฉากนี้ได้อย่างไม่ขัดเขิน


 


อีกฉากหนึ่งซึ่งผมค่อนข้างรู้สึกแย่ก็คือ การให้บทชนเผ่านาคา ซึ่งเข้าใจว่าท่านผู้กำกับคงหมายถึงชนเผ่าในดินแดน "นากาแลนด์" ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศพม่า ซึ่งจริงๆ แล้วชนเผ่านี้คือชนเผ่านักรบที่มีอารยธรรมเผ่าหนึ่งซึ่งปัจจุบันกำลังต่อสู้เพื่อแยกตัวออกจากประเทศอินเดีย


 


ดังนั้น การให้บทว่าชนเผ่านี้ไปลอบฆ่าพระธิดาเมืองคัง ไปลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระนเรศวร เป็นการสร้างภาพผู้ร้ายให้ชนเผ่านี้โดยที่เผลอๆ บรรพบุรุษของพวกเขาไม่เคยรู้เรื่องของอยุธยาด้วยซ้ำ


 


ท่านมุ้ยกำลังสร้างหนังที่ชูชาติไทยในขณะนี้ แต่กำลังเหยียดชนเผ่าเล็กๆ ในอินเดียซึ่งไม่มีทางแก้ตัวกับสังคมโลกเพราะเขาอยู่ในฐานกบฏของรัฐบาลอินเดียด้วยความสนุกสนานสะใจ


 


ขณะนี้ทุกคนชื่นชมหนังตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  แต่เหมือนกับเป็นการชื่นชมแบบขาดสติ และดูเอามัน เอาบันเทิงทอย่างเดียว โดยอ้างว่ามันเป็นแค่ "หนัง"


 


ผมไม่ได้อิจฉาท่านมุ้ย และไม่รู้ด้วยว่าชาติก่อนเคยเกิดเป็นคนพม่าหรือไม่ และถ้าเกิดเป็นพม่าจริงจะผิดตรงไหน เพราะราษฎรสามัญของพม่าที่พบขณะผมสัญจรไปพม่าเมื่อปีก่อนเพื่อค้นคว้าเรื่องพระนเรศวรนั้นเขารักสันติภาพไม่แพ้คนไทย เขายังบอกว่าผมว่าเราโชคดีที่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยซึ่งเขาไม่เคยได้สัมผัส


 


ผมได้จับไม้จับมือกับผู้อาวุโสชาวพม่าหลายท่านในฐานะ "มิตร" และ "มนุษย์ร่วมโลก" ที่มีบ้านเรือนเคียงกัน สถานการณ์ การวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว ทำให้ผมนึกถึงการเมืองไทยสมัยนี้ ที่ใครหลายคนก็คงยังไม่เห็นภัยบางอย่างที่ปกคลุมประเทศนี้มาหลายสิบปี


 


ถึงที่สุด ผมกำลังบอกว่า "คุณผู้อ่านทุกคน" คือเจ้าของประเทศและสมมติบรรพบุรุษพวกเราอยู่ในกองทัพสมเด็จพระนเรศวรจริง พวกเขาก็ควรมีพื้นที่ให้เรารู้ชะตากรรมในตำราเรียนหรือภาพยนตร์ด้วยมิใช่หรือ


 


ควรที่จะมีการชี้แจง ให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยที่พวกเราควรจะภูมิใจร่วมกันมากกว่านี้มิใช่หรือ เพราะในกองทัพของพระองค์นั้น ประกอบไปด้วยชาวล้านนา ชาวมอญ และชาวต่างๆ อีกมากมายเหลือคณาที่ตายไปโดยไม่ได้จารึกนาม


 


ปัญหาขณะนี้คือ ท่านมุ้ยสร้าง "ตำนาน" แต่คนไทยส่วนหนึ่งคิดว่าท่าน "สร้างเรื่องจริง" โดยมีการประโคมของพวกล้าหลังคลั่งชาติเป็นหางเครื่องและไม่มีการให้ปัญญากับคนดูนั่นเอง