Skip to main content

จับตามาตรา 276 กฎหมายที่ (อาจ) จะเกี่ยวข้องกับคนทุกเพศ

คอลัมน์/ชุมชน

ช่วงที่ไม่มีตัวแทนจากประชาชนเข้าไปนั่งในสภานี่ กฎหมายแต่ละฉบับผ่านกันออกมาเร็วเหลือเกินค่ะ ได้ยินบางคนเปรียบไว้ว่าช่วงนี้ร่างกฎหมายเหมือนขึ้นทางด่วน  ได้รับการพิจารณาและผ่านออกไปฉลุย ไม่เหมือนแต่ก่อน (สมัยมีผู้แทนจากการเลือกตั้ง) ร่างแต่ละร่างเหมือนจะติดแหง่กอยู่บนถนน ผ่านยากผ่านเย็นเหลือเกิน


 


ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เห็นการผ่านกฎหมายอย่างรวดเร็วเช่นนี้ก็น่าวิตกอยู่  แม้บางกฎหมายจะดูก้าวหน้าดีก็ตาม แต่ก็มีอันตรายแฝงอยู่เช่นกัน เพราะประชาชนมีเวลารับรู้ข้อมูลของกฎหมายแต่ละฉบับไม่มากนักหรือไม่ก็ไม่ได้รับรู้เลย มารู้ตัวอีกทีก็สายเสียแล้ว คือกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราก็ออกมาบังคับใช้เสียแล้ว  นี่เป็นผลข้อหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากการที่เราไม่มีผู้แทน


 


กฎหมายอาญามาตรา 276 ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกฎหมายที่กำลังขึ้นทางด่วนอยู่ในขณะนี้  กลุ่มองค์กรผู้หญิงเคยพยายามแก้ไขกฎหมายมาตรานี้มานับสิบปีแล้ว แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ขณะนี้ร่างกฎหมายที่ผ่านการแก้ไขเพิ่มเติม ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการกลั่นกรองกฎหมาย และกำลังรอเข้าวาระสามของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว


 


ฉันได้ไปฟังการประชุมของเครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศที่กำลังติดตามร่างกฎหมายนี้อยู่ เลยอยากนำข้อมูลบางส่วนที่ได้ไปรับรู้มาแบ่งปันค่ะ ก่อนที่ร่างนี้จะขึ้นทางด่วนผ่านฉลุยไปอีกร่าง เพราะกฎหมายนี้ถ้าผ่านออกมาแล้วจะเกี่ยวข้องกับคนทุกเพศ ไม่เฉพาะแต่หญิงชายเท่านั้น  


 


มาตรา 276 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการข่มขืนค่ะ กฎหมายที่มีผลบังคับใช้กันอยู่ในขณะนี้ขึ้นต้นว่า "ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตน..." (ต่อด้วยการระบุโทษของการข่มขืน) พูดง่าย ๆ ก็คือถ้าสามีข่มขืนภรรยาของตนเอง จะไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย  นี่ก็เท่ากับว่าเวลาที่ผู้หญิงกับผู้ชายไปจดทะเบียนสมรสกัน ก็เป็นการให้ใบเบิกทางให้ผู้ชายสามารถข่มขืนผู้หญิงคนนี้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย


 


บางคนก็มองว่า อ้าว ก็เป็นผัวเมียกันมันก็ต้องมีอะไรกันสิ จะเรียกว่าข่มขืนได้ยังไง  มีหลายกรณีค่ะที่ถือว่าเป็นการข่มขืน เช่นอาจจะเป็นกรณีที่สามีบังคับภรรยาให้มีเพศสัมพันธ์ด้วยโดยภรรยาไม่ยินยอมพร้อมใจ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางสุขภาพและเหตุผลทางภาวะอารมณ์ หรือกรณีที่สามีภรรยาได้แยกกันอยู่แล้ว หรือกำลังอยู่ในการฟ้องหย่า ซึ่งในกรณีเช่นนี้กฎหมายนี้จะไม่คุ้มครองภรรยา กรณีภรรยาฟ้องสามีว่าข่มขืนตนตามเหตุผลที่ว่ามานี้เคยเกิดขึ้นจริงค่ะ แต่ผลคือ ศาลพิจารณาตามมาตรานี้ว่าสามีไม่มีความผิดและยกฟ้อง


 


ทีนี้เรามาดูกันนะคะว่าร่างใหม่ที่กำลังรอเข้าวาระสามอยู่นั้นแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง ร่างใหม่นี้มีเนื้อหาโดยครบความดังนี้ค่ะ


 


"มาตรา 276 ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันถึงสี่หมื่นบาท


 


การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำสอดเข้าไปในอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น และการใช้สิ่งอื่นใดสอดเข้าไปในอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น


 


ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต


 


ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำความผิดระหว่างคู่สมรส และคู่สมรสนั้นยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้หรือจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติแทนการลงโทษก็ได้"


 


ย่อหน้าที่ขีดเส้นใต้นั้น หมายถึงว่าสามารถมีการแปรญัตติกันได้อีก ส่วนย่อหน้าที่ไม่ขีดเส้นใต้จะไม่มีการแปรญัตติอีกแล้ว  ลองมาดูกันไปทีละย่อหน้านะคะ  ย่อหน้าแรกนั้น เปลี่ยนจากเดิมคือ "การกระทำชำเราหญิงซึ่งไม่ใช่ภริยาของตน" เป็น "การกระทำชำเราผู้อื่น" ซึ่งข้อดีของการเปลี่ยนเช่นนี้จะทำให้ผู้ถูกกระทำทุกคน ทั้งผู้หญิงที่เป็นภรรยาและไม่ใช่ภรรยาของผู้กระทำได้รับความคุ้มครอง รวมถึงคุ้มครองไปถึงเด็กชาย และคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็จะได้รับความคุ้มครองด้วย


 


บางคนอาจจะไม่เข้าใจว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศนี้จะถูกข่มขืนได้ด้วยหรือ มีหลายกรณีที่ฉันเคยได้ฟังได้อ่านมาค่ะ เช่น ผู้หญิงถูกผู้หญิงด้วยกันข่มขืนก็มี หรือกะเทยถูกผู้ชายข่มขืนก็มี กรณีอย่างนี้กฎหมายไม่คุ้มครองผู้ถูกกระทำค่ะ เคยมีกรณีที่กะเทยแปลงเพศถูกข่มขืน แล้วไปฟ้องศาล ศาลก็ตัดสินให้ยกฟ้อง เพราะความหมายของคำว่าข่มขืนนั้นหมายถึงการที่ต้องมีอวัยวะเพศชายสอดใส่ในอวัยวะเพศหญิงเท่านั้น ถึงเธอคนนี้จะมีอวัยวะเพศหญิง แต่ศาลก็ไม่นับเพราะถือว่าไม่ได้มีมาแต่กำเนิด  ซึ่งถ้าว่ากันตามกฎหมายใหม่กะเทยที่ถูกข่มขืนจะเข้าข่ายได้รับความคุ้มครองด้วย


 


มาดูย่อหน้าต่อไปซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาทั้งย่อหน้า ย่อหน้านี้เป็นการระบุความหมายของคำว่ากระทำชำเรา ให้ครอบคลุมมากขึ้นกว่าการที่ต้องมีอวัยวะเพศชายสอดใส่ในอวัยวะเพศหญิงเท่านั้น  ในที่นี้จะหมายรวมถึงอวัยวะเพศ ทวารหนัก และช่องปากด้วย ซึ่งถ้าผู้ชายถูกผู้ชายข่มขืนโดยทางทวารหนักก็จะสามารถฟ้องร้องได้  ส่วนข้อที่ว่า "การใช้สิ่งอื่นสิ่งใดสอดเข้าไปในอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น" นั้น กรณีนี้สามารถนำมาใช้คุ้มครองผู้หญิงที่ถูกผู้หญิงข่มขืนได้ด้วย


 


สิ่งที่เครือข่าย ฯ ไม่เห็นด้วยกับย่อหน้านี้ก็คือ การใช้คำว่า "การกระทำเพื่อสนองความใคร่" ค่ะ เพราะบางครั้งนั้น การข่มขืนไม่ได้สนองความใคร่แต่อย่างใด แต่เป็นการสนองความโกรธ ความแค้น ความเกลียดก็ได้ ซึ่งน่าจะตัดคำนี้ออกไปเพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น


 


ย่อหน้าที่สามนั้นเป็นการระบุโทษเพิ่มกับกรณีการใช้อาวุธปืนและวัตถุระเบิด รวมทั้งการโทรมหญิงและการกระทำกับผู้ชายในลักษณะเดียวกันด้วย ซึ่งกฎหมายเดิมนั้นไม่ได้ระบุโทษให้กับการโทรมชายแต่อย่างใด


 


มาดูย่อหน้าสุดท้ายซึ่งค่อนข้างแปลกมากค่ะ ย่อหน้านี้เกี่ยวข้องกับคู่สมรสเท่านั้น  คือถ้าภรรยาถูกข่มขืนแล้ว แล้วคู่สมรสนั้นยังอยากจะอยู่กินกันดังเดิม ศาลมีอำนาจสั่งให้ลงโทษน้อยลงเท่าไรก็ได้ หรือให้คุมความประพฤติแทนก็ได้


 


ฟังจากที่ประชุมวันนั้นก็เพิ่งได้ทราบค่ะ ว่าปกติกฎหมายอาญาจะไม่มีการยอมความกัน ยกเว้นกรณีเดียวคือทำความผิดในมาตรา 276 ซึ่งมีมาตรา 281 มาบอกว่าถ้าทำความผิดโดยไม่ได้ทำต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย หรือมิได้เป็นการกระทำแก่บุคคลดังระบุไว้ในมาตรา 285 ให้ถือว่าเป็นความผิดอันยอมความได้


 


แล้วในการแก้กฎหมายครั้งนี้ยังระบุเพิ่มตามย่อหน้าสุดท้ายนี้อีกค่ะ  เดาเอาว่าผู้เสนออาจจะอยากให้ดำรงสถาบันครอบครัวเอาไว้ ซึ่งก็ไปตอกย้ำความเชื่อเดิม ๆ ล่ะค่ะ ว่าผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายเสียสละ เป็นฝ่ายยอมเพื่อ...อะไรต่าง ๆ นานา


 


ความเห็นส่วนตัวของฉันก็คือว่า หนึ่ง ถ้าผู้ชายรู้ช่องกฎหมายนี้แล้ว ก็อาจจะไปขู่บังคับผู้หญิงที่กำลังฟ้องร้องอยู่นั้นให้ยอมความ หรือที่แย่กว่านั้นคือให้ยอมกลับมาอยู่กินกับตน เพื่อผู้ชายจะได้พ้นผิด สอง คือ แล้วเพราะเหตุใดกฎหมายจึงเปิดช่องเช่นนี้ หรือเพราะว่าการกระทำรุนแรงกับผู้หญิงนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถือว่าร้ายแรงเท่ากับการทำผิดกฎหมายอาญาอื่น ๆ  ทั้ง ๆ ความกลัวอันดับต้น ๆ ในชีวิตของผู้หญิงก็คือกลัวการข่มขืน สาม แล้วถ้ายอมความกันแล้ว หรือกลับมาอยู่ด้วยกันแล้ว อะไรจะรับประกันได้ว่า ผู้ชายที่ใช้ความรุนแรงคนนี้สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ หรือสามารถกลับมาอยู่กับครอบครัวได้โดยไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงอีก 


 


โดยส่วนตัวแล้วฉันเองก็ไม่เชื่อว่าการลงโทษโดยการติดคุกจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้อย่างแท้จริง แต่สิ่งที่ฉันกังวลในกรณีนี้ก็คือ ตัวผู้หญิงที่ถูกกระทำมาแล้วจะได้รับความปลอดภัยในการดำรงชีวิตต่อไปหรือไม่ แล้วเธอสามารถจะอยู่ได้อย่างสบายใจ หรือทำการเยียวยารักษาบาดแผลทั้งทางกายและทางใจได้อย่างเต็มที่หรือไม่ หรือว่าการมีย่อหน้านี้ จะทำให้เกิดการคุกคามผู้หญิงมากขึ้นไปอีก  ฉันคิดว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะได้รับการคำนึงถึงมากกว่า


 


การพยายามสร้างภาพของสถาบันครอบครัวค่ะ เพราะถ้าผู้ชายยังคงใช้ความรุนแรง และผู้หญิงยังไม่สามารถรู้สึกปลอดภัยได้แม้แต่ในครอบครัวของตัวเอง เมื่อนั้นสถาบันครอบครัวก็ยังคงไม่มั่นคงอยู่นั่นเอง


 


คงต้องติดตามกันต่อไปนะคะว่า สนช.จะว่าอย่างไรกับกฎหมายมาตรานี้  ที่น่าสนใจก็คือ ถ้ากฎหมายนี้ผ่านออกมาได้ แม้จะยังมีช่องโหว่ดังที่ว่ามาแล้ว ก็จะเป็นกฎหมายแรกที่ออกมาโดยคำนึงถึงการคุ้มครองผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย  


 


ส่วนที่ไม่น่าสนใจก็คือ มันจะเป็นกฎหมายที่ออกมาในยุคที่ไม่มีผู้แทนของประชาชนอยู่ในสภาค่ะ