Skip to main content

เรียนฟรี ไม่มีในโลก?

คอลัมน์/ชุมชน

แม้ว่าคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 จะมีมติในการยกร่างเรื่องของการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือที่เรียกว่าเรียนฟรี 12 ปี ออกมาเป็นอย่างไร ก็เป็นสิ่งที่พวกเรานักเรียน นักศึกษาหลายคนต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเราแต่ละคนโดยตรง (หรืออ้อม?)


 


เนื่องเพราะมีข้อเสนอจากกรรมาธิการบางท่านว่า ให้ลดการศึกษาขั้นพื้นฐานลงเหลือ 9 ปีก็พอ และยังมีกรรมาธิการบางท่านบอกว่าการเขียนเรื่องดังกล่าวลงในรัฐธรรมนูญเป็นเพียงอุดมการณ์ลอยๆ ที่จับต้องไม่ได้ ฉะนั้นก็ไม่ควรจะเขียนไว้!?


 


เมื่อรู้เรื่องที่กรรมาธิการอภิปรายแล้วก็น่าตกใจ เพราะมองว่าการศึกษาฟรี 12 ปีเป็นเพียงอุดมการณ์ ทว่ากลับไม่ได้นึกไปถึงว่าการระบุเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญจะเป็นเสมือนหลักประกันทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนอีกหลายล้านคนในประเทศ และที่สำคัญยังมีเด็กและเยาวชนหลายคนที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา


 


เรื่อง 12 ปี แม้ไม่ชัดว่าจะเริ่มจากชั้นไหนถึงชั้นไหน แต่อันเดิมคือ ป. 1 – ม.6 ก็ถือว่าดีอยู่แล้ว ปัญหาไม่น่าจะอยู่ที่การลดลงเหลือ 9 ปี เพราะปัจจุบันศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปีก็เป็นการศึกษาขั้นที่รัฐอุดหนุนงบประมาณเพื่อจัดการศึกษาอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าลดเหลือแค่ 9 ปี ก็จะทำให้ อีก 3 ปีที่เหลือไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ


 


ส่วนกรณีที่ว่าเด็กและเยาวชนหลายคนยังเข้าไม่ถึงการศึกษา หมายถึงว่า ยังมีเด็กและเยาวชนอีกหลายคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ โดยเฉพาะเด็กที่ไร้สัญชาติ หรือแม้แต่เด็กไร้บ้าน ที่ไม่ได้มีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา เพราะไม่เงินจะเรียนมากพอ หรือแม้แต่บางคนที่ครอบครัวมีฐานะยากจนก็ไม่ได้มีโอกาสได้เรียนจนถึงระดับสูงเหมือนกับคนที่รวยหรือมีเงินส่งลูกเรียน


 


คนที่ไม่มีเงินบางคน ที่จะต้องส่งเสียให้ลูกเรียน หลายคนส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงเกษตรกร อย่างเช่นที่บ้านของผมที่ทำโรงสีข้าว ก็มักจะมีลุงป้าน้าอา หลายๆ คนนำข้าวมาขายแล้วต้องนำเงินที่ได้ไปส่งให้ลูกหลานได้เข้าเรียน หรือบางคนถ้าดีขึ้นมาอีกนิดก็สามารถกู้เงินเรียนได้


 


ปัญหาที่ไม่ควรมองข้ามคือ โรงเรียนหลายที่แม้จะมีการประกาศว่าเรียนที่นี่แล้วไม่ต้องเสียเงิน ไม่ต้องจ่ายอะไรมาก เรียนที่นี่เรียนฟรีนั้น ต้องบอกว่าฟรีจริงๆ คือไม่เก็บค่าเทอม แต่ก็นั่นแหละครับ พอค่าเทอมไม่เก็บ แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ กลับปรากฏให้เห็นเพิ่มขึ้น เช่น ค่าอาหารกลางวัน ค่าบำรุงคอมพิวเตอร์ ค่าเสื้อพละ หรือบางที่ก็มีค่าหนังสือเรียน เป็นต้น


 


การเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ หลายคนต้องตกใจ บางคนก็ต้องถามทางโรงเรียนว่าทำไมค่าใช้จ่ายเยอะ คำตอบที่ได้เช่น "เป็นระเบียบใหม่" เป็นต้น คนที่ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้รายละเอียด หรือเล่ห์เหลี่ยมของโรงเรียนเหล่านี้ก็มีมากไม่น้อย สุดท้ายจำเป็นต้องจ่ายไปกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อให้ลูกหลานได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนั้น


 


ทั้งนี้เอง การที่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ได้เขียนระบุว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี และไม่เสียค่าใช่จ่ายนั้น อ่านแล้ว "ดูดี" ไม่น้อย ทว่าการนำไปสู่การปฏิบัติยังมีปัญหาอยู่มาก เพราะโรงเรียนหลายที่ถูกรัฐตัดงบประมาณสนับสนุนน้อยลงไปเรื่อยๆ โรงเรียนบางแห่งได้งบประมาณสนับสนุนเพียงไม่กี่หมื่นบาท นั่นเป็นข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้ว่าโรงเรียนก็จำต้องมีการเก็บเงินจากค่านู่นค่านี่เพิ่มขึ้น เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายในส่วนที่รัฐตัดการสนับสนุนลง


 


ในส่วนนี้ผมมองว่ากรรมาธิการจะยกร่างมาเป็นอย่างไร ก็ต้องบอกว่า "อุดมการณ์" ของการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นจำเป็นต้องระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี รวมทั้งการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมด้วย


 


และต้องระบุให้ชัดเจนเลยว่าจะเรียนฟรีตั้งแต่ชั้นไหน ถึงชั้นไหน จะ ป.1 ถึง ม.6 หรือยังไงก็ต้องระบุให้ชัด และต้องเพิ่มไปด้วยว่า "รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณทั้งหมด" เพราะถือเป็นหลักประกันต่อค่าใช้จ่ายของสถานศึกษาที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และสถานศึกษาก็ไม่ต้องมาเก็บเงินเพิ่มกับผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษาอีก


 


สุดท้ายแล้วต้องย้ำว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่เป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ ที่รัฐต้องให้ความสำคัญกับการเรียนฟรีของนักเรียน นักศึกษา  - "เรียนฟรี" อาจจะไม่มีในโลก, หรืออาจเป็นเพียงอุดมการณ์เท่านั้น แต่อย่าลืมว่าอุดมการณ์เหล่านี้ก็คอยหล่อเลี้ยงให้เกิดความหวัง ความฝันของคนในสังคมอีกหลายคน รวมถึงเด็กและเยาวชนอีกล้านกว่าคนทั่วประเทศนี้