Skip to main content

ยูเอ็นอยู่ไหนเมื่อไทยสู้กับบริษัทยา

คอลัมน์/ชุมชน

นับเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่งของไทย เมื่อนายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาประกาศจุดยืนว่าจะต้องใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) กับ ยาแอฟฟาไวเรนซ์ ยาคาเรตตร้า ยาพลาวิกซ์ ซึ่งเป็นข่าวไปแล้ว ทั้งนี้ก็เป็นตามเงื่อนไขข้อตกลง TRIPS (Trade Related Aspects of Intellectual Property Rights) ขององค์กรการค้าโลก ทว่า เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่บริษัทยาจะต้องสูญเสียเหตุการณ์จึงไม่ง่าย


 


บริษัทแอบบอต ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาคาเลตต้าซึ่งเป็นยาต้านไวรัสสูตรสองสำหรับคนที่มีการดื้อยาในสูตรหนึ่ง ซึ่งมีราคาแพงเกินกว่าที่คนไทยทั่วๆ ไปจะสามารถเข้าถึงได้กลับตอบโต้ไทยทันทีโดยการเพิกถอนการจดทะเบียนยาตัวใหม่ในไทย  และแม้จะมีความพยายามเจรจาแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนั้นแล้ว บรรดากลุ่มธุรกิจที่หวั่นเสียผลประโยชน์ทั้งหลายอย่างสภาหอการค้าอเมริกันหรือกลุ่มธุรกิจจากประเทศในอียูต่างก็พากันมากดดันประเทศไทยให้เลิกกระทำการนี้เสีย


 


การประกาศอันกล้าหาญของไทยในครั้งนี้นับว่าเป็นเรื่องเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยแท้ ในการที่จะทำให้นโยบาย "ทั่วถึง เท่าเทียม" เป็นจริง ที่จะทำให้คนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถที่จะเข้าถึงยาได้  ยกตัวอย่าง หากประเทศไทยสามารถนำเข้าคาเล็ตตร้าจากอินเดียได้ ค่าใช้จ่ายนั้นจะอยู่ที่ 4,000 บาทต่อคนต่อเดือนในขณะที่ใช้ยาของแอบบอตจะอยู่ที่ 9,800 – 11,000 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งหากยายังคงแพงอยู่เช่นนี้จะทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้อย่างไร


 


ในขณะนี้ในกลุ่มผู้ที่ทำงานด้านเอดส์ในประเทศไทยก็ได้ออกมารณรงค์เลิกซื้อสินค้าของแอบบอตเพื่อตอบโต้การกระทำดังกล่าวของแอบบอตอยู่ ทว่า น่าเสียดายว่า บรรดาองค์การต่างๆ ภายใต้องค์การสหประชาชาติ (UN) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง UNAIDS, WHO หรือ UNDP ที่มักเป็นองค์กรคอยเฝ้าดูจับตามองและผลักดันให้ประเทศไทยต้องมีมาตรการที่จะทำให้ผู้คนในประเทศหรือแม้แต่ประชากรข้ามชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้มีโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพโดยไม่มีการเลือกปฎิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของผู้ติดเชื้อที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าถึงยา มาตอนนี้กลับเฉยเมยไม่ได้ลุกขึ้นมาแสดงจุดยืนหรือแสดงท่าทีสนับสนุนใดๆ ที่จะช่วยสนับสนุนให้การกระทำของไทยในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ


 


เมื่อไม่กี่วันมานี้เห็นข่าวในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการกล่าว ยูเอ็นเอดส์แสดงความเป็นห่วงว่าอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยเพิ่มขึ้น พร้อมที่จะร่วมงานกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของการติดเชื้อเอชไอวี ในขณะที่ทางกระทรวงสาธารณสุขก็บอกว่า ก็ในช่วงที่การรณรงค์ป้องกันได้ผลนั้นงบประมาณที่ใช้การทำงานเอดส์ที่ทุ่มไปให้กับกระทรวงต่างๆ นั้นอยู่ที่ 450 ล้านบาท ในขณะที่ปีนี้งบประมาณอยู่ที่ 20 ล้านบาทเท่านั้น


 


กระนั้นทางนายแพทย์มงคลก็เชื่อว่า หากสามารถทำซีแอลได้สำเร็จก็จะเหลืองบประมาณถึง 600 ล้านบาทที่จะสามารถมาใช้การรณรงค์ป้องกันการติดเชื้อได้ ถึงตอนนี้แล้วจึงอยากเรียกร้องกับบรรดาเหล่ายูเอ็นทั้งหลายที่มีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งยูเอ็นเอดส์ที่ทำงานเรื่องนี้โดยตรงซึ่งออกมาแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์เอดส์ของประเทศไทยควรจะเห็นความเชื่อมโยงของสองปัญหาดังกล่าว ดังนั้นควรจะออกมาแสดงจุดยืนเพื่อจะยืนยันว่าเห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลไทยจะกระทำให้กับประชาชน อาจจะโดยการออกแถลงการณ์ตอบโต้บริษัทยาที่เห็นแก่ผลประโยชน์มากกว่าชีวิตมนุษย์ หรืออะไรก็ได้ที่เป็นในทางปฏิบัติที่มากกว่าการนั่งมอง


 


หากยังคงมีความนิ่งเฉยเช่นนี้ก็เกรงว่า ที่ยูเอ็นเอดส์ มักจะออกมาบอกว่าจะทำเรื่องนั้นเรื่องนี้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเอดส์นั้นเข้าใจว่าจะเป็นงานตามหน้ากระดาษเสียมากกว่าที่จะตั้งใจทำงานเพราะเห็นความสำคัญในปัญหานั้นๆ จริง เพราะถึงตอนนี้ประเทศไทยได้กระทำการอย่างยิ่งจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาเอดส์แล้วแต่ทำไมกลุ่มยูเอ็นในประเทศไทยกลับนิ่งเฉย ทั้งๆ ที่เห็นว่าไทยกำลังมีปัญหา   หรือที่สุดแล้วเรื่องที่ร่ำลือกันว่ายูเอ็นเป็นเพียงตัวแทนสหรัฐฯ ในประเทศต่างๆ นั้นเห็นจะเป็นจริงด้วยเพราะแม้แต่แค่จะออกแถลงการณ์สักฉบับเพื่อประกาศจุดยืนก็ไม่มี หรือเกรงว่าจะกระเทือนต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ซึ่งหมายรวมไปถึงผลประโยชน์ของตนเองด้วยใช่หรือไม่


 


แน่นอนว่าแม้ว่าเจ้าหน้าที่ยูเอ็นนั้นไม่ได้รับเงินเดือนจากประเทศไทย แต่ในฐานะที่มีสำนักงานอยู่ในประเทศไทยและเวลาที่ประเทศไทยทำงานประสบผลสำเร็จนั้นผลงานเหล่านี้ก็ถูกบันทึกเป็นความสำเร็จในการทำงานของสำนักงานประจำประเทศนั้นเช่นกัน


 


ดังนั้น นี่จะเป็นโอกาสของการแสดงความจริงใจสำหรับองค์กรที่ทำงานด้านเอดส์ ด้านสุขภาพ หรือ แม้แต่องค์กรที่ทำงานเพื่อขจัดความยากจน และองค์กรที่อ้างตัวว่าทำงานเพื่อคนจน ว่าตั้งใจที่จะทำเรื่องเหล่านี้จริงๆ ไม่ใช่แค่รับเงินเดือนสูงๆ มานั่งประชุมอยู่ตามโรงแรมห้าดาวแล้วก็ตั้งข้อเสนอ สารพันให้แก่ประเทศต่างๆ ไปปฏิบัติแล้วรอรับรายงานการปฏิบัติเพื่อจะนำมาเขียนเป็นผลงานของตนเองต่อไป  เช่นนั้นแล้วก็ไม่เห็นว่าองค์กรเหล่านี้จะทำประโยชน์ให้กับประเทศยากจนทั้งหลายที่อ้างว่าเข้ามาเพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างไร