Skip to main content

จิตตปัญญาศึกษาหรือการศึกษาติดดี? ..ภาคสอง

คอลัมน์/ชุมชน



 


ในบรรดาชื่อภาษาไทยที่ใช้เรียก Contemplative Education ผมไม่ชอบคำว่า "การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง" เอาเสียเลย คำว่า "เพื่อการเปลี่ยนแปลง" ดูจะเป็นโฆษณาชวนเชื่อที่ฟังแล้วชวนขนลุก นอกจากวัตถุประสงค์ของการเปลี่ยนแปลงคนอย่างเป็นที่น่าตั้งคำถามแล้ว หากวิธีการคัดเลือกผู้เรียนและการประเมินผล ยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของการวัดค่าคนอย่างผิวเผินเสียแล้ว ก็น่าสงสัยว่าการศึกษาในแบบที่ว่านี้จะล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มต้น หลายเดือนก่อนผมได้มีโอกาสอ่านคำแนะนำของผู้ใหญ่ในวงการศึกษาท่านหนึ่งเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ อ่านรายงานฉบับนั้นไป ไฟปัทมะในใจก็ลุกโชน เนื่องด้วยมีความเห็นคัดค้าน(ด้วยความเคารพ) ต่อคำแนะนำดังกล่าวอยู่หลายประการด้วยกัน


 


ประเด็นแรก เรื่อง การนิยามความหมายของคำว่า "การเปลี่ยนแปลงภายใน"  ให้จงได้


 


คำถามก็คือ จะให้ใครเป็นคนนิยามความหมาย นักการศึกษา หรือผู้เรียน?


บ่ายวันหนึ่ง ผมได้ไปนั่งคุยกับ ฟอเรสท์ เค็ทชิน อาจารย์ของผมที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ ผมชวนเธอคุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ไปสักพัก จึงขอให้เธอช่วยนิยามความหมายของคำว่าจิตวิญญาณ หรือ Spirituality  เธอยิ้มแล้วตอบผมว่า 


"I can’t. It’s too precious. It’s too fragile. If you think you already know what it is, it’s gone."


 


สิ่งที่ฟอเรสท์ต้องการสอนผมก็คือ คำในการเรียนรู้เชิงกระบวนการทั้งหลาย อย่าง Contemplative education, Transformation, Spirituality, Meditation… คำเหล่านี้เป็นคำต้องห้าม ที่การตั้งข้อสงสัยในความหมายเป็นดั่งจุดเริ่มต้นของสัมผัสความหมายของมัน แต่หากเราคิดจะไปจำกัดให้นิยามอย่างตายตัวเมื่อไหร่  กระบวนการการแสวงหาความหมายของผู้เรียนก็ตายหมด


 


ประเด็นที่สอง การเขียนวัตถุประสงค์ต้องมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ "การเปลี่ยนแปลง" ที่ว่านั้นให้ได้ และต้องมีการวัดประเมินผู้เรียนว่าบรรลุ "การเปลี่ยนแปลง" ตามวัตถุประสงค์นั้นมากน้อยแค่ไหน


 


การเปลี่ยนแปลงด้านในนั้นเป็นแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นเองในตัวผู้เรียน การพยายามที่จะไป "เน้น" ผลลัพธ์ตายตัวในเรื่องของการเปลี่ยนแปลง อาจกลายเป็นการขืนใจ หรือสอนให้ผู้เรียนเป็นคนดัดจริตได้โดยง่าย  หากอยากจะหาที่เน้นกันจริงๆ เราน่าจะเน้นไปที่กระบวนการมากกว่า นั่นคือ มีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายและท้าทาย ให้ผู้เรียนและผู้สอนได้มีส่วนร่วมในฐานะผู้ร่วมกระบวนการ เมื่อเน้นไปที่กระบวนการ เราก็จะสามารถเห็นการมีส่วนร่วมของนักเรียนแต่ละคน ซึ่งผู้สอนในฐานะกระบวนกรก็จะค่อยๆมองเห็นศักยภาพและข้อจำกัดที่แต่ละคนมี มีการให้ข้อแนะนำ คำติชม มีการท้าทาย การโต้แย้ง และการเผชิญหน้าและเรียนรู้จากความขัดแย้ง เป็นต้น 


 


การประเมินผลก็ควรเป็นลักษณะของการประเมินการมีส่วนร่วมในกระบวนการ หรือความตั้งใจของการเข้าร่วม เพราะคงไม่มีใครสามารถจะไปตัดสินว่าใครว่าดีกว่าใคร หรือใครเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าใครได้ ธรรมชาติของคนเรามีแนวทางการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน บ้างก็เป็นพวก short loop คือ ชอบแสดงความคิดเห็น หัวอ่อน เปลี่ยนง่าย ใจเร็ว  บ้างก็เป็นพวก long loop คือ พูดน้อย หัวแข็ง เปลี่ยนยาก ชอบคิดใคร่ครวญเป็นเวลานานๆ  เป็นเรื่องน่าเศร้าที่การศึกษาแบบวัดผลมักจะไม่ให้ความสำคัญกับคนประเภทหลัง ทั้งๆ ที่คนประเภทหลังนี่เอง ที่มักมีความเข้าใจคุณค่าของการเปลี่ยนแปลงด้านในที่ลึกซึ้ง ซึ่งกว่าจะเกิดขึ้นเป็นที่ชัดเจนเขาเหล่านั้นก็อาจจบการศึกษาปาเข้าไปสี่ห้าปีเสียแล้ว แต่นั่นคือความหมายหนึ่งของจิตตปัญญาศึกษา ในฐานะ "การหยอดเมล็ดพันธุ์ไว้ในใจคน"


 


ประเด็นที่สาม สถานะและอาวุโสที่เหนือกว่าของครู ผู้บริหาร นักวิชาการ หรือนักการศึกษา รูปแบบลำดับชั้นที่ครู ผู้บริหาร นักวิชาการ หรือนักการศึกษา มีอำนาจประเมินผล "วัดค่าคน" อยู่เหนือผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นด้วยทางสถานะทางสังคม การศึกษา หรือลำดับความอาวุโสก็ตาม ดูจะไม่มีผลดีต่อผู้เรียนเอาเสียเลย บ่อยครั้งที่อาจารย์ผู้สอนไฮโซ ใจแคบ ไม่ยอมเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่าง พอเจอนักเรียนที่กล้าเถียงและไม่เห็นด้วยกับความคิดของอาจารย์ ลงท้ายนักเรียนกลับได้เกรดแย่  ด้วยเหตุผลที่ว่า นักเรียนคนนั้นไม่ยอม "เรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงตัวเอง" (ที่อาจจะเรียกได้อีกอย่างว่า "เรียนรู้เพื่อการสยบยอม") 


 


จุดนี้เองที่ผมมองว่าคือข้อแตกต่างที่สำคัญของการศึกษาที่มีพื้นฐานของการเรียนรู้ด้านใน การศึกษาทั่วไปตั้งอยู่บนความเชื่อแบบที่เทวนิยมที่ว่าคำตอบอยู่ข้างนอก ประมาณว่าเราต้องประพฤติตัวให้ดี แล้วจะมีใครมาบอกว่าเราได้ไปสวรรค์ เป็นต้น แต่แนวทางของจิตตปัญญาศึกษา คือ การให้คุณค่าแก่ศักดิ์ศรีและศักยภาพภายในของคนทุกคน การเรียนรู้บนการตั้งคำถาม สงสัย ใคร่ครวญด้วยหัวใจอย่างไม่เชื่อใครหรืออะไรง่ายๆ จะเป็นกระบวนการที่ช่วยให้ผู้เรียนได้ค้นพบและสร้างความสัมพันธ์กับศักยภาพนั้นทีละน้อยๆ  ครูที่ดีจึงไม่ได้มีหน้าที่ไปวัดคุณค่าของนักเรียน เพราะนักเรียนแต่ละคนมีคุณค่าในแบบของเขาเองอยู่แล้ว ครูที่ดีควรเป็นดั่ง "หมอทำคลอด" เป็นกัลยาณมิตรร่วมเรียน ที่คอยประคับประคองให้นักเรียนได้เรียนรู้และแสวงหาทางเดินชีวิตด้วยตัวเอง จนสามารถให้กำเนิดศักยภาพ ศักดิ์ศรี และแรงดลใจชีวิตในแบบของเขาเองได้อย่างแท้จริง


 


ผมประทับใจชื่อที่คุณณัฐฬส วังวิญญู ตั้งให้กับจิตตปัญญาศึกษาว่าเป็น"การเรียนรู้แบบเอาชีวิตเข้าแลก"  ซึ่งดูจะไม่มีนัยของการสัญญิงสัญญาให้น่าขนลุก หัวใจของการเรียนรู้แบบนี้ดูจะเป็นเรื่องง่ายๆอย่างการ "ยอมตาย"  อันเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ด้วยการก้าวข้ามความกลัวและความคาดหวัง หากคุณอยากที่จะเรียนรู้ คุณก็ต้องเอาชีวิตของคุณเข้าแลก  "ยอมตาย"  ไม่ใช่คิดฝันแต่ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า หรือแผนการว่าจบมาแล้วจะไปทำงานอะไร ได้เงินเดือนเท่าไหร่ การศึกษาในแบบที่ว่านี้ผมมองว่าคือ "การเรียนรู้แบบหม้อต้มซุป" คือทั้งครูและนักเรียนกระโดดลงหม้อพร้อมกันหมด กระบวนการเรียนรู้เหมือนการเคี่ยวให้ซุปนั้นเปื่อยได้ที่ หากแครอทยังเป็นแครอท มันยังเป็นมัน ผักชียังเป็นผักชี แสดงว่ายังใช้การไม่ได้


 


โยงเข้าสู่ ประเด็นสุดท้าย ว่าด้วย การเลือกรับแต่คนที่มีความรักความเมตตาเข้ามาเรียน ที่หากเป็นเช่นนั้นจริงจะทำให้ซุปจืดชืดไม่อร่อยเป็นอย่างยิ่ง ทำไมเราจึงไม่คิดให้โอกาสกับคนที่เคยพลาดพลั้งในชีวิตแต่มีจิตใจแสวงหา แม้เขาจะเคยติดคุก ติดยา ค้าประเวณี เคยมีคดีติดตัวมาก่อน ถ้าเขาสนใจจะมาสมัครเข้าเรียนที่ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา แล้วเราจะไปวัดค่าเขาตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มได้อย่างไรกัน  การให้คุณค่ากับความดีงามพื้นฐานด้านในของคนทุกคนอย่างไม่ตัดสินจะเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าจิตตปัญญาศึกษา คือการศึกษาเพื่อพัฒนาคน ไม่ใช่การศึกษาเพื่อคัดเลือกคน ยิ่งถ้าได้ผู้คนแปลกๆ ที่มีพื้นเพแตกต่างกันเข้ามาเรียน ก็น่าจะทำให้ซุปแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบเอาชีวิตเข้าแลกได้รสแซ้บ  ดุเด็ดเผ็ดมันตามตำรับความหลากหลายของครัวสังคมไทยอย่างแท้จริง


 


การศึกษาเพื่อค้นหาความหมายแห่งชีวิตที่แท้ เปรียบได้กับการเดินทาง ที่"จุดหมายอยู่ในทุกย่างก้าว" ทั้งผู้เรียนและผู้สอนต้องเตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับ "อะไรก็ไม่รู้" ที่อยู่เบื้องหน้า สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยอุปสรรค ความยากลำบาก สัตว์ประหลาด (ภายใน) ที่เราไม่เคยพบเห็น หรือนักเดินทางแปลกหน้าที่โผล่มาจากดาวดวงอื่น แต่นั่นคือความหมายของการศึกษาที่มีรากฐานที่มั่นคงอยู่บนการเผชิญหน้ากับความยากลำบากของชีวิตในทุกแง่มุม ไม่ใช่เอาแต่เพ้อฝันไปวันๆ ถึงผลลัพธ์ของชีวิตที่สะดวกสบาย หรือภาวะจิตใจที่เป็นสุข เป็นต้น


 


มีคำพูดติดตลกที่ว่า "ความสำเร็จของจิตตปัญญาศึกษาวัดกันที่จำนวนคนลาออก"   คำพูดนี้อาจมีความจริงแฝงอยู่ไม่มากก็น้อย ยังไงก็ขอฝากทิ้งท้ายไว้ให้ผู้อ่านลองใคร่ครวญด้วยใจกันดูนะครับ