Skip to main content

เยาวชนกับสันติภาพ

ประเด็น "สันติภาพ" เป็นเรื่องถกกันในระดับโลกมาเนิ่นนาน แต่โลกก็ยังคงสภาพความขัดแย้งและความรุนแรง และนับวันจะเพิ่มอัตราความรุนแรงและความซับซ้อนมากขึ้น การสร้างสันติภาพที่เป็นรูปธรรมแทบจะตามไม่ทันความรุนแรงที่เกิดขึ้น  


 


โลกฝากความหวังไว้กับเยาวชน เพราะเป็นพลังสำคัญในการหยุดยั้งความรุนแรงในโลกใบนี้ ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในบางมุมของเวทีโลก โดยเฉพาะในสื่อ เป็นภาพแห่งการแข่งขัน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน การสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับประเทศ ซึ่งเป็นภาพที่ตอกย้ำให้เยาวชนของแต่ละประเทศทุ่มเทให้กับการสร้างความหมายให้กับชาติของตน เมื่อมองจากมุมดังกล่าว จึงอาจก่อให้เกิดความแปลกแยก การแข่งขัน อันนำมาซึ่งความขัดแย้งและความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ได้ เพราะเป็นมุมที่เห็นได้ชัดเจนกว่ามุมของความเอื้ออาทร แต่ในทางกลับกันก็เป็นมุมที่ทำให้เยาวชนบางกลุ่มเห็นปัญหาและหันมาใส่ใจเรื่องสันติภาพบนโลกได้เช่นกัน


 


ผู้เขียนมีโอกาสได้ร่วมสัมมนากับเยาวชนจากประเทศในแถบอาเซียน เวียดนาม กัมพูชา จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย  พม่า และไทย ในการอบรมเรื่องสันติภาพในกับเยาวชนของ มูลนิธิทรัพยากรเอเชีย หรือ Asian Resource Foundation


 


เยาวชนในแต่ละประเทศมีประสบการณ์การรับรู้เรื่องความขัดแย้งในประเทศตนเอง เยาวชนจากอินโดนีเซียรับรู้เรื่องความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มในประเทศของตน ไม่ว่าจะเป็นอาเจะห์ หมู่เกาะสุลาเวสี หมู่เกาะมาดูลา ฯลฯ เยาวชนกัมพูชารับรู้เรื่องราวสงครามกลางเมืองช่วงเขมรแดงเรืองอำนาจ ปัจจุบันเธอเผชิญกับความขัดแย้งที่ซับซ้อนกว่าที่เรียกว่าผลกระทบจากระบบทุนนิยม เยาวชนจากมาเลเซียแลกเปลี่ยนเรื่องราวความขัดแย้งกลุ่มชาติพันธ์ในประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งระหว่างคนเชื้อสายจีนและคนเชื้อสายมาเลย์  พม่ามีเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และความตึงเครียดภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร ส่วนเยาวชนไทยแลกเปลี่ยนเรื่องความรุนแรงทางภาคใต้


 


Duong Sitha สาวน้อยจากกัมพูชา ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง และร้อยยิ้มอันอ่อนหวาน มีจิตอาสาช่วยเหลือเพื่อนฝูงตลอดการสัมมนา และเป็นทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงยิ่งเพราะเธอเตรียมการนำเสนอสถานการณ์ของเยาวชนในกัมพูชามาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนเยาวชนด้วยเพาเวอร์พ้อยต์ที่สวยงาม สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนา เธอเป็น Program assistant ขององค์กรพัฒนาเอกชน the Khmer Youth and Social Development Organization ที่พนมเปญ องค์กรของเธอนอกจากทำงานเพื่อสร้างสรรค์เรื่องเยาวชนแล้ว เธอยังทำงานด้านการพัฒนากับคนจนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและโครงการขนาดใหญ่จากรัฐบาล ที่มุ่งพัฒนาประเทศไปสู่ทุนนิยม และเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนข้ามชาติเข้ามาลงทุน ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือ ชาวบ้านซึ่งประสบปัญหาทั้งการแย่งที่ดินจากชาวบ้านเพื่อใช้เป็นแหล่งอุตสาหกรรม หรือถูกเวนคืนที่ดินโดยรัฐบาล เป็นต้น องค์กรของเธอพยายามช่วยชาวบ้านในการต่อสู้กับรัฐบาลเพื่อยืนหยัดในสิทธิของตนในการอยู่ในที่ดินเดิม


 


Dianika W. Wardhani สาวแกร่งมาดเข้ม จากอินโดนีเซีย พกความมั่นใจมาเกินร้อย ประเด็นในการแลกเปลี่ยนเฉียบคม เพราะเป็นสื่อมวลชนจากจังหวัดสุราบายา ชวาตะวันออก มีประเด็นเรื่องมาเฟียในสื่อ และการทำหน้าที่สื่อชนิดผิดจรรยาบรรณ ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งในประเทศของเธอมาแลกเปลี่ยนมากมาย ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก ขอยกมาเป็นบางส่วน เธอเล่าว่า สื่อยักษ์ใหญ่ของอินโดนีเซียบางส่วนทำหน้าที่โน้มเอียงไม่ไปทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น สื่อใหญ่ในเกาะสุมาตรา จังหวัดเมดานโน้มเอียงไปกับการสนับสนุนความคิดของรัฐบาลกลางต่อกรณีของจังหวัดอาเจะห์ ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่ออกมาจากรัฐบาล จึงไม่มีความเป็นกลางในการนำเสนอข่าวของอาเจะห์


 


อีกกรณีหนึ่งที่เธอพูดถึง ฟังแล้วผู้เขียนก็อึ้งไปพักใหญ่ เธอบอกว่า ช่วงหนึ่งเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง ชาวคริสต์และชาวอิสลามในหมู่เกาะมาลูกู แต่สื่อยักษ์ใหญ่แถบจังหวัดสุราบายา กระทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่เพราะความที่ทุนหนา พวกเขาก่อตั้งหนังสือพิมพ์ขึ้นสองฉบับ ฉบับหนึ่งสนับสนุนชาวคริสต์ อีกฉบับหนึ่งสนับสนุนชาวอิสลาม ซึ่งกลุ่มหนังสือพิมพ์ได้รับประโยชน์จากทั้งสองฝ่าย แต่ผู้เสียหายกลับกลายชาวบ้าน เธอบอกว่าแทนที่สื่อจะทำหน้าที่เป็นตัวสร้างสันติภาพ กลับเป็นตัวกระตุ้นความขัดแย้งให้แก่กลุ่มคนที่อยู่ตรงข้ามกัน ปัจจุบันเธอก่อตั้งเครือข่ายเพื่อนสื่อที่ประสงค์จะเป็นสื่อมวลชนที่ดี กลุ่มของเธอกระตุ้นและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประเด็นสื่อจะทำหน้าที่เป็นสื่อทีดีได้อย่างไร และผู้สื่อข่าวจะทำหน้าอย่างซื่อสัตย์ได้อย่างไร


 


ม้ง (นามสมมติ) หนุ่มน้อยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้รับความสนใจจากเพื่อนๆ ในกลุ่มมากที่สุดตลอดการสัมมนา เพราะประเด็นความรุนแรงของภาคใต้เป็นประเด็นใหม่สดที่ทุกคนให้ความสนใจ ดูเหมือนว่า บทบาทด้านสันติภาพของเยาวชนในสามจังหวัดภาคใต้เป็นภารกิจอันหนักหน่วงของพวกเขา แต่ในอีกด้านหนึ่งที่เยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างเยาวชนด้วยกันเอง นับเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงและรัฐบาลควรใส่ใจในการแก้ไขเป็นอย่างยิ่ง


 


เขากล่าวว่า สถานการณ์เยาวชนที่นับถือศาสนาพุทธและเยาวชนที่นับถือศาสนาอิสลามในขณะนี้อยู่ในขั้นวิกฤต ตกกลางคืนไม่มีผู้ปกครองคนใดให้เยาวชนออกจากบ้าน ถ้าหากกลุ่มเยาวชนพุทธและเยาวชนมุสลิมพบกันโดยบังเอิญ พวกเขาจะเข้าทำร้ายกันและกัน ถึงขั้นบาดเจ็บกันเลยทีเดียว ซึ่งม้งบอกว่า เขาไม่ทราบสาเหตุว่าทำไม กลุ่มเยาวชนจะต้องเป็นเช่นนี้ และทำไมเยาวชนจะต้องเป็นเหยื่อกับความรุนแรงที่พวกเขาไม่ได้เป็นคนก่อ


 


เยาวชนที่มาร่วมสัมมนาเมื่อพวกเขามองเห็นความรุนแรงที่มนุษย์กระทำต่อกัน หรือรัฐกระทำต่อประชาชน พวกเขารู้สึกเห็นใจ เศร้าใจต่อชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ ก่อนที่พวกเขาจะรู้สึกว่า บางสิ่งบางอย่างที่พวกเขาแลกเปลี่ยนและรับรู้ร่วมกันจะแปรเป็นพลังบางอย่างเกิดขึ้นในตัวพวกเขา กระตุ้นให้พวกเขาอยากสร้างเครือข่าย เพื่อกิจกรรมที่นำมาซึ่งสันติภาพบนโลกนี้