Skip to main content

ศาสนา กำลังเสื่อมอิทธิพล ?

คอลัมน์/ชุมชน


 


ไม่นานมานี้ บังเอิญได้รับแจกนิตยสารทางศาสนาคริสต์ฉบับหนึ่งชื่อ "ตื่นเถิด" ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2007 พาดปกด้วยรูปโบสถ์กำลังจะจมน้ำ และข้อความ "ศาสนากำลังเสื่อมอิทธิพล


ไหม?"


 


ออกตัวก่อนว่าผมไม่ใช่คริสตศาสนิกชน เป็นชาวพุทธแบบไม่ค่อยได้เข้าวัด แต่ก็พอจะมีความรู้รอบตัวเรื่องศาสนาอื่นอยู่บ้าง ก็เช่นเดียวกับเราๆ ท่านๆ นั่นละครับ มีเพื่อน มีญาติ หรือมีคนรู้จักนับถือศาสนาอื่น หรืออยู่ใกล้โบสถ์ ใกล้มัสยิด เราก็ได้รับทราบความรู้ ความเชื่อของแต่ละศาสนาไปด้วย และถึงแม้เราจะเป็นชาวพุทธ แต่ผมก็เชื่อว่า เราให้เกียรติแก่ศาสนาอื่น และผู้นับถือศาสนาอื่น เท่าเทียมกัน


 


หัวข้อเรื่อง "ศาสนากำลังเสื่อมอิทธิพลไหม?" อย่างที่ผมกล่าวในตอนต้น เขาไม่ได้พูดถึงศาสนาคริสต์ในบ้านเราหรอกครับ แต่เป็นภาพรวมของยุโป อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้


 


ขอยกข้อความบางตอนมาถ่ายทอดก็แล้วกัน


 


"...เกิดอะไรขึ้นกับคริสตจักรต่างๆ ที่อ้างว่าเป็น คริสเตียน? ในที่ที่คุณอาศัยอยู่ คริสตจักรต่างๆ กำลังตกต่ำลงหรือกำลังเฟื่องฟูขึ้น? คุณอาจได้ยินคำกล่าวอ้างที่ว่าผู้คนหันมาสนใจศาสนากันอีก และได้ยินข่าวจากหลายแห่ง เช่น ในแอฟริกา,ยุโรปตะวันออก และสหรัฐฯ ว่าคนไปโบสถ์มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระนั้น รายงานข่าวจากที่อื่นๆ ในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากยุโรปตะวันตก บอกว่าโบสถ์ต้องปิดตัวลง คนไปโบสถ์มีน้อยลงทุกที และผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่แยแสเรื่องศาสนา


 


เนื่องจากคนไปโบสถ์มีจำนวนน้อยลง คริสตจักรหลายแห่งจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบ บางคริสตจักรประกาศตัวว่า ไม่ตำหนิวิจารณ์การประพฤติของคนอื่น และเชื่อว่าพระเจ้ายอมรับความประพฤติทุกอย่าง คริสตจักรต่างๆ จัดให้มีความบันเทิง ความตื่นเต้นเร้าใจ และสิ่งที่น่าดึงดูดใดทางโลกมากขึ้นเรื่อยๆ แทนที่จะให้คำแนะนำสั่งสอนจาพระคำของพระเจ้า แม้คนที่ไปโบสถ์บางคนมองว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นการปรับตัวที่จำเป็นต่อสภาพความเป็นจริงของโลกสมัยใหม่ แต่คนที่สุจริตใจหลายคนสงสัยว่าคริสตจักรต่างๆ กำลังหันเหไปจากภารกิจที่พระเยซูมอบหมายหรือไม่...


 


เป็นเวลากว่า 1,600 ปีที่ยุโรปส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลที่อ้างว่าเป็นคริสเตียน ตอนนี้ศาสนาในยุโรปกำลังเฟื่องฟูขึ้นไหมขณะที่เราก้าวไปในศตวรรษที่ 21? ในปี 2002 นักสังคมวิทยาชื่อสตีฟ บรูซ เขียนไว้ในหนังสือชื่อ พระเจ้าตายแล้ว-การทำให้ตะวันตกพ้นจากอิทธิพลของศาสนา เกี่ยวกับบริเตนว่า "ในศตวรรษที่สิบเก้า งานสมรสเกือบทุกรายมีการจัดพิธีทางศาสนา" อย่างไรก็ตาม พอถึงปี 1971 มีเพียง 60 เปอร์เซ็นต์ของงานสมรสในอังกฤษที่มีการประกอบพิธีทางศาสนา ในปี 2000 ตัวเลขนี้ลดลงเหลือเพียง 31 เปอร์เซ็นต์


 


เมื่อกล่าวถึงแนวโน้มนี้ ผู้สื่อข่าวด้านศาสนาคนหนึ่งของหนังสือพิมพ์เดอะ เดลี เทเลกราฟ แห่งกรุงลอนดอนได้เขียนว่า "นิกายหลักๆ ทุกนิกาย ตั้งแต่คริสตจักรแห่งอังกฤษและโรมันคาทอลิกไปจนถึงคริสตจักรเมทอดิสต์และคริสตจักรยูไนเต็ดรีฟอร์ม ต่างก็ประสบกับภาวะตกต่ำมาเป็นเวลานาน" เขากล่าวถึงรายงานฉบับหนึ่งว่า "พอถึงปี 2040 คริสตจักรของบริเตนจะมุ่งไปสู่การสูญสิ้นแน่ๆ โดยจะมีประชากรเพียงสองเปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เข้าโบสถ์ในวันอาทิตย์" ...


 


รายงานฉบับหนึ่งจากสำนักงานวางแผนด้านสังคมและวัฒนธรรมแห่งเนเธอร์แลนด์กล่าวว่า "ในไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้ ประเทศของเขาดูเหมือนห่างไกลจากศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ คาดกันว่าพอถึงปี 2020 ประชากร 72% จะไม่สังกัดศาสนาใดๆ" แหล่งข่าวในเยอรมนีกล่าวว่า "ชาวเยอรมันจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังหันไปพึ่งเวทมนต์คาถาและสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติที่จะให้การปลอบประโลมใจอย่างที่พวกเขาเคยได้จากคริสตจักรต่างๆ จากงานอาชีพและครอบครัว...หลายคริสตจักรทั่วประเทศจำต้องปิดตัวลงเนื่องจากมีน้อยคนไปโบสถ์...


 


...ในสหรัฐฯ คนที่ไปโบสถ์หลายคนเปลี่ยนศาสนากันง่ายๆ ถ้านักเทศน์สูญเสียความนิยมหรือหมดพลังโน้มน้าวใจ คนที่ไปโบสถ์ของเขาอาจลดลงในเวลาไม่นาน และเขาก็มักจะสูญเสียรายได้ค่อนข้างมากด้วย คริสตจักบางแห่งศึกษาวิธีทางธุรกิจ เพื่อเรียนรู้ว่าจะ "ทำการตลาด" สำหรับพิธีกรรมทางศาสนาของตนให้ดีขึ้นได้อย่างไร คริสตจักรต่างๆ ใช้จ่ายเงินหลายพันดอลลาร์ เพื่อจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้คริสตจักร ตามรายงานฉบับหนึ่งเกี่ยวกับบริษัทเหล่านี้ นักเทศน์ที่รู้สึกพอใจคนหนึ่งกล่าวว่า "นี่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก" โบสถ์ขนาดใหญ่ซึ่งมีสมาชิกหลายพันคน มีรายได้ดีถึงขนาดที่สิ่งพิมพ์ทางธุรกิจให้ความสนใจ เช่น หนังสือพิมพ์เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล และ ดิ อิโคโนมิสต์ สิ่งพิมพ์เหล่านี้รายงานว่า โดยทั่วไปแล้วโบสถ์ขนาดใหญ่มักจะให้ "บริการแบบครบวงจร ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ" อาคารโบสถ์อาจมีภัตตาคาร,ร้านกาแฟ, ร้านเสริมสวย, ห้องอบไอน้ำ และห้องเล่นกีฬา สิ่งที่ดึงดูดผู้คนยังรวมถึง โรงภาพยนตร์, บุคคลที่มีชื่อเสียงมาเยี่ยม และดนตรีร่วมสมัย แต่นักเทศน์ทั้งหลายสอนอะไรกัน?


 


ไม่น่าแปลกใจ "กิตติคุณแห่งความมั่งคั่ง" เป็นหัวเรื่องที่นิยมกันมาก มีการบอกผู้เชื่อถือว่าพวกเขาจะร่ำรวยและมีสุขภาพดีถ้าพวกเขาบริจาคให้โบสถ์มากๆ ในเรื่องศีลธรรมนั้น มักจะมีการอธิบายว่าพระเจ้าทรงผ่อนปรนให้ทุกอย่าง นักสังคมวิทยาคนหนึ่งกล่าวว่า "คริสตจักรต่างๆ ในอเมริกาเป็นสิ่งที่ให้การบำบัดรักษาทางด้านจิตใจ ไม่ใช่ตำหนิวิจารณ์คนอื่น" ศาสนาที่คนนิยมกันมักมุ่งเน้นในเรื่องคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีประสบความสำเร็จในชีวิต ผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกสบายใจกับคริสตจักรที่ไม่สังกัดนิกายใดๆ โดยเฉพาะ...


 


ในการพิจารณาสั้นๆ นี้ เราได้เห็นว่าคริสตจักรในลาตินอเมริกาได้แตกแยกเป็นกลุ่มย่อยๆ ส่วนในยุโรปคนก็ไปโบสถ์น้อยลงเรื่อยๆ และในสหรัฐก็ยังมีคนสนับสนุนอยู่ เนื่องจากจัดให้มีความบันเทิงและความสนุกเร้าใจ แน่นอนมีข้อยกเว้นมากมายเกี่ยวกับแนวโน้มที่เห็นอยู่ทั่วไปนี้ แต่ภาพโดยรวมก็คือคริสตจักรต่างๆ กำลังต้องสู้อย่างหนักเพื่อรักษาความนิยมไว้ นี่หมายความว่าศาสนาคริสเตียนกำลังเสื่อมลงไหม? …"


 


ถามว่า "ศาสนาคริสต์เสื่อมลงไหม?" ผมว่าคุยกันอีกยี่สิบตอนก็คงไม่จบ นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะสรุปเอาง่ายๆ ว่าเสื่อม หรือ ไม่เสื่อม สถานการณ์ของแต่ละที่ อาจไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้เนื่องจากรายละเอียดในความต่างทางสังคม


 


อย่างในประเทศไทยเรา เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ที่ หนังสือเผยแพร่ศาสนาคริสต์แจกฟรีฉบับหนึ่ง ที่โฆษณาทางโทรทัศน์  ใช้พรีเซนเตอร์เป็นคนดังหลายท่าน ได้ปรากฎว่า หนังสือแจกออกไปหลายล้านเล่ม (ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะราว 2 ล้านเล่ม) และคาดว่าคงมีไทยพุทธ เปลี่ยนมาถือคริสต์อีกไม่น้อย ตอนนั้นจำได้ว่า มีผู้หลักผู้ใหญ่บางคนในบ้านเมือง ออกอาการร้อนรน กลัวว่าคนพุทธจะหันไปนับถือคริสต์มากขึ้น  ซึ่งผมก็ว่าแปลกดี ท่านบอกว่า ประเทศนี้คนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่พอหนังสือเผยแพร่ศาสนาอื่นมีคนสนใจมาก กลับกลัวว่า คนจะหันไปถือคริสต์กันหมด แล้วถือคริสต์มันไม่ดีตรงไหนเหรอครับ? งง?


 


คาดว่าวิธีคิดแบบ "ศาสนาพุทธคือศาสนาประจำชาติ" คงยังฝังหัวคนรุ่นเก่าจำนวนไม่น้อยอยู่ เลยยังอารมณ์ค้างมาจนถึงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปด้วย


 


ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา ศาสนาก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งของโครงสร้างสังคม เป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ละศาสนาก็มีอายุเป็นพันปี ศาสนาในตอนนี้ย่อมต้องแตกต่างจากศาสนาเมื่อเริ่มก่อตั้ง โดยเฉพาะการไปดำรงอยู่ในแต่ละสังคมซึ่งมีพื้นฐานสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ ผู้คน ฯลฯ แตกต่างกัน ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกต้องตรงเผงเหมือนกันหมด


 


อย่าว่าแต่ศาสนาคริสต์เลยครับ พุทธเราเองก็เปลี่ยนไปมากมายเท่าไรแล้ว เมื่อก่อนผมเคยพูดกับเพื่อนว่า คนสมัยนี้มีสังคมอยู่ที่ห้างสรรพสินค้า อะไรๆ ก็ไปอยู่ในห้างหมด ทั้งธนาคาร ทั้งโรงเรียน ทั้งที่ทำการไปรษณีย์ อีกหน่อยก็คงมี "วัด" เข้าไปอยู่ด้วย พูดเล่นๆ มานานหลายปี ก็ไม่คิดว่าจะเป็นจริง แต่แล้วเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีการจัดงานบุญขึ้นที่ห้างสรรพสินค้ากลางกรุงแห่งหนึ่ง มีถวายสังฆทาน ทำบุญ ตักบาตรกันในห้างเลย ญาติโยมมาเดินห้าง ก็ไม่ต้องเข้าวัดแล้ว สะดวกดี


 


ยิ่งตอนนี้กระแส "จตุคามรามเทพ" มาแรง ก็พลอยปลุกให้วงการพระเครื่องครึกครื้นไปด้วย วัดไหนๆ ทีต้องการระดมทุน ก็ต้องจัดงานสร้างวัตถุมงคล เอาให้ใหญ่ๆ โตๆ โฆษณาเยอะๆ เข้าไว้ ทั้งที่เรื่อง "พุทธพาณิชย์" ไม่ใช่หนทางสู่การพ้นทุกข์ หรือ ลดละกิเลส ตามแนวทางศาสนาพุทธซ้ำจะมุ่งไปสู่เรื่องวัตถุมากกว่าเรื่องการยกระดับจิตใจ


 


ทุกคนหวัง "รวย" เป็นอันดับหนึ่ง เพราะคิดว่ารวยแล้วจะมีความสุข ทั้งๆ ที่มันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป เราไม่ได้คิดกันว่า เราสามารถมีความสุขได้ ถึงแม้เราจะไม่รวยก็ตาม


 


สัจธรรมประการหนึ่งคือ ความเจริญด้านจิตใจของคนเรามันสวนทางกับความเจริญทางวัตถุครับ เทคโนโลยีไม่ได้ทำให้จิตใจสงบสุข ตรงกันข้าม เรากลับเหงากันมากขึ้น หลงทางกันมากขึ้น ทรมานสังขาร (นั่งนานๆ) กันมากขึ้น เปลืองค่าโทรศัพท์และค่าอินเตอร์เน็ตกันมากขึ้น แต่กลับหาความสงบสุขในจิตใจได้น้อยลง ขณะที่คนอยู่ชนบท อยู่ป่า อยู่เขา แทบไม่รู้จักโทรศัพท์มือถือ  คอมพิวเตอร์ หรือ อินเตอร์เน็ต  อาจจะมีความสุขมากกว่า และอาจจะไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าความเหงาเลยก็เป็นได้


 


อีกประการหนึ่ง ปัจจุบัน "ศาสนา" อาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการพัฒนาทางจิตวิญญาณหนทางของการพัฒนาตนเอง มีมากกว่าการนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง การไม่มีศาสนาไม่ได้หมายความว่าเป็นคนต่ำทราม ไร้อารยธรรม แต่การมีศาสนาก็ไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นผู้มีความเจริญด้านจิตใจ คนที่อ้างศาสนาเพื่อทำลายชีวิตผู้อื่น ก็มีให้เห็นเป็นข่าวอยู่ทุกวัน


 


โลกยุคนี้ เปิดกว้างแม้แต่เรื่องของความเชื่อ ศีลธรรม จริยธรรม ทั้งท้าทายและทำลายขนบเก่าๆ ไปมากมาย ทว่า สิ่งสำคัญบางอย่างกลับเด่นชัดขึ้น นั่นคือ การแสวงหา "ตัวตน" ของเราเองที่จะยืนอยู่บนโลกให้ได้ คำว่า "ศรัทธา" หรือ "จิตวิญญาณ" อาจฟังดูเชยสำหรับวัยรุ่นยุค camfrog แต่การมุ่งแสวงหาแต่ภายนอก โดยลืมการแสวงหาภายใน อาจยิ่งทำให้เรากลวงเปล่ามากขึ้น


 


หน่วยทางสังคม ไม่ว่า ศาสนา เศรษฐกิจ หรือการเมือง จะเจริญหรือเสื่อมนั้น เราไม่อาจไปกำหนดมันได้ มันขึ้นมันลงด้วยปัจจัย ด้วยตัวแปรมากมายมหาศาล แต่สิ่งที่ควบคุมได้แน่ๆ คือ "ตัวเรา"


 


ฉะนั้น ผมคิดว่า สุดท้ายแล้ว คำถามว่า ศาสนาจะเสื่อมหรือไม่นั้น ไม่สำคัญเท่ากับคำถามที่ว่า ตัวเรา "เสื่อม" หรือเปล่า? หรอกครับ