Skip to main content

คุณค่าและความหมายของการทำกิจกรรมนอกห้องเรียน

คอลัมน์/ชุมชน

"หนูตั้งใจกับเพื่อนว่าพวกเราจะออกจากระบบการศึกษา หลายคนจบมอสามแล้วจะไม่เรียนต่อ พวกเราอยากเรียนรู้ข้างนอกห้องเรียน เรียนข้างนอกทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ทำให้เราได้พัฒนาชุมชนและพัฒนาตัวเองไปด้วย" น้ำเสียงหนักแน่นที่พูดออกมาจากความในใจของ น้องเอ๋ เด็กหญิงจากกลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ จ.สุราษฎรธานี ที่พูดแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ เยาวชนเครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในงาน กิจกรรม 10 ปี สืบสานล้านนา


 


เมื่อฟังสิ่งที่เอ๋ พูดแล้ว ผมก็มีรอยยิ้มที่มุมปาก เพราะสิ่งที่น้องพูดเป็นสิ่งที่ผมคิดและเชื่อว่าที่เราเรียนรู้กันในห้องเรียนนั้น ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเราหรือทำให้เราได้เรียนรู้และรู้จักชุมชนทั้งการมองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนตัวเองได้เลย


 



บรรยากาศการพูดคุยวงใหญ่ของเยาวชนสืบสานแต่ละภาคใต้ต้นฉำฉา


อันที่จริงจะว่าไปแล้วมี "รูปธรรม" ตัวอย่างของกลุ่มเพื่อนๆ หลายกลุ่มทีเดียวที่มาในงาน 10 ปีสืบสานล้านนา เช่น กลุ่มเยาวชนดงหลวง สบลี้ จ.ลำพูน, กลุ่มเยาวชนฮ่องอ้อ จ.อุบลราชธานี, กลุ่มเยาวชนท่าชนะ จ.สุราษฎรธานี, กลุ่มเยาวชนกิ่งไผ่ จ.กาฬสินธุ์, กลุ่มรักษ์ล้านนา จ.ระยอง เป็นต้น – กลุ่มเยาวชนต่างๆ เหล่านี้ เป็นกลุ่มที่ได้ทำงานเพื่อสืบสานภูมิปัญญาด้านต่างๆ ของชุมชนตัวเองมาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง


 


กิจกรรมที่แต่ละกลุ่มได้ดำเนินการนั้น มีลักษณะ รูปแบบที่เหมือนและแตกต่างๆ กันออกไปตามบริบทชุมชน ท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ ทั้งการลงพื้นที่ทำวิจัยท้องถิ่น การเข้าหาผู้รู้ในชุมชนเพื่อสอบถาม ค้นหา เรื่องราว วิถีปฏิบัติแต่ดั้งเดิมที่มีการเลือนรางจางหายไป หรือแม้แต่การจัดกิจกรรมรักษาความสะอาดในชุมชน การทำค่ายรณรงค์เรื่องสิทธิชุมชน เป็นต้น


 


กระบวนการทำงานของเยาวชนกลุ่มต่างๆ ถือว่าเป็นรูปธรรมการทำงานที่ได้ทำให้เยาวชนหลายคนที่ทำ ค้นพบว่าการเรียนรู้นอกห้องเรียนนั้นเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถมองเห็นความเชื่อมโยงของตัวเองและชุมชน มีประโยชน์ทั้งกับตัวเองและชุมชนในหลายประการ


 


"สิ่งที่ได้เลยคือความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง เมื่อก่อนจะเป็นคนใจร้อน ทำอะไรไม่ค่อยคิด แต่พอทำกิจกรรมไป มีกระบวนการทำงานก็ทำให้จัดระบบความคิด รู้เท่าทันอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกของตัวเองได้" เพื่อนเยาวชนจากอุบลราชธานีเล่าประสบการณ์การเรียนรู้ของเขาให้เพื่อนๆ ที่ร่วมแลกเปลี่ยนในกลุ่มย่อยฟัง


 


นอกจากนี้ บางคนยังเห็นว่า ตัวเองได้รู้จักการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ และเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น และได้รู้ว่าการที่จะทำให้ตัวเองใช้ชีวิตอย่างมีความหมายคือการทำความเข้าใจในรากเหง้า เรียนรู้ในรากเหง้าและเท่าทันต่อสังคม ซึ่งกระบวนการที่ไม่ได้อยู่ในห้องเรียนได้ตอบสนองสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้มากกว่าอยู่ในห้องเรียนเสียอีก


 



กลุ่มย่อยแบ่งคละภาค แลกเปลี่ยนความคิดประสบการณ์ของเพื่อนๆแต่ละคน


อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ตัวเองเท่านั้นที่ได้เรียนรู้กับการเรียนรู้นอกห้องเรียน อย่างเพื่อนที่มาจากภาคอีสานอีกคนหนึ่งก็เสริมว่า "พอเราเริ่มทำกิจกรรม ผู้ใหญ่ก็เห็นความสำคัญ ก็เริ่มฟื้นประเพณี และเริ่มจัดขึ้นกิจกรรมขึ้น พวกเด็กๆ ก็จะรู้ว่าที่ผ่านเรามีจารีตอะไรบ้าง แล้วทุกคนก็ช่วยกันรักษาร่วมกันต่อไป ผมว่าเป็นสิ่งที่ดีมากที่เกิดขึ้นกับบ้านของผม"


 


ขณะที่เพื่อนจากภาคใต้ก็เพิ่มเติมด้วยว่า "คนในชุมชนรักกันเองมากขึ้น ไม่ค่อยมีเรื่องทะเลาะแบะแว้งกัน คนก็ช่วยกันทำความสะอาดหมู่บ้าน เห็นขยะในก็เก็บ บางครอบครัวไม่ดื่มน้ำอัดลม เพราะเป็นตัวการทำให้ขยะในชุมชนเพิ่มขึ้น เวลามีกิจกรรมที่พ่อแม่ลูกได้มาทำด้วยกัน ก็จะเป็นโอกาสที่ครอบครัวต่างๆ มาอยู่ร่วมกัน และแลกเปลี่ยนกันและกัน"


 


ทั้งนี้เองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่เยาวชนหลายคนมาทำเพื่อชุมชนท้องถิ่นนั้น ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่ชุมชนเท่านั้น เพราะผลที่ได้อีกทางคือตัวเอง อย่างเช่น กรณีที่เพื่อนจากภาคใต้ยกตัวอย่าง "เวลาเราไม่กินน้ำอัดลม ไม่กินขนมถุง เราก็ลดขยะในชุมชนได้ แล้วก็ลองทำขนมกินเอง อะไรหลายอย่างเหล่านี้ เราได้ประโยชน์มากๆ คือ สุขภาพเราก็จะดี ไม่ต้องสะสมสารเคมีต่างๆ ในร่างกาย"


 


เมื่อได้ฟังเพื่อนๆ ที่มาจากต่างที่ ต่างถิ่นพูดถึงนั้น ทำให้ผมเห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นโดยการเรียนรู้นอกห้องเรียนนั้น เป็นสิ่งจำเป็นมากๆ ที่ต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้น เพราะรูปธรรมต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นเครื่องการันตีได้เลยว่า การเรียนในห้องเรียนและเรียนในห้องเรียนให้ผลต่อเด็กๆ เยาวชนแตกต่างกันอย่างไร


 


ดังนั้นก็ไม่แปลกเลยที่ผมจะสนับสนุนสิ่งที่น้องเอ๋ ได้พูดไว้ว่าจะไม่เรียนต่อในระบบการศึกษาแล้ว แต่ในมุมหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าการเรียนหรือไม่เรียนของเยาวชนหนึ่งคน ย่อมส่งผลสะเทือนต่อความรู้สึกของผู้ใหญ่หลายๆ คนได้ว่า ทำไมไม่เรียน ทำไมไม่เห็นความสำคัญของการเรียน ทำไมไม่รักอนาคตของตัวเอง


 



วงพูดคุยเล็กๆ ในเฮือนผญ๋าล้านนา


 


ผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งนะครับว่า หากระบบการศึกษาของไทยดีเพียงพอที่ทำให้เด็กๆ คิดเป็น วิเคราะห์เป็น แล้วทำไมเด็กๆ ที่ได้เรียนรู้ในห้องเรียนหรือสถานศึกษาต่างๆ จึงไม่สามารถลดปรากฏการณ์ที่คนมองว่าเป็น "ปัญหา" ของสังคมได้ เป็นไปได้ไหมว่าจึงทำให้เกิดการที่เยาวชนหลายคน ปฏิเสธการเรียนการสอนในระบบโรงเรียนกำลังบอกอะไรกับสังคมไทย ที่มองว่าระบบการศึกษาในโรงเรียนนั้นเป็นสูตรสำเร็จในการพัฒนาคน


 


เพื่อนๆ เยาวชนหลายคนที่ผมรู้จัก เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองมากขึ้น เริ่มเสาะแสวงหาการเรียนรู้ในมุมที่กว้างมากยิ่งขึ้น และเมื่อเลือกเดินในทางที่คิดว่าทำให้ตัวเองมีคุณค่าและมีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในสังคม แล้วก็ได้ตัดสินใจเลือกในหนทางนั้นๆ ผมว่าเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนคิดเป็น วิเคราะห์เป็น – ไม่ใช่แข่งเรียนๆ ท่องๆ เป็นนกแก้วนกขุนทองอย่างเคย


 


กรณีของน้องเอ๋ ต้องบอกว่าส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากแม่ "แม่บอกว่า แม่ไม่ต้องการให้ลูกได้ปริญญา แต่แม่อยากให้ลูกคิดถึงว่าลูกจะอยู่ร่วมกับสังคมอย่างไรและอยู่กับคนอื่นๆ อย่างไรได้มากกว่า" เอ๋ บอกกับเพื่อนๆ ในกลุ่มก่อนที่หลายคนอาจฉงนในใจว่า พ่อแม่ไม่ว่าเหรอ?


 


ครับ พ่อแม่ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของลูกๆ มากเลยนะครับ การที่เยาวชนจะคิดจะทำอะไรอย่างน้อยก็ต้องมีแรงสนับสนุนจากพ่อแม่พอสมควร ถ้าไม่ขอตรงๆ ก็ต้องพิสูจน์ให้ท่านดูว่าสิ่งที่เราเชื่อมั่นในวิถีทางนี้มีผลออกมาเป็นอย่างไร เพราะอย่างที่เรารู้กันว่าสังคมมักนิยมความมีหน้ามีตา เกียรติยศ ชื่อเสียง ปริญญาตรี ฯลฯ


 


มาถึงตรงนี้ ผมเห็นว่าสังคมต้องเข้าใจคนหนุ่มสาวเยาวชน ที่เลือกเส้นทางการเรียนรู้นอกระบบการศึกษา หาใช่จะตอกย้ำว่าเป็นคนแตกแยก แตกต่างจากคนอื่นๆ หรือมองในแง่ลบเพียงอย่างเดียวด้วยบรรทัดฐานที่สังคมมีอยู่


 


แต่สำหรับผมนะครับ สิ่งที่ผมบอกกับตัวเองเสมอคือ  แม้ว่าใครจะกล่าวต่อว่าอย่างไร ถ้าเราเชื่อมั่นและศรัทธาในหนทางที่เราเลือกเดินด้วยใจและความคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นและผ่านการเรียนรู้มาแล้ว เราต้องยืนยันสิ่งที่เราเป็น ยืนยันในสิ่งที่เราเลือก จากเราเพียงคนเดียว หากเพิ่มคนที่มีความคิดเหมือนกัน วิถีเหมือนกัน สังคมในอีกสิบปีข้างหน้าก็คงจะมีคนยอมรับกับคุณค่าและความหมายของการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากยิ่งขึ้น