Skip to main content

เรียกร้องสิทธิ ผิดฝา ผิดตัว ผู้ประกันตน กับโรงพยาบาล กับสำนักงานประกันสังคม

คอลัมน์/ชุมชน

ปลายเดือนมีนาคมปี 50 ที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับระบบประกันสังคมข่าวหนึ่งที่น่าสนใจมาก นั่นคือการออกมาเรียกร้องขอขึ้นเงินค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน โดยเป็นการยื่นข้อเรียกร้องต่อสำนักงานประกันสังคม นับเป็นปรากฏการณ์ต่อสาธารณะครั้งแรกๆ ในการเจรจาต่อรองกันเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลระหว่างโรงพยาบาลผู้ให้ (ขาย) บริการ กับผู้บริหารเงิน (จ่ายซื้อ) ประกันสังคม ซึ่งเงินนั้นเป็นเงินของลูกจ้างที่จ่ายเงินค่าประกันตนให้กับสำนักงานประกันสังคมทุกๆ เดือนรวมกับเงินที่นายจ้างสมทบและเงินที่รัฐบาลสมทบ ซึ่งเป็นการบังคับจ่ายเงินเพื่อให้ได้รับสวัสดิการที่เหมาะสมตามกฎหมายประกันสังคมที่มีผลบังคับลูกจ้าง นายจ้าง ทั้งนี้ ลูกจ้างกว่า 8 ล้านคน น่าจะเป็นผู้มีสิทธิมีเสียงเรียกร้องกับสำนักงานประกันสังคมและโรงพยาบาลให้มีการจัดบริการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ สมกับราคาค่าเหมาจ่ายรายหัวที่ได้รับ แต่กลายเป็นว่าโรงพยาบาลเอกชนเป็นคนออกมาโวยเสียเอง เรื่องนี้มีนัยยะสำคัญอะไร


 


ประการหนึ่งคือ ลูกจ้างไม่ค่อยมีสิทธิมีเสียงกำหนดนโยบายในกองทุนหลายแสนล้านบาทนี้สักเท่าไร แม้จะมีตัวแทนลูกจ้างเข้าไปเป็นบอร์ดประกันสังคมแล้วก็ตาม การสื่อสารเรื่องสิทธิประโยชน์ การต่อรองบริการที่มีคุณภาพ การเหมาจ่ายรายหัวเพื่อรักษาพยาบาลกลับเป็นหน้าที่ของกรรมการการแพทย์ และบอร์ดเป็นเสียงสำคัญ โดยผู้ประกันตนมีส่วนร่วมน้อยมาก จะรู้อะไรก็ต่อเมื่อเป็นข่าวเท่านั้น


 


ประการหนึ่ง ลูกจ้างจำนวน 8 ล้านคน อยู่ในวัยทำงาน สุขภาพยังแข็งแรง สมบูรณ์ อยู่ในวัยทำงานเก็บเงินสร้างชีวิต โอกาสเจ็บป่วยน้อยกว่า เด็ก ผู้สูงวัย คนชรา ซึ่งป่วยบ่อย ป่วยเรื้อรัง ไม่หายขาด เช่น เบาหวาน ความดัน ลูกจ้างย่อมมีโอกาสใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลน้อยกว่าในแต่ละปี


 


ประการหนึ่ง คือการจ่ายค่ารักษาพยาบาลของประกันสังคมเป็นการเหมาจ่ายรายหัว จ่ายล่วงหน้าให้กับโรงพยาบาล เป็นค่าใช้จ่ายเบ็ดเสร็จทั้งค่าแรงงาน บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล ค่ายา ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าการลงทุนของโรงพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลที่เข้าร่วมในประกันสังคมต้องคิดคำนวณแล้วว่ามีกำไรพอเพียงให้ผู้ถือหุ้นและลงทุนเพิ่มเติมได้  จึงยังอยู่ในระบบประกันสังคม และไม่อยากอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ต้องดูแลตั้งแต่ทารกแรกเกิด จนคนชรา


 


ประการหนึ่ง  ค่าเหมาจ่ายที่เคยได้ในปี 50 คือ 1,250 บาทต่อคนต่อปี รวมค่าภาระเสี่ยงร้ายแรงบางโรคอีก 205 บาทต่อคนต่อปี  ก็รวมเป็น 1,455 บาท  นอกนั้นยังมีค่าใช้จ่ายพิเศษกรณีผ่าตัดหัวใจ ล้างไต ปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งจ่ายให้เป็นรายๆ ไปกับโรงพยาบาล  ส่วนตัวผู้ประกันตนเองยังได้ค่าคลอดอีก 12,000 บาทต่อการคลอดหนึ่งครั้ง  ซึ่งแน่นอนย่อมเอาไปจ่ายให้โรงพยาบาลในการดูแลการคลอด  และได้รับค่ารักษาฟันอีกปีละ 500 บาท  ตัวเลขโดยรวมแน่นอนว่าต่ำกว่าค่าใช้จ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2550 อยู่ที่ 1,899.69 บาท แต่ดูแลคนทุกเพศทุกวัย


 


และอีกประการหนึ่ง คือลูกจ้างคิดว่าตนเองได้รับบริการที่ดีมีความสะดวกสบายกว่าบรรดาพ่อแม่ พี่น้องครอบครัวตนเองที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ  แต่ความเป็นจริงอาจไม่ใช่เช่นนั้นก็ได้ เพราะโรงพยาบาลที่ให้บริการส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งต้องหวังผลกำไรอยู่แล้วเพื่ออยู่ได้ในฐานะธุรกิจรักษาพยาบาล ยิ่งเห็นชัดขึ้นว่ากลุ่มองค์กรโรงพยาบาลเอกชนจะไม่ยอมสูญเสียประโยชน์หรือยอมขาดทุนหรือยอมได้กำไรน้อยลง  หากว่าไม่ได้รับค่าใช้จ่ายรายหัวเพิ่มขึ้น


 


ดังนั้น ลูกจ้างซึ่งมีสิทธิในเงินกองทุนประกันสังคม น่าจะเป็นผู้ออกมาตรวจสอบ ตรวจตรา หาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายรายหัว เกี่ยวกับคุณภาพบริการ ให้มากกว่านี้จะดีกว่า เพื่อเพิ่มมาตรฐานการรักษาพยาบาลและอำนาจต่อรองเช่นเดียวกับที่ทางโรงพยาบาลเอกชนเริ่มต่อรอง  ทั้งนี้ น่าจะหมายรวมถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจบริหารจัดการของสำนักงานประกันสังคมด้วยว่า ปกป้องผลประโยชน์ของลูกจ้างหรือของใคร