Skip to main content

งานดนตรี ไร้พรมแดน

คอลัมน์/ชุมชน

1


เป็นที่คึกคัก และ มีการต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่งพอควร สำหรับเทศกาลดนตรี "พัทยาอินเตอร์เนชั่นแนลมิวสิคเฟสติวัล 2005" ที่จัดระหว่างวันที่ 18 – 20 มีนาคม 48 …หลายฝ่ายมองว่า เป็นปรากฎการณ์หนึ่งที่พิสูจน์ศักยภาพในการจัดกิจกรรมระดับนานาชาติของไทย ทั้งยังชี้ให้เห็นว่าไทยเรายังมีความอบอุ่นปลอดภัยหยิบยื่นให้นักท่องเที่ยวอย่างสม่ำเสมอ;

ผู้เขียนยกเทศกาลพัทยามิวสิคฯ ขึ้นมาเล่า มิได้หมายจะเยินยอคณะผู้จัดงานแต่อย่างใด ทว่า ผู้เขียนยอมรับในระดับหนึ่งว่าเทศกาลพัทยามิวสิคฯ เป็นเทศกาลดนตรีที่มีความน่าสนใจและ ชี้ให้เห็นความพยายามของคนไทยในการเผยแพร่ชื่อเสียงสู่นานาประเทศ …นอกจากนี้ จากที่ได้ติดตามข่าวคราวของงานดังกล่าวผ่านสื่อ เห็นว่ามีไม่น้อยที่ประโคมข่าวเกี่ยวกับวันแรก ๆ ของการจัดงาน ส่วนผู้เขียนนั้นเลือกที่จะหยิบภาพเหตุการณ์ในวันสุดท้ายมาเล่า คิดว่าคงเข้าท่าไม่หยอก ดังจะขอเล่า ขอบอกต่อไป…


2


ช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม บริเวณสถานีขนส่งเอกมัย ปรากฏภาพความคึกคัก ด้วยผู้คนต่างพากันมารอใช้บริการรถขนส่งกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง …ช่องบริการตั๋วโดยสารของรถที่จะมุ่งหน้าสู่เมืองพัทยา พบเห็นการติดป้ายประชาสัมพันธ์งานพัทยามิวสิคฯ อย่างชัดเจน งานดนตรีครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นช่องทางการท่องเที่ยวพักผ่อนที่เหมาะมากสำหรับวัยรุ่น ด้วยราคาค่าโดยสารรถไปพัทยานั้นถือว่าไม่แพง เพียง 90 บาทต่อ 1 ท่าน อีกทั้งงานดนตรีไร้พรมแดนที่จัดขึ้นครั้งนี้มีศิลปินนานาชาติที่กำลังนิยมในหมู่วัยเรียน ปัจจัยเหล่านี้เอง อาจเป็นเหตุให้ชานชาลารอรถไปพัทยาหนาตาไปด้วยวัยรุ่นหนุ่มสาว แม้ว่าวันอาทิตย์จะเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลดนตรีก็ตาม จากสถานีขนส่งเอกมัย ใช้เวลาเพียงประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ ก็เข้าสู่เขตจังหวัดชลบุรี เมื่อรถเทียบท่าที่สถานีขนส่งเมืองพัทยา ปรากฏว่าฝูงชนคับคั่งยิ่งกว่าที่เอกมัยเสียอีก จุดหนึ่งที่สอดคล้องกันคือผู้ที่กำลังรอโดยสารรถบ้าง, เข้าคิวรอซื้อตั๋วโดยสารกลับเข้ากรุงเทพฯ บ้าง เกือบทั้งหมดเป็นวัยรุ่น วัยเรียน  


ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้าง ประจำวินสถานีขนส่ง คุยให้ฟังว่า งานดนตรี เมื่อ 2 คืนที่ผ่านมานั้น ศิลปินอาจจะน่าสนใจมากกว่าโปรแกรมที่กำลังจะแสดงในคืนนี้ หรือไม่ก็วันนี้เป็นวันอาทิตย์ วัยรุ่นส่วนมากจึงวางแผนกลับบ้านกันแล้ว ทำให้สถานีขนส่งเมืองพัทยามีผู้โดยสารมารอขึ้นรถกันอย่างหนาแน่น ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้าง ยังคุยต่อถึงรายได้ในช่วงเทศกาลนี้ว่า "คนมาเที่ยวกันเยอะจริง รายได้ก็เพิ่มขึ้นบ้าง แต่เราก็มีแรงขี่รถเท่าที่ขี่ได้ จะให้โหมทำงานทั้งวันทั้งคืนก็ไม่ไหว" 


ด้วยเหตุนี้กระมัง …หลายเทศกาลที่จัดตั้งให้ดังเป็นพลุแตกแล้วหายไป ไม่จัดต่อให้สม่ำเสมอ จึงแทบไม่มีผลอะไรต่อรายได้ของคนในท้องถิ่น ถ้าอย่างนั้น ในแต่ละท้องที่อาจต้องมีกิจกรรมเกิดขึ้นสม่ำเสมอหรือไม่ อย่างไร ให้เงินในกระเป๋าคนไทยไหลเวียนอยู่เสมอ?


3


ผู้เขียนเดินเข้าไปในบริเวณห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งย่านพัทยาเหนือ อาจเป็นเพราะช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่เลยเที่ยงวัน ลูกค้าของห้างจึงยังไม่ขวักไขว่ … ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ประจวบเหมาะที่ผู้เขียนได้พบกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเทศกาลดนตรีครั้งนี้ นั่งล้อมวงรับประทานอาหารและพูดคุยถึงงานดนตรีเมื่อคืนที่ผ่านมาว่า "ในไทย จัดฟรีคอนเสิร์ตทีไร เป็นต้องมีวัยรุ่นยกพวกตีกันทุกที"  

การยกพวกตีกันของกลุ่มวัยรุ่น คงเป็นประเด็นหนึ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดงานตระหนักดี เห็นได้จากทั่วบริเวณชายหาดพัทยา ช่วงเทศกาลดนตรีนี้จะมีรถหกล้อที่ตีล้อมกระบะหลังด้วยกรงเหล็กพร้อมกับแขวนป้ายผ้าด้านข้างตัวรถว่า "ที่พักคนเก่ง", "ที่พักผ่อนอารมณ์" ผู้เขียนพบเห็นเข้า พลางคิดต่อไปว่า เมืองท่องเที่ยวอย่างพัทยาที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวนานาชาติ นักท่องเที่ยวที่สามารถอ่านภาษาไทย คงติดใจสงสัยในรสนิยมการพักผ่อนของคนไทย ว่าทำไม คนเก่ง กับคนที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ …นิยมพักกันใน "กรง!"


4


หลังบ่ายโมง บริเวณชายหาดพัทยากลางยังไม่คึกคักแต่ประการใด ยิ่งไปกว่านั้น ฝน ได้ ตกลงมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย นักท่องเที่ยวต่างพากันหลบฝนเข้าไปในห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้ เขียนก็เช่นกัน เมื่อเดินผ่านแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้เขียนเห็น นักท่องเที่ยวหลายท่านช่วยกันหอบหิ้วเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ในรูปแบบต่าง ๆ อาจคาดหมายได้ว่าสินค้าประเภทนี้น่าจะทำรายได้ดีให้กับผู้ประกอบการในช่วงเทศกาลดนตรีที่จัดขึ้น


ผู้เขียนเดินเรื่อยมาจนผ่านแผนกสินค้าสตรี พนักงานขาย ที่กำลัง "แอบงีบ" อยู่นั้นตื่นขึ้นมากล่าวคำทักทาย ผู้เขียนสงสัยว่า ขายไม่ดีหรือไรจึงงีบหลับได้ พนักงานสาวเล่าถึงยอดการขายในช่วงเวลานี้ว่า "ของขายไม่ดี มีคนมาเที่ยวเยอะจริง แต่ส่วนมากก็มาเดินดูเฉย ๆ ไม่ค่อยมีคนซื้อของ"

อืม! เป็นคำกล่าวที่น่าสนใจว่า กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จัดขึ้น กระจายรายได้ไปสู่กระเป๋าใครกันบ้าง?


5


 หลัง 18.00 น. แต่ละเวทีเริ่มต้นการแสดงไปได้สักระยะแล้ว การแสดงบนเวทีถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน "เวทีเลิฟบ๊อกซ์" (Love box) ตั้งอยู่โซนพัทยาเหนือ, "เวทีพีซบอกซ์" (Peace box) อยู่โซนพัทยากลาง และ "เวทีเวิลด์บ๊อกซ์" อยู่ที่แหลมบาลิฮาย เดินลึกจาก วอล์คกิ้งสตรีทพัทยาใต้เข้าไป …


การจัดแบ่งเป็น 3 เวทีนี้ ไม่ทราบด้วยเกล้าว่าแบ่งโดยหลักการใด ดูจากตารางงาน ไม่ชี้ชัดว่าแยกตามแนวดนตรี หรืออะไร? ทำให้ผู้เขียนเดินย้อนมา – ย้อนไป ด้วยสนใจใน เวทีเลิฟบ๊อกซ์และพีซบ๊อกซ์ อาจเพราะอยากซึมซับไอรักและสันติ อีกทั้งเห็นว่าทั้ง 2 เวทีอยู่ห่างกันพอเดินแล้วได้เหงื่อ ทว่าในมุมมองของผู้เขียนเห็นการมีส่วนร่วมในสองเวทีดังกล่าวไม่คึกคักมากนัก ผู้คนขวักไขว่ชมสินค้าที่มาออกร้านบนถนนริมหาดมากกว่าที่จะผ่านด่านการตรวจค้นเข้าไปชมดนตรีในบริเวณที่กั้นไว้เสียอีก ผู้เขียนจึงตั้งคำถามว่า "หรือผู้ชมจะสนใจเวทีเวิลด์บ๊อกซ์มากที่สุด?" ผู้เขียนจึงเดินทางไปที่แหลมบาลิฮาย เพื่อชมบรรยากาศงานแสดงดนตรีที่เวทีเวิลด์บ๊อกซ์

ตั้งแต่ก้าวเข้าสู่บริเวณวอร์คกิ้งสตรีท สังเกตได้ค่อนข้างชัดเจนว่า นักท่องเที่ยววัยรุ่นไทย ประกอบกับชาวต่างชาติบางส่วน เดินมุ่งหน้าสู่เวทีเวิลด์บ๊อกซ์ …ปริมาณผู้ชมและผู้ร่วมงานรายรอบเวทีมีพอสมควร บนเวที มีการเรียกร้องจากพิธีกรให้แฟนศิลปินในแต่ละชาติ ส่งเสียงโต้ตอบเมื่อได้ยินการขานชื่อประเทศภูมิลำเนาของตน - - อาจพอคาดเดาได้ว่า มีแฟนคลับที่ติดตามศิลปินในดวงใจ แทรกตัวอยู่ในหมู่ผู้ชมการแสดงชาวไทยด้วย


ที่ เวที เวิลด์บ๊อกซ์ ผู้ เขียน ได้ คุยกับ ผู้สื่อข่าวจาก " ทีวีเสรี" สถานีหนึ่ง ซึ่งเผย ทัศนะ เกี่ยวกับ งานเทศกาลดนตรีครั้งนี้ว่า

" งาน ( เทศกาลดนตรี ) นี้ ช่วยให้ คน สัญจรผ่านพัทยาสนใจแวะมา ดู งานในพัทยา … ถือว่างานช่วยเพิ่มสีสันให้พัทยา แต่ งานนี้คงไม่ได้ยืดระยะเวลาให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติพัก อยู่ นานขึ้น เพราะดูสิ ก็มีแต่คนไทยทั้งนั้น เพลงก็มีเพลงไทยซะมาก ถ้าจะถามว่าการจัดงานประสบผลสำเร็จไหม ก็ถือว่าสำเร็จที่พิสูจน์ให้เห็นได้ว่าไทยจัดงานใหญ่ระดับนานาชาติ ได้ แ ล้ว ประเทศไทยมีความปลอดภัยพอที่จะเที่ยว ถึงจะมีทะเลาะวิวาทในงาน แต่เจ้าหน้าที่คุมสถานการณ์ได้ ไม่เกิดกรณีรุนแรงก็ถือว่าโอเค … "


6


หลัง 21.00 น. ผู้เขียนตะลอนฟังดนตรีจนเหนื่อย พอสมควรแล้ว จึง ร่ำลาชายหาดพัทยา ไปรอขึ้นรถทัวร์เข้ากรุงเทพฯ … ภาพที่สถานีขนส่ง ชวนให้ผู้เขียน แปลกใจว่า ปริมาณผู้โดยสารที่รอขึ้นรถอยู่นั้น บางตากว่าช่วงกลางวันอย่างเห็นชัด แม้ว่าตั๋วโดยสารที่กำลังขายอยู่เป็นตั๋วที่ต้องรอรถคันนั้น ๆ มาเทียบท่าไม่ต่ำกว่าชั่วโมงครึ่งก็ตาม ทว่า จำนวนคนที่รอรถมิได้เบียดเสียดกันแต่อย่าง ใด


ความศักดิ์สิทธิ์ของเช้าวันจันทร์มีอิทธิพลให้วัยรุ่นไทยรีบเข้าบ้านนอนตั้งแต่หัวค่ำของวันอาทิตย์ แล้วเลือกทิ้งโอกาสในการชมดนตรีนานาชาติ ได้ขนาดนี้เชียวหรือ !?