Skip to main content

เปรียบเทียบ "สามเหลี่ยมนโยบายพลังงาน" ไทย-ยุโรป

คอลัมน์/ชุมชน







ถ่านหิน


คำนำ


 


ในที่สุด "คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ" (กพช.) ก็เห็นชอบหลักการแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2007) ในช่วงปี 2550-2564 (ข่าวจาก nationchannel.com 10 เมษายน 2550) ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ได้รับการคัดค้านจากนักวิชาการอิสระด้านพลังงานและชาวบ้านบางกลุ่ม


 


ความจริงแล้ว "แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า" มีความสำคัญต่อคนไทยเป็นอย่างมาก เพราะเหตุผลใหญ่ๆ 4 ประการ คือ  (1) คนไทยเราใช้ไฟฟ้าคิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 แสนล้านบาทต่อปี  (2) มูลค่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในช่วงอายุของแผนมีมูลค่าประมาณ  1 ล้านล้านบาท  (3) การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงเกินความเป็นจริงเสมอมา และ (4)  การตัดสินใจเลือกประเภทของเชื้อเพลิงที่จะใช้จะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนไทยทั้งระดับชาติและระดับชุมชนที่สร้างความแตกแยกและขัดแย้งกันมาตลอด


 


ถ้าแผนการดังกล่าวไม่เป็นไปตาม "4 ป." ของท่านนายกฯ สุรยุทธ์ จุลานนท์ (ผมเองจำได้เพียง 3 ป. คือ ประหยัด โปร่งใส มีประสิทธิภาพ) แล้วละก็ คนไทยเราต้องรับภาระกันหลังอานแน่ และคนจำนวนหนึ่งก็จะถือโอกาสคดโกงกันจากแผนการนี้ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ


 


ที่น่าตื่นเต้นมากคือ ในแผนนี้จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 4 พันเมกกะวัตต์ รวมทั้งการจำกัดการเพิ่มของโรงไฟฟ้าขนาดเล็กโดยไม่มีคำอธิบายถึงที่มาที่ไปของเหตุผล


 


แม้แผนดังกล่าวจะมีความสำคัญมาก แต่ก็เป็นการยากมากที่จะเรียกร้องให้คนไทยให้ความสนใจกับเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ได้ถูกวางเป็น "กับดัก" ไว้อย่างเป็นระบบมานานแล้ว ทั้งเรื่องการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน การจำกัดการสื่อสารของข้อมูล การวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนการวิ่งเต้นของกลุ่มพ่อค้าพลังงานผู้อยู่เบื้องหลัง (กรุณาอย่าเถียงเลยว่าไม่เป็นความจริง)


 


เพื่อเป็นการหนีกับดักดังกล่าว  ผมจึงขอใช้วิธีการเปรียบเทียบเพียงสั้นๆ (ขืนเขียนยาวนักคนก็ไม่อ่านอีก) เพื่อให้เห็นว่าการจัดทำแผนผลิตไฟฟ้าของไทยกับของกลุ่มประเทศยุโรปนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร  ทั้งนี้โดยใช้หลักการที่เรียกว่า "สามเหลี่ยมนโยบายพลังงาน (Energy Policy Triangle)" มาเป็นกรอบแนวคิด


 


ถ้าเราได้เห็นความแตกต่างของแผนทั้งสอง จะช่วยทำให้เราพอจะล่วงรู้ได้บ้างว่า แผนของประเทศไทยนั้นมีความน่ากลัวและห่วยแตกขนาดไหน


 


สามเหลี่ยมนโยบายพลังงาน คืออะไร  


 


สามเหลี่ยมนโยบายพลังงานได้ให้หลักการใหญ่ไว้ 3 ประการในการวางนโยบายพลังงาน  คือ นอกจากจะต้องคำนึงถึงเหลี่ยมที่หนึ่งซึ่งเป็นเรื่องเศรษฐกิจ (เรื่องต้นทุนการผลิต กำไร-ขาดทุน อุปสงค์ อุปทาน) และเหลี่ยมที่สองคือความมั่นคง (เรื่องความต่อเนื่องของแหล่งพลังงาน) ยังจะต้องคำนึงถึงเรื่องความเป็นมิตรและการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม (compatibility)  ด้วย


 


เรื่องความเป็นมิตรและการอยู่ร่วมกัน นอกจากจะต้องสนใจความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน เรื่องความขัดแย้งทั้งในและระหว่างชุมชนภายในประเทศและต่างประเทศแล้ว ยังจะต้องสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาโลกร้อน ที่กำลังรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างที่มนุษย์คาดไม่ถึงอยู่ในขณะนี้ด้วย


 


นอกจากนี้จะต้องคำนึงถึง การแก้ปัญหาคนจน การจ้างงาน การกระจายรายได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติจะมีการจ้างงานและกระจายรายได้จำนวนน้อยมาก ในขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดเล็กจากชีวมวล พลังงานลม แสงอาทิตย์ ฯลฯ นอกจากจะก่อมลพิษจำนวนน้อยแล้ว ยังจะก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมหาศาลรวมทั้งการกระจายรายได้ด้วย


 



 


ในการวางนโยบายพลังงาน รวมทั้งการจัดทำแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ไม่มีการพิจารณาถึงเหลี่ยมที่สามกันเลย จากเอกสารของทางราชการเมื่อพูดถึง "ต้นทุน" เขาจะไม่คิดต้นทุนทางสังคมหรือต้นทุนสิ่งแวดล้อมที่เรียกรวมๆทางวิชาการว่า "ต้นทุนภายนอก (external cost)" กันเลย


 


 


เปรียบเทียบแผนไฟฟ้าไทยกับแผนไฟฟ้ายุโรป


 


แม้ว่า ในความตั้งใจของผม ผมต้องการจะเปรียบเทียบแผนไฟฟ้าไทยกับแผนไฟฟ้ายุโรปแต่เพียงโดยย่อและสั้นๆ  แต่ก็จำเป็นต้องนำเสนอเป็นรูปกราฟที่มีข้อมูลจำนวนมาก ทั้งนี้อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจเชิงลึกได้ค้นคว้าต่อไป


           


 



 


 


 



 


กราฟบนเป็นกรณีของประเทศไทย  มีการนำเสนอแผนการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด  9 แผน ในที่สุดทาง กพช. ตัดสินใจเลือกเอาแผนที่เรียกว่า  B2   ทุกแผนมีการใช้เชื้อเพลิงเพียง 5 ชนิดเหมือนกันหมดเพียงแต่สัดส่วนต่างกันเท่านั้น เชื้อเพลิงที่ว่า คือ (1) โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (ที่เขียนว่า SPP ให้สังเกตว่าทั้ง 9 แผนมีจำนวนเท่ากัน) อยู่ตอนล่างสุดของกราฟแท่ง (2)  ส่วนถัดมา (จากส่วนล่างของกราฟแท่งที่เขียนว่า Nuclear)  คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้ง 9  แผนมีจำนวนเท่ากันคือ 4,000  เมกกะวัตต์ (3) ใช้ก๊าซธรรมชาติจำนวน 18,200 เมกะวัตต์ (อยู่ในส่วนกลางของกราฟแท่ง)  (4) โรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 2,800 เมกะวัตต์ (ส่วนที่เป็นสีดำ) และ (5) ส่วนที่รับซื้อจากต่างประเทศ (อยู่บนสุด ที่เขียนว่า Import)


 


ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์แผนของประเทศไทย  เรามาดูแผนของยุโรปที่ใช้ชื่อว่า  TRANS-CSP เป็นโครงการร่วมมือระหว่างหลายประเทศในยุโรปและประเทศในทวีปอัฟริกาตอนเหนือ   จุดเด่นของโครงการคือการใช้พลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์มาต้มน้ำแล้วนำน้ำร้อนไปผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า (Concentrating Solar Power- CSP)   ซึ่งผมขออนุญาตไม่ลงรายละเอียดในที่นี้   แต่ท่านสามารถค้นได้จาก  google


 


ความสำคัญของแผนการดังกล่าวได้ใช้กรอบคิดของสามเหลี่ยมนโยบายพลังงาน สาระสำคัญมากๆ พอสรุปได้ดังนี้คือ


 


(1) เดิมใช้เชื้อเพลิงหลักเพียง 5 ชนิด  คือ พลังน้ำ ก๊าซธรรมชาติ  นิวเคลียร์ ถ่านหิน  และน้ำมัน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่มีจำนวนจำกัด มาเป็นการใช้พลังงานที่หลากหลายชนิดขึ้นถึง 10 ชนิด ชนิดที่เพิ่มเข้ามาคือ  พลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานจากชีวมวล  โซลาร์เซล


 


(2)  พลังงานแบบเดิมส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ภายใต้แผนใหม่นี้ แหล่งพลังงานส่วนมากมีจำนวนไม่จำกัด เป็นเชื้อเพลิงที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น


 


(3) เป็นที่น่าสังเกตว่า  ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์จะลดลงประมาณ 3 เท่าตัว


 


สรุป


           


จากที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อที 3 เราจะพบว่า แผนไฟฟ้าของไทยในอีก 15 ปีข้างหน้า มีลักษณะตรงกันข้ามกับแผนผลิตไฟฟ้าของกลุ่มประเทศยุโรปอย่างเกือบจะสิ้นเชิง  ผู้อ่านหลายท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมประเทศยุโรปจึงสามารถทำแผนได้ดีมีความสอดคล้องกับความจำเป็นในการแก้ปัญหาของโลก ของชุมชนในหลายด้านดังที่กล่าวมาแล้ว


 


คำตอบที่ผมรับทราบก็คือว่า ในประเทศยุโรปมีกลุ่มประชาสังคม และกลุ่มเอ็นจีโอที่ทำงานด้านพลังงานอย่างจริงจังและต่อสู้ทางความคิดกับรัฐบาลมาอย่างยาวนาน  แต่ในบ้านเราเหรอครับมีน้อยมาก  ดังนั้น ผมจึงขอกราบเรียกร้องมายังคนไทยทั้งหลายว่า โปรดช่วยกันดูแลและรู้เท่าทันเรื่องนโยบายด้านพลังงานด้วยครับก่อนที่จะสายเกินไป.