Skip to main content

"วันว่าง" ของชาวปักษ์ใต้

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อล่วงเข้าเดือนห้าแล้ว เสียงเพลงบอกที่ออกตระเวนขับขานจะบอกชาวปักษ์ใต้ทั้งหลายให้รู้กันโดยทั่วไปว่าต้องเตรียมตัวต้อนรับวันทำบุญใหญ่ประจำปีกันอีกครั้ง เป็นบุญแห่งความกตัญญูกตเวที เป็นบุญปีใหม่ กล่าวแบบใต้ใต้ก็คือ บุญ "วันว่าง" นั่นเอง


 



 


 "วันว่าง" ก็คล้ายๆ กับประเพณีมหาสงกรานต์ของคนภาคอื่นๆ แต่จะแตกต่างกันตรงที่ "วันว่าง" ของชาวปักษ์ใต้นั้นมีขนบนิยมปฏิบัติที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญๆ อยู่หลายอย่าง ที่เห็นเด่นชัด คือ เมื่อถึงวันว่างแล้วนั้นชาวปักษ์ใต้ก็จะหยุดเว้นจากการทำงานทุกๆ อย่าง เช่น เว้นทำไร่ทำนา เว้นเก็บข้าว เว้นการหาผักหาปลาหากับข้าวของกิน เว้นการฆ่าสัตว์  นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามอยู่บ้าง เช่น ห้ามตัดเล็บตัดผม ห้ามอาบน้ำในแม่น้ำลำคลอง ห้ามตัดรานต้นไม้ ห้ามลงโทษเฆี่ยนตีทั้งคนและสัตว์ ห้ามขึ้นต้นไม้ ห้ามกล่าวคำหยาบดุด่าว่ากัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ว่ากันว่าแม้แต่โจรผู้ร้ายก็ต้องงดเว้นการลักขโมยในช่วง "วันว่าง" นี้ด้วยเช่นกัน


 


ก่อนถึง "วันว่าง" ชาวปักษ์ใต้จึงต้องรีบเร่งทำงานที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จเรียบร้อย  เช่น  ต้องเร่งเก็บเกี่ยวข้าวในนาและขนย้ายไปเข้าที่เก็บให้หมด  ใครกำลังปลูกบ้านสร้างเรือนใหม่ก็รีบสร้างให้เสร็จ  ใครทอผ้าก็ต้องเร่งทอให้จบผืน ไม่ทิ้งค้างคากี่ไว้ มิเช่นนั้นจะถูกตำหนิติเตียนจากเพื่อนบ้าน  และถือว่าขัดจารีตประเพณีไม่เป็นมงคล


 



 


เพราะ "วันว่าง" เป็นประเพณีสำคัญของชาวปักษ์ใต้  การทำบุญทำทานจึงเป็นประเพณีหลักที่สืบทอดมายาวนาน มีการตักบาตรฟังเทศน์ฟังธรรม  สรงน้ำพระพุทธรูป  มีการแสดงความเมตตาปรานี  ปล่อยนกปล่อยปลา ให้ทรัพย์สินแก่ผู้เยาว์  ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ไม่ทำอารมณ์ให้ขุ่นมัว  ทั้งต้องแสดงความกตเวทีต่อผู้ใหญ่  มีการอาบน้ำสระหัวแก่ผู้เฒ่าผู้แก่  พร้อมทั้งจัดหาผ้าใหม่ไปให้ท่านนุ่ง  แล้วขอศีลขอพรจากท่าน  นอกจากนี้ยังจะมีพิธีมงคลอื่นๆ อีกหลายอย่าง


 



 


"วันว่าง" ของชาวปักษ์ใต้จะกระทำติดต่อกันเป็นเวลา ๓ วัน ตรงกับวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายน ซึ่งตรงกับเดือน ๕ แบบไทย แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองครั้ง  วันว่างนั้นจะตกอยู่ในเดือน ๖ ของทุกปี


 


ในอดีตบางพื้นที่มีประเพณีที่เรียกว่า "แช่สากแช่ครก"  คือแต่ละบ้านจะเอาสากเอาครกวางไว้ในที่ที่มองเห็นได้ชัดไม่มีการปิดบัง เอาสากมัดรวมเป็นมัดเดียวกัน ผูกด้วยด้ายแดงด้ายขาวตั้งใส่เอาไว้ในครกแล้วเติมน้ำลงไปด้วยเพื่อแสดงให้เห็นว่าในช่วงนี้จะว่างเว้นจากการใช้สากใช้ครกดังกล่าว  ปัจจุบันการแช่สากแช่ครกเกือบไม่มีให้เห็นในสังคมชาวปักษ์ใต้แล้ว อาจเป็นเพราะว่าไม่ได้สีข้าวซ้อมสารแบบดังเดิมกันเองแล้ว กล่าวคือชาวปักษ์ใต้ในปัจจุบันหันไปสีข้าวโดยใช้โรงสีกันหมด


 



 


ในส่วนของผู้คนก็จะมีการจัดหาเสื้อผ้าชุดใหม่ไว้ให้ลูกหลานและตัวเองได้แต่งในวันว่าง  ซึ่งถือคติว่าต้องใช้เพื่อความเป็นสิริมงคล สำหรับผู้ที่เป็นบุตรหลาน  ก็จะเตรียมการหาแพรพรรณ น้ำอบน้ำหอมไว้สำหรับมอบให้บิดามารดา  ปู่ย่าตายายได้สวมใส่หลังจากอาบน้ำสระหัวตามธรรมเนียม    


 


เล่าเรื่องการทำบุญกันอีกครั้ง นอกเหนือจากการทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรมและทำบังสุกุลกระดูกบรรพบุรุษของครอบครัวที่วัดตามประเพณีแล้วนั้นก็จะมีการทำขวัญข้าวประจำลอมที่เรียกกันว่า "ทำขวัญข้าวใหญ่" เพื่อเป็นสิริมงคลในการทำนา รวงข้าวที่ผ่านการ "ทำขวัญข้าวใหญ่" ก็จะถือเป็นวัตถุมงคลอย่างหนึ่งและเชื่อต่อกันมาว่ารวงข้าวนั้นเป็นที่สถิตของแม่โพสพ


 



 


และที่สำคัญอันนับว่าเป็นพิธีที่อยู่คู่กับวันว่างมายาวนานก็คือพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป  ต่อด้วยการอาบน้ำแก่ภิกษุเจ้าอาวาส  และสมณะที่สูงอายุในวัดนั้น  แล้วจึงอาบน้ำให้แก่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เห็นสมควร  ชาวปักษ์ใต้เรียกการอาบน้ำให้แก่ภิกษุและฆราวาสในวันว่างว่า  "สระหัววันว่าง"  และเมื่อเสร็จพิธีการสระหัวผู้เฒ่าผู้แก่แล้ว  ก็จะมีการเล่นสาดน้ำซึ่งกันและกัน  ทั้งระหว่างคนวัยเดียวกันและต่างวัยกัน  โดยไม่มีการถือโทษโกรธเคืองกัน  แต่จะไม่สาดพร่ำเพรื่อตามถนนหนทางเหมือนอย่างในปัจจุบัน


 


ในประเพณีวันว่างของชาวปักษ์ใต้นี้  ยังมีการเล่นรื่นเริงสนุกสนาน  ซึ่งก็จะเป็นไปตามแบบพื้นเมือง  เช่น สะบ้าแลกเชลย  แข่งวิ่งเรือ  แข่งพุ่งเรือ  วิ่งวัว  ชนวัว  เป็นต้น  ในส่วนของเด็ก ๆ ก็จะมี  การเล่นมอญซ่อนผ้า  โยนหลุม  ทอยกอง  เป็นต้น  ส่วนการละเล่นที่นิยมเล่นกันตอนกลางคืน  ได้แก่ "โนราดิบ" ซึ่งหมายถึง  การเล่นโนราอย่างง่ายๆ ที่ไม่ต้องมีการแต่งเครื่องโนราแต่อย่างใด  เครื่องดนตรีก็มีแต่เครื่องเคาะจังหวะ  การรำก็มีพอให้เห็นเป็นว่ารำ  แต่สิ่งที่เป็นจุดเด่นของโนราดิบ ก็คือ  การว่ากลอนสดตามทำนองโนราโต้ตอบกัน 


 



 


"วันว่าง" ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยบ้างแล้ว หากแต่ก็ยังเป็นประเพณีสำคัญและนับเป็นวัน "นับญาติ" ของชาวปักษ์ใต้เลยทีเดียว ทั้งนี้อาจเห็นได้จากเมื่อถึงวันว่างนี่เองที่เหล่าลูกหลานต่างเมืองของชาวปักษ์ใต้จะกลับบ้านมาอย่างพร้อมหน้ากันอีกครั้ง


 


หากท่านผู้อ่านคนใดเป็นลูกหลานชาวปักษ์ใต้ ผมในนามของลูกหลานชาวใต้ก็ขอต้อนรับการกลับบ้านอีกครั้งหนึ่งของบินหลาพลัดถิ่นทุกท่านครับ


 


บนแผ่นดินเหนือทะเลสาบสงขลา-เกาะยอ-สงขลา