Skip to main content

วัดไทยในอินโดนีเซีย

อินโดนีเซีย ประชากรของประเทศกว่า 90 เปอร์เซ็นต์นับถือศาสนาอิสลาม ในจำนวนประชากรกว่า 230 ล้านคน อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่กว่า 17,000 เกาะ จึงยึดหลัก "ปัญจศีล" ในการปกครองประเทศ การนับถือศาสนามีความหลากหลายไม่ต่างไปจากในประเทศไทยเช่น คริสต์ ฮินดู พุทธ และอื่นๆ


 


ประชากรบนเกาะบาหลีนับถือศาสนาฮินดู ประชากรส่วนใหญ่แถบเกาะสุลาเวสีตอนบนใกล้กับหมู่เกาะมินดาเนาของฟิลิปปินส์ก็จะนับถือศาสนาคริสต์ ผู้เขียนมีเพื่อนมาจากจังหวัดมานาโด เกาะสุลาเวสี เธอและครอบครัวนับถือศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก ในกรุงจาการ์ตา มีโบสถ์คาทอลิกขนาดใหญ่อยู่หลายแห่ง แต่กิจกรรมสำหรับชาวคริสต์มีหลากหลาย กลุ่มที่ไม่เข้าโบสถ์ก็จะมีสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาในวันอาทิตย์แตกต่างกันไป เช่น อาคารพาณิชย์ โดยเช่าชั้นหนึ่งของตึกเป็นสถานประกอบกิจกรรมทางศาสนา ซึ่งชาวคริสต์จะไปชุมนุมที่นั่น ผู้เขียนเคยตามเธอและครอบครัวไปประกอบกิจกรรมทางศาสนาครั้งหนึ่ง บรรยากาศอบอุ่นดี


 


คนไทยที่ไปเรียนหรือไปทำงาน มีสถานที่หนึ่งที่สามารถพบปะคนไทยด้วยกันได้โดยไม่ได้นัดหมาย ก็คือที่ "วัด"  ในประเทศอินโดนีเซียมีวัดไทยหลายแห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศอินโดนีเซีย ต้องบอกว่าวัดไทย เพราะมีพระไทยเป็นเจ้าอาวาส แต่ก็มีวัดของศาสนาพุทธอีก เช่น วัดจีนและอื่นๆ อยู่มากเช่นกัน เพราะในความรู้สึกของคนไทยเมื่อพูดถึงศาสนาพุทธก็จะนึกว่า ต้องเป็นวัดแบบไทย เพราะไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ที่ฟิลิปปินส์ ในเมืองมะนิลา หากคนไทยถามหาวัด เพื่อนชาวฟิลิปปินส์จะคิดว่าหมายถึง Buddhism จริงๆ เธอจะบอกว่ามีและพาเราไปที่วัด แต่เป็นวัดจีน และวัดของชาวเกาหลี ซึ่งก็เป็นศาสนาพุทธอีกเหมือนกัน เจ้าอาวาสและพระก็เป็นชาวเกาหลี ทั้งยังมีพระภิกษุณีด้วย (ผู้หญิงที่บวชเป็นพระ แต่งกายและปฏิบัติเช่นเดียวกับพระภิกษุ) แต่พระสงฆ์ของเขาห่มจีวรสีเทาคล้ายวัดเส้าหลินในหนังจีน เพราะฉะนั้นศาสนาพุทธในจินตนาการของเพื่อนชาวฟิลิปปินส์จึงไม่ได้มี "พุทธเดียว" หรือ "วัดไทย" แบบเดียวเท่านั้น


 


วัดไทยที่เก่าแก่ที่สุดในอินโดนีเซีย อยู่ในกรุงจาการ์ตา แต่สภาพเป็นวัดบ้าน มีเศรษฐีชาวอินโดนีเซียเป็นผู้บริจาคที่ดินและอาคารให้ และกลายเป็นวัดตั้งแต่นั้นมา  มีเจ้าอาวาสคือ พระวิธูรธรรมาภรณ์ ซึ่งเดินทางมาเผยแพร่ศาสนาพุทธในฐานะพระธรรมทูต ตั้งแต่ปี พ..2512 ท่านทำหน้าที่นี้จนถึงปัจจุบัน ท่านสามารถพูดภาษาได้หลายภาษาทั้งอังกฤษ บาฮาซาได้อย่างคล่องแคล่ว วัดนี้อยู่ในซอยลึกค่อนข้างหายากสำหรับคนที่ไม่คุ้นทางและต่างบ้านต่างเมือง ผู้เขียนพักอยู่แถวถนนเมนเตง หรือ Menteng Raya คำว่ารายาของอินโดนีเซียหมายถึงถนนใหญ่ หรือถนนเมนหลัก


 


เพื่อนชาวอินโดนีเซียบอกว่า วัดไทยอยู่ใกล้ๆ กัน ไม่ไกลจากที่ผู้เขียนพักอยู่มากนัก ด้วยความเหงาจับใจเพราะอยู่ต่างบ้านต่างเมืองบวกกับอยากทำบุญในวันวิสาขบูชา ทำให้ผู้เขียนมีมานะในการเดินหาวัด แต่กว่าจะหาเจอก็ต้องส่งข้อความถามเพื่อนว่า "วัด" (Visak ในภาษาอินโด) ในภาษาอินโดนีเซียเขาเรียกว่าอะไร และก็นำไปถามคนบนถนนอีกต่อหนึ่ง กว่าจะเจอก็ปาไปหลายชั่วโมง เพราะที่จริงแล้วไกลกว่าที่พักมากและต้องนั่งบาไจ (รถตุ๊กๆ ในอินโด) เนื่องจากอยู่ลึกลับซับซ้อน


 


วัดนี้เป็นที่รู้กันในหมู่ชาวไทยว่า เป็นที่รวมคนไทย โดยเฉพาะในช่วงวันสำคัญทางพุทธศาสนา และผู้หลักผู้ใหญ่ของคนไทยก็จะไปทำบุญที่วัดนั้นเป็นหลัก เช่น ท่านทูตประจำประเทศไทย รวมทั้งข้าราชการในหน่วยงาน ในวันนั้น ชาวพุทธในอินโดนีเซียนิยมทำบุญในวันสำคัญทางพุทธศาสนาเช่นกัน เพราะวันนั้นพุทธศาสนิกชนเนืองแน่นวัด และเป็นวันแรกที่ผู้เขียนได้รับประทานอาหารไทย เพราะคนไทยส่วนใหญ่จะทำอาหารไทยมาถวายพระ อีกวัดหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนชาวอินโดนีเซียนิยมไปทำบุญคือ วัดไทยในจังหวัดบันดุง ซึ่งมีเจ้าอาวาสวัดเป็นคนไทย และมีพระสงฆ์ทั้งไทยและอินโดนีเซียจำวัดอยู่จำนวนมาก แต่การเฉลิมฉลองของชาวพุทธในอินโดนีเซียมีลักษณะพิเศษไปกว่านั้นคือ ทุกครั้งที่มีเทศกาลงานบุญจะมีการเชิดสิงโตเป็นประจำด้วย เพราะชาวพุทธส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียเป็นคนเชื้อสายจีน


 


ผู้เขียนมีโอกาสคุยกับท่านเจ้าอาวาสวัดไทยในกรุงจาการ์ตา ท่านพระวิธูรธรรมาภรณ์ ซึ่งท่านชราภาพและสุขภาพไม่ดีนัก ท่านบอกว่า รัฐบาลอินโดนีเซียให้การสนับสนุนพุทธศาสนาดีมาก ไม่มีกีดกันศาสนา ท่านบอกว่าวันสำคัญทางศาสนาพุทธ คือ วันวิสาขบูชา รัฐบาลอินโดนีเซียก็ประกาศเป็นวันหยุด ซึ่งประกาศมาตั้งแต่ปี พ.. 2519 ตั้งนานมาแล้ว การเผยแพร่พุทธศาสนาก็เป็นไปด้วยดี ไม่เคยมีปัญหา และวัดไทยก็สร้างอยู่ทั่วอินโดนีเซียทั้งบนเกาะสุลาเวสี บนเกาะสุมาตรา บนเกาะกาลิมันตัน และหลายแห่งในเกาะชวา เช่นที่จาการ์ตา บันดุง สุราบายา และมารัง ซึ่งพุทธศาสนิกชนในอินโดนีเซียมีศรัทธาและเคร่งครัดในการปฏิบัติธรรม


 


หลัก "ปัญจศีล" ซึ่งเป็นปรัชญาและหลักในการปกครองประเทศอินโดนีเซีย เป็นการเปิดกว้างยอมรับความหลากหลายทางศาสนาและชาติพันธุ์ หลักการข้อหนึ่งคือ เชื่อในพระเจ้า ซึ่งแต่ละศาสนาก็มีพระเจ้าและหลักปฏิบัติของตน จึงมีการเคารพต่อการนับถือศาสนาอื่นด้วย


 


 



วัดไทยในกรุงจาการ์ตา


 



พระวิธูรธรรมาภรณ์ เจ้าอาวาสและท่านทูตไทยประจำอินโดนีเซีย (ผู้หญิงชุดดำนั่งกลาง)


และชาวไทยในวันวิสาขบูชา


 



พระสงฆ์ในวัด


 


 


พุทธศาสนิกชนในอินโดนีเซียเต็มโบสถ์ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา วันวิสาขบูชา


 



เชิดสิงโตในวัดที่บันดุง


 



บริจาคทาน


 



หย่อนเหรียญทำบุญแบบเดียวกับที่เมืองไทย