Skip to main content

เพศศึกษาไม่เพียงพอ

คอลัมน์/ชุมชน

อากาศที่เชียงใหม่ทำให้หงุดหงิดใจไปหลายวัน เพราะแดดควันที่ปกคลุมทั่วบริเวณเดี๋ยวมืดเดี๋ยวโปร่งจนไม่สามารถจะตั้งตัวว่าจะทำยังไงดีกับบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยเยี่ยงนี้ เผลอๆ อาจทำให้ช่วงสงกรานต์ชุ่มฉ่ำไปด้วยหมอกควันในเปลวน้ำก็เป็นได้


 


ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมพาร่างอันไร้แรงโน้มถ่วงที่เคยติดตรึงอยู่กับเชียงใหม่กลับไปแอ่วบ้านที่เชียงรายเพื่ออยู่อย่างสงบ ไม่วุ่นวาย หายใจสะดวก ที่ท้องนาบ้านทุ่ง ครับ, ผมกลับบ้านช่วงสงกรานต์ด้วยความหวังว่าจะได้มาพบเจอกับเพื่อนๆ ที่เคยเรียนมาด้วยกันเพื่อถามไถ่ถึงสาระทุกข์สุขสรรค์ของเกลอแต่ละคน ว่าเป็นไงอะไรยังไงกับชีวิตหลังช่วงวัยกระโปรงบานขาสั้น


 


เจอเพื่อนผู้หญิงมากกว่า 5 คน แต่งงานและมีลูกกันหมด บ้างก็มีคนเดียว บ้างก็มีลูกสองคน ส่วนมากแล้วต่างมีครอบครัวและทำมาหากินส่งเงินให้ลูก บางคนก็เอาลูกฝากไว้กับปู่ย่าตายายที่บ้านให้ท่านเลี้ยงดูให้ แล้วก็ปลีกตัวเองออกไปทำงานยังต่างจังหวัดกับแฟนหรือญาติคนอื่นๆ


 


นอกจากนี้ยังมีรุ่นน้องที่อายุน้อยกว่าผมอีกหลายคนที่ต่างพากันออกดอกออกผลมีลูกน้อยน่ารักกันหลายคนเลยทีเดียว จนเหมือนกับว่าตอนนี้ใครไปไหนมาไหนก็ต้องได้ถูกถามไถ่ว่า "มีลูกหรือยัง" พอขานตอบว่า "ยังไม่มีแฟน" ก็บอกว่าไม่เชื่อ พอบางคนพาแฟนมาที่บ้านก็นินทากันไปต่างๆ นานา – นี่แหละหนอคนบ้านทุ่ง การนินทาคือเรื่องธรรมดาของชีวิต!


 


รุ่นน้องบางคนที่มีลูก, เท่าที่ผมได้คุยกับหลายคนที่เป็นคุณแม่วัยเยาว์แต่ละคนแล้ว ส่วนใหญ่บอกว่าไม่ได้ตั้งใจจะมีลูก เพราะไม่คิดว่าจะท้องได้ คิดว่ามีเซ็กส์กับแฟนแล้วจะแฟนหลั่งนอกและจะไม่ทำให้ท้องได้ ดังนั้นเลยไม่กลัว แต่พอรู้ตัวว่าติดครรภ์เวลาก็ย่างมาเดือนที่สามกว่าๆ แล้ว จะเอาเด็กออกโดยการทำแท้งก็ไม่กล้า ไม่พร้อม และอยากรักษาชีวิตเด็กไว้


 


บางคนก็ตกอยู่ในสภาพที่ต้องเต็มใจและพร้อมใจรับกับเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเองในภายหน้า บางคนเรียนไม่จบ เพราะต้องออกเรียนกะทันหัน บางคนก็หยุดเรียนไปเฉยๆ คือไม่ไปเรียนเลย หรือบางคนโชคดีหน่อยคือท้องตอนเรียนจบ เลยมีเวลาหยุดเรียนมาเลี้ยงลูก


 


เพื่อนๆ รุ่นเดียวกับผมคนหนึ่งเล่าว่า เคยคิดจะเอาเด็กออก แต่พอคิดไปคิดมาแล้วก็อยากจะรักษาเด็กไว้ อยากเลี้ยงดูเขาให้โตเป็นผู้ใหญ่ ตอนนี้ก็จะมีลูกอีกคนแล้ว เพราะพอมีคนแรกก็อยากมีลูกอีก- จากที่ไม่อยากมีลูกกลับเปลี่ยนแปลงทำให้อยากมี เพราะความผูกพันที่เกิดกับลูกคนแรกของเธอนั้นเอง


 


ความรักและผูกพันที่เธอมีต่อลูกก็เหมือนความรักและผูกพันที่แม่มีต่อเธอ เธอจึงเข้าใจหัวอกคนที่เป็นแม่ "ถ้าใครไม่มีลูกก็ไม่รู้หรอกว่ามันเป็นยังไง บางทีก็เหนื่อย แต่ต้องอดทน"


 


มันก็น่าจะเป็นอย่างนั้นแหละ, เพราะเมื่อเรามีชีวิตอีกหนึ่งชีวิตขึ้นมาแล้วก็ต้องย่อมรับผิดชอบต่อชีวิตใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่จะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงต่างต้องร่วมช่วยกันดูแลให้ชีวิตใหม่นี้ลืมตามาดูโลก หรือบางคนแม้ว่าจะไม่พร้อมเลี้ยง ดูแล หรือไม่อยากมีลูกก็อาจเลือกหนทางยุติการตั้งครรภ์โดยการทำแท้ง อย่างที่เกิดขึ้นมากมายในสังคมปัจจุบัน


 


นั่นเป็นเรื่องของหญิงสาว แต่ชายหนุ่มเหล่า มีเรื่องไม่ค่อยเศร้าแต่เล่าไม่ออกมาบอกเช่นกัน เพราะบางคนก็เริ่มติดเริม บางคนเป็นหนองในก็มี โรคทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ เหล่านี้เริ่มแพร่หลายมาขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นชาย เพราะส่วนมากแล้วผู้ชายที่คุยด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือรุ่นน้องบอกว่าไม่ค่อยได้ใช้ถุงยางอนามัย เพราะไม่มีเงินซื้อ จะขอก็อาย จะได้ทีก็ตอนที่มีกลุ่มเยาวชนในตำบลมาจัดกิจกรรมเดือนก็ครั้งเดียว – บางครั้งก็ใช้ บางครั้งก็ไม่ใช้ ทางที่แก้คือการหลั่งข้างนอก หรือปล่อยข้างในแล้วให้ผู้หญิงกินยาคุมแทน


 


บุคคลทั้งหลายแหล่ที่พูดถึงมานี้ ก็เป็นทั้งวัยที่กำลังเรียนและเรียนจบมาแล้วทั้งสิ้น แต่ทำไมจึงไม่ค่อยได้รับรู้ข้อมูลเรื่องราวที่จะป้องกันหรือหนทางที่จะสร้างชีวิตทางเพศที่ปลอดภัยได้เลยละ?


 


อันที่จริงจะว่าไปแล้วหากพิจารณาดูถึงกระบวนการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาที่รอบด้านของชีวิตในช่วงที่เป็นนักเรียนกระโปรงบานขาสั้นแล้วไซร้ ยิ่งมองไม่เห็นเลยว่าเราเรียนเรื่องเพศศึกษากันมาบ้างหรือเปล่า– คิดไปคิดมา ผมนึกถึงสมัยเรียนวิชา "สุขศึกษา" ได้ว่า มีเรื่องที่คุณครูสอนอยู่ช่วงหนึ่งคือเรื่องสรีระร่างกายและฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย แต่ไม่ค่อยจะได้เรียนรู้เรื่องมิติอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตทางเพศสักเท่าไรนัก


 


เพศศึกษาที่มีการกล่าวถึงในวงคนทำงานเพศศึกษานั้น มีกรอบกำหนดเนื้อหาการเรียนการสอนอยู่ 6 ด้านหลัก ๆ เช่น เรื่องพัฒนาการอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย, สุขภาพ สุขอนามัยต่างๆ, ทัศนคติและความรับผิดชอบต่อสังคม, พฤติกรรมทางเพศ, สังคม วัฒนธรรม บทบาทหญิงชาย และอารมณ์ความรู้สึกและสุขภาพทางเพศ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนได้รับรู้ข้อมูลเรื่องเพศที่รอบด้านและสามารถนำไปสู่การคิด วิเคราะห์ ตัดสินใจเลือก กำหนดวิถีชีวิตทางเพศของตนได้อย่างปลอดภัยและรับผิดชอบ


 


เพศศึกษาอย่างที่ว่ามานี้ สมัยก่อนไม่ค่อยมีเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันต้องบอกว่า มีความพยายามที่เห็นชัดคือที่องค์การแพธ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและองค์กรพันธมิตร ต่างๆ จัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาอย่างรอบด้าน ภายใต้ชื่อ "โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ" (www.teenpath.net)


 


ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการในปี 2546 เป็นต้นมา มีสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจกระจายอยู่ใน 51 จังหวัดทั่วประเทศ โดยสามารถเข้าถึงเยาวชนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 309 แห่ง และระดับอาชีวศึกษา 189 แห่ง ระดับอุดมศึกษา 1 แห่ง และนอกจากนี้ยังรวมถึงศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนอีก 2 แห่งและปัจจุบันกำลังขยายไปสู่การศึกษานอกโรงเรียนและมหาวิทยาลัยราชภัฎอีกหลายแห่ง


 


ข้อมูลของสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษามีถึง 846 โรงเรียนแต่เข้ามาอยู่โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจเพียง 207 แห่ง และสถานศึกษาระดับอาชีวะจำนวน 404 แห่ง และดำเนินการเปิดสอนเพศศึกษา 189 แห่ง มีครูที่ผ่านการอบรมหลักสูตรเพศศึกษาของโครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจแล้ว 3,147 คน และรวมเยาวชนที่เข้าร่วมเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาตลอดโครงการในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ประมาณ 3 แสนคน (จากจำนวนเยาวชนทั่วประเทศหลายล้านคน)


 


กระบวนการสอนเพศศึกษาของแต่ละโรงเรียนก็มีความแตกต่างกันไปตามศักยภาพและความสามารถของแต่ละพื้นที่ แต่ที่แบ่งกระบวนการเรียนการสอนได้ชัดคือ ระดับแรก คือระดับการสอนเพศศึกษาเป็นวิชาหลัก ระดับสองคือการสอนเพศศึกษาสอดแทรกในวิชาหลัก ระดับสามคือการสอนเพศศึกษาในชั่วโมงว่างๆ และสุดท้ายคือการจัดเป็นกลุ่มชุมนุมเพศศึกษาในโรงเรียน


 


แต่หลักคิดสำคัญนั้นคือการให้ข้อมูลเรื่องเพศที่รอบด้าน เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีส่วนร่วม ไม่ใช่ครูมาสอนสั่งนั่งบรรยายย่าตาปู่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น


 


เมื่อมองกลับมาที่หมู่บ้านและตำบลเล็กๆ ที่ตัวเองอยู่ก็ต้องยอมรับว่า กระบวนการเพศศึกษานี้ยังเข้าไม่ถึงในโรงเรียน ฉะนั้นผมอาจต้องทำใจว่าถ้าในโรงเรียนซึ่งเป็นสถานที่ที่เด็กและเยาวชนใช้ชีวิตอยู่ตลอดเวลาหลายชั่วโมงยังไม่สอนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันที่เป็นปรากฏการณ์ต่างๆ ได้ แล้วนับประสาอะไรที่จะต้องไปคิดมากกับระบบการศึกษาหรือระบบการเรียนรู้เพศศึกษาที่เพียงพอและเข้าถึงเยาวชนได้อย่างจริงจัง


 


หรือหากมองในอีกมุมหนึ่งเมื่อเพศศึกษาในระบบการเรียนในสถานศึกษาไม่มี ไม่ดีพอ หรือไม่เพียงพอต่อความต้องการของเด็กและเยาวชนแล้ว เป็นไปได้ไหมว่าเราจะร่วมกันทำให้เกิดการเรียนรู้เพศศึกษานอกห้องเรียน เช่น ในครอบครัว พ่อแม่ก็คุยเรื่องเพศกับลูกหลานได้อย่างเต็มอก ไม่ต้องปกปิด หรือมองว่าเพศเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เพราะจริงๆ แล้วเรื่องเพศเป็นเรื่องของคนทุกคน ดูโทรทัศน์ ละคร เกมโชว์ ยามใดก็เอามาคุย มาเล่าแลกเปลี่ยนกันว่าดูแล้วเป็นยังไง เห็นข่าวดารารักร้าวแล้วคิดยังไง นักเรียนตีกันคิดว่าเหมาะไม่เหมาะ ลุงข่มขืนหลานสาวลูกๆ คิดยังไง – มีกระบวนการหลายแบบที่พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถหยิบมาบอกเล่า มาแลกเปลี่ยนกับลูกหลานเหลนโหลนของตนเองได้อย่างไม่มีรูปแบบตายตัว


 


ผมมองว่าการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนกันไปมา ยิ่งทำให้เกิดบรรยากาศที่ทำให้เพศศึกษากระจายไปทั่วทุกย่อมหญ้าหลังคาเรือน ไม่ต้องรอหรือฝากความหวังให้กับระบบโรงเรียนเพียงอย่างเดียว และเพศศึกษาที่เพียงพอ น่าจะหมายถึงเพศศึกษาที่เรียนรู้ได้ตลอดเวลา จะกินข้าว จะนั่งเล่น หรือทำอะไรก็สามารถหยิบจับเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมมาแลกเลาะกะเทาะความคิดสะกิดการเรียนรู้ได้มากมายมหาศาล


 


เมื่อบรรยากาศเล็กๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสี่ ขยายจำนวนเพิ่มไปเรื่อยๆ เชื่อได้เลยว่าเด็กและเยาวชนรวมถึงผู้ใหญ่เองสามารถที่จะเข้าใจชีวิต รู้เท่าทันวิถีทางเพศของตัวเองและสามารถที่จะกำหนดชีวิตทางเพศที่มีความสุข ปลอดภัยและรับผิดชอบได้ไม่น้อยเลยทีเดียว