Skip to main content

"วิกฤติแม่น้ำของ (โขง) เมื่อน้ำขึ้น-ลงไม่เป็นธรรมชาติ"

คอลัมน์/ชุมชน

            ตลิ่งของสองข้างทางน้ำของ


            แม้ยืนมองอยู่ยังคอตั้งบ่า


            เขาหาบน้ำตามขั้นบันไดมา


แต่ตีนท่าลื่นลู่ดั่งทูเทียน


เหงื่อที่กายไหลโลมลงโทรมร่าง


            แต่ละย่างตีนยันสั่นถึงเศียร


อันความทุกข์มากมายหลายเล่มเกวียน


ก็วนเวียนอยู่กับของสองฝั่งเอย


                          "นายผี อัศนี พลจันทร์"


 


บทกวีดังกล่าวที่ยกมานั้นเป็นบทกวีของผู้เฒ่าคนหนึ่งที่มีโอกาสได้มายืนอยู่บนริมฝั่งของแม่น้ำสายประวัติศาสตร์สายหนึ่งที่ในครั้งอดีตมันถูกขีดเส้นให้แบ่งความสัมพันธ์ของคนทั้งสองฝั่งออกจากกันโดยเงื่อนไขของความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่และได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำของ จากบทกวีดังกล่าวนั้นแสดงนัยยะของความจริงที่เกิดขึ้นบางอย่างให้คนที่ไม่เคยได้รับรู้ความเป็นไปของแม่น้ำสายนี้ได้รับรู้  "เขาหาบน้ำตามขั้นบันไดมา" คำที่ยกมานั้นได้แสดงให้เห็นว่า คนที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำของได้อาศัยแม่น้ำสายนี้เป็นที่เลี้ยงชีวิตมาชั่วหลายอายุคนแล้ว 


 


รู้จักแม่น้ำของ-โขง 



แม่น้ำของ หรือ โขง (ของเป็นภาษาเรียกน้ำโขงของคนท้องถิ่น) เป็นแม่น้ำที่มีต้นกำเนิดมาจากภูเขาจี้ฟูซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยบนที่ราบสูงธิเบต  เขตจังหวัดหยู่ซู่  มลฑลฉิงไห่  ประเทศจีน  โดยมีแม่น้ำจาคูและแม่น้ำอาคูไหลมารวมกัน  คนจีนทั่วไปเรียก "แม่น้ำหลานซาง" ซึ่งมีความหมายว่า  แม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกราก แต่คนชนชาติลื้อในแคว้นสิบสองพันนาหรือสิบสองปันนาเรียกแม่น้ำสายนี้ว่าแม่น้ำ "ล้านช้าง"  แม่น้ำของไหลผ่าน  ๖ ประเทศ  คือ  จีน พม่า ลาว ไทย เวียดนาม  กัมพูชาและไหลออกสู่ทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม  มีความยาวทั้งสิ้น  ,๙๐๙  กิโลเมตร   มีความยาวเป็นอันดับ ๑๐  ของโลก  มีจำนวนพันธุ์ปลาที่สำรวจพบ ๑,๒๔๕ ชนิด  มีพื้นที่ชุ่มน้ำ ๗๙๕,๐๐๐  ตารางกิโลเมตร  แม่น้ำของตอนบนจะได้รับน้ำจากการละลายของหิมะเป็นส่วนใหญ่   ส่วนตอนล่างได้รับน้ำจากเทือกเขาต่างๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำสาขาของแม่น้ำของ  บริเวณประเทศไทยที่แม่น้ำสายนี้ไหลผ่านมีแม่น้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำสายนี้ดังนี้  ในภาคเหนือของไทยมีแม่น้ำกก  แม่น้ำอิง  ในภาคอีสานมีแม่น้ำมูน และแม่น้ำสงคาม  ในลาวมี แม่น้ำยอน  แม่น้ำงาว  แม่น้ำงึม  แม่น้ำเทิน  แม่น้ำเซกอง  ในกัมพูชามีโตนเลสาป หรือทะเลสาบเขมร ซึ่งต้นน้ำส่วนหนึ่งต่อเนื่องมาจากเทือกเขาสอยดาวฝั่งตะวันออกของจังหวัดจันทบุรี  และในเวียดนามมีแม่น้ำเซซาน



สำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำของ   แม่น้ำสายนี้เปรียบเหมือนเส้นเลือดหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเขา  ประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า ๖๐ ล้านคน  มีชีวิตผูกพันธุ์อยู่กับแม่น้ำสายนี้ซึ่งเป็นทั้งแหล่งอาหาร  เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ทำการเกษตร  การเดินทาง  การขนส่ง ตลอดจนใช้ดื่มกิน และสันทนาการต่างๆ


 


วงจรน้ำขึ้น-น้ำลงของแม่น้ำของ



ระดับน้ำขึ้น–น้ำลง ในแม่น้ำของจะมีความแตกต่างกันระหว่างฤดูฝนและฤดูแล้งถึง ๒๐ เมตร ส่งผลให้ชุมชนที่อยู่อาศัยตามริมฝั่งแม่น้ำมีวิถีการผลิตที่แตกต่างกันออกไปตามธรรมชาติน้ำขึ้น–น้ำลง ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งน้ำจะรู้และเข้าใจดีว่า ปลายเดือนพฤษภาคม ถึงต้นเดือนมิถุนายนของทุกปีจะเป็นช่วงเวลาที่น้ำเริ่มจะขึ้นและมีระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเดือนสิงหาคม เมื่อเดือนตุลาคมมาถึง น้ำจะเริ่มทรงตัวและเริ่มลดลงในเดือนพฤศจิกายน ขณะเดียวกันเดือนที่น้ำลดลงมากที่สุดก็คือเดือนเมษายนของทุกปี 



"น้ำของนี้ถ้าจะขึ้นก็ขึ้นเดือน ๙ เดือน ๑๐ ขึ้นแล้วก็จะขึ้นยาวไปเลยถึงเดือนเกี๋ยงถึงจะค่อยๆ ลดลง ไม่ใช่ว่าจะขึ้นๆ ลงๆ อย่างนี้" คนหาปลาบ้านปากอิงใต้กล่าว


 


มกราคม- กุมภาพันธ์ ๔๗ วิกฤติระดับน้ำในแม่น้ำของ



มกราคม - กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗  เป็นเดือนและปีที่วิกฤติที่สุดของแม่น้ำของ  เพราะระดับน้ำในแม่น้ำของลดลงอย่าน่าใจหาย   ระดับน้ำซึ่งวัดที่สถานีอุทกวิทยาเชียงแสนเปรียบเทียบกันระหว่างต้นปีถึงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ปี ๒๕๔๗  กับปี ๒๕๔๖  พบว่าระดับน้ำต่างกันพอสมควร  นายสมชาย  พูนนิคม หัวหน้าศูนย์สำรวจอุทกวิทยาเชียงแสนกล่าวว่า "ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะลดลงจริง ๆ ก็ต้องเป็นเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งการลดลงของน้ำนั้นจะมีความแตกต่างกันอยู่ที่ประมาณ ๑-๒ เมตร แต่ในปีนี้น้ำกลับลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ ระดับน้ำลดลงเหลือ ๑.๖๗ เมตรแล้ว ที่สถานีวัดระดับน้ำอำเภอเชียงของซึ่งเก็บสถิติของระดับน้ำในเดือนกุมภาพันธ์ช่วงต้นเดือนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์พบว่า ระดับน้ำตั้งแต่วันที่ ๑๐–๑๖ เฉลี่ยอยู่ที่ ๐.๙๐ ซึ่งไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์"



สภาพวิกฤติของแม่น้ำโขงไม่ได้เกิดเฉพาะที่เชียงแสนและเชียงของเท่านั้น แต่ยังเกิดทางตอนล่างลงไป และยังส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำสาขา เช่นเดียวกันกับการยืนยันของนายรัฐพล  พิทักษ์เทพสมบัติ เจ้าหน้าที่ของ IUCN (สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์) ซึ่งในทำงานในพื้นที่จังหวัดนครพนมกล่าวว่า "แม่น้ำของที่จังหวัดนครพนมก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งในปีนี้ก็ลดลงกว่าปีก่อนมาก และเมื่อแม่น้ำของลดลงก็ส่งผลให้แม่น้ำสงครามซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำของลดลงด้วย"


 


อะไรคือสาเหตุที่ทำให้แม่น้ำของวิกฤติ ?


 


นักเอลนิโยนิยมบางคนระบุว่า เป็นเพราะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง น้ำของจึงแห้งเร็วกว่าปกติ  แต่หากเราเข้าใจแม่น้ำของ ก็จะรู้ว่าน้ำของตอนบนส่วนใหญ่มาจากการละลายของหิมะ ยิ่งไปกว่านั้นเรายังต้องมองว่าจีนกำลังทำอะไรกับแม่น้ำของตอนบน



ปัจจุบันจีนได้สร้างเขื่อนเพื่อกั้นน้ำของเสร็จเรียบร้อยแล้ว ๒ เขื่อน เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมานวานซึ่งมีความสูง ๑๒๖ เมตรสร้างเสร็จในปี พ..๒๕๓๙ เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งที่ ๒ คือเขื่อนต้าเฉาชานก็สร้างเสร็จแล้วเสร็จเช่นกันในปีที่ผ่านมา เขื่อนแห่งที่ ๓ คือ เซี่ยวหวาน กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ ซึ่งเป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดสันเขื่อนสูงถึง ๓๐๐ เมตร และเขื่อนล่าสุดคือ เขื่อนจินหง บริษัทสร้างเขื่อนของประเทศจีนก็แอบก่อสร้างแล้วเงียบๆ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ซึ่งเขื่อนนี้อยู่ห่างจากประเทศไทยไม่มากนัก



ภายหลังที่ประเทศจีนได้สร้างเขื่อนแล้วเสร็จและเริ่มมีการกักน้ำและปล่อยน้ำเป็นช่วงเวลาทำให้น้ำในแม่น้ำของที่เคยไหลอย่างอิสระกลายเป็นแม่น้ำที่ขึ้น–ลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ แต่เป็นไปตามความต้องการไฟฟ้าบางเดือนน้ำขึ้น ๓ วัน น้ำลง ๒ วัน บางเดือนน้ำลง ๔ วัน น้ำขึ้น ๒ วัน ทั้งที่แม่น้ำของไม่เคยเป็นเช่นนี้มาก่อน เพราะโดยปรกติน้ำจะค่อยๆ ลดลง และลดลงเต็มที่ในช่วงเดือนเมษายนจนถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปีเท่านั้น  



ในปี ๒๕๔๕ ที่แม่น้ำของบริเวณพรมแดนจีน-พม่า และพรมแดนพม่า-ลาว มีการระเบิดแก่งเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลของทั้ง ๔ ประเทศในนามของการพัฒนาสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ



ทั้งการระเบิดแก่งและการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำในแม่น้ำของลดลงก็เป็นได้ 


 


ผลกระทบจากการขึ้น–ลง ของแม่น้ำของที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ



เมื่อน้ำของขึ้นลง-ลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติย่อมส่งผลให้หลายประเทศท้ายน้ำได้รับผลกระทบ ปลาที่เคยอาศัยอยู่ตามคก (ส่วนที่เว้าเข้าไปในตลิ่งเกิดเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่และมีความลึกพอสมควรเป็นที่อาศัยของปลา) เมื่อคกแห้ง ปลาก็ไม่มี



ไกซึ่งเป็นสาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่งที่มีเฉพาะแม่น้ำของ เกิดตามแก่งหินที่แดดส่องถึง หากน้ำลด ไกที่เกาะอยู่ตามแก่งหินก็หลุด  และหากน้ำมามาก ไกก็หลุดเช่นกัน ไกจัดเป็นฐานเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวโดยเฉพาะชาวเชียงของ เมื่อ ๓-๔ ปีก่อน ชาวเชียงของเคยเก็บไกได้ ๓ -๔ เดือนในช่วงน้ำลง แต่ปัจจุบันนี้เพียงเดือนกุมภาพันธ์ไกก็เริ่มจะหมดแล้วเพราะน้ำขึ้น – ลง ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ



"คกหลวงไม่เคยเป็นอย่างนี้ ปีนี้คกหลวงมีทรายมามูนจนน้ำเข้าไปไม่ได้ น้ำเข้าไปในคกไม่ได้ปลาก็ไม่เข้าไปในคก ถ้าคกมันตื้นเขินอย่างคกหลวงที่ถูกทรายถมทางน้ำเข้า คกก็โดนตัดขาดจากแม่น้ำของอย่างสิ้นเชิง ปลาเล็กปลาน้อยก็เข้าไปอาศัยไม่ได้ พอไม่มีปลาเข้าไปในคกก็ไม่มีปลาให้จับอีกต่อไป" คนหาปลาบ้านห้วยลึกที่หาปลาอยู่บริเวณผาไดกล่าวพร้อมกับชี้ให้ดูคกหลวงซึ่งอยู่ทางฝั่งประเทศลาวที่เกิดการเปลี่ยนแปลง



ระดับน้ำที่ขึ้น-ลง ไม่เป็นธรรมชาติในปีนี้ ยังส่งผลให้ปริมาณปลาลดลง ทำให้คนทำการประมงพื้นบ้านในแม่น้ำของไม่สามารถที่จะจับปลาได้เหมือนก่อน



นายแก่นจันทร์  ธรรมวงค์ คนหาปลาชาวบ้านหาดบ้ายเล่าว่า "ปีนี้แม่น้ำของลดลงมากและปลาก็ไม่ค่อยมีเหมือนปีก่อน" เช่นเดียวกับคนหาปลาที่บ้านปากอิงใต้ ซึ่งเป็นจุดที่มีปลามากที่สุดในบริเวณนี้ ก็ได้ระบุตรงกันว่า ปลาในปีนี้ลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง หากเทียบกับ ๔ ปีก่อน



ความเดือดร้อนนี้ก็ได้เกิดกับเรือท่องเที่ยวที่รับ–ส่ง นักท่องเที่ยวที่ล่องเรือในแม่น้ำของเพื่อชมเกาะแก่งก็ได้รับผลกระทบจากน้ำขึ้นน้ำลงเช่นกัน เพราะในปีนี้ แม่น้ำของเกิดดอนทรายขึ้นมาใหม่เป็นจำนวนมากร่องน้ำที่เคยเดินเรือได้ก็เดินเรือไม่ได้อีกต่อไปโดยเฉพาะเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่วิ่งจากห้วยทราย-บ่อแก้ว-หลวงพระบางก็ได้รับผลกระทบมากจากร่องน้ำลึกที่เปลี่ยนไปเรือบางลำก็จำเป็นต้องใช้ไม้ไผ่ลำยาววัดระดับน้ำก่อนเพื่อที่จะดูว่าร่องน้ำไหนที่เรือจะวิ่งไปได้  


 


"อันความทุกข์มากมายหลายเล่มเกวียน ก็วนเวียนอยู่กับของสองฝั่งเอย"



คำกล่าวนี้คงจะเป็นจริงเสียแล้ว เพราะในต้นปี ๒๕๔๗ ถือว่าเป็นปีที่แม่น้ำของเกิดวิกฤติอย่างหนักหน่วง เมื่อน้ำขึ้น–น้ำลง ไม่เป็นธรรมชาติผลกระทบต่างๆ จึงเกิดขึ้นตามมากระทบเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับแม่น้ำของเท่านั้น แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังส่งผลต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำและใช้ประโยชน์จากแม่น้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วใครจะเป็นผู้เข้ามาแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำของสายนี้ คนตัวเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำแห่งนี้หรือจะเป็นผู้แก้วิกฤติด้วยตัวเอง แล้วแม่น้ำของจะวิกฤติไปอีกกี่ปี หรือว่าแม่น้ำสายใหญ่สายนี้จะถึงการล่มสลายเสียแล้ว แม่น้ำเพื่อชีวิตไม่ใช่เพื่อความตายมิใช่หรือ ?