Skip to main content

ความอดกลั้นของคมช.

คอลัมน์/ชุมชน

ทหารอาจถูกฝึกให้มีร่างกายที่แข็งแกร่ง ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศและความยากลำบากทางร่างกาย แต่ไม่แน่ใจนักว่าสภาพทางจิตใจจะถูกฝึกให้มีความแข็งแกร่ง รู้จักอดทน อดกลั้นด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะความอดทนอดกลั้นทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างทางความคิด


 


การแก้ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ในวิถีของทหารอาจเน้นในเรื่องของการใช้กำลังเป็นหลัก วิถีทางอื่นเป็นเรื่องรอง แน่นอนการใช้กำลังเป็นเรื่องของความรุนแรง การส่งทหารไปยังจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็หมายจะใช้ความรุนแรงควบคุมสถานการณ์ซึ่งกระทำควบคู่ไปกับวิธีการอื่นๆ เช่น การเจรจาต่อรอง ซึ่งหน่วยงานของรัฐบางหน่วยงานทำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางภาคใต้ก็ไม่ดีขึ้นเลย


 


เมื่อทหารเข้ามาสู่แวดวงการเมืองโดยไม่มีใครเชิญหรือไม่ก็เชิญกันเอง หรือไม่ก็อ้างตัวเป็นตัวแทนประชาชนโดยไม่รอให้ใครเลือก ทหารก็ยังคงนำโลกทัศน์ชีวทัศน์แบบเดิมติดตัวมาด้วย แต่โลกของการเมืองในระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 21 แตกต่างกันอย่างมากกับโลกของทหาร การเข้าสู่การเมืองในศตวรรษนี้ของเหล่าทหารจึงเป็นเรื่องผิดที่ผิดทาง


 


เห็นได้ชัดเจนในกรณีที่ทหารบางนายใน คมช. ให้สัมภาษณ์โต้ตอบฝ่ายตรงข้ามในสำนวนลีลาของมาเฟีย เช่น "สพรั่งพร้อมจับดาบฟาดฟันศัตรูกอบกู้บ้านเมือง ขู่ก้าวล่วง จาบจ้วงเบื้องสูง อาจโดนตบปาก หากทนไม่ได้อาจจำเป็น ต้องใช้ปืนกลยิงหมา กลัวกลายเป็นหมาบ้าไปกัดคนอื่น" (ไทยรัฐ, 8 เม.. 2550)


 


ในเวทีการเมืองการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ  หรือการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามนั้นจำเป็นต้องใช้วิถีทางทางการเมือง ไม่ใช่วิถีทางแบบทหารหรือวิถีทางแบบมาเฟียที่ต้องการขู่ให้กลัว การใช้วิถีทางทางการเมืองแตกต่างกันอย่างมาก กับการใช้กำลังความรุนแรงตามแบบของทหารเพราะว่าวิถีทางแบบประชาธิปไตยนั้นต้องการความอดกลั้น


 


ดังนั้น คำกล่าวข้างต้นจึงเป็นเรื่องพิลึกพิลั่นและเหลือเชื่อในศตวรรษที่ 21 ที่ผู้มีอำนาจระดับสูงขาดความอดกลั้นและกล่าวคำพูดในลักษณะนี้ออกมา


           


 --------


 


แม้ว่าการเมืองไทยในขณะนี้ไม่อาจพูดได้ว่าเป็นประชาธิปไตย แต่นักประชาธิปไตยต่าง ก็หวังว่าประชาธิปไตยจะเติบโตขึ้นในวันข้างหน้า หลังจากผ่านพ้นยุคมืดที่สร้างขึ้นโดย คมช. และกลุ่มโฆษณาชวนเชื่ออย่างพันธมิตรประชาชนฯ ไปแล้ว และเราก็กำลังเดินอยู่บนเส้นทางนี้แม้ว่าจะขรุขระมากก็ตาม 


 


ปัจจัยหรือคุณสมบัติประการหนึ่งสำหรับพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย นั่นคือการรู้จักอดทน อดกลั้นทางการเมือง ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น เป็นความอดทน อดกลั้นต่อความแตกต่างทางความคิด ทางศาสนา ทางชาติพันธุ์  อดทนอดกลั้นต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือการถูกตรวจสอบเมื่ออยู่ในเวทีการเมือง


 


แต่คุณสมบัติในเรื่องนี้ ไม่ปรากฏอยู่ในตัวของทหารใน คมช. บางคนดังที่ได้ยกตัวอย่าง หรือถ้ามีก็น้อยมาก เมื่อจะถูกตรวจสอบ นายทหารบางท่านใน คมช. ก็อ้างถึงความเป็นวีรบุรุษ ความเป็นนักรบของตนเองซึ่งอยู่เหนือการตรวจสอบทั้งมวล


 


สิ่งเหล่านี้สะท้อนวุฒิภาวะทางการเมืองของ คมช. ซึ่งเป็นปัญหาอย่างยิ่งต่อระบอบประชาธิปไตย


 


ก่อนหน้านี้อดีตนายกฯ ทักษิณ  ชินวัตร ถูกวิพากษ์วิจารณ์บ่อยครั้งเรื่องคำพูดที่ตรงไป ตรงมาอันสร้างความเจ็บแสบให้กับคนที่ได้ยินบางกลุ่ม ซึ่งอดีตนายกฯ ก็ได้รับการตอบโต้ในทันทีจากสื่อมวลชนและนักวิชาการสำนักต่าง ๆ  การตอบโต้เช่นนี้น่าจะเกิดขึ้นบ้างกับคำพูดของนายทหารใน คมช. ซึ่งจะว่าไปแล้วดีกรีความแรงของคำพูดของนายทหารใน คมช.นั้นมากกว่าอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรเสียอีก


 


ความสมานฉันท์ที่หลายฝ่ายชอบอ้างนั้นเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากทุกฝ่ายไม่มีความอดกลั้น ความอดกลั้นนั้นไม่ใช่เรื่องของการทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ต่อความฉ้อฉล ต่อความไม่ถูกต้อง หรือไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ แต่มันเป็นเรื่องของความแตกต่างที่ไม่มีถูกผิด เป็นเรื่องของการรู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเองเพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้ากันโดยไม่จำเป็น


 


การไม่มีความอดกลั้นเป็นเรื่องอันตราย ลองคิดดูสิว่าหากตำรวจที่ดูแลการชุมนุมของประชาชนที่ท้องสนามหลวงหรือที่ไหนก็ตาม ขาดความอดกลั้นเมื่อถูกกระทบกระทั่งแล้วจะเกิดอะไรขึ้น และถ้าหากประชาชนที่ร่วมชุมนุมขาดความอดกลั้นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น 


 


ความอดกลั้นจึงเป็นคุณสมบัติสำคัญต่อพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย ประชาชนบางกลุ่มอาจมีความอดกลั้นมาตลอดและแทบไม่เคยปริปาก  หากแต่กลุ่มที่ไม่มีความอดกลั้นกลับกลายเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจ มีรถถัง ลองคิดดูสิว่าหากคนกลุ่มนี้ไม่มีความอดกลั้นแล้วใช้วิถีทางตามที่ตนเองถนัด แล้วจะเกิดอะไรขึ้น.