Skip to main content

เมล์นรก หมวยยกล้อ – จดหมายรักถึงสังคมไทย

คอลัมน์/ชุมชน

24 1/6


 


สงกรานต์นี้ผมอยู่บ้าน...


 


สำหรับใครหลายๆ คน สงกรานต์คงเป็นช่วงเวลาที่จะสะพายปืนฉีดน้ำ หรือไม่ก็แบกตุ่มขึ้นรถกระบะ แล้วพุ่งตรงไปยังถนนสายที่เป็นสมรภูมิสงครามน้ำ (ที่มักจะมีชื่อขึ้นต้นด้วย "ข้าว" เช่น ข้าวสาร, ข้าวเหนียว, ข้าวปุ้น และอีกสารพัดข้าว...ว่าแต่...ทำไมต้อง "ข้าว" ด้วยฟะ?)


 


แต่สำหรับผม ผมกลับรู้สึกอยากอยู่เงียบๆ โดยไม่ยุ่งกะใครสักพัก เลยเลือกที่จะอยู่บ้านดีกว่า


 




 


แต่สำหรับเฮียหลา -คนขับรถเมล์ปากหมาผู้เชี่ยวชาญการขับรถเลยป้าย (ป๋าเทพ โพธิ์งาม) กับไอ้โก๋ - กระเป๋าที่ปากหมาพอๆ กัน (โน้ส- อุดม แต้พานิช) วันนี้กลับเป็นวันอันแสนทรมานที่เขาต้องมาทำงาน แถมยังต้องเผชิญกับน้ำที่ประเดประดังสาดเข้าสู่รถอีก


 


แต่ก็ไม่ใช่เพียงสองคนเท่านั้น ที่ต้องมาประสบพบเวรกรรมในวันสงกรานต์ เพราะมีผู้ร่วมชะตากรรมบนรถตั้งแต่ ทรัพย์ - รปภ. ที่ตั้งใจจะกลับบ้านไปหาลูก (เกียรติ กิจเจริญ), สวย –สาวที่ขาว สวยสมชื่อ...แต่ขึ้นรถมาพร้อมกับเพื่อนทอม และอาการปวดอึ (อิม​ - ​อชิตะ​ ​ธนาศาตนันท์), หมอที่ดันแต่งตัวเซ็กซี่เกินกว่าภาพจำของคนทั่วไป (อริศรา​​ ​​วงษ์ชาลี), แม่ค้าปากตลาดที่เข้าใจว่าหมอคนเมื่อกี้เป็นหมอนวด (เนาวรัตน์​​ ​​ยุกตะนันท์), หนุ่มหื่นกามที่กะฉวยโอกาสหาเศษหาเลยผู้โดยสารสาวๆ (คมสัน นันทจิต) , คู่ผัว-เมียที่เอาแต่ด่ากันตลอดทาง (ธรธร​​ ​​สิริพันธ์วราภรณ์ - ศรีพรรณ​​ ​​ชื่นชมบูรณ์)


 


เรื่องชุลมุนชุลเกทั้งหมดมันมาเริ่มตรงที่พี่ยามร่างอ้วนดันโมโหคนขับรถที่ไม่ยอมจอดรถตรงป้าย (ยิ่งเจอดีกรีความกวนตรีนของพี่แกเข้าไปอีก...ใครไม่อารมณ์เสียก็บ้าแล้วละครับ) แล้วก็บังเอิ๊ญ...บังเอิญที่ในตัวของพี่แกดันมีปืนติดตัวอยู่


 


เมื่อความโมโหเป็นตัวชักปืนออกมา เรื่องราวฉิบหายวายป่วงทั้งหมดจึงเริ่มขึ้น...และเราก็ได้เห็นภาพเหล่านั้นในหนัง "เมล์นรก หมวยยกล้อ"


 


ยิ่งเมื่อประกอบกับวิบากกรรมของตัวละครภายในรถที่ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋ารถที่ถูกแฟนสาวโทรตามไปกินข้าวกับพ่ออยู่นั่นแหละ (แถมพอบอกว่ารถเมล์โดนจี้ ก็ดั๊นไม่เชื่ออีก), แม่ค้ากับหมอ(นวด) ที่กัดกันไปตลอดทาง ไปจนถึงความพยายามอั้นขี้ของสวย (อันเป็นที่มาของฉาก "ปางห้ามอึ" อันเป็นฉากที่คงจะติด 1 ใน 5 ของฉากที่ติดตาที่สุดในหนังไทยประจำปีนี้ไปแล้วแหละ :-P) รวมถึงบทเชือดเฉือนของตัวละครนำที่รับประกันความกวน-Teen ของตัวเองทั้งสามจึงทำให้ความวุ่นวายทั้งหลายแปรสภาพเป็นมุขตลกขนาดที่แม้ไม่ได้สุภาพอะไรมากมาย แต่ก็ไม่ได้เข้าข่ายหยาบอะไรนักหนา


 


เอาว่ามันคือหนังตลกที่ถ้านั่งดูสบายๆ ก็คงได้ความสนุกอยู่พอตัว


 


แต่ในระหว่างที่นั่งดูไปนั้น ผมกลับรู้สึกว่าคุณเรียว –กิตติกร เลียวศิริกุล ผู้กำกับหนังเรื่องนี้กำลังเอาภาพสังคมไทยมาจำลองบนรถเมล์คันนั้น...เราเห็นทั้งภาพของคนที่มองแต่เพียงรูปลักษณ์ภายนอก, คนที่พยายามผลักปัญหาออกไปให้พ้นตัว, คนที่ไม่ได้ทำอะไร ได้แต่เชียร์ให้เกิดศึกเพื่อความสะใจส่วนตัว ไปจนถึงคนที่ซวยเพราะเหตุที่เกิดขึ้น โดยที่ทำอะไรไม่ได้


 


ยิ่งเมื่อเกิดปัญหาคับขันในช่วงท้ายเรื่อง ก็เหมือนกับว่าแทบทุกคนจะทุ่มเถียงกันโดยไม่มีใครยอมใคร ซึ่งไอ้ภาพที่ว่านั้นไม่ต่างกับสังคมในช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา


 


ซึ่งดูเหมือนว่าคุณเรียวตั้งใจให้หนังจบแบบ Happy Ending เหมือนกับจะเป็นสารที่สื่อว่าคนทำหนังคนนี้ต้องการเห็นปัญหาที่คาราคาซังในสังคมจบลงที่การคุยด้วยเหตุผล และหาทางออกร่วมกัน


 


แต่ที่มันแย่คือในเรื่องจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้นนี่สิ


 


ผมรู้สึกว่าเรากำลังหลีกหนีการใช้เหตุผล และการจับเข่าคุยกัน แล้วหันเข้าใช้อาวุธถ้อยคำเข้าสาดซัดกัน (จนหวั่นๆ ว่าสักวันจะถืออาวุธของจริงแทน)


 


และวันนี้...รถเมล์ที่ชื่อ "ประเทศไทย" ก็ยังแล่นไปพร้อมๆ กับสงครามคำพูดบนรถก็ยังไม่สิ้นสุด


 


เมื่อคิดถึงตรงนี้...หนังที่ดูสนุกๆ นั้นเมื่อมาเทียบกับความจริง...จะพบว่าความจริงมันไม่สนุกเอาซะเลย


 


เฮ้อ...


 


หมายเหตุ  : รูปประกอบบทความได้มาจาก http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/newmovie/maynarok/bus.html ครับ)