Skip to main content

งานของคนรักเพศเดียวกัน ไม่ใช่เพียงเพื่อตัวเราเอง

คอลัมน์/ชุมชน

วันนี้เห็นกระทู้ในเว็บสะพานเรื่อง "ความเห็นของฉัตรสุมาลย์ต่อการเรียกร้องของรักร่วมเพศ" เห็นปุ๊บก็รีบเข้าไปดูเลยค่ะ เพราะฉันติดตามงานของหลวงแม่ หรือ ภิกษุณีธัมมนันทา มาตั้งแต่ท่านยังเป็นอาจารย์ฉัตรสุมาลย์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนท่านบวชเป็นภิกษุณี เรียกได้ว่างานของท่านสร้างแรงบันดาลใจ และเปิดมุมมองเรื่องผู้หญิงในพุทธศาสนาให้กับฉันได้อย่างมหาศาล รวมทั้งทำให้ฉันเข้าใจว่าการมีภิกษุณีสงฆ์นั้นไม่ใช่เพียงแค่เพื่อสิทธิของผู้หญิง แต่เป็นความจำเป็นที่เราควรจะต้องช่วยกันสนับสนุน ถ้าเราอยากเห็นสังคมนี้มีความสงบสุขร่มเย็นมากกว่านี้


คุณกาแฟสด ผู้ตั้งกระทู้นี้นำข้อความบางส่วนจากคอลัมน์ธรรมลีลา ที่หลวงแม่เขียนมาลง ตอนนี้มีชื่อว่า สมัชชาสังคมโลกที่ไนโรบี : เนื้อที่สำหรับผู้หญิง (มติชนสุดสัปดาห์ 6-12 เมษายน 2550 ปีที่ 27 ฉบับที่ 1390) เนื้อหาส่วนที่หลวงแม่เขียนเกี่ยวข้องกับคนรักเพศเดียวกันก็คือ


"แต่น่าเสียดายที่กลุ่มเฟมินิสต์ท้องถิ่นของแอฟริกายังรณรงค์ติดอยู่กับค่านิยมของการเรียกร้องให้สังคมใจกว้างยอมรับหญิงรักหญิง ชายรักชาย และกลุ่มที่แปลงเพศมากขึ้น ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยว่า พวกเขามีสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกัน แต่ถ้าเรายังเรียกร้องโดยไม่ไปให้พ้นจากตัวเราเอง ก็ยากที่จะพัฒนาสังคมและชาติ..."


อ่านความเห็นของหลวงแม่แล้วก็ต้องกลับมานั่งคิดค่ะว่าเพราะอะไรท่านจึงคิดเช่นนี้ แล้วนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฉันฟังความคิดเช่นนี้ เคยได้ยินหลายคนพูดค่ะว่าการรณรงค์เรื่องคนรักเพศเดียวกันนั้น เป็นเพียงการเรียกร้องเพื่อตัวเองเท่านั้น



ฉันขอเดาว่า บางทีคนอาจจะเห็นว่าพวกเราออกมาเรียกร้องเพื่อเรื่องความรักของตัวเองเท่านั้น พูดไปพูดมาก็มีแต่เรื่องให้คนยอมรับสิทธิของเรา ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้กับสังคม


เข้าใจว่าที่มีคนคิดเช่นนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะของการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันเองยังไม่สามารถทำให้คนทั่วไปเห็นว่า งานที่เราทำเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสุขของสังคมโดยรวม


เลยอยากถือโอกาสนี้นำเสนอความคิดของฉันในเรื่องนี้ ขอพูดในฐานะคนรักเพศเดียวกันเท่านั้นนะคะ ส่วนเรื่องคนแปลงเพศเป็นอีกประเด็นที่ใหญ่มากและมีหลายประเด็นที่ต่างจากคนรักเพศเดียวกัน ความเข้าใจของฉันมีจำกัดต่อเรื่องนี้ อยากเชื้อเชิญให้คนแปลงเพศมาช่วยแลกเปลี่ยนด้วยนะคะ


งานของเราไม่ใช่เป็นเพียงเพื่อตัวเราเองยังไงบ้าง ขอเริ่มจากตัวอย่างที่หลวงแม่พูดถึงกลุ่มเฟมินิสต์ท้องถิ่นของแอฟริกา ฉันเองไม่รู้จักเฟมินิสต์ท้องถิ่นของแอฟริกา แต่ถ้าเป็นไปตามที่หลวงแม่บอกว่ากลุ่มนี้ทำงานเพื่อ "เรียกร้องให้สังคมใจกว้างยอมรับหญิงรักหญิง ชายรักชาย และกลุ่มที่แปลงเพศมากขึ้น" ฉันเห็นว่าเรื่องนี้จะช่วยคนได้เป็นจำนวนมาก


เพราะหลายๆ ที่ในแอฟริกายังมีกฎหมายลงโทษคนรักเพศเดียวกันอย่างรุนแรง มีทั้งการจำคุกตลอดชีวิตและการถูกทารุณกรรม คนรักเพศเดียวกันถูกกระทำดั่งไม่ใช่คน หลายคนต้องขอลี้ภัยไปอยู่ในประเทศที่ปลอดภัย ในอดีตผู้นำของประเทศ เช่น อูกันดา แซมเบีย เคนยา เคยออกมาประณามชัดเจนว่า พวกรักร่วมเพศนั้นต้องถูกตัดสิน ถูกลงโทษ หรือถูกปฏิเสธจากสังคม บางคนก็กล่าวว่าการรักร่วมเพศนั้นเป็นของนำเข้าจากคนขาว ไม่ใช่วัฒนธรรมของแอฟริกา


ถ้ายังถูกปฏิเสธเช่นนี้ ฉันเองไม่คิดว่าคนรักเพศเดียวกันทั้งหลายจะอยู่ในประเทศของตนได้อย่างมีความสุข


แล้วถ้าการรณรงค์ของเฟมินิสต์ท้องถิ่นในแอฟริกานั้นได้ผล ทำให้สังคมเขาใจกว้างยอมรับคนที่รักเพศเดียวกัน รวมถึงคนแปลงเพศมากขึ้น คนรักเพศเดียวกันและคนแปลงเพศในแอฟริกาจะอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัย สามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขอย่างที่คนๆ หนึ่งจะทำได้


คงไม่มีใครทราบจริง ๆ ว่าประชากรที่รักเพศเดียวกันในแอฟริกานั้นมีเท่าไหร่ แล้วที่รักได้ทั้งสองเพศและคนข้ามเพศอีก รวมๆ แล้วคงมีจำนวนมาก ตัวเลขทั่วๆ ไปที่ใช้กัน (แต่ยังไม่มีใครสามารถยืนยันว่าถูกต้องแน่ชัด) คือ มีประชากรที่รักเพศเดียวกัน 10 % จากจำนวนประชากรทั้งหมด ถ้าเราคิดตามนี้ประชากรที่จะดำรงชีวิตในแอฟริกาได้อย่างมีความสงบสันติขึ้น เมื่อการทำงานของเฟมินิสต์แอฟริกาบรรลุผล ก็มีจำนวนหลายล้านคนค่ะ


แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องเฉพาะของ "ตัวเราเอง" หรือเฉพาะความอยู่รอดปลอดภัยของคนรักเพศเดียวกันเท่านั้น สิทธิมนุษยชนของคนกลุ่มหนึ่ง ไม่เคยเป็นเรื่องเฉพาะต่อคนกลุ่มนั้นเท่านั้น งานที่ผู้เคลื่อนไหวในเรื่องคนรักเพศเดียวกันทำก็คือ สร้างความเข้าใจว่าคนรักเพศเดียวกันนั้นไม่ใช่ "คนอื่น" ที่ด้อยกว่าคนทั่วไป หรือมีความเป็นมนุษย์ มีความรักที่ "ผิดปกติ" เราพยายามลดอคติ ลดความรุนแรงในจิตใจของคนที่เห็นว่าเราเป็นคนที่ด้อยกว่า


ถ้าพวกเขาปล่อยวางอคติลง ชีวิตของพวกเขาก็จะเบาสบายมากขึ้น เมื่อเขาเป็นสุขมากขึ้น เราเองก็เป็นสุขมากขึ้นด้วยเช่นกัน


สิ่งที่เราพยายามทำก็คือชี้แจงให้สังคมเห็นว่า พวกเราก็เป็นคนที่มีความเป็นคนเท่าเทียมกับคนรักต่างเพศ พวกเราเพียงแต่มีความ "แตกต่าง" ในบางด้านของชีวิต แล้วถ้าคนเราสามารถมองกันด้วยความเคารพในความแตกต่างหลากหลาย และเห็นผู้อื่นเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์แล้ว อคติและความรุนแรงในจิตใจจะไม่มีที่ยืนอยู่ได้ ผลที่จะตามมาก็คือ สังคมจะสงบสุขมากขึ้นกว่านี้หลายเท่านัก


งานขององค์กรคนรักเพศเดียวกันทั้งหลายนั้นต่อสู้กับความหลงยึดติดอยู่กับกรอบทางเพศ ที่จำกัดให้คนต้องเป็นไปตามกรอบ โดยไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างแท้จริง ใครที่หลุดออกมานอกกรอบก็จะถูกสังคมลงโทษ ไม่ว่าจะด้วยวาจา ด้วยความคิด หรือการกระทำ กรอบทางเพศเช่นนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะว่าเราจะต้องรักเพศตรงข้ามเท่านั้น แต่มันยังกักขังชีวิตของผู้คน -ไม่ว่าจะเพศใดก็ตาม- ในอีกหลายๆ ด้าน


เช่น ถ้าผู้ชายคนหนึ่งเป็นคนรักต่างเพศ และเป็นคนที่มีความเป็น "ผู้หญิง" มาก เช่น ชอบทำครัว ชอบเอาใจใส่ผู้อื่น ไม่ชอบใช้กำลัง ชอบงานเย็บปักถักร้อย กว่าที่ผู้ชายคนนี้จะเติบโตขึ้นมาได้ คงต้องโดนล้อว่าเป็น "ตุ๊ด" หรือคงถูกบังคับให้ใช้ความรุนแรงเพื่อจะได้แสดงออกถึงความเป็น "แมน" เขาคนนี้จะถูกผลกระทบจากกรอบทางเพศจนทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างที่เขาเป็นได้


หรือถ้าผู้หญิงคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาบวชภิกษุณี ผู้คน (บางส่วน) ก็จะพยายามจับผู้หญิงคนนั้นกลับเข้าไปอยู่ในกรอบทางเพศ ที่เชื่อว่ามีแต่เพศชายเท่านั้นที่สามารถบวชได้ แล้วก็สรรหาเหตุผลต่างๆ นานามาอ้างความชอบธรรมในการทำเช่นนั้น ถ้าไม่มีเหตุผลก็ใช้การกล่าวหาไปต่าง ๆ จนทำให้ผู้หญิงที่อยากบวชต้องเผชิญกับอคติความรุนแรงและการกดดันจากสังคมอย่างมาก


ถ้าคนเราก้าวข้ามพ้นกรอบทางเพศเช่นนี้ได้ มันจะส่งผลดีอย่างมหาศาล คนแต่ละคนจะสามารถเติบโตขึ้นมาเป็นคนอย่างที่เกิดมาเพื่อที่จะเป็น คนแต่ละคนจะสามารถบรรลุศักยภาพทั้งทางโลกและทางธรรมของตนได้อีกมากมายเพียงใด แล้วถ้าสังคมเรามีคนที่สามารถเป็นตัวของตัวเองและใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่ สังคมนั้นคงจะก้าวหน้าไปไกลเกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้


นี่แหละค่ะงานส่วนหนึ่งที่เราพยายามทำกัน เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นค่ะ ยังมีอีกมากมายหลายประเด็น เอาไว้ต่อตอนหน้า ต้องกราบขอบพระคุณหลวงแม่ด้วย เพราะคำวิจารณ์ของหลวงแม่ เป็นเหมือนเสียงระฆังเตือนว่าฉันคงต้องเขียนถึงเรื่องนี้ให้มากขึ้น


เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าสนใจค่ะ การเคลื่อนไหวในอนาคตของคนทำงานรักเพศเดียวกัน อาจจะต้องสื่อสารให้คนเข้าใจมากขึ้นว่างานของเรานั้นมีประโยชน์ต่อผู้อื่นอย่างไรบ้าง เป็นเรื่องท้าทายค่ะ ที่จะทำให้คนที่อาจจะยังมีอคติต่อเรา เข้าใจว่าเรากำลังทำประโยชน์อยู่จริงๆ