Skip to main content

ขึ้นเขาลงเลไปด้วยกัน

คอลัมน์/ชุมชน

1 ป้ายนี้หนีภัยไม่ได้                   


                                                           


"น้ำทะเลแห้งอย่างนี้ ทะเลผิดปกติหรือเปล่า"


เสียงถามอย่างกังวลในยามเช้าและยามเย็นของพรรคพวกที่เดินทางมาอยู่ทะเลด้วยกัน


 


"ปกติ ธรรมดา มันมีช่วงน้ำขึ้นน้ำลง " ฉันตอบคำถามนี้หลายครั้งในหนึ่งวัน จนรู้สึกขบขัน พวกเขาต่างกลัวน้ำทะเลแห้ง  เพราะเขารับรู้มาว่า ถ้าน้ำทะเลแห้งมาก ๆ จะเกิดสึนามิ


 


ฉันจะต้องคอยตอบคำถามพวกเขา เพราะฉันเป็นคนภาคใต้ที่คุยมาตลอดทางว่า ทะเลคือบ้านของฉัน  นั่นแหละ...ฉันจึงต้องรับผิดชอบในการตอบคำถามทุกเรื่องที่เกี่ยวกับทะเล ซึ่งส่วนใหญ่ฉันก็จะไม่รู้ เพราะฉันเป็นคนไกลบ้าน ไม่ค่อยได้อยู่บ้านของตัวเอง 


 


พวกที่เดินทางมาครั้งนี้  หลายคนมาทะเลเป็นครั้งแรก พวกเขาเดินทางสู่จังหวัดตรัง เป้าหมายอยู่ที่เกาะมุกด์ ซึ่งอยู่ในอำเภอกันตัน แล้วฉันจะเล่าภายหลังว่าพวกเขานับสิบคนมาทำอะไรกัน


 


จากดอยสูงสู่ทะเลลึก แน่นอนไม่ใช่เรื่องธรรมดา ทันทีที่มาถึงทะเล ฉันบอกน้องชนเผ่าว่า ต้องไหว้ทะเลก่อน


 


เพื่อนที่ร่วมเดินทางไปด้วยหัวเราะหาว่าฉันแกล้งน้อง จะเอาคืนเพราะไปบ้านเขาต้องไหว้ไปทั่ว ไหว้เจ้าป่าเจ้าเขา ไหว้ผีบรรพบุรุษ


"นั่นก็เรื่องหนึ่ง แต่การไหว้เอาไว้ก่อนก็ดี เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้พวกเขา และให้ระลึกถึงอยู่เสมอว่าเรามาด้วยความเคารพนับถือ"


 


ก่อนลงเรือไปเกาะพวกเขาตรงเข้าไปซื้อยาแก้เมาที่ร้านค้าเล็กๆ ที่บริการอยู่ข้างท่าเรือ  ดูเหมือนพวกเขาจะกลัวการเมาเรือกันมาก แม้ฉันจะบอกว่า นั่งเรือใกล้ๆ แค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น และยาแก้เมาทำให้ไม่สดชื่น จะง่วงนอน นั่งดูท้องฟ้าทะเลไปดีกว่า ครั้งแรกตื่นเต้นไม่ทันเมาหรอก ไม่มีใครเชื่อต่างแบ่งยากันกินถ้วนหน้า คงรู้มาว่านั่งเรือในทะเลเมาคลื่นและน่ากลัว      


 


ไม่มีใครเมาคลื่นสักคน ต่างหัวเราะสนุกสนานเบิกบานใจ ชวนกันดูคลื่น ดูเกาะที่ไกลออกไป และท้องฟ้าที่สวยสว่าง ต่างจากบ้านเมืองเหนือที่จากมาซึ่งอยู่ในช่วงหมอกควันคลุมเมือง


 


ถ้าไม่เผชิญกับฟ้าหม่นทั้งวัน และหายใจไม่สะดวก เราคงไม่รู้ถึงคุณค่าของฟ้าเบิกและอากาศที่สะอาดอย่างนี้  พวกเขาอาจจะคิดว่าเป็นเพราะยาแก้เมาซึ่งความจริงแล้วยายังไม่ทันออกฤทธิ์ก็ถึงเกาะแล้ว


 


เกาะมุกด์ ป้ายเด่นชัดมองเห็นก่อนที่เรือจะเทียบท่าตรงสะพานยาว


"เกาะมุกด์หมายถึงอะไร" สาวช่างอยากรู้ถามขึ้น


"หมายถึงไข่มุกไงแต่เกาะมุกด์มีความหมายว่า มุกดาอันดามันด้วย"


 



 


เราขึ้นฝั่งที่อ่าวกลาง เป็นหมู่บ้านชาวประมง ที่กำลังจะถูกย้าย พบป้ายเตือนภัยสึนามิ มีลูกศรชี้เส้นทางหนีภัยเป็นระยะ ๆ 


"ต้องวิ่งตามลูกศรนี้ไปนะ" หญิงสาวคนหนึ่งพูดขึ้น


"วิ่งตามลูกศรไม่ได้ ลูกศรนี้เขาติดผิด ถ้าวิ่งตามลูกศรลงทะเล" ใครสักคนที่มารับพวกเราบอก


"อ้าว แล้วนักท่องเที่ยวจะรู้ได้อย่างไรว่าผิด" นักท่องเที่ยวเขาก็วิ่งตามพวกเราเองแหละเขาวิ่งตามชาวบ้านเอง" แม่บ้านคนหนึ่งว่า


 


หลายคนเห็นจริงว่า ต้องเชื่อชาวบ้านคนในพื้นที่มากกว่า ในส่วนตัวฉันเองนั้นรู้สึกขัดข้องใจว่าทำไมไม่แก้ไขป้ายให้เรียบร้อย อุตส่าห์ลงทุนเสียเงินทำป้ายอย่างแข็งแรงถาวรแต่เอามาติดผิด


"หรือไม่ก็ต้องทำอีกป้ายบอกว่า ป้ายนี้หนีภัยไม่ได้" ใครอีกคนพูดพลางหัวเราะอย่างอารมณ์ดี


 


ผ่านมา.... มีข่าวร้ายที่จังหวัดตรัง เกิดน้ำป่าหลากที่น้ำตกสายรุ้ง นักท่องเที่ยวหายไปสามสิบกว่าคน และคาดว่าทั้งหมดจะเสียชีวิต รายงานข่าวบอกว่า ท้องฟ้ามืดฝนและน้ำตกก็เป็นสีแดงขุ่นข้น ชาวบ้านรู้แล้วว่าเกิดความปกติไม่น่าไว้วางใจ บางคนบอกว่าได้เตือนนักท่องเที่ยวแล้ว แต่พวกเขาบอกว่า มาถึงแล้วก็ไปให้ถึง ไปเสียหน่อย


 


และก่อนหน้านี้มี "กลุ่มรักษ์สายรุ้ง" กลุ่มของชาวบ้าน คอยดูแลให้คำแนะนำให้ความสะดวกนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวน้ำตก แต่ต่อมาต้องยกเลิกไปเพราะหน่วยงานของรัฐไม่เห็นด้วยเลยไม่ให้ทำ


 


ฟังข่าวแล้วคิดถึงคนดอยสูงที่ไปทะเลด้วยกัน พวกเขาต่างเฝ้าถามอยู่เสมอว่า ช่วงนี้น้ำทะเลปกติหรือเปล่า มันแห้งมากไปไหม และต่างเห็นด้วยชาวเกาะที่บอกว่า "นักท่องเที่ยวเขาต้องเชื่อพวกเราและวิ่งตามพวกเราเองแหละ"


 


เป็นวิธีที่ถูกแล้วที่นักท่องเที่ยว นักเดินทางจะต้องรู้จักสถานที่นั้นๆ เคารพและฟังคนในท้องถิ่น  และสังเกตด้วยตัวเอง มองเห็นและได้ยินด้วยตัวเอง ไม่ใช่เฝ้าแต่สัญญาณเตือนหรือป้ายบอกทางเท่านั้น