Skip to main content

ความละโมบของชาวพุทธ

คอลัมน์/ชุมชน

ผมไม่เห็นด้วยอย่างแรง กับการเรียกร้องของคนกลุ่มที่เรียกตนเองว่าชาวพุทธทั้งที่เป็นพระและเป็นคนธรรมดา ผมคิดว่านี่คือความละโมบโลภมากและการไม่รู้จักปล่อยวางของกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่าชาวพุทธ


 


การรู้จักปล่อยวางเป็นแก่นธรรมที่สำคัญของพุทธ เป็นหนึ่งในไตรลักษณ์ที่ว่าด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้ว่าผมจะไม่สามารถอวดอ้างว่าเป็นพุทธหรือมีความรู้ในเรื่องศาสนาพุทธ แต่หลักไตรลักษณ์นี้ผมระลึกถึงและพยายามนำมาปฏิบัติอยู่เสมอในการดำเนินชีวิตของตนเอง


 


อาจารย์นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ได้เน้นย้ำในหลายที่หลายแห่งว่าคนไทยนับถือทั้งพุทธและผีและอื่นๆ  อีกมากมายคละเคล้ากันไปจนแยกไม่ออก แต่ทำไมคนที่เรียกตนเองว่าชาวพุทธจึงต้องการครองความเป็นเจ้า  ต้องการเป็นใหญ่เหนือความเชื่ออื่นๆ นี่ไม่ใช่ความละโมบโลภมากเกินไปหรอกหรือ


 


อันที่จริงผมคิดอยู่นานว่าจะเขียนหรือไม่เขียนเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้จะกระทบต่อการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ


 


ผมนั้นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเถื่อนฉบับนี้อยู่แล้วไม่ว่าจะเขียนให้ดียังไงก็ตาม และผมคิดว่าองค์กรที่อ้างตัวเป็นชาวพุทธทั้งหลายจะช่วยกันไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเถื่อนนี้ด้วยหาก สสร.ไม่บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ พูดง่ายๆ ว่าผมลุ้นที่จะให้องค์กรที่เรียกตัวเองว่าชาวพุทธทั้งหลายเป็นแนวร่วมในเรื่องนี้ด้วย


 


ดังนั้น ผมจึงไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มแนวร่วมไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามเมื่อเห็นกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าชาวพุทธเคลื่อนไหวหนักข้อเข้าและเรียกร้องในสิ่งที่น่าจะขัดกับแก่นธรรมของศาสนาและขัดกับหลักแห่งการอยู่ร่วมกัน ผมก็จำเป็นจะต้องเขียนในเรื่องนี้


 


ปัญหาทางศาสนาประการหนึ่ง ที่ส่งผลต่อความเป็นไปของการเมืองไทยก็คือการที่สังคมไทยไม่เคยผ่านการปฏิรูปศาสนา การปฏิรูปศาสนาในยุโรปนั้นส่งผลให้เกิดการแยกศาสนาออกจากการเมือง ไม่ให้ผสมปนเปกันระหว่างศีลธรรมทางศาสนา คนดี คนชั่วกับการเมืองเรื่องสาธารณะ


 


แต่สังคมไทยไม่เคยผ่านการปฏิรูปศาสนา ไม่เคยแยกศาสนาออกจากการเมืองอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ดังนั้นจึงยังมองการเมืองอย่างง่าย ๆ แบบขาว-ดำ มีคนดี คนชั่ว และต้องเอาคนชั่วออกจากการเมืองและให้คนดีได้ปกครองประเทศ ฯลฯ


 


การหมกมุ่นอยู่กับวิธีคิดแบบนี้ของชาวพุทธทำให้การเมืองไม่ไปไหน ประชาธิปไตยวนอยู่ในอ่างแคบๆ  และวิธีคิดแบบนี้นี่เองที่เป็นเชื้อมูลให้กับการยึดอำนาจรัฐประหาร ทำลายประชาธิปไตยไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว อาทิ ประโยคนี้  "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป"


 


ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มที่เรียกตนเองว่าชาวพุทธในการเรียกร้องให้บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติจึงเกี่ยวข้องกับเรื่องการต้านรัฐประหารอย่างยิ่ง และไม่น่าแปลกใจเลยหาก คมช.หรือทหารจะเฉย ๆ หรือรับได้หรือเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องนี้เพราะสถาบันทหารกับองค์กรพุทธนั้นทำงานสอดคล้องกัน มีโลกทัศน์ที่คล้ายคลึงกันอยู่มาก และหลายครั้งที่เราได้ยินพระสงฆ์สนับสนุนให้ (ทหาร) ใช้ความรุนแรง (ฆ่าคน)


 


การเมืองเป็นเรื่องสาธารณะในขณะที่ศาสนา ความเชื่อเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่มีความเชื่อใดๆ ของคนสองคนจะเหมือนกันทั้งหมด บางคนนอกจากนับถือพุทธ ยกมือไหว้พระแล้ว  ยังนับถือไสยศาสตร์ ดูดวงไพ่ยิปซี เล่นผีถ้วยแก้ว ผู้ชายบางคนอาจรัดปลัดขิกหรือขุนแผนอันเล็กๆ ไว้ที่สะเอว ฯลฯ


 


ความเชื่อก็ปล่อยให้เป็นความเชื่อไป อย่าไปบังคับยัดเยียดให้คนอื่นเชื่อตามหรือบังคับให้คนอื่นเชื่อเหมือนกับตนหรือคิดว่าความเชื่ออันคลุมเครือของตนเอง และพรรคพวกนั้นสำคัญกว่าความเชื่อของคนอื่น


 


นอกจากนี้แล้ว การบัญญัติศาสนาพุทธไว้เป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญจะทำให้จินตนาการความเป็นชาติซึ่งคับแคบอยู่แล้วยิ่งคับแคบตื้นเขินมากเข้าไปอีก ความเป็นชาติที่ปกติก็มีคนไม่กี่กลุ่มอยู่ในนั้นก็ยิ่งเหลือกลุ่มคนน้อยลงไปอีก ความรู้สึกประเภทไม่รักชาติจึงเกิดขึ้นได้กับคนจำนวนมากเพราะเขาไม่ได้คิดว่าชาติเป็นของเขา เพียงแต่อาศัยชาติของคนอื่นอยู่ คนอื่นที่มีความเชื่อต่างออกไป ชาติของคนที่นับถือพุทธ


 


อันที่จริง นักวิชาการต่างประสานเสียงกันไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องนี้และผมคิดว่า สสร. หรือกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญคงไม่บ้าจี้บ้องตื้นกลัวร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านประชามติจนกระทั่งยอมทำตามข้อเรียกร้องของคนกลุ่มที่เรียกตนเองว่าชาวพุทธ


 


ฆราวาสและสงฆ์ที่เรียกร้องเรื่องนี้จะใช้ข้ออ้างว่าเพราะคนไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธจึงจำเป็นที่จะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ


 


ผมเคารพเสียงส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับที่เคารพเสียงส่วนใหญ่ที่เลือกพรรคไทยรักไทยและทักษิณมากกว่าใครอื่น เพราะเสียงข้างมากเป็นหลักการสำคัญของประชาธิปไตย แต่อย่างที่ผมกล่าวแล้วตอนต้นว่าความเชื่อเป็นเรื่องส่วนบุคคล เป็นเรื่องส่วนตัว (เช่นเดียวกับประสบการณ์ทางเพศนั่นแหละ) ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีการโหวตหรือใช้เสียงส่วนใหญ่


 


หลักการเสียงส่วนใหญ่จะใช้ในเรื่องสาธารณะ ในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ในกิจการสาธารณะ พูดง่าย ๆ ว่าในเรื่องการเมือง ไม่ใช่เรื่องศาสนา เรื่องความเชื่ออันเป็นเรื่องส่วนบุคคล ดังนั้น จะอ้างเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้


 


--------


 


จะนับถืออะไรก็นับถือกันไป มันอยู่ที่ใจ พุทธอยู่ที่ใจ ผีก็อยู่ที่ใจ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าชาวพุทธอย่าละโมบโลภมากโดยไม่ดูว่าหลักธรรม หรือแก่นธรรมจริง ๆ ของพุทธนั้นสอนว่าอะไร และผมขอบอกว่ายิ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องแบบนี้ ก็ยิ่งจะทำให้ศาสนาพุทธเสื่อมลงเท่านั้นเอง.