Skip to main content

ความศักดิ์สิทธิ์ในชีวิตทุกขณะ เชอเกียม ตรุงปะ กับพุทธธรรมในโลกสมัยใหม่

คอลัมน์/ชุมชน

เรจินัลด์ เรย์ บรรยาย
วิจักขณ์ พานิช ถักทอและร้อยเรียง


()


เราได้ใช้เวลาบนการเดินทางแสวงหาคุณค่าทางจิตวิญญาณของมนุษยชาติมานานแสนนาน แต่หากเราได้มีโอกาสอ่านงานค้นคว้าวิจัยในเชิงมานุษยวิทยา เราก็จะทราบว่าความแตกต่างของมนุษย์ในปัจจุบันกับมนุษย์ในยุคแรกเริ่มนั้นมีอยู่น้อยมาก ทุกสิ่งที่บอกถึงความเป็นมนุษย์ในปัจจุบันสามารถถูกพบได้ในมนุษย์เมื่อหลายแสนปีก่อน เราเลือกที่จะดำเนินชีวิตในแบบนี้มาโดยตลอด แต่แล้วในช่วงหมื่นปีที่ผ่านมา หลายสิ่งหลายอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปมาก การปฏิวัติเขียวทางการเกษตร การปฏิวัติทางอุตสาหกรรม การควบคุมธรรมชาติ การจัดระเบียบทางสังคม ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยก็ว่าได้ และมาถึงในยุคไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็ยิ่งตอกย้ำความเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นให้ชัดเจนมากขึ้นไปอีก


หากเราย้อนดูชีวิตของสิทธัตถะ ชายผู้นี้เติบโตมาในสังคมอินเดียที่ถือว่าเป็นสังคมรวมหมู่ อันมีเอกลักษณ์ความเกาะเกี่ยวของสถานะทางสังคมสูงมากที่สุดแห่งหนึ่ง เขาไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องแยกตัวออกมาจากกฏเกณฑ์เสียงภายนอกรอบตัว สู่หนทางการฝึกฝนทางจิตวิญญาณ จนในที่สุดเขาสามารถบรรลุเข้าสู่สภาวะที่เป็นอิสระจากแบบแผนการเกาะเกี่ยวทางสังคมที่ว่านั้นได้โดยสมบูรณ์ การเข้าถึงศักยภาพสูงสุดในการดำเนินชีวิตที่แยกตัวออกมาจากความคิดคาดหวัง และแบบแผนความเชื่อทางสังคม ทำให้ชายผู้นี้ได้ค้นพบกับความหมายของการมีชีวิตที่แท้ ที่ไม่เคยมีใครเคยได้สัมผัสมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพ ความเต็มเปี่ยมจากภายใน ความเป็นตัวของตัวเอง ความคิดสร้างสรรค์ และอิสรภาพของความเป็นมนุษย์ ที่อยู่พ้นกรอบข้อจำกัดใดๆ


เมื่อเราได้ก้าวเข้าสู่วิถีการฝึกฝนทางจิตวิญญาณ เราจะตระหนักได้ว่า การแยกตัวออกจากความคาดหวังทางสังคมเป็นเรื่องที่ดูจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เรารู้สึกราวกับตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีทางเลือก เพราะความเป็นไปในสังคมดูจะมีแบบแผนและกฏเกณฑ์ที่เป็นข้อจำกัดมากเกินกว่าที่จะสามารถรองรับศักยภาพ ความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นไปได้อันไพศาลของความเป็นมนุษย์ที่แท้


ในสังคมสมัยก่อนที่ผู้คนส่วนมากใช้เวลาชีวิตเกือบทั้งหมดในการหาเลี้ยงชีพ อีกทั้งโครงสร้างทางสังคมที่ให้ข้อจำกัดกับชีวิตในหลายๆ ด้าน เรามักจะพบผู้คนเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ที่กล้าตัดสินใจที่จะแยกตัวเองออกมา เพื่อการก้าวเดินบนเส้นทางการฝึกฝนตนเอง จนสามารถบรรลุเป้าหมายแห่งการบรรลุอิสรภาพภายใน สู่การเป็นอริยปัจเจกที่มีความเป็นตัวของตัวเองอย่างสูงสุด พวกเขาเลือกใช้ชีวิตอยู่ตามชายขอบของสังคม หรือชายขอบแห่งขอบของสังคม ตามป่าทึบ ภูเขา ถ้ำ กระท่อมร้าง ป่าช้า ไม่ใช่ด้วยเหตุผลของความชอบส่วนตัว อคติต่อสังคม หรือความเพี้ยน แต่เพราะคนเหล่านี้ต่างตกอยู่ในภาวะที่ไม่มีทางเลือก พวกเขาเข้าใจชีวิตมากเกินกว่าที่จะทนฝืนตามกระแสไปวันๆ อย่างไร้จุดหมาย พวกเขาพบเห็นความจริงแห่งทุกข์ที่เกิดขึ้นรอบตัว ทั้งในเรื่องของความอยุติธรรม การกดขี่ทางสังคม และการหมกมุ่นอยู่ในกามสุขของผู้คน พวกเขาจึงตัดสินใจที่จะแยกตัวออกไปค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ที่แท้ แทนที่จะยอมใช้ชีวิตไปวันๆ ราวกับซากศพที่ไร้จิตวิญญาณ นั่นคือความหมายของคำว่า "ชีวิตที่ไม่มีทางเลือก" นั่นคือพวกเขาได้เลือกที่จะ "ยอมตายไปจากสังคม" หรือ "เอาชีวิตเข้าแลก" เพื่อการค้นหาความศักดิ์สิทธิ์ของประสบการณ์แห่งชีวิตในทุกขณะ



แต่ในสังคมปัจจุบัน เรามีเหตุปัจจัยที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ความโหดร้ายของโลกสมัยใหม่ได้คืบคลานเข้ามาจากทุกๆด้าน จนเราแทบจะหาชายขอบของการพัฒนาในโลกยุคโลกาภิวัตน์ไม่ได้อีกต่อไป แต่ในอีกทางหนึ่งเราสามารถพบกับความเป็นไปได้ที่จะนำพุทธธรรมมาฝึกฝนในชีวิตประจำวันได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รูปแบบการแยกตัวออกจากความคาดหวังทางสังคมอาจสามารถทำได้ด้วยการแสวงหาคุณค่าชีวิตบนพื้นฐานของศักยภาพและเสรีภาพภายในตัวเราอย่างที่ไม่จำเป็นจะต้องไปสยบยอมกับค่านิยมและกฎเกณฑ์จากสังคมภายนอก และหากเราสามารถค้นพบหนทางที่ว่านั้นและนำมาปฏิบัติได้จริง การฝึกฝนทางจิตวิญญาณก็จะนำมาซึ่งศักยภาพแห่งการดำเนินชีวิตในโลกสมัยใหม่ที่กว้างใหญ่อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์


()



ในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนในโลกสมัยใหม่ เราเดินไปเดินมารู้สึกหมกมุ่นฟุ้งซ่านกับเรื่องราวต่างๆ จนเรารู้สึกอึดอัดราวกับไม่มีพื้นที่ภายในให้กับลมหายใจแทรกเข้าไปได้ ทุกสิ่งทุกอย่างดูจะพุ่งเข้ามาโจมตีเราอย่างไร้ความปรานี พอกันที ฉันอยากจะลาพักร้อน ฉันอยากจะไปเที่ยว ไปนอนตากลมริมชายหาด เราต่างก็มีความโหยหาที่จะสัมผัสกับธรรมชาติอันไพศาล แต่มีเพียงน้อยคนที่จะรู้ว่าความไพศาลที่ว่านั้นมีอยู่แล้วในตัวเรา ขอเพียงเรามีเวลาที่จะนั่งลงและสร้างความสัมพันธ์กับมันบ้างก็เท่านั้น


การฝึกภาวนาปลีกตัวเองออกมาจากความหมกมุ่นในเสียงภายนอกเป็นกระบวนการที่จะนำมาซึ่งการผ่อนพักตระหนักรู้ถึงพื้นที่ว่างและศักยภาพภายในตัวเรา ที่จะค่อยๆเปิดให้เราได้สัมผัสมากขึ้นตามการพากเพียรฝึกฝน ทุกผู้คนที่ผ่านเข้ามา ทุกปัญหา ทุกสถานการณ์ที่เราประสบ เราเริ่มมองเห็นที่ว่างที่เชื้อเชิญให้เราได้มีส่วนร่วมไปกับมัน โดยที่เราไม่จำเป็นที่จะต้องตัดสิน เลือกเอาแต่สิ่งที่เราต้องการ แล้วผลักสิ่งที่เหลือทิ้งไปอย่างไม่ใยดี พื้นที่ว่างภายในจะเปิดโลกให้เราได้เข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทุกความรู้สึก ทุกอารมณ์ ทุกผู้คน และทุกสถานการณ์ แวะมาเพื่อต้องการบอกอะไรเราบางอย่าง หน้าที่ของเราคือ การเปิดรับเรียนรู้ข้อความเหล่านั้นด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง การบ่มเพาะพื้นที่ว่างแห่งการเรียนรู้ด้านในทำให้เราพบกับสภาวะแห่งการผ่อนพักอย่างที่เราไม่เคยรู้สึกมาก่อน เราไม่จำเป็นต้องต่อสู้ แย่งชิง แข่งขันเพื่อการอยู่รอด เพราะแท้จริงแล้ว เราสามารถอยู่รอดได้ดียิ่งกว่า ด้วยการรู้จักเฝ้าดูใจตัวเอง และผ่อนคลายไปกับทุกท่วงทำนองของชีวิต


การให้คุณค่ากับประสบการณ์ด้านใน คือ ชั่วขณะที่เราได้เข้าไปสัมผัสอิสรภาพแห่งชีวิตที่แท้ เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ว่า อิสรภาพที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้หาใช่ "อิสรภาพจากชีวิต" อย่างที่เราเคยเข้าใจ การภาวนาได้บ่มเพาะศักยภาพภายในให้เราได้รู้จักกับ "อิสรภาพเพื่อชีวิต" เป็นความสามารถในการเผชิญหน้ากับทุกแง่มุมของชีวิตด้วยความสงสัยใคร่รู้อยู่เสมอ พื้นที่ว่างด้านในเชื้อเชิญให้เราได้เข้าไปทำความสัมพันธ์กับทุกประสบการณ์อย่างไม่ตัดสิน ยิ่งเราสัมผัสได้ถึงอิสรภาพเพื่อชีวิตได้มากเท่าไหร่ ชีวิตที่แท้ก็ยิ่งคลี่บานบนพื้นฐานของการผ่อนพักและปล่อยวางได้มากเท่านั้น กามสุขหรือความสุขจากสิ่งภายนอกกลายเป็นเรื่องอสาระ เพราะประสบการณ์ทุกขณะของชีวิตได้สร้างความพอใจในสิ่งที่ตัวเราเป็นโดยสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว


นี่คือการสอนภาวนาในแบบฉบับของเชอเกียม ตรุงปะ วิถีการปฏิบัติในโลกสมัยใหม่ที่อยู่เหนือข้อจำกัดของความเป็นคำสอนทางศาสนา สิ่งที่เขาสอนไม่ใช่พุทธศาสนา แต่เป็นพุทธธรรม หรือธรรมชาติแห่งการตื่นรู้ อันเป็นธรรมชาติเดิมแท้ที่มีอยู่แล้วในชีวิตของคนทุกคน "พุทธศาสนาไม่ได้เป็นเจ้าของพุทธธรรม" นั่นคือข้อความที่เชอเกียม ตรุงปะ พยายามจะบอกเหล่านักเดินทางผู้แสวงหาทางจิตวิญญาณในโลกยุคศตวรรษที่ ๒๑ ไม่ใช่ในฐานะธรรมาจารย์ในศาสนาพุทธ แต่ในฐานะมนุษย์เดินดินธรรมดาๆคนหนึ่งผู้ซึ่งเดินทางบนเส้นทางสายนี้มาก่อน


เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช เริ่มสอนพุทธธรรมในประเทศอเมริกาตั้งแต่ปี ๑๙๗๐ โดยในช่วงแรกที่เขาเริ่มสอน เขาแทบไม่ได้เอ่ยถึงชื่อพุทธศาสนาเลยแม้แต่น้อย ในมุมมองของเชอเกียม ตรุงปะ พุทธธรรมในโลกสมัยใหม่ไม่จำเป็นที่จะต้องอาศัยคราบของความเป็นศาสนาหรือหลักปรัชญาอันสูงส่งอีกต่อไป พุทธธรรมสามารถถูกถ่ายทอดอย่างตรงไปตรงมา ด้วยภาษาที่ไม่จำเป็นต้องเป็นภาษาทางศาสนาที่จำกัดความเข้าใจของคนทั่วไป แต่ควรจะเป็นภาษาที่คนทั่วไปใช้ในการสื่อสารประสบการณ์แห่งการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ภาษาแห่งพุทธธรรมจะต้องเป็นภาษาของคนธรรมดาๆที่ใช้เพื่อการสื่อสาร เชื้อเชิญ และสะท้อนความเป็นจริงแห่งชีวิต "มองสิ นี่ล่ะคือชีวิต นี่ล่ะคือประสบการณ์ที่ฉันสัมผัส นี่ล่ะคือเสียงหัวเราะ เสียงสะอื้นไห้ของผู้คน ฉันพร้อมจะตื่นขึ้นมา เผชิญหน้ากับชีวิต อิสรภาพ และความงดงามภายใน ด้วยตัวของฉันเอง"



เชอเกียม ตรุงปะ จะพูดถึงประสบการณ์ธรรมดาๆในชีวิตอยู่เสมอ มีครั้งหนึ่งเขาพูดถึงเรื่องความสิ้นหวัง ซึ่งคนทั่วไปมักมองว่าเป็นสภาวะจิตที่ย่ำแย่ที่สุดที่ไม่มีใครอยากจะประสบ โดยเฉพาะความหมดหวังแบบมืดมิดที่มักจะนำไปสู่ความคิดที่จะฆ่าตัวตาย เรามักจะไม่เคยได้ยินประสบการณ์เหล่านั้นจากปากธรรมาจารย์ท่านใด เพราะสำหรับคนที่ตกอยู่ในภาวะเช่นนั้น คงไม่ใช่เรื่องที่น่าจะมานั่งพูดคุยลงลึกกันในรายละเอียด สิ่งที่เราอยากได้ยินคงเป็นคำปลอบใจ หรือ ทางที่จะ "รอด" หรือ "หลุดพ้น" ไปจากมันเสียมากกว่า แต่ตรุงปะกลับใช้เวลาชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าในการแสดงทุกแง่มุมของสภาวะจิตที่เรียกกันว่าความสิ้นหวัง อีกทั้งยังเน้นย้ำอีกว่า "การเผชิญหน้ากับความสิ้นหวัง รู้สึกและสัมผัสความเจ็บปวดนั้นในทุกอณูรูขุมขน จะเป็นดั่งประตูสู่อิสรภาพแห่งชีวิต"


ตรุงปะ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ความสิ้นหวังเป็นประสบการณ์อันทรงพลังของการเข้าถึงความจริง เพราะ ณ วินาทีนั้นคุณกำลังสัมผัสชีวิตถึงจุดที่คุณได้ตระหนักด้วยตนเองแล้วว่า ชีวิตตามค่านิยมทางสังคมเป็นสิ่งที่ไร้แก่นสารอย่างถึงที่สุด ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลง ผู้คนไม่มีความจริงใจให้กัน ต่างคนก็คิดถึงแต่ตัวเอง สิ่งต่างๆรอบตัวเต็มไปด้วยการโกหกหลอกลวง เต็มไปด้วยสัญญาที่จะเติมเต็มความสุขให้กับชีวิต แผนที่ชีวิตที่สมบูรณ์แบบเป็นเพียงแค่ความฝันที่ไม่มีทางเป็นจริง ฯลฯ ในความหมดหวังที่ว่านั้นเราได้เรียนรู้กับสัจธรรมแห่งชีวิตมากมาย "ความสิ้นหวังในชีวิตคือสภาวะจิตที่ใกล้ที่สุดกับการรู้แจ้ง ข้อแตกต่างอันเดียวก็คือ ตัวคุณยังไม่สามารถเปิดรับข้อความที่อยู่ตรงหน้าได้ทั้งหมด" นั่นคือ สิ่งที่ตรุงปะบอกแก่ศิษย์ แน่นอนว่ามันนำมาซึ่งความตื่นตะลึงแก่ผู้ฟัง เพราะไม่เคยมีใครให้คุณค่าแก่ความสิ้นหวังในแง่มุมที่ว่านั้นมาก่อน


การสัมผัสความทุกข์อย่างเปล่าเปลือยจะนำมาซึ่งแรงบันดาลใจในการฝึกฝนตนเองให้สามารถผ่อนพักตระหนักรู้อยู่ในความว่างของจิตในชีวิตทุกๆสถานการณ์ นั่นคือพลังแห่งการนำเสนอพุทธธรรมในแง่ของประสบการณ์ตรง อันไม่สามารถพบได้ในพระคัมภีร์เล่มไหน ธรรมแห่งการตื่นรู้ คือ ความเป็นจริงที่เปลือยเปล่า ที่เราสามารถสัมผัสได้ด้วยตัวเอง "ทุกอย่างขึ้นกับตัวคุณเองเท่านั้น ว่าจะกล้าพอที่จะเข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับเพลิงไฟแห่งความทุกข์ ที่หากคุณสามารถเข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับมันได้แล้ว ก็จะกลายเป็นไฟแห่งศักยภาพในตัวคุณนั่นเอง"


ด้วยมุมมองแห่งการฝึกฝนพุทธธรรมในฐานะส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างตื่นรู้ในทุกขณะ ทุกความรู้สึก ทุกอารมณ์ ทุกผู้คน และทุกสถานการณ์ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ไม่ว่ามันจะก่อให้เกิดความดีใจ เสียใจ สุข ทุกข์ โศกเศร้า เหงา หรือ สิ้นหวัง หากเราพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับมันอย่างตรงไปตรงมา ด้วยพื้นฐานของการภาวนาบ่มเพาะพลังตื่นรู้ภายใน ทุกประสบการณ์ชีวิตก็จะทำหน้าที่เป็นประตูสู่การรู้แจ้งให้แก่เรา ทุกครั้งที่เราสัมผัสกับความทุกข์ไม่ว่าจะเป็นในตนเอง ในผู้อื่น หรือในสังคม เราก็จะใช้โอกาสนั้นสัมผัสรับด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง พร้อมที่จะหัวเราะ ร้องไห้อย่างไม่เขินอาย ชีวิตน้อยๆ ได้กลายเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้อันกว้างใหญ่ ทุกวินาทีเปี่ยมไปด้วยคุณค่าและความหมายอันไพศาล ด้วยพื้นฐานของการมุ่งมั่นฝึกฝนบนเส้นทางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของการเดินทางแห่งชีวิตในทุกๆ ย่างก้าว