Skip to main content

ข้าวแช่ชาวบ้าน และดอกชมนาดหอมๆ

คอลัมน์/ชุมชน







ถึงหนูแจ๋วที่รักยิ่ง


เป็นไงบ้างจ๊ะ ได้ข่าวว่ากรุงเทพฯ ฝนลงหนักหรือช่วงนี้ ไม่ได้ออกไปเที่ยวไกลๆ ละสิ แม่ของแจ๋วนินทาให้ฟังว่าแจ๋วกลัวเสียงฟ้าร้องเป็นที่สุด! บางทีก็มุดเข้าไปอยู่ในตู้เสื้อผ้า ตัวสั่นงันงก เป็นที่น่ารักน่าสงสารจนแม่ต้องรีบเอาแจ๋วเข้ามากอดไว้แน่นๆ ฟังแล้วก็พลอยนึกภาพตาม อยากจะบอกว่าทำใจดีๆ ไว้นะ พายุฤดูร้อนแบบนี้ไม่นานก็จะผ่านไปแล้วล่ะ


เอาอย่างนี้ดีกว่า น้าไม่ได้ลงไปเยี่ยมแจ๋วกับแม่สักที ช่วงนี้งานการของน้าก็ซบเซาลงบ้างแล้วตามสภาวะเศรษฐกิจนั่นเอง เด็กอย่างแจ๋วอาจจะยังไม่เข้าใจอะไรนัก แต่น้าคิดว่า เป็นโอกาสดีที่จะใช้เวลาว่างช่วงนี้เขียนจดหมายคุยกับหนู ดีไหมจ๊ะ


ก่อนอื่น น้าอยากเล่าให้หนูฟังถึงบ้านที่น้าอยู่ แม่ของแจ๋วเคยมาพักกับน้าสองครั้ง ไม่รู้ว่าได้เล่าให้ฟังหรือเปล่า ว่าบ้านของน้าเป็นอย่างไร


บ้านของน้าหลังไม่ใหญ่หรอกจ้ะ เป็นกระท่อมเล็กๆ ชั้นเดียว ปูด้วยกระเบื้องสีน้ำตาลเป็นหลัก เหตุผลคือแข็งแรง ดูแลรักษาทำความสะอาดง่าย ผนังก่อด้วยอิฐ ฉาบปูนทับอีกชั้นหนึ่ง ช่างที่เคยมาเดินสายไฟในบ้านบอกว่าเป็นผนังที่แข็งมากๆ เพราะกว่าเจาะสว่านได้ก็เล่นเอาแขนสั่น! น้าก็ดีใจนะที่ได้อยู่ในบ้านแข็งแรงแบบนี้ ถ้าเกิดพายุมาจะได้ปลอดภัยยังไงละจ๊ะ


บ้านของน้ามีหน้าต่างทั้งหมด 12 บาน แต่ละบานกว้างประมาณเมตรครึ่ง ห้องทำงานของน้าหันหน้าออกยังประตูรั้ว ใกล้ๆ กันเป็นห้องนั่งเล่นซึ่งเชื่อมต่อกับครัวเล็กๆ แม่ของแจ๋วเคยแนะนำน้าว่าน่าจะต่อครัวไทยออกมาด้านนอกอีกสักมุมหนึ่ง ก็เข้าทีเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วน้าไม่ค่อยได้ทำอาหาร "หนักๆ" เพราะตอนนี้น้าอยู่คนเดียว เอาไว้ถ้าแจ๋วมา น้าอาจจะทำตามคำแนะนำก็ได้นะจ๊ะ


บ้านของน้ามีห้องน้ำ 2 ห้อง น้าเป็นคนให้ความสำคัญกับห้องน้ำมาก เพราะเป็นๆ ที่เราทำกิจธุระส่วนตัว ทำความสะอาดร่างกาย เป็นที่ๆ ใช้เวลากับตัวเองมากที่สุดห้องหนึ่ง น้าจึงจัดให้ห้องน้ำโปร่ง โล่ง มีมุมผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า และมีที่กระถางต้นไม้เล็กๆ ด้วย


น้าเล่าถึงบ้านมาเสียยืดยาว เพราะอยากให้แจ๋วได้เห็นภาพมากที่สุด ทีแรกน้าคิดว่าจะแนบภาพถ่ายมาให้แจ๋วดูมากๆ แต่คิดอีกทีหนึ่ง น้าอยากให้แจ๋วได้ลองซึมซับการอ่าน และ "มอง" เห็นสิ่งต่างๆ ด้วยหัวใจดูบ้าง หรือไม่อีกที ก็เป็นการพิสูจน์ว่าน้าจะเขียนจดหมายให้แจ๋วอ่านรู้เรื่องหรือเปล่า!


เอาละ เกริ่นมาตั้งนานแล้ว เข้าเรื่องเสียที เนื่องจากวันนี้น้าได้คุยโทรศัพท์กับแม่ของแจ๋ว แม่ของหนูอยากให้น้าเล่าเรื่องดอกไม้ต้นไม้ต่างๆ ให้แจ๋วฟัง จะได้ปลูกฝังนิสัยการรักต้นไม้ การกินผัก และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เพราะบ้านที่กรุงเทพฯ แม้จะกว้างใหญ่กว่าบ้านน้าเสียอีก แต่ก็เป็นตึกสามชั้นไม่มีดินสำหรับทำสวน แม่ของแจ๋วบอกว่า ถ้าแจ๋วได้ซึมซับเรื่องราวธรรมชาติต่างๆ มากพอแล้ว เมื่อถึงเวลาย้ายมาอยู่ทางนี้ แจ๋วจะได้ปรับตัวง่ายๆ


น้าเห็นดีด้วย ถ้าอย่างนั้นวันนี้ จะเล่าเรื่อง ดอกชมนาด เป็นอย่างแรกให้ฟังนะจ๊ะ



ที่บ้านของน้ามีชมนาดอยู่ต้นหนึ่ง น้าซื้อมาจากตลาดต้นไม้ตั้งแต่ยังสูงประมาณ 2 ฟุต แต่ตอนนี้เลื้อยออกไปไกลและพันขึ้นกับซุ้มไม้ไผ่ สูงเกือบเท่าตัวน้าแล้วแน่ะ!


ตอนที่น้าไปซื้อ คนขายแนะนำว่า ควรจะปลูกในที่ๆ แดดส่อง พรวนดินบ่อยๆ เพราะชมนาดชอบดินชื้นที่ระบายน้ำได้ดี ถ้าเลี้ยงในกระถางก็หมั่นตัดยอดให้แตกพุ่มเอา รับรองจะออกดอกตลอดปี


น้าเป็นคนที่รักต้นไม้ แต่นานมาแล้วที่น้าก็ไม่มีบ้านของตัวเอง ตลอดเวลาที่น้าไปทำงานที่โน่น ที่นี่ ก็จะคิดเสมอว่าถ้ามีโอกาสมีบ้านของตัวเอง น้าจะปลูกชมนาดเป็นอย่างแรก เพราะอะไรรู้ไหมจ๊ะ เพราะชมนาดเป็นดอกไม้ที่หอมชื่นใจเหลือเกิน หอมอ่อนๆ เหมือนกลิ่นข้าวหุงสุกใหม่ๆ บางคนจึงได้เรียกดอกไม้ชนิดนี้ว่า "ดอกข้าวใหม่" ด้วย


ความฝันของน้าเป็นจริง เมื่อได้ย้ายมาอยู่ที่นี่ แรกๆ น้าก็ยังไม่กล้าลงดิน จึงเลี้ยงชมนาดไว้ในกระถาง รอดูท่าทีว่าจะเป็นอย่างไร เชื่อไหมจ๊ะ ไม่กี่วันชมนาดก็แตกดอกตามกิ่ง สีขาว ก้านเขียว มองไกลๆ เห็นเป็นสีขาวนวลๆ ยิ่งในเวลากลางคืนเมื่อน้าเปิดประตูออกไปนอกบ้าน (น้าปลูกชมนาดไว้ทางเข้าบ้านเลยจ้ะ) จะเห็นช่อดอกในความมืด ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ โอ้ย...น้าใจจะขาดรอนๆ นึกอยากให้มีใครสักคนมายืนตรงหน้า คนที่ตาสวยๆ แบบหนูแจ๋วตัวดี อยากจะเด็ดชมนาดให้สักช่อ แล้วบอกว่า "เอาไปวางข้างหมอนนะ"


แต่ความจริงแล้ว ถ้าเราเอาชมนาดไปวางข้างหมอน ไม่นานก็คงเหี่ยวเฉา แถมยังทิ้งยางขาวเปื้อนเป็นคราบแน่ๆ เพราะชมนาดนั้นมีน้ำยางสีขาวในทุกส่วนของลำต้น


คนโบราณนิยมใช้ชมนาดมาอบทำเครื่องหอม แป้งร่ำ ทำน้ำดอกไม้ โดยเฉพาะน้ำลอยข้าวแช่ แต่แม่ของหนูแจ๋วไม่ค่อยชอบข้าวแช่ คงจะเห็นวิธีทำว่ายุ่งยากมากเกินไป แต่สำหรับน้า ตอนเด็กๆ เคยประยุกต์ทำข้าวแช่แบบชาวบ้านด้วยล่ะ


วิธีทำข้าวแช่ชาวบ้าน


หุงข้าวหอมเก่าให้เป็นไต ไม่ต้องสุกมากนะจ๊ะ ส่วนใหญ่แล้ว คนเขาจะใช้ผ้าขาวบางขัดส่วนที่เป็นเปลือกขาวๆ ให้หลุดออกไป เพื่อให้ข้าวไม่ขุ่นเวลานำลงแช่น้ำ แต่สำหรับน้านั้นบางครั้งก็ลองปล่อยตามธรรมชาติ เพราะเห็นว่าให้วิตามินดี แต่ถ้าวันไหนแจ๋วอยากให้แม่ลองทำดู จะขัดหรือไม่ขัด ก็เอาตามความพอใจแล้วกันนะจ๊ะ


สำหรับน้านั้นมีความเห็นว่า บางครั้ง ของบางอย่างไม่สวยงามสมบูรณ์แบบ แต่ให้ประโยชน์ดี ก็ถือว่ามีคุณค่า แต่อย่างไรก็ดี ความงามก็เป็นเรื่องรสนิยมส่วนบุคคล บางเวลาก็ช่วยชุบชูจิตใจ เรื่องนี้แจ๋วคงจะได้เรียนรู้เรื่อยๆ ตามกาลเวลา


ต่อนะจ๊ะ เมื่อเราได้ข้าวหุงสุกครึ่งหนึ่งแล้ว ก็นำไปนึ่งอีกทีจนสุก จากนั้นก็มาทำน้ำแช่ข้าวกัน


น้ำหอมแช่ข้าว


ใช้น้ำสะอาดต้มสุก (ที่เย็นแล้ว) อบกับเทียนหอม หมายถึงเทียนอบขนมที่ทำจากดอกไม้หอมจากธรรมชาติจริงๆ ไม่ใช่เทียนหอมทั่วไปที่แต่งกลิ่นสังเคราะห์นะจ๊ะ จุดรมควันทิ้งไว้ 1 คืน หลังจากนั้นจึงค่อยนำดอกไม้ใส่ลงไป


สำหรับภาชนะในการทำน้ำหอมนั้น ให้ใช้หม้อดินเผา หรือถ้วยกระเบื้องจะเป็นการดี เพราะเก็บกลิ่นไว้ได้นาน


นอกจากชมนาดแล้ว ยังมีดอกไม้อีกหลายชนิดนะจ๊ะที่นิยมนำมาทำน้ำข้าวแช่ เช่น มะลิ กุหลาบ กระดังงา (ต้องลนไฟเสียก่อน) แต่ถ้าไม่ใช่ดอกไม้ที่ปลูกเองต้องระวังให้มาก เพราะสมัยนี้ใช้ยาฆ่าแมลงกันเยอะ แจ๋วคงรู้ดีว่ามันมีพิษร้ายอย่างไร


เครื่องเคียงข้าวแช่


ทั่วไปแล้วนั้น ของเคียงข้าวแช่มักจะมีด้วยกัน 5 – 6 อย่าง ได้แก่ กะปิทอด, พริกหยวกยัดไส้, หอมทอด, เนื้อฝอย หรือหมูฝอย, ไชโป๊ผัดไข่ และ ปลาหวาน ซึ่งกรรมวิธีในการทำนั้นละเอียดอ่อนมาก ที่บ้านของน้าจึงประยุกต์มาเป็นข้าวแช่ชาวบ้าน ด้วยการทำของเคียงแค่อย่างเดียวเท่านั้น คือ หมูหรือเนื้อฝอย


วิธีทำก็ง่ายแสนง่าย ใช้เนื้อหรือหมูปิ้งให้สุก ฉีกเป็นเส้นฝอย ๆ แล้วนำไปผัดกับน้ำตาลจนแห้ง โรยหน้าด้วยหอมแดงเจียว หรือจะหาซื้อจากร้านขายข้าวเหนียวหมูฝอยก็ได้นะ


เวลาจะรับประทาน ก็แค่ตักข้าวใส่ถ้วย เติมน้ำข้าวแช่ที่เตรียมไว้ ใส่น้ำแข็งก้อนเล็กๆ ลงไป ทานเคียงกับหมูฝอยในมื้อกลางวัน แต่มีเคล็ดลับนิดหนึ่ง หนูแจ๋วอย่าตักของเคียงใส่ในถ้วยข้าวนะจ๊ะ จะทำให้น้ำมันย่องไม่น่าดู ให้ตักทานแนมกันไปทีละคำนะจ๊ะ จะได้ความหอมหวานชื่นใจ


น้าเขียนยาวมากแล้วสินะ ตอนนี้ได้เวลานอนแล้ว วันนี้น้าไม่ได้ทำข้าวแช่ แต่ก็เก็บดอกชมนาดมาใส่แก้วน้ำไหว้พระ ก่อนนอนคืนนี้น้าจะอธิษฐานขอให้หนูแจ๋วและแม่มีสุขภาพดี แข็งแรงทั้งกายและใจตลอดไป แล้วน้าจะรีบส่งจดหมายถึงแจ๋วโดยเร็ว เพราะยังมีเรื่องอีกมากมายที่อยากเล่าให้เด็กกรุงเทพฯ แบบหนูฟัง


ด้วยความรักและคิดถึงเป็นที่สุด
น้ากระถิน