Skip to main content

ผลพวงแห่งความคับแค้น

คอลัมน์/ชุมชน

ไม่ได้คิดจะเขียนถึงวรรณกรรมชื่อดัง The Grapes of Wrath ของ จอห์น สไตน์แบค แต่อย่างใดค่ะ เพียงแต่เหตุการณ์ที่โช เซือง ฮุย นักศึกษาชาวเกาหลีวัย 23 ไปสังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียร์เทค ถึง 32 คน ซึ่งมีทีท่าว่าจะทำให้เกิดความหวาดระแวงต่อชาวเกาหลีและอาจเลยเถิดมาถึงนักศึกษาชาวเอเชียในอเมริกาด้วยซ้ำ ทำให้คิดขึ้นได้ว่า มีความเป็นไปได้ว่านี่คือผลพวงของความคับแค้นที่อาจเกิดขึ้นได้กับคนๆ หนึ่ง และในโลกนี้ก็อาจมีคนเช่นนั้นอยู่อีกหลายคน


เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้นึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ใกล้ๆตัวหลายเรื่อง เช่น กรณีการเผาโรงงานของคนงานไทยในไต้หวัน หรือ กรณีที่มักมีข่าวเรื่องแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยฆ่าหรือทำร้ายนายจ้างอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งโดยเหตุการณ์เหล่านี้ก็เป็นสาเหตุให้ผู้คนในสังคมมักเหมารวมว่า คนเหล่านั้นเป็นพวกที่ชอบกระทำการรุนแรง และมีความหวาดระแวงของคนในประเทศเกิดขึ้นกับคนเหล่านี้


กรณีคนที่ไปอยู่ต่างประเทศในสถานะที่ด้อยกว่าพลเมืองของชาตินั้นๆ ซึ่งรวมทั้งแรงงานไทยในต่างประเทศและแรงงานข้ามชาติในไทยที่ถูกคนในประเทศนั้นมองเหมารวมว่าพวกคนงานต่างชาติไว้ใจไม่ได้ ชอบก่อความวุ่นวายและความรุนแรง มากไปถึงว่าเป็นพวกโหดร้ายนั้น หากมาย้อนคิดว่าสาเหตุลึกๆ ของการกระทำรุนแรงนั้นเป็นพฤติกรรมของคนที่มาจากชาตินั้นๆ จริงหรือไม่ เช่น คนเกาหลีเป็นพวกหัวรุนแรงจริงหรือ คนพม่าเป็นพวกชอบความรุนแรงจริงหรือ และคนไทยเป็นพวกชอบความรุนแรงจริงหรือ


พอเป็นคำถามใกล้ตัวเรา ในกรณีของคนไทยเราก็คงจะต้องตอบว่า "ไม่จริงคนไทยรักสงบ คนเหล่านั้นคงต้องโดนพวกไต้หวันกดขี่แน่ๆ จนทนไม่ไหว จนต้องออกมาลุกขึ้นสู้" ซึ่งพอสืบสาวราวเรื่องไปก็เป็นจริงดังว่า นายจ้างไม่ยอมให้ใช้โทรศัพท์บ้าง กักให้อยู่เฉพาะโรงงานบ้าง หรือมีการทุบตี ด่าทอบ้างจนทนไม่ไหว


เคยคุยกับแรงงานไทยที่กลับมาจากไต้หวันบอกว่า ตอนไปใหม่ๆ ยังฟังภาษาจีนไม่ค่อยเข้าใจ ก็ถูกด่าว่าโง่บ้าง จนบ้าง ขี้เกียจบ้าง ซึ่งก็สุดจะทนอยู่แล้ว งานที่ทำก็เป็นงานที่แสนเหนื่อยหนักแบบที่คนไต้หวันไม่ทำ และหากทำผิดพลาดก็ถูกตีบ้าง ถูกหักเงินบ้าง ถูกด่า ถูกดูถูกเหยียดหยามสารพัด สิ่งที่ทำได้อย่างเดียวคืออดทนเอาไว้เพราะว่าต้องการเงินที่จะส่งกลับมาให้ครอบครัวในประเทศไทย มีบางครั้งที่อยากจะโต้ตอบนายจ้างบ้างแต่ก็กลัวถูกส่งกลับ จึงทำได้เพียงแค่เก็บความแค้นไว้ในใจ หลายคนอดทนได้จนกระทั่งถึงวันสิ้นสุดสัญญา แต่อย่างกลุ่มเผาโรงงานนั้นอาจเป็นไปได้ว่า "เหลืออดเต็มที"


เช่นกันชีวิตของแรงงานต่างชาติที่มาทำงานในไทยนั้นก็คงไม่ต่างอะไรกับคนไทยที่เป็นแรงงานในต่างประเทศนัก และอาจมีสภาพที่ย่ำแย่กว่าด้วยซ้ำในกรณีของผู้ที่เข้ามาอย่างไม่มีบัตรแสดงสถานะใดๆ กรณีการดูถูกเหยียดหยามนั้นเห็นได้ทั่วไป ไม่ได้เฉพาะอยู่ในระดับปัจเจก แม้ในระดับสาธารณะก็พบได้ทั่วไป ดังนั้น หากเอาความรู้สึกของคนไทยที่ทำงานในต่างประเทศเป็นตัวตั้ง แล้วลองมาเปรียบเทียบกับแรงงานจากเพื่อนบ้านที่มาทำงานในประเทศไทย ความรู้สึกก็คงไม่ต่างกันมากนัก ซึ่งหากลองย้อนคิดดังนี้ก็น่าที่จะทำให้คนไทยเข้าใจคนที่มาใช้แรงงานในไทยได้มากขึ้น แล้วก็คงเข้าใจได้ว่าทำไมวันหนึ่งคนบางคนถึงลุกขึ้นมาทำร้ายนายจ้าง ซึ่งน่าจะมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยมีนิสัยใช้ความรุนแรง หรือมีนิสัยไม่ดีฝักใฝ่ความรุนแรงโดยกำเนิด


มาถึงกรณีของนายโช นักศึกษาเกาหลี ครอบครัวย้ายเข้าไปอยู่ในสหรัฐฯ ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เข้าใจว่าคงต้องถูกแปลกแยกกับคนอื่นมาโดยตลอด จากข่าวที่บอกว่าสมัยเด็กๆ ถูกเพื่อนๆ ล้อเลียนอยู่เสมอ ซึ่งในคำล้อเลียนเหล่านั้นอาจจะเต็มไปด้วยการดูหมิ่นเหยียดหยามหรือเป็นสิ่งที่จี้หรือดึงปมด้อยของคนออกมา จนกระทั่งทำให้โช สะสมความคับแค้นและชิงชังจนกลายเป็นคนเกลียดชังโลกไปในที่สุด นักเรียนไทยในต่างประเทศเองก็คงเจอประสบการณ์การถูกดูหมิ่นกันอยู่ไม่ใช่น้อย แต่เนื่องจากหลายๆ คนนั้นไปเพื่อการศึกษาและไปเมื่อโตแล้ว และอาจมีเป้าหมายที่ชัดเจนจึงอาจทำใจได้กับการถูกดูหมิ่นเล็กๆ น้อยๆ กระนั้นหลายๆ คนก็ยอมรับว่าเคยมีเรื่องชกต่อยกับคนที่นั่นมาบ้างเหมือนกันเพราะทนคำดูถูกไม่ไหว


สำหรับนายโช คงสะสมความรู้สึกนี้มาอย่างยาวนาน ประกอบกับสังคมอเมริกันนั้นก็เอื้อให้เขาสามารถกระทำการแก้แค้นกับสังคมได้โดยการใช้ความรุนแรงโต้ตอบ และกระทำการที่เป็นภัยต่อสาธารณะได้ เช่น การที่มีการให้ซื้ออาวุธปืนได้อย่างเสรี หรือการเรียนรู้ที่จะใช้อาวุธก็ทำได้โดยง่าย หรือแม้แต่ในสภาพแวดล้อมของเมืองใหญ่ที่ผู้คนมักไม่ใส่ใจกันนักก็มีส่วนอย่างมากกับเหตุการณ์อันน่าสลดใจที่เกิดขึ้น


ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ก็เพียงเพื่อจะจุดประกายความคิดของผู้คนว่า ผลพวงจากการเลือกปฎิบัติ จากการกระทำที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าถูกโดดเดี่ยวหรือแปลกแยก รวมทั้งการกระทำที่เป็นการกดขี่ไม่ว่าจะโดยวาจาหรือทางกำลังนั้น สามารถส่งผลกระทบที่ร้ายแรงกว่าที่คิดนัก แม้กระทั่งผู้นำการก่อการร้าย ซึ่งหากเราศึกษาถึงประวัติลึกๆ ก็พบว่า คนเหล่านี้มักมีปมบางอย่างอยู่ในใจอันเกิดจากการถูกกดขี่มาตั้งแต่วัยเยาว์ หรือถูกควบคุมโดยอำนาจอย่างใดอย่างนึ่งมาระยะหนึ่ง


ดังนั้น เราไม่ควรที่จะกดดันจนผู้คนไร้ทางออก ไม่ว่าเขาจะเป็นคนชาติเดียวกับเราหรือไม่ ด้วยคำว่า "ความเอื้ออาทรและน้ำใจ" นั่นเองที่อย่างน้อยจะจรรโลงสังคมให้ดีขึ้นได้บ้าง อย่าปล่อยให้คนในชาติและในโลกนี้ต้องจมอยู่กับความคับแค้นเลย