Skip to main content

รัฐธรรมนูญ: ประชาชน 5 หมื่น หรือ 2 หมื่นรายชื่อ ก็หมดสิทธิ์พอกัน!

คอลัมน์/ชุมชน

 

...หลายท่านได้ออกมาคุยนักคุยหนาว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ให้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองโดยตรงแก่ประชาชนมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เสียอีก


เช่น (มาตรา 159) ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายได้ ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เคยกำหนดจำนวนผู้เข้าชื่อมากถึง 5 หมื่นคน


รวมทั้งการเข้าชื่อถอดถอน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด ว่าผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ... (มาตรา 261) เป็นต้น


ท่าน ส...เหล่านั้น เข้าใจเอาเองหรือต้องการหว่านล้อมผู้อื่นให้เชื่อว่าการลดจำนวนผู้เข้าชื่อลงจาก 5 หมื่นเป็น 2 หมื่นคนนั้น ก็คือความเป็นประชาธิปไตยที่เพิ่มขึ้น


ถ้าเราย้อนไปดูอดีตถึงกรณีการเข้าชื่อถอดถอนหรือการเสนอกฎหมายโดยประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เราพบว่าไม่มีครั้งใดเลยที่ประชาชนสามารถทำได้สำเร็จ


จริงอยู่ ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากจำนวนรายชื่อ 5 หมื่นคนที่ดูว่าเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ แต่ในทางปฏิบัติจริงแล้วสามารถกระทำได้ยากมาก ทั้งติดปัญหาเรื่องจำนวนที่มากเกินไปและค่าใช้จ่ายที่สูงนับล้านบาท จนกลายเป็นเรื่องยากที่ประชาชนจะรับภาระอันทรงเกียรตินี้ได้


นอกจากเรื่องข้างต้นแล้ว ผมเข้าใจว่า กระบวนการหลังจากที่ทางรัฐสภารับเรื่องแล้วก็ยังมีปัญหาอีก เช่น การหน่วงเหนี่ยว ถ่วงเวลาไม่ยอมบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม รวมทั้งการแปรญัตติจนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิม เป็นต้น


ผมเข้าใจนะครับว่า การระบุจำนวนผู้เข้าชื่อที่น้อยเกินไปอาจจะนำไปสู่การกลั่นแกล้ง หรือความไม่มีเหตุมีผลจนทำให้เกิดภาระที่ไม่จำเป็น ต่อการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร แต่ในขณะเดียวกัน การจะเสนอกฎหมายใดสักฉบับก็น่าจะอยู่ที่เหตุผลและเนื้อหาสาระของร่างที่นำเสนอมากกว่าจำนวนของผู้เสนอ อย่าลืมนะครับว่าผลงานดีๆในโลกนี้ มักจะเกิดมาจากคนจำนวนน้อยเป็นผู้คิด เป็นผู้เสนอแทบทั้งนั้น


ในที่นี้ผมขอนำเสนอแก้ไขร่างธรรมนูญฉบับนี้ ในประเด็นที่ได้กล่าวมาแล้ว พร้อมกระบวนการและเหตุผลดังต่อไปนี้ครับ




  1. ลดจำนวนประชาชนที่เข้าชื่อลงมาที่ 1 พันคน



  2. ถ้าเป็นเรื่องเสนอกฎหมาย ให้เสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถ้าเป็นเรื่องทุจริตให้เสนอต่อ ป... หรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน



  3. ให้องค์กรที่รับเรื่องในข้อ 2 พิจารณาถึงเหตุผล ความเหมาะสม ความจริง ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน



  4. ถ้าเป็นเรื่องกฎหมาย เมื่อผ่านความเห็นชอบ ให้คณะกรรมการสิทธิ์ฯ เสนอเข้าสภาฯไปเลย และให้สภาฯบรรจุเข้าสู่วาระภายในไม่เกินสมัยประชุมถัดไป การแปรญัตติที่นอกหลักการเดิมจะกระทำไม่ได้ จริงๆ แล้วผมอยากจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพียงแต่รับรองหรือไม่รับรองเท่านั้น



  5. หลังจากคณะกรรมการสิทธิ์ฯ มีมติให้เสนอเรื่องต่อไป ให้รัฐบาลจัดให้ประชาชนสามารถใช้สื่อของรัฐเพื่ออธิบายเหตุผลได้อย่างเต็มที่อย่างน้อย 90 วัน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ถ้าเป็นสื่อของเอกชนก็ให้รัฐเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายแทนประชาชน เพราะกระบวนการประชาธิปไตยคือกระบวนการใช้เหตุผลของสาธารณะ ไม่ใช่การนับจำนวนมือเพียงอย่างเดียว


ข้อเสนอของ ส... ชุดนี้จะไม่สามารถเป็นจริงได้เลย หากปราศจากมาตรการอีก 5 ข้อที่ได้กล่าวมาแล้ว


เขียนมาถึงตรงนี้ ทำให้ผมนึกถึงเรื่องเล่าของนัสรูดิน ซึ่งเป็นชาวอาหรับเมื่อประมาณนับพันปีมาแล้ว เรื่องราวก็คล้ายๆ กับเรื่องศรีธนญชัยในบ้านเรานั่นแหละครับ


เรื่องมีอยู่ว่า ในวงสนทนาของผู้สูงวัยแห่งหนึ่ง หลายคนต่างก็บ่นกันว่า เดี๋ยวไม่รู้เป็นอะไร ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงเหมือนเมื่อก่อนเอาเลย นัสรูดินนั่งฟังอยู่พักหนึ่งแล้วก็พูดขึ้นว่า


"สำหรับข้าฯแล้ว ข้าฯแข็งแรงเท่าเดิม ตอนหนุ่มๆเป็นอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น"


เพื่อนในวงรู้สึกหมั่นไส้ จึงแย้งขึ้นมาว่า "นายมีอะไรเป็นหลักฐานยืนยันคำพูดของนายบ้างไหม?"


นัสรูดินเสริมว่า "เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ข้าฯเคยยกก้อนหินก้อนหนึ่งที่อยู่ริมรั้วบ้านข้าฯไม่ขึ้น เดี๋ยวนี้ข้าฯไปยกใหม่ ก็ยังยกไม่ขึ้นเหมือนเดิม ดังนั้นจึงสรุปว่า ข้าฯมีความแข็งแรงเท่าเดิม คือเท่ากับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว"


ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะลดประชาชน 5 หมื่นชื่อ มาที่ 2 หมื่นชื่อ ก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตยพอกันนั่นแหละท่าน ส... ที่เคารพ แนวทางที่เป็นไปได้คือการบรรจุมาตรการดังกล่าวควบคู่เอาไว้ด้วย