Skip to main content

ควันหลงวันแรงงาน

 วันแรงงานเพิ่งผ่านไป กลิ่นอายของหยาดเหงื่อยังไม่จางหาย

การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานของไทยเคยผ่านกระบวนการต่อสู้เรื่องสวัสดิการแรงงานและการกดขี่มายาวนาน ตำนานของขบวนการต่อสู้ด้านแรงงานไทยเคยถูกกล่าวขานว่าเข้มข้นและเป็นแนวหน้าของพลังในเวทีการต่อสู้การเมืองภาคประชาชน แต่วันนี้ขบวนแรงงานไทยไม่เงียบเหงาแต่ก็ไม่เข้มข้น อาจเป็นเพราะปัจจุบันแรงงานโดยส่วนใหญ่ได้รับการดูแลด้านสวัสดิการดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน หากไม่ใช่ อาจเป็นเพราะเหตุอื่น ที่ทำให้ขบวนการต่อสู้ผู้ใช้แรงงานไทยไม่เป็นดังเช่นอดีต



ขบวนผู้ใช้แรงงาน ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย


ในขณะที่อินโดนีเซีย ขบวนและการแสดงพลังของกลุ่มผู้ใช้แรงงานยังคงทรงพลัง วันเมย์ เดย์ที่ผ่านมา ทั่วประเทศอินโดนีเซีย ในเมืองหลวง จาการ์ตา และตามเมืองใหญ่อย่างเช่น สุราบายา เสมาลัง ปาเลมบัง สุลาเวสี บันดุง เมดาน มาตาลัม มาการ์สา และยอกยาการ์ตา มีขบวนผู้ใช้แรงงานนับหมื่นออกมาแสดงพลังกดดันให้รัฐบาลดูแลสวัสดิการผู้ใช้แรงงาน เพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ นอกจากนี้ผู้ใช้แรงงานยังเรียกร้องให้วันแรงงานเป็นวันหยุดแห่งชาติด้วย


หลังจากปี 2541 ซึ่งเป็นปีที่อดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตร่วงหล่นจากอำนาจ สถานการณ์ผู้ใช้แรงงานได้รับความสนใจและมีชีวิตชีวาในการเรียกร้องสิทธิต่างๆ มากขึ้น เพราะในช่วงซูฮาร์โต กระบวนการผู้ใช้แรงงานไม่สามารถทำอะไรได้มาก เพราะอยู่ในช่วงเผด็จการ เศรษฐกิจของประเทศอินโดนีเซียเหมือนประเทศกำลังพัฒนาทั่วไปที่ต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติ ฉะนั้นตัวเลขการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอยู่ในมือของต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ เช่น สหรัฐฯ ประเทศในแถบยุโรป หรือแม้แต่มาเลเซีย และสิงคโปร์ที่ติดสิบอันดับประเทศที่ลงทุนมากที่สุดในอินโดนีเซีย เมืองอุตสาหกรรมหนักสำคัญของอินโดนีเซียคือ สุราบายา ที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหนักตั้งอยู่บนเกาะชวา ส่วนทางด้านเกาะสุมาตราเหนือ เมืองสำคัญทางเศรษฐกิจคือ เมดาน ส่วนบันดุง ถูกกำหนดให้เป็นเมืองแห่งโรงงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานสิ่งทอ โรงงานผลิตรองเท้า และอื่นๆ ฉะนั้นในเมืองดังกล่าวจึงมีองค์กรผู้ใช้แรงงานที่เข้มแข็งเช่นเดียวกับเมืองหลวงจาการ์ตา


แรงงานจึงเป็นส่วนสำคัญของการสร้างชาติอินโดนีเซีย ที่ผู้ใช้แรงงานอ้างเช่นอย่างนั้น การให้วันแรงงานเป็นวันหยุดแห่งชาติจึงไม่ควรแปลกใจ นอกจากนี้อินโดนีเซียก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีแรงงานส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น ประเทศในแถบโลกอาหรับ มาเลเซีย และสิงคโปร์ นักข่าวอาวุโสท่านหนึ่งบอกกับผู้เขียนว่า เฉพาะสิงคโปร์ ปี 2546 เจ้าของประเทศมีพลเมือง 4.6 ล้านคน แต่มีแรงงานชาวอินโดนีเซียทั้งถูกกฎหมายและลักลอบเข้าประเทศมากกว่าหนึ่งล้านคนที่ไปขายแรงงานที่นั่น ส่วนในมาเลเซียมีมากกว่า 4 ล้านคน ในจำนวนนั้นเป็นแรงงานผิดกฎหมายกว่าครึ่ง แรงงานอินโดในมาเลเซียมีตั้งแต่ขั้นใช้แรงงานที่ชาวมาเลเซียไม่ทำไปจนถึงขึ้น full skill เช่น เป็นนักบิน ช่างเทคนิค และวิศวกร เกี่ยวกับการบิน แต่ขั้นทักษะชั้นเลิศนี้มีจำนวนน้อยมาก ทว่า รัฐบาลของอินโดนีเซียดูแลเอาใจใส่และสนับสนุนด้านสวัสดิการแก่ผู้ใช้แรงงานน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์


ประเทศที่น่าจะให้วันแรงงานเป็นวันหยุดแห่งชาติอีกประเทศหนึ่ง คือ ประเทศฟิลิปปินส์ เพราะมีผู้ใช้แรงงานทั้งในประเทศและออกไปขายแรงงานต่างประเทศจำนวนมาก เฉพาะส่วนที่ไปขายแรงงานต่างประเทศมีจำนวนถึง 10 ล้านคนและเป็นตัวเลขที่ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ ในแต่ละวัน ชาวฟิลิปปินส์ทั้งหญิงและชายเดินทางไปขายแรงงานประมาณวันละ 2,700 คน (ตัวเลขในปี 2545 อ้างอิงจาก กรรณิการ์ อังศุธนสมบัติ, 2546) จากแหล่งอ้างอิงเดียวกัน รายงานว่า ด้วยทักษะในการทำงานและทักษะทางด้านภาษาทำให้ชาวฟิลิปปินส์สามารถไปขายแรงงานได้ทั่วโลก ถึง 192 ประเทศ ในปี 2545 มีผู้ใช้แรงงานชาวฟิลิปปินส์ออกไปทำงานยังต่างประเทศจำนวน 891,908 คน เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์จึงพึ่งพารายได้จากแรงงานส่งออก ในปี 2546 ชาวฟิลิปปินส์ 10 ล้านคนส่งเงินกลับบ้านถึง 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ


รัฐบาลฟิลิปปินส์จึงมีนโยบายส่งเสริมทักษะผู้ใช้แรงงาน รวมไปถึงสวัสดิการต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้แรงงานเด่นกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้แต่ในสนามบินนานาชาติแห่งฟิลิปปินส์ ยังเปิดช่องทางพิเศษสำหรับผู้ใช้แรงงาน โดยที่ผู้ใช้แรงงานไม่ต้องไปเข้าคิวปะปนกับผู้โดยสารอื่นๆ ซึ่งจะมีป้ายเขียนว่า OFW (Oversea Filipino Worker) เรียกว่าเป็นกลุ่มคนที่ได้อภิสิทธิ์พิเศษ ในฐานะผู้ทำรายได้เข้าประเทศ จึงไม่แปลกที่เมื่อประมาณสองปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีอาร์โรโย ประกาศถอนทหารฟิลิปปินส์ออกจากอิรัก หลังจากที่คนงานชาวฟิลิปปินส์คนหนึ่งถูกผู้ก่อการร้ายจับตัวไป เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้แรงงาน ในฟิลิปปินส์สำคัญอย่างไร


และในเมืองมะนิลา จึงเป็นเมืองที่มีแหล่งแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอยู่เต็มเมือง ทั้งถูกกฎหมายและเถื่อน เพราะดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์สิงคโปร์ว่อนเต็มเมือง ในแต่ละวันมีผู้ใช้แรงงานออกนอกประเทศเกือบสามพันคน ในทางกลับกันก็มีผู้ใช้แรงงานเดินทางกลับบ้านพร้อมรายได้จำนวนหนึ่งในจำนวนไม่แพ้กันเช่นกัน


ในแง่ชีวิต ผู้เขียนเคยคุยกับแม่ของหญิงสาวที่ไปทำงานเป็นผู้ดูแลคนไข้ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริการะหว่างที่เราทั้งคู่นั่งรอเวลาเดินทาง ครอบครัวเธออยู่ที่จังหวัดเซบู หากลูกสาวทำงานในลักษณะเดียวกันที่นี่จะได้เงินเดือนเพียง 3,500 บาทเท่านั้น ในขณะที่เธอรับเงินเดือนที่สหรัฐ พร้อมสวัสดิการต่างๆ จำนวน 35,000 บาท พร้อมรายได้พิเศษอื่นๆ หากเธอขยันรับงาน ที่สำคัญคือ รายได้จำนวนนั้นสามารถเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวได้อุดมสมบูรณ์กว่า


ขอให้ Laborer and Worker จงเจริญ !!! แรงงานสร้างชาติ แต่ (บาง) ชาติกลับกดขี่แรงงาน !!!