Skip to main content

คนพิการจะได้อยู่ในรัฐธรรมนูญหรือไม่

คอลัมน์/ชุมชน

มีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม/ชมรมคนพิการทุกประเภทในระยะเวลาที่มีการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ปี พ..2550 โดยเฉพาะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้คำในรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้มีการระบุให้ชัดว่า "คนพิการ" ในมาตรา 30 ซึ่งเป็นมาตราในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย 


 


มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน


 


การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้


 


มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่นย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม


 


ในมาตรานี้เมื่อได้อ่านแล้วก็เข้าใจว่า "สุขภาพทางกายหรือสุขภาพ"  หมายถึงคนพิการ ซึ่งอาจไม่ครอบคลุมคนพิการทุกประเภทได้ เพราะคนพิการก็มีสุขภาพดีได้  และอาจมีปัญหาได้ว่าคนพิการไม่อยู่ภายใต้ความหมายนี้  ดังนั้น การระบุว่า "คนพิการ" น่าจะไม่ยากลำบากเกินไปที่กรรมาธิการยกร่างจะเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้คนพิการไม่ควรได้รับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม การยังคงคำว่าสุขภาพทางกายหรือสุขภาพ ไว้ก็ยังสามารถครอบคลุมผู้ป่วยเรื้อรังต่างๆ ผู้เป็นมะเร็ง เป็นเบาหวาน เป็นความดัน เป็นโรคหัวใจ รวมถึงผู้ป่วยทางจิต และผู้ติดเชื้อเอชไอวี


 


ข้อสังเกตคือรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ก็เขียนไว้อย่างนี้  ฉบับร่างใหม่ปีพ..2550 ก็เขียนคงเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง


 


ทำไมคนพิการและคนป่วยเรื้อรังต่างๆ ให้ความสำคัญกับมาตรานี้และความต้องการให้ระบุชัดเจน เป็นเรื่องน่าคิดพิจารณา ทั้งนี้ย่อมมีปัญหาปรากฎมาแล้วเป็นประสบการณ์ของคนพิการและคนป่วยเรื้อรังโดยเฉพาะคนติดเชื้อเอชไอวี ที่ถูกกีดกันไม่ให้ได้รับการศึกษา การกีดกันไม่ให้เข้าเรียนชั้นเด็กเล็ก การสมัครเข้าทำงาน รวมถึงการถูกให้ออกจากงานเมื่อพบว่าป่วยเรื้อรังหรือติดเชื้อเอชไอวี  โดยคนที่ถูกกีดกันเหล่านี้ไม่อาจกระทำการใดใดเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธินี้ของตนเองได้ แม้จะมีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ชัดเจน ผู้ปฏิบัติสามารถหลีกเลี่ยงได้ รวมถึงการไม่ใส่ใจ ไม่ให้ความสำคัญต่อคนพิการ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งไม่ใช่ผู้ไร้สมรรถภาพที่สังคมไม่จำเป็นต้องใส่ใจ  แต่คนพิการควรได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับคนอื่นๆในสังคม เช่น การเข้าเรียนร่วมกับเด็กอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องแยกเฉพาะออกมา เพื่อสร้างความเข้าใจและความเสมอภาคต่อกันตั้งแต่วัยเด็ก การมีเพื่อนเป็นคนพิการซึ่งต้องเข้าใจและต่างปรับตัวเข้าหากันจะเป็นการสร้างค่านิยมที่เป็นบรรทัดฐานให้เคารพซึ่งกันและกัน ยอมรับความแตกต่าง และพร้อมจะใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม


 


การระบุชัดในรัฐธรรมนูญ จะเป็นการเน้นย้ำสังคมไทยให้ความสนใจที่จะลดการกีดกัน และร่วมกันดำเนินการสร้างความเสมอภาคกันให้มากยิ่งขึ้น ไม่เพียงลดการกีดกันแต่ต้องเร่งสร้างมาตรการเชิงรุกให้คนพิการได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคในฐานะมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในสาธารณะให้มากขึ้นด้วย หวังว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 จะฟังเสียงของคนพิการและคนป่วยเรื้อรังต่างๆ ด้วย