Skip to main content

โหมโรง : โลกาภิวัตน์กับรัฐไทย

คอลัมน์/ชุมชน






































































 

ปรากฏการณ์ " กระแส" ความชื่นชมภาพยนตร์เรื่องโหมโรงมีความน่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะกรณีที่รัฐจัดฉายภาพยนตร์รอบพิเศษสำหรับนักการทูต และการกล่าวว่านักเรียนไทยทั่วประเทศควรได้มีโอกาสชมภาพยนตร์เรื่องนี้

 

ปรากฏการณ์นี้คือการบอกว่ารัฐไทยปัจจุบันเห็นด้วยกับสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอ คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ภาพยนตร์เรื่องนี้เสนออะไรที่ทำให้รัฐไทยปัจจุบันต้องการให้คนไทย และคนทั่วโลก (ที่มีนักการทูตตัวแทน) " เห็น"

 


 

" โหมโรง" ของการแสดงใดๆ คือการบอกกล่าวให้ผู้ชมได้รู้ว่า " การแสดงจริง" กำลังจะเริ่ม…
โหมโรงจึงเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่ " เตือน" ให้ผู้ชมหยุดกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับชมและรับฟังเรื่องราวที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าเรื่องราวที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นจะเป็นเรื่องราวของความดี ความงาม หรือความเลว…

 

" โหมโรง" จึงเป็นเพียง " ปฐมบท" ของเหตุการณ์ทั้งหมด... ความปรารถนาที่จะเป็น " อารยะ" ของรัฐไทยในสมัย " ท่านผู้นำ" ที่ชื่อว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วยการพยายาม " รื้อ" สิ่งที่เรียกว่า " ความเป็นไทย" แบบเก่า และ " สร้าง" สิ่งใหม่ที่เรียกว่า " ไทยอารยะ" ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์นั้น จึงเป็นเพียง " บทโหมโรง" ของความพยายามกลืนกลายตัวเองของรัฐไทยให้เป็นหนึ่งเดียวกับ " กระแสโลก"

 

ด้วยเหตุนี้เอง ภาพยนตร์เรื่องโหมโรงจึงพยายามบอกกับผู้ชมว่า เราไม่ควรที่จะไหลตามกระแสโลกโดยไม่หยุดคิดถึงรากเหง้า หรือ " ตัวตน / อัตลักษณ์" (identity) ของ " ความเป็นไทย" (the Thai-ness) และเราจะยืนหยัดอยู่ท่ามกลางการไหลบ่าของกระแสโลกได้ ก็ด้วยการเข้าใจถึงรากเหง้าและความเป็นตัวเรา ความเข้าใจนี้จะทำให้เราดำรงตัวตนของเราไว้โดยไม่ถูกกลืนกลายไปกับกระแส... และ " สาร" (message) ชุดนี้ก็ถูกนำเสนอผ่านภาพท่านครูศรในวัยชราเล่นเพลงลาวดวงเดือนร่วมกับลูกชาย โดยที่ท่านครูตีระนาดและลูกชายเล่นเปียโน ระนาดจึงเป็นตัวแสดง (represent) ความเป็นไทย และเปียโนแสดงถึงวัฒนธรรมจากภายนอกที่แทรกเข้ามา แต่ทั้งสองสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน

 

ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ในบริบทสังคมปัจจุบัน ก็คือการกระตุ้นเตือนให้ผู้ชมได้หยุดคิดถึงการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ (positioning) ตัวตนของเราในท่ามกลางการไหลบ่าของโลกาภิวัตน์ซึ่งมาจากภายนอก อย่างไรก็ดีภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังไม่สามารถนำเสนอได้ว่า จริง ๆ แล้วนั้น " ตัวตน" ของเราคือ " อะไร" มีรูปทรงและเสียงที่ชัดเจนดังเช่นระนาดหรือไม่ และการที่เราจะ " อยู่ร่วม" กับกระแสโลกได้อย่างเท่าเทียมและสมดุลย์ดังภาพระนาดบรรเลงร่วมกับเปียโน จะเป็นจริงได้ " อย่างไร"

 


 

อาจเป็นได้ว่าสิ่งที่ภาพยนตร์ รวมทั้งรัฐไทย ต้องการให้คนไทย และคนทั้งโลกเห็น ก็คือความเป็นไทยที่แสดงผ่านสิ่งที่เรียกว่า " วัฒนธรรมไทย" ที่เกิดและดำรงตนมานับศตวรรษ และดนตรีไทยก็คือสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการมีวัฒนธรรม

 

แต่สิ่งที่ผู้ชมได้เห็น ก็คือเห็นคนตีระนาด แข่งกันตีระนาด เอาชนะกันด้วยการตีระนาด และพยายามรักษาการตีระนาดตาม " ทาง" ของตนไว้อย่างเหนียวแน่น… หากการตีระนาดของท่านครูในเรื่องจะเป็นตัวแทนของสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมและความเป็นไทย กระบวนการสถาปนาวัฒนธรรมความเป็นไทยของท่านครูก็คือกระบวนการทำลายล้างความเป็นไทยแบบอื่น ๆ ด้วยการฟาดฟันทางระนาดทางอื่นให้ย่อยยับ กลายเป็นความเป็นไทยแบบหนึ่งเดียวที่ไม่ยอมให้มีความแตกต่างหลากหลายใด ๆ ปรากฏขึ้น การสถาปนาทางระนาดของท่านครูจึงเป็นการสร้างความชอบธรรมว่าด้วยเรื่อง " ความเป็นไทย คือความเป็นหนึ่งเดียว"

 

นี่กระมัง คือสิ่งที่รัฐไทยต้องการบอก... บอกว่าเราจะยืนอยู่ได้ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ก็ด้วยการสถาปนาความเป็น " ไทย" แบบหนึ่งเดียวขึ้น ... คำถามก็คือ ความเป็นหนึ่งเดียวที่รัฐไทยจะเอาไปใช้ตอบโต้กระแสโลกนั้นคืออะไร

 


 

หากตัวแทนของกระแสโลกาภิวัตน์คือกระบวนการขยายตัวของการพัฒนาทางเศรษฐกิจทุนนิยมแบบไร้พรมแดน รัฐไทยเองก็ปฏิบัติตัวเช่นนั้น เป้าหมายของรัฐไทยก็คือการเติบโตทางเศรษฐกิจ วิธีการก็คือการกระตุ้นการใช้จ่ายแบบไร้พรมแดน รวมทั้งความพยายามที่จะข้ามพรมแดนไปเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ดังที่เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่ว่า ไทยจะได้ไม่ต้องตกเป็น " ทาส" ทางเศรษฐกิจของต่างชาติ ( เห็นได้จากการประกาศเลิกทาสเมื่อสามารถใช้หนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ-IMF)

 

ความเป็นไทยเช่นนี้จะต่างกับโลกาภิวัตน์ก็เพียงศูนย์กลาง และขนาดของอาณาบริเวณ (scale) ของการปฏิบัติการ นั่นก็คือรัฐไทยจะเป็นผู้ปฏิบัติการเองทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค แต่ในทางอุดมการณ์ (ideology) นั้น รัฐไทยก็ไม่ต่างอะไรกับโลกาภิวัตน์ และนอกจากจะไม่ต่างกันแล้ว ทฤษฎีการพัฒนาที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ (economic growth) ก็ไม่ได้มีรากอยู่ในบริบทไทย

 

... คำพูดสวยงามแต่ขาดการตีความอย่างลึกซึ้ง ดังเช่นคำว่า ตัวตน และ รากเหง้าความเป็นไทย ที่ภาพยนตร์เรื่องโหมโรงพยายามพูดถึงจึงกลายเป็นเพียงการสถาปนาคำตอบสำเร็จรูป (single answer) ให้กับคำถามที่ตนตั้งขึ้น รวมทั้งการพูดอย่างกำกวมถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างตัวตน (identity) กับกระแสโลก ก็ทำให้รัฐไทยฉกฉวยการอธิบายเรื่องราวที่ปรากฏด้วยการทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ด้วยตนเอง การกระทำเช่นนี้ ก็คือการบอกว่าเนื้อหาที่ปรากฏในภาพยนตร์คือเนื้อหาเดียวกับความเป็นรัฐไทย

 

ซึ่งก็คือการพูดว่า ไทยจะ " อยู่ร่วม" และดำเนินตามวิธีคิดของโลกาภิวัตน์โดยไม่เป็นทาส แต่จะเป็นผู้นำ เป็นการสร้างความหมายขึ้นใหม่ในนามของการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อการไม่เป็นทาสทางเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือการสถาปนาอำนาจรัฐในการมีคำตอบเรื่องการพัฒนาประเทศเพียงคำตอบเดียวให้กับประชาชน… และภาพยนตร์เรื่องโหมโรงก็ได้ทำหน้าที่นี้… ทำหน้าที่ " โหมโรง" คำตอบแบบเบ็ดเสร็จสำเร็จรูปให้กับโลกาภิวัตน์แบบรัฐไทย