Skip to main content

แมงเอ๋ย แมงมัน

คอลัมน์/ชุมชน






สวัสดีจ้ะ หนูแจ๋วที่คิดถึง


ก่อนอื่น น้าต้องขอโทษแจ๋วด้วยนะจ๊ะ อาทิตย์ที่ผ่านมา ไม่ได้เขียนถึงหนูเลย ทั้งๆ ที่ตั้งใจจะรีบส่งจดหมายมาถึง น้าไม่ค่อยสบายน่ะจ้ะ เป็นโรคลมประสาคนแก่ ยังดีที่มียาหอมติดบ้าน ชงกับน้ำต้มสุก จิบแก้อาการวิงเวียน...ค่อยยังชั่ว


เป็นยังไงบ้างละจ๊ะ อากาศดีขึ้นหรือยัง น้าฟังกรมอุตุฯ พยากรณ์ว่าฝนจะไปหนักทางใต้แล้วล่ะ ที่บ้านน้านั้นท้องฟ้าแจ่มใสมาหลายวันแล้ว อากาศอบอ้าวบ้าง ฝนโปรยลงมาบ้าง แต่ก็ทำให้รอบๆ ตัวชุ่มชื่นดี แต่ที่น่าตื่นเต้นก็คือ หลังฝนตกครั้งนี้ น้าได้กิน "แมงมัน" เป็นครั้งแรกในรอบปีแล้วล่ะ!


แจ๋วคงจะแปลกใจ...อะไรเหรอแมงมัน...แมงมันเป็นแมลงชนิดหนึ่งจ้ะ จะขึ้นจากรูใต้พื้นดินเพียงปีละครั้งเท่านั้น และช่วงนั้นของปีก็คือเดือนพฤษภาคมนี่เอง


ถ้าแจ๋วเปิดอ่านหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของภาคเหนือในช่วง 5- 6 วันที่ผ่านมา คงจะแปลกใจที่มีแต่ข่าวพาดหัวว่า


"ชาวพะเยาตื่นแมงมัน! เมืองน่านแมงมันแพง! แมงมันกิโลละ 700!"


เชื่อไหมจ๊ะ น้าไปบ้านเพื่อนคนหนึ่ง ทันที่ที่เจอหน้ากันก็ถามว่า


"นี่กระถิน เธอได้กินแมงมันหรือยัง?"
"กินแล้วจ้ะ พอดีมีคนเอามาฝาก"
"เหรอๆ...ดีแล้ว เพราะนี่เพิ่งได้กินเมื่อวาน ยังคิดถึงอยู่เลย แต่ได้มาน้อย กินกันในบ้านแป้บเดียวก็หมด เด็กๆ ชอบมาก"
"ไม่เป็นไรหรอกจ้ะ ได้กินตัวสองตัวก็พอใจแล้ว"
"สุดยอดเลยเนาะ"
"จ้ะ"


แจ๋วคงจะขำ ถ้าได้ยินบทสนทนาเหล่านี้ และคงขำมากขึ้นถ้าน้าจะบอกว่า หลังฝนแรกตกลงมา ทั่วเมืองเชียงใหม่ ไปทางไหนมีแต่คนเก็บแมงมัน


น้ามีธุระต้องผ่านเข้าไปในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตอนเย็นๆ เสร็จสรรพดีแล้ว นึกได้ว่ายังไม่ได้ซื้อกับข้าวเลย จึงแวะที่ฝายหิน ซื้อสลัดสองถุง เผื่อฝากคนข้างบ้านด้วย ขากลับออกมา ฟ้าเริ่มมืดแล้วจ้ะ ถนนในมช. นั้นแจ๋วคงพอรู้ว่าสวยแค่ไหน และสวยมากยิ่งขึ้นเมื่อผ่านบางจุดที่มีแสงสว่างน้อย แต่มีไฟตะเกียงวอมแวมๆ


ทีแรกน้านึกว่าเด็กๆ มีกิจกรรมอะไรกัน พอรถผ่านไปใกล้ๆ จึงเห็นว่าเขากำลังจุดเทียนเก็บแมงมันกันตามสุมทุมพุ่มไม้!


อีกวัน น้ามีอันต้องผ่านไปในหมู่บ้านขนาดใหญ่ไฮโซ แถวๆ ทางไปไนท์ซาฟารี เป็นหมู่บ้านที่ได้ชื่อว่าจัดสวนสไตล์ฝรั่งเก๋มาก ปลูกต้นปาล์มราคาแพงเรียงเป็นแถว (แต่บางที น้าก็รู้สึกว่าไม่เข้ากับบรรยากาศทางนี้เลย) แต่วันนั้น ภาพไฮโซของหมู่บ้านถูกทำลายย่อยยับ เพราะตลอดถนนที่อยู่ด้านหน้า ก่อนถึงทางเข้า เต็มไปด้วยชาวบ้านที่มานั่งยองๆ เก็บแมงมันกันอย่างรื่นเริง หลายเพศ หลายวัย แต่ละคนมีขวดแก้วคนละใบ ใบหน้าเต็มไปด้วยความสุขและความหวัง


เพื่อนคนหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตกับน้าว่า แมงมันนั้นเป็นอาหารของคนจน ไม่มีเงินซื้อหาอะไรดีๆ แพงๆ จึงต้องมากินมดกินแมลง


มองอย่างนั้นก็ได้ เพราะการกินสัตว์เล็ก สัตว์น้อยในธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมา สมัยก่อนนั้นไม่ได้มีซูเปอร์มาเก็ตอย่างทุกวันนี้ ไม่มีเนื้อสัตว์ชำแหละขายทุกหัวระแหง โดยเฉพาะบ้านป่าเมืองไกล จะได้กินเนื้อ กินหมู ก็ในวาระพิเศษ ยิ่งน้าด้วยแล้ว เคยอยู่ในยุคที่วันไหนมีเนื้อมาขาย จะรู้จากเสียงเป่าเขาควายดังโว้ๆ ในตอนย่ำค่ำ เป็นที่ตื่นเต้นยิ่งนัก


แต่แจ๋วรู้อะไรไหมจ๊ะ บางครั้ง การที่ "ไม่มี" นี่เอง ทำให้เกิดการแสวงหาและเรียนรู้ อย่างแค่เรื่องของแมงมันตัวเล็กๆ ก็มีตั้งสองชนิด คือ ตัวผู้ กับ ตัวเมีย เวลาเก็บมาทำอาหารนั้น เราจะไม่เอาตัวผู้เพราะมีรสขม กลิ่นก็ฉุนกว่า วิธีเลือกว่าตัวไหนเพศผู้ เพศเมีย ก็ดูที่ขนาดตัวและสี


ตัวเมียจะมีสีน้ำตาลออกแดงคล้ำ ส่วนตัวผู้สีค่อนไปทางเหลือง พูดถึงเรื่องตัวผู้ตัวเมีย มีเรื่องแปลกอยู่อย่าง กล่าวคือ ถ้าเราเจอรูแมงมัน และตัวที่ออกมาเป็นตัวเมีย แสดงว่าในรังนี้ ปีนี้ มีแต่ตัวเมียทั้งหมด แต่รังเดียวกันนี้เอง อีก 2 - 3 ปีข้างหน้า จะมีแต่ตัวผู้ทั้งหมด! เหมือนกับว่าแมงมันได้เปลี่ยนเพศ หรือสลับเพศ (น้าก็ไม่แน่ใจ) ในรังเดิมทุกๆ 3-5 ปี เรื่องนี้ชาวบ้านได้สังเกตและบอกต่อกันมาจ้ะ


การเก็บแมงมัน ก็เป็นศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่ง เวลาออกของแมงมันคือตอนเย็นๆ ประมาณแดดร่มลมตกถึงใกล้ค่ำ ต้องเป็นหลังฝนตกเท่านั้น อาจจะเพิ่งหยุดตกได้ไม่นาน หรือตกมาแล้วทั้งคืน เพราะน้ำฝนที่ไหลลงไปตามพื้นดิน จะซึมไปถึงรังด้านล่าง แมลงก็จะพากันหนีขึ้นมาเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่


แม่ของน้าเคยพาไปหาเก็บแมงมัน โดยบอกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า


"สังเกตตรงรูเล็กๆ ที่มีตัวจิ๋วๆ สีส้มกำลังไต่กันยุบยับ นั่นคือแม่ของแมงมัน กำลังเปิดปากรูให้ลูกออกมา"


ตัวจิ๋วๆ ที่ว่า เหมือนมดคันขนาดเล็ก มีจำนวนนับไม่ถ้วนเป็นร้อยเป็นพัน ถ้าโดนกัดจะคันจนน้ำตาไหลเทียวล่ะ แต่วิธีเก็บลูกแมงมันโดยไม่ให้แม่แมงมันขบกัด ก็คือต้องโรยขี้เถ้าเป็นวงกลมรอบรู ตัวเรานั่งอยู่นอกวง แม่ๆ (คิดอีกทีก็น่าสงสาร) จะข้ามมากัดเราไม่ได้


ปริศนาคำทายตอนน้ายังเด็ก จึงมีข้อหนึ่งว่า "อะไรเอ่ย แม่เล็ก ลูกใหญ่ บินไปไม่บินมา" คำตอบก็คือ แมงมันนะเอง


ที่ว่าแม่เล็ก ลูกใหญ่ เพราะตัวที่จะบินออกจากรูนั้น มีแต่ตัวโตๆ เป็นตัวผู้ ตัวเมีย ที่จะออกมาหากันเพื่อผสมพันธุ์กัน ส่วนบินไปไม่บินมา หมายถึงเมื่อผสมเสร็จแล้วตัวผู้ก็จะตาย ส่วนตัวเมียก็จะหาที่วางไข่ต่อไป


ฟังๆ ดู เหมือนโศกนาฏกรรม แต่ก็เป็นวงจรชีวิตตามธรรมชาติ


มีเรื่องสนุกๆ ในการเก็บแมงมันด้วยนะจ๊ะ แจ๋วรู้ไหม เขาห้ามขาดไม่ให้อิจฉาคนอื่นที่เก็บแมงมันได้มากกว่าเรา ห้ามใช้นิ้วก้อยไขว้กันแล้วเพ่งสมาธิปิดรูแมงมัน หรือเด็ดหัว เด็ดก้นทิ้งคาปากหลุม เพราะปีต่อไป แมงมันตัวเมียจะกลายเป็นตัวผู้ทันที เรื่องนี้ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ แต่ก็ไม่มีใครกล้าทำ เพราะกลัวปีต่อๆ ไปจะไม่มีแมงมันมาให้เก็บกินอีก


อ่านมาถึงตรงนี้ แจ๋วคงสงสัยแล้วสิว่า แมงมันนั้นเอามาทำอะไรกิน อร่อยยังไง สำหรับน้าแล้ว ใช้วิธีคั่วเกลือเฉยๆ จ้ะ ไม่ต้องใส่น้ำมัน ก็ชื่อ "แมงมัน" นี่นา แสดงว่ามีความมันอยู่ในตัวไงจ๊ะ รสชาตินั้นก็หอมๆ กรอบๆ แต่ไม่เหมือนแมลงอื่นๆ สักอย่างเดียว เป็นความพิเศษที่อธิบายยาก แต่หนูจ๊ะ น้าเองเขียนมาถึงตรงนี้ ก็เริ่มนึกสงสารแมงมันรำไร ว่าเวลาลงไปนอนดิ้นอยู่ในกระทะ ถูกคั่วจนตัวไหม้ ตัวเกรียม คงทรมานน่าดู!


แหม น้าก็ช่างกระไร จากคนบ้านป่า ชอบกินอาหารท้องถิ่น กลายเป็นคนอารมณ์อ่อนไหวไปได้ ...ไม่หรอกจ้ะ น้าเองคิดว่า ชีวิตในโลกนี้เกื้อกูลต่อกัน เราต่างก็มีวงจรชีวิต และห่วงโซ่อาหารสืบต่อกันไป เรากินสิ่งต่างๆ เพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย เมื่อตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งมีชีวิตอื่นที่กลายมาเป็นอาหารของเรา ก็ต้องทำตัวเองให้ดี ทำชีวิตให้มีประโยชน์ รู้จักอิ่ม รู้จักพอ ไม่ละโมบโลภมาก


อันที่จริงแล้ว การกินอาหารเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตของเรามาก เราสามารถรู้จักคนแบบต่างๆ ได้จากสิ่งที่เขาชอบกินและไม่ชอบกิน แม้แต่ตัวเราเอง ผิวหนังของเรา เส้นเลือดของเรา การเต้นของหัวใจเรา ก็สัมพันธ์กับสิ่งที่เรากินเข้าไปอย่างแยกไม่ได้ นอกจากนั้นแล้ว กรรมวิธีในการกิน อุปนิสัยในการกิน ถือเป็น How-to เล่มโตๆ ที่แนะแนวอะไรได้มากมาย


การกินแมลงตัวเล็กๆ อย่างแมงมันนี้ก็เหมือนกัน คนที่ไม่เคยกิน หรือไม่ได้อยู่ในพื้นเพที่มีวัฒนธรรมการกินนี้สืบมาก็อาจจะนึกไม่ออก ว่ามันมีรสชาติพิเศษอย่างไร ทำไมจึงแพงนัก


แต่ถ้าถามคนอย่างน้า ซึ่งปีหนึ่ง อาจจะได้กินสักตัวสองตัวก็พอใจแล้ว คงต้องตอบว่า เวลากินแมงมัน น้าไม่ได้กินแต่แมงมัน แต่น้ากินภูมิประเทศ กินอากาศ กินฤดูกาล กินความรื่นรมย์และชีวิตอันแจ่มใสของผู้คนรอบตัวเข้าไปด้วย เพราะในห้วงเวลาแสนสนุกของการเก็บแมงมันนั้น ไม่เคยมีความทุกข์ เราจะเห็นแต่ใบหน้าที่เปื้อนยิ้ม การรู้จักรอ (เพราะบางที กว่าแม่แมงมันจะขุดรูเสร็จ ปาไปเกือบ 3 ชั่วโมง ไหนจะต้องทยอยเก็บตัวเมียทีละตัว หย่อนลงขวดแก้ว)




อีกทั้งเวลาออกของแมงมัน คือหลังฝนตก ท้องฟ้ามักจะแจ่มใส มีลมพัดเบาๆ น้ำฝนซึ่งยังค้างอยู่บนใบไม้ หรือแอ่งต่างๆ จะคายความชุ่มชื้นแสนวิเศษ เราจะได้กลิ่นของใบไม้ ดอกไม้ แจ๋วรู้ไหมจ๊ะ ถ้าปลูกดอกลั่นทม กลิ่นลั่นทมหลังฝนก็จะหอมที่สุด ถ้าปลูกกุหลาบ กลิ่นกุหลาบก็จะกำซาบชื่นใจ หรือถ้าปลูกจำปี จันท์กะพ้อ เก็ดถะหวา มะลิ ชมนาด ฯลฯ ดอกอะไรก็ตาม ก็จะหอมที่สุดในช่วงเวลานี้


แล้วจะมีอะไรวิเศษมากไปกว่าการได้เก็บแมงมัน แบ่งแมงมัน หรือซื้อขายแมงมัน ในห้วงเวลาน่ารัก การได้กินแมลงตัวเล็กๆ ที่บรรจุเรื่องราวมากมายไว้ในตัวเอง มีทั้งนิทาน คำทายปริศนา ความเชื่อ ความรู้ การเก็บ การหา การปรุง หรือการถนอมเอาไว้กินในมื้อหน้า คิดดูสิจ๊ะ ไม่ใช่อาหารพิเศษจะเป็นอะไรได้


อ้อ แต่มีอีกอย่างที่สำคัญมากทีเดียว ถ้าหากแจ๋วได้ชิมแมงมันแล้วไม่ชอบ ก็อย่าไปคิดรังเกียจหรือดูถูกคนที่เขาชอบนะจ๊ะ เพราะอาหารในโลกนี้มีที่มาต่างๆ กัน คนเรากินไม่เหมือนกัน มีเหตุผลแตกต่างกันไป การกินที่น่ารังเกียจอย่างแท้จริง คือกินโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น กินโดยก่อให้เกิดหายนะ ลักกินขโมยกิน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่การกินอาหาร แต่เป็นการกินใต้โต๊ะ กินสินบน กินบ้านกินเมือง หรือกินบนเรือนขี้รดหลังคานั่นเอง!


ฝากความคิดถึงมายังแม่ของแจ๋วด้วย หวังว่าจะอยากกินแมงมัน และมาเยี่ยมน้าเร็วกว่าที่ตั้งใจไว้


น้ากระถิน