Skip to main content

จากกัลยาณมิตร (๒): ฎีกาส่วนตัว

คอลัมน์/ชุมชน


"การช่วยเหลือผู้อื่นทางกายภาพนั้นก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า ก็คือการที่เรารู้จักมอบคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์คืนให้แก่พวกเขา จนคนเหล่านั้นสามารถที่จะยืนหยัดต่อสู้ปัญหาและเผชิญหน้ากับทุกขสัจจ์ได้ด้วยตัวของเขาเองอย่างเต็มภาคภูมิ เมื่อความยึดมั่นในความเป็นตัวเรา ของเรา ถูกแปรเปลี่ยนเป็นพลังแห่งการตื่นรู้ เป็นความรักและความปรารถนาดีที่เกิดขึ้นจากความเคารพและอ่อนน้อมที่จะเรียนรู้ร่วมกัน เมื่อนั้นการดำเนินชีวิตของเราในฐานะคนธรรมดาๆคนหนึ่ง ก็จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนรอบข้างได้สัมผัสและเข้าใจถึงการมีชีวิตที่แท้ เป็นชีวิตอันเต็มเปี่ยมด้วยคุณค่าและความหมายในตัวมันเองอย่างแท้จริง" นั่นคือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากอาจารย์สุลักษณ์ตลอดหลายปีที่ได้รู้จักกับท่าน


สิ่งที่เรียกกันว่าแรงบันดาลใจนี่เอง ที่จะทำหน้าที่เป็นต้นกำเนิดอันทรงพลังของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยจะจุดประกาย ส่องแสง ดลแรงใจให้กับผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่า ให้เขาได้เข้าใจถึงคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต อาจารย์สุลักษณ์ คือ บุคคลผู้ซึ่งได้เรียนรู้ ฝึกฝนและบ่มเพาะความเต็มเปี่ยมด้านในในตนเอง อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่องานทางสังคมของท่าน


เมื่อเรารู้จักที่จะเคารพและจริงใจต่อตนเอง การทำงานเพื่อสังคมก็จะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากความเคารพในหัวใจมนุษย์ทุกผู้อย่างแท้จริง ไม่มีการแบ่งแยกมนุษย์ด้วยสูงต่ำ ดำขาว ยากดีมีจน ชีวิตของอาจารย์ยังแสดงถึงชีวิตที่เรียบง่าย ให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้เห็นศักยภาพของมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ที่รู้จักตัวเอง และเลือกทำให้สิ่งที่ถูกต้อง เป็นคนธรรมดาๆที่สามารถเข้าถึงธรรมชาติอันเป็นพื้นฐานของสรรพสิ่งอย่างที่ไม่แยกขาดจากชีวิต ที่หากเราทุกคนได้รู้จักเรียนรู้ที่จะบ่มเพาะมันจนงอกงาม มันก็จะถักทอเป็นสายสัมพันธ์อันเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายสันติภาพทางสังคมที่งดงามยิ่ง ตลอดชีวิตของท่าน อาจารย์สุลักษณ์ได้เป็นแบบอย่างของบุคคลที่ยอมสละจากลาภยศ สรรเสริญ ทรัพย์สินเงินทอง และชื่อเสียง ที่ดูเหมือนผู้คนที่มีการศึกษาสูงในบ้านเรา ต่างก็ไขว่คว้าแสวงหากัน แต่ตรงกันข้ามอาจารย์กลับทุ่มเทชีวิตให้กับการปลูกต้นกล้าแห่งคุณค่า ด้วยการสร้างสรรค์กิจกรรมและก่อตั้งองค์กรทำงานเพื่อสังคมไทยอย่างแท้จริง


บทความบอกบุญชิ้นนี้อาจนำมาลงช้าไปสักหน่อยเพราะเจ้าของคอลัมน์ติดภารกิจฝึกภาวนาอยู่หลังภูเขา กระนั้นก็ขอเผยแพร่บทความชิ้นนี้เป็นการร่วมบูชาคุณอาจารย์ในวาระวันคล้ายวันเกิด ๗๔ ปีบริบูรณ์ ในวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.. ๒๕๕๐ ในโอกาสนี้ด้วยครับ







ฎีกาส่วนตัว


.ศิวรักษ์


ข้าพเจ้าเกิดมาในสกุลของคนที่นับถือพระพุทธศาสนา และได้บวชเรียนมาบ้างตามประเพณี แม้จะยังบกพร่องในทางไตรสิกขา คือศีลสมาธิปัญญา แต่ก็พยายามวางรากฐานในทางทานบารมี ซึ่งเป็นต้นตอของบารมีทั้งสิบ โดยหาโอกาสทำบุญให้ทานเท่าที่จะทำได้ ที่สำคัญนั้นต้องการอุทิศส่วนกุศลให้แด่ท่านผู้มีอุปการคุณ เช่นเมื่อเจ้าคุณอาจารย์พระภัทรมุนี (อิ๋น) มีอายุครบศตวรรษ ในปี พ.. ๒๕๓๗ ได้ชักชวนญาติมิตรศิษยานุศิษย์ในพระคุณท่านช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์กุฏิเดิมของท่านที่วัดบางใบไม้ บ้านดอน สุราษฏร์ธานี ให้เป็นอนุสรณ์สถานถึงพระคุณท่าน และเพื่อพระภิกษุสามเณรจะได้มีที่อยู่อาศัยตามอัตภาพ นอกเหนือไปจากการพิมพ์หนังสือเป็นธรรมทาน


ครั้นเมื่อบิดาข้าพเจ้าอายุครบศตวรรษในปี พ.. ๒๕๔๕ นั้น ได้หาทางสร้างเรือนร้อยฉนำขึ้นที่สวนเงินมีมา (ซึ่งตั้งตามชื่อยายทั้งสาม และเป็นที่เดิมของยายด้วย) ทางฝั่งธนบุรี เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับการศึกษาทางเลือกและอื่นๆ เดชะบุญ ขอเงินได้มาจากรัฐบาลญี่ปุ่นส่วนหนึ่ง และบริษัทเคล็ดไทยได้ช่วยเหลือให้อีกส่วน โดยที่ญาติมิตรก็บริจาคสมทบ เช่นให้โต๊ะเก้าอี้ ตลอดจนชั้นหนังสือสำหรับทำห้องสมุดสันติประชาธรรม เป็นต้น


ก็ในปี พ.. ๒๕๕๑ ที่จะถึงนี้ มารดาข้าพเจ้าจะมีอายุครบศตวรรษ จึงกะจะสร้างอาคารอีกหลังหนึ่ง ในที่แปลงเดียวกัน เพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป สถาบันสันติประชาธรรม ที่ทำงานของ International Network of Engaged Buddhists ของปาจารยสาร และเสขิยธรรม เป็นต้น ทางบริษัทเคล็ดไทยสัญญาว่าจะให้เงินช่วยในการสร้างอาคารนี้สามล้านบาท ยังขาดอีกครึ่งหนึ่ง ถ้าญาติมิตรศิษยานุศิษย์ช่วยได้ในการร่วมทานบารมีครั้งนี้ จะขออนุโมทนายิ่ง


ก็บริษัทเคล็ดไทยนั้น ข้าพเจ้าตั้งขึ้นร่วมกับญาติมิตร เพื่อเป็นสำนักพิมพ์ด้วย วางหนังสือจำหน่ายด้วย โดยตกลงกันแต่ต้นว่าจักไม่มุ่งผลกำไรในทางทุนนิยม หากจะเน้นไปในทางรับใช้สังคม ฉะนั้นจึงปันผลกำไรทำการกุศลอยู่เนืองๆ


เมื่อข้าพเจ้าคิดจัดตั้งป๋วยเสวนาคารขึ้น ณ วัดปทุมคงคา เพื่อให้วัดมีชีวิตชีวาอย่างสมสมัย และให้เยาวชนได้มีที่เพื่อแสดงศักยภาพออกอย่างเต็มที่ในทางกุศลสมาจาร ทั้งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงนายป๋วย อึ๊งภากรณ์นั้น พอนายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ทราบว่าข้าพเจ้าต้องใช้ทุนห้าล้านบาท เขาก็ออกให้ ๑๐% ทันที (ห้าแสนบาท) ทั้งๆ ที่เพิ่งรู้จักกัน ดังเขาก็ได้ช่วยกิจกรรมต่างๆ ของข้าพเจ้าตลอดมา จำเดิมแต่เริ่มงานป๋วยเสวนาคารในปี พ.. ๒๕๔๔ ยังคนอื่นๆ ในแวดวงนักธุรกิจเพื่อสังคม ก็ช่วยเหลือเกื้อกูลงานต่างๆ ของข้าพเจ้าตลอดมาด้วยเช่นกัน


ที่ว่านี้ พูดถึงอดีตอันใกล้ โดยจะไม่ขอย้อนไปพูดถึงการตั้งอาศรมวงศ์สนิท และการสร้างสัณฐาคาร เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานสำหรับท่านเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ในปี พ.. ๒๕๓๓ ซึ่งก็ได้รับการอนุเคราะห์ด้วยดี จากญาติมิตรมากหน้า โดยเฉพาะก็ ม... สายสวัสดี สวัสดิวัตน์ และพี่น้องของเธอ ยังนายขรรค์ชัย บุนปาน ก็ช่วยมาก


งานที่ข้าพเจ้าเริ่มไว้ และเห็นว่าสำคัญในอันที่จะผลักดันสังคมไทยและสังคมมนุษย์ไปในทางที่นำเอาสันติภาวะมาประยุกต์ใช้ให้สมสมัยกับส่วนตนและส่วนรวม ทั้งในระดับชุมชน ในระดับชาติและนานาชาติ มีเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้คือ


) อาศรมวงศ์สนิท เป็นชุมชนทางเลือก อยู่ที่คลอง ๑๕ ของรังสิต อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ซึ่งมีกิจกรรมทางวัฒนธรรม และการภาวนา ตลอดจนการเยียวยา อย่างนอกกระแสหลัก รวมถึงการเกษตร และสถาปัตยกรรม ฯลฯ ที่แผกออกไปจากลัทธิทุนนิยม และบริโภคนิยม โดยมีกิจกรรมร่วมกับเสมสิกขาลัย ทั้งที่ในประเทศนี้และประเทศเพื่อนบ้าน มีลาว กัมพูชา และพม่า เป็นอาทิ รวมถึงลังกา ภูฐาน และอินเดียด้วยบ้าง (ผู้รับผิดชอบ: นายสมบูรณ์ จึงเปรมปรีดิ์ ashram@semsikkha.org)


) เสมสิกขาลัย นอกจากมีกิจกรรมที่อาศรมวงศ์สนิทและที่อาคารเสม พริ้งพวงแก้ว ทางโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก กาญจนบุรี และอื่นๆ แล้ว ยังมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ ๒๙/๑๕ ถนนรามคำแหง ซอยรามคำแหง ๒๑ แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง อีกด้วย นี่ก็คืองานด้านการศึกษาทางเลือก ซึ่งเน้นทางไตรสิกขาอย่างสมสมัย และอย่างไปพ้นการตีกรอบแคบๆ ในทางสถาบันพุทธกระแสหลักอีกด้วย (ผู้รับผิดชอบ: นายปรีดา และนางพูลฉวี เรืองวิชาธร semsikkha_ram@yahoo.com)


สองหน่วยงานนี้ พอพึ่งตัวเองได้บ้างแล้ว จนข้าพเจ้าออกจะปล่อยวางได้


) กลุ่มเสขิยธรรม ซึ่งประกอบไปด้วยนักบวชชาย (ภิกษุสามเณร) และหญิง (แม่ชี อุบาสิกา ซึ่งต่อไปคงรวมถึงสามเณรี และภิกษุณี) กลุ่มเล็กๆ เน้นที่คุณค่าของพรหมจรรย์ในสังคมที่เต็มไปด้วยกินกามเกียรติ และสถาบันสงฆ์กระแสหลัก ก็ตกอยู่ใต้ลัทธิบริโภคนิยมและศักดินาขัตติยาธิปไตย ผนวกไปกับไสยเวทวิทยา และพุทธพาณิชย์ จนเต็มไปด้วยสมีและอลัชชีในแทบทุกระดับ หากเราอุดหนุนให้นักบวชจำนวนน้อยเห็นคุณค่าของศีล (ความเป็นปกติ นอกเหนือไปจากรูปแบบของสีลัพตปรามาส) และสัมมาสมาธิ (การภาวนาอันเป็นหัวใจของพระศาสนา แต่มิใช่มิจฉาสมาธิดังพวกคณะพระธรรมกาย) เพื่อเข้าถึงปัญญาในการพัฒนาตนเองอย่างลดความเห็นแก่ตัว และเพื่อเกื้อกูลสรรพสัตว์อย่างรู้เท่าทันโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง นี่จะเป็นคุณอย่างยิ่งกับพระศาสนาและสาธุชนทั้งหลาย


น่าเสียดายที่คนไทยยังทำบุญให้ทานกันตามรูปแบบยิ่งกว่าการอุดหนุนเนื้อหาสาระทางพรหมจรรย์ที่กลุ่มเสขิยธรรมพยายามกระทำ จึงอยากบอกบุญให้ช่วยกันอุดหนุนให้กลุ่มนี้อยู่ได้ ดังกลุ่มนี้เคยมีนิตยสารชื่อเสขิยธรรม ด้วย แต่ก็ต้องล้มเลิกไปอย่างน่าเสียดาย (ผู้รับผิดชอบ: นายไพโรจน์ จะเชิญรัมย์ spd@semsikkha.org)


ในทางส่วนตัว ข้าพเจ้าอุดหนุนมูลนิธิพันดารากับการตั้งสำนักปฏิบัติธรรมทางวัชรยานสำหรับสตรีที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย


) ปาจารยสาร เป็นนิตยสารทางโลก ควบคู่ไปกับเสขิยธรรม ซึ่งเป็นตัวแทนในทางธรรม จะว่าปาจารยสารสืบทอดมาจากสังคมศาสตร์ปริทัศน์ก็ได้ โดยที่นิตยสารนี้เป็นเวทีให้คนหนุ่มคนสาวได้แสดงออกในทางวรรณศิลป์สืบมา ๓๑ ปีเข้านี่แล้ว และล้มลุกคลุกคลานมาเกือบตลอด นี่เพิ่งจะฟื้นคืนชีพขึ้นมา ถ้าช่วยกันอุดหนุน อาจไปตลอดรอดฝั่งจนเกินชีวิตข้าพเจ้าก็ได้ แม้ข้าพเจ้าจะไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มขึ้นก็ตาม (ผู้รับผิดชอบ: นายอาณัติ แสนโท paca_49@hotmail.com)


) International Network of Engaged Buddhists ซึ่งข้าพเจ้าร่วมตั้งขึ้นแต่ พ.. ๒๕๓๒ เพื่อปลุกมโนธรรมสำนึกของพุทธบริษัททั่วโลก ให้เห็นทุกขสัจทางสังคม และหาทางดับทุกข์ทั้งทางส่วนตนและส่วนรวม โดยแนวทางของพระอริยมรรค หากประยุกต์ให้เหมาะกับกาลสมัย มีนิตยสารภาษาอังกฤษ Seeds of Peace เป็นกระบอกเสียง กิจกรรมนี้ก็ล้มลุกคลุกคลานมาดังกลุ่มเสขิยธรรมและปาจารยสาร เช่นกัน (ผู้รับผิดชอบ: .. ลภาพรรณ ศุภมันตา ineboffice@yahoo.com)


) ข้าพเจ้าได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ชัดเจน ด้วยความเห็นชอบของลูกเมีย ว่าข้าพเจ้าขอยกที่อยู่และที่ที่ตั้งสำนักงานให้แก่มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ยังหนังสือต่างๆ ของข้าพเจ้า ก็มอบไว้แก่ห้องสมุดสันติประชาธรรม และหอสมุดอาศรมวงศ์สนิท ส่วนเอกสารลายมือ รูปภาพ เทป วีซีดี ฯลฯ ได้รวบรวมไว้ให้เป็นแหล่งข้อมูลชั้นต้น จัดทำเป็นหอจดหมายเหตุสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เผื่อจะเป็นประโยชน์ในการค้นคว้าและวิจัย ในเมื่อข้าพเจ้าล่วงลับไปแล้ว (ผู้รับผิดชอบ: .. ลัดดา วิวัฒน์สุระเวช ladda_bkk@anet.net.th)


) ป๋วย เสวนาคาร ณ วัดปทุมคงคาราม ถนนทรงวาด (ผู้รับผิดชอบ: .. สิริวรรณ ศรีเพ็ญจันทร์ sripenchan@yahoo.com)


) หอสมุดสันติประชาธรรม (ผู้รับผิดชอบ: .. กัญญา ด่านสว่างกูล)


) ชี และ ซ้อกไน เป็นคู่สามีภรรยาชาวมาเลเซีย ที่อุทิศตนทำงานด้านสื่อทางเลือกมานาน โดยไม่เห็นแก่เงินทอง หรือผลกำไรจากการทำสื่อนั้นๆ เขาทำด้วยความเต็มใจและมีใจรัก เพื่อจะให้สังคมได้เกิดการเรียนรู้ และตระหนักรู้ถึงการกระทำของมนุษย์ที่เอารัดเอาเปรียบสังคม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผลงานที่เขาทำล้วนเป็นสิ่งที่คนที่ทำงานสื่อในกระแสหลักมองไม่ค่อยเห็นกันแล้ว หากว่าท่านสนใจ สามารถติดต่อได้ที่ cheewit@yahoo.com


ข้าพเจ้าได้ใช้เงินที่เพื่อนฝูงทำบุญอายุให้คราว ๗๐ ปี เริ่ม International Network of Engaged Buddhists ขึ้นใหม่ หลังจากที่ได้ซบเซาไป และใช้เงินทำบุญอายุเมื่อคราวครบ ๗๒ ปี นำมาเป็นทุนอุดหนุนกลุ่มเสขิยธรรม โดยหวังว่าญาติมิตรจะยังคงทำบุญอุดหนุนหน่วยงานทั้งสองนี้สืบไปเรื่อยๆ เพราะนี่เป็นความสำคัญทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยเน้นที่ศักยภาพภายใน ให้เกิดสันติภาวะเพื่อรับใช้สังคม


ถ้าความตื่นอย่างพุทธ (แม้คนๆ นั้นจะไม่ถือพุทธ) กลับมานำสังคม อย่างเป็นสันติประชาธรรม นี่จะเป็นความหวังของเรา ที่จะไปพ้นทุนนิยม บริโภคนิยม อำนาจนิยม ฯลฯ ได้


อนึ่ง เมื่อปีกลาย เราเริ่มงาน ๑๐๐ ปีชาตกาลท่านอาจารย์พุทธทาส ซึ่งต้องการให้เราเห็นคุณของอินเดีย เผอิญภรรยาข้าพเจ้าเกิดวันเดือนเดียวกับท่าน หากห่างกัน ๓๐ ปี จึงถือโอกาสนำเงินจากญาติมิตรไปทำบุญวันเกิดเธอครบ ๗๐ ปีที่อินเดีย โดยอุดหนุนกลุ่ม Buddha Smiles ด้วยการช่วยให้เขาสร้างโรงวัว ให้มีวัวไว้รีดนม เลี้ยงครูและนักเรียนที่ยากจน เพื่อการศึกษาทางเลือก แม้จะไม่จำต้องเป็นไปตามแบบพุทธเสียเลยทีเดียวก็ตาม (ผู้รับผิดชอบ: Dr. Ramu Manivannan, smilesbuddha@yahoo.co.in)


พร้อมกันนี้ เราก็ต้องการสร้างงานด้านธรรมสังคีตขึ้น เพื่อนำธรรมะมาประกอบกับดนตรี เป็นการประยุกต์พิธีกรรมให้สมสมัย ให้เกิดธรรมปิติ อย่างไปพ้นรูปแบบพิธีกรรมเดิมๆ สมตามความปรารถนาของท่านอาจารย์พุทธทาส ซึ่งได้ปรารภเรื่องนี้มากับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ แต่เมื่อท่านผู้นั้นยังเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อยู่ในรัชกาลที่ ๘ ถ้างานชิ้นนี้สัมฤทธิ์ผล นอกจากจะเป็นการบูชาคุณท่านทั้งสองแล้ว ยังจักเป็นการประยุกต์ธรรมอย่างสำคัญยิ่งอีกด้วย สำหรับญาติมิตรที่สนใจ ก็ขอได้โปรดให้การอุปการะด้วยเช่นกัน (ผู้รับผิดชอบ: นายวีระ สมบูรณ์ sbvira@yahoo.com)


ข้าพเจ้าจะมีอายุครบ ๗๕ ปีบริบูรณ์ ณ วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๑ และกำหนดวางมือจากทุกๆ หน่วยงานที่เอ่ยชื่อมาทั้งหมด และขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการมูลนิธีเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปด้วย ถ้าญาติมิตรช่วยเกื้อกูลให้กิจกรรมนั้นๆ ดำเนินต่อไปได้ด้วยดี โดยไม่มีข้าพเจ้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป ก็เท่ากับช่วยให้ข้าพเจ้านอนตาหลับ นับได้ว่าเกิดมาทั้งทีไม่เสียชาติเปล่า


ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ จะว่าเป็นการบอกบุญก็ได้ โดยท่านอาจหารายละเอียดได้ทุกเรื่องจาก www.semsikkha.org หรือ ติดต่อ น.. พัชรศิริ ยิ้มเมือง spd@semsikkha.org โทรศัพท์ ๐๒-๔๓๘-๙๓๓๑-๒ โทรสาร ๐๒-๘๖๐-๑๒๗๗,๐๒-๔๓๗-๗๒๐๑


ถ้าท่านมอบเงินให้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป โดยผ่านบัญชี "มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป" ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเจริญนคร บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี ๐๒๔--๕๙๗๐๕-๙ หรือสั่งจ่ายเช็คในนามมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป หรือเงินสด ท่านสามารถนำใบเสร็จรับเงินของมูลนิธิฯ ไปหักภาษีได้