Skip to main content

"สัตว์ประหลาด" : สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่เป็น

คอลัมน์/ชุมชน























































ผมเชื่อว่า คนที่มาดูภาพยนตร์เรื่องนี้ในรอบเดียวกับผมคงมีปฏิกิริยาที่แตกต่างหลากหลายต่อสิ่งที่ได้ดู อาจจะมีคนที่ชอบมากและคนที่ไม่ชอบอย่างมาก เหมือนอย่างปรากฏการณ์ที่เมืองคานส์ หรืออาจมีคนที่ดูไม่รู้เรื่องและงุนงงว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการบอกอะไร... ผมเองก็ไม่สามารถบอกความรู้สึกของตัวเองได้เมื่อภาพยนตร์จบลง แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ใจว่าบอกได้นั้น ก็คือว่า สำหรับผม "สัตว์ประหลาด" มีพื้นที่อันกว้างขวางให้ผมมีปฏิสัมพันธ์ด้วย… และไม่ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามจะบอกหรือจะไม่บอกอะไรก็ตาม สิ่งที่ปรากฏในบทความนี้ คือเรื่องราวที่สมองและใจของผมโต้ตอบ (respond) กับสิ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์

 


1

 














เมื่อภาพยนตร์จบลง สิ่งแรกที่ผมนึกถึงก็คือการปะทะกันระหว่าง "สิ่งที่เห็น" (the seen) กับ "สิ่งที่เป็น" ( the being) ใ น หลากหลายมิติ ความหมายของคำว่า "สิ่งที่เห็น" ที่ผมพูดถึงในที่นี้ก็คือ "ความรับรู้" (perception) ที่มนุษย์เรามีต่อสิ่งต่าง ๆ (ซึ่งอาจจะต่างจากภาวะที่เป็นจริงของสิ่งนั้น ๆ)

 

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ คนดูได้เห็นตัวละคอนหลัก คือ เก่งและโต้ง ซึ่งเป็นผู้ชายทั้งคู่ อยู่ในภาวะที่เป็น "คนรัก" ฉะนั้น สิ่งที่เห็นในมิติแรกก็คือ ทั้งเก่งและโต้งเป็นผู้ชาย ซึ่งในความรับรู้ทั่วไปของสังคมนั้น ผู้ชายย่อมมีคนรักเป็นผู้หญิง ดังนั้น ภาวะที่เป็นจริงของเก่งและโต้งในฐานะคนรักจึงปะทะกับสิ่งที่สังคมมองเห็น






(หรือคาดหวังว่าจะเห็น) และการปะทะชุดนี้ก็ปรากฏขึ้นในอีกมิติหนึ่ง คือระหว่างตัวละคอนกับคนดู นั่นคือคนดูหัวเราะเมื่อเห็นเก่งกับโต้งบอกรักกัน การหัวเราะนั้นย่อมไม่ใช ่ ความรู้สึกขบขันต่อการบอกรัก แต่เป็นความขบขันที่มีต่อสิ่งที่เก่งและโต้ง "เป็น" ซึ่งผิดไปจาก "สิ่งที่เห็น" (หรือ " ควร " จะเห็น) ที่คนดูคุ้นเคย ภาวะนั้น เก่งและโต้งจึงถูกทำให้ดู "ประหลาด" (al ie nated) ด้วยเสียงหัวเราะของคนดู
 


2

 

ในเรื่องมีป่าเป็นตัวละคอน เป็นป่าที่ตัวละคอนหลักเข้าไปสัมพันธ์ด้วย แต่ก่อนที่จะเข้าป่า เก่งและโต้งเข้าไปในถ้ำ ทั้งป่าและถ้ำคือความดำมืดที่เป็นตัวแทนของ " ภาวะของการไม่รู้ " (the unknown) และเป็นสัญลักษณ์ของภาวะที่ตัวละคอนไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวเองกำลังเป็นอยู่ ดังนั้น การที่ตัวละคอนเข้าไปในป่าหรือถ้ำ ก็คือการเข้าไปทำความเข้าใจกับสิ่งที่ไม่รู้ และทำความเข้าใจจิตใจของตน เมื่อตัวละคอนออกมาจากป่าหรือถ้ำ ย่อมหมายถึงการมีคำตอบให้กับตัวเอง

 

ทั้งป่าและถ้ำถูกจัดให้อยู่ภายใต้คำว่า " ธรรมชาติ " ซึ่งโดยมิติหนึ่งนั้น ธรรมชาติถูกอธิบายโดยใช้คำเปรียบ (metaphor) ว่า " ดิบ , เถื่อน " (wild) ฉะนั้น การเข้าไปในธรรมชาติจึงเปรียบได้กับการเผชิญหน้ากับความดิบเถื่อน การที่ตัวละคอนเข้าไปในถ้ำและป่า จึงเป็นการเผชิญหน้ากับความดิบเถื่อนของธรรมชาติ ทั้งธรรมชาติที่เป็นป่าและถ้ำ และธรรมชาติที่ดิบเถื่อนในใจของตัวละคอนเอง

 

แรกนั้นเก่งและโต้งเข้าไปเพียงแค่ปากถ้ำ จริง ๆ แล้วโต้งอยากเข้าไปให้ลึกกว่านั้น แต่เก่งไม่กล้าเข้าไป ทั้งสองจึงกลับออกมา ความหมายก็คือ โต้งกำลังอยากที่จะเผชิญหน้ากับ " ธรรมชาติ " แต่เก่งยังไม่พร้อมที่จะทำเช่นนั้น แต่ในที่สุดโต้งก็ตัดสินใจเข้าไปเผชิญหน้ากับ " ธรรมชาติ " ในป่าโดยลำพัง เมื่อโต้งไม่กลับออกมา เก่งจึงต้องออกตามหา อันเป็นเหตุนำให้เก่งต้องออกไปเผชิญหน้ากับ " ธรรมชาติ " เช่นกัน

 

เมื่อเก่งเริ่มเผชิญหน้ากับ " ธรรมชาติ " ในป่า สิ่งที่เก่งพบก็คือ "สัตว์ประหลาด" ที่ในยามกลางวันมีรูปลักษณ์เหมือนโต้งที่เปลือยร่างและมีท่าทางมุ่งร้าย และกลายร่างเป็นเสือในยามกลางคืน… ไม่มีใครรู้ได้ว่านั่นคือโต้งที่กลายเป็นสัตว์ประหลาด หรือมันคือสัตว์ประหลาดที่ดูเหมือนโต้ง แต่นี่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งสำคัญก็คือคำพูดที่ปรากฏในภาพยนตร์ ที่ว่า "หากเราไม่ฆ่าสัตว์ประหลาด เราก็จะกลายเป็นเหมือนมัน" เก่งจึงพยายามที่จะฆ่ามัน แต่ไม่สำเร็จ ภาพสุดท้ายที่คนดูเห็นก็คือการเผชิญหน้ากันระหว่างเก่งกับสัตว์ประหลาดที่มีรูปลักษณ์เป็นเสือทรงอำนาจที่ทำให้เก่งรู้สึกหวาดหวั่น… และคนดูก็มิอาจรู้ได้เลยว่า เก่งจะสามารถฆ่ามันแล้วออกมาจากป่า หรือเป็นเหมือนมัน และอยู่กับความดิบเถื่อนในป่าในที่สุด

 


3

 

ในธรรมชาติมีสัตว์ประหลาด เช่นนั้นแล้ว ธรรมชาติในใจคนจึงมีสัตว์ประหลาดเช่นกัน หากเราไม่ค้นหา เราอาจไม่รู้ว่ามีมันอยู่ แต่เมื่อเราค้นหา และเจอ เราอาจพบว่าเรากลัวสัตว์ประหลาดตัวนั้น และกลัวที่จะเป็นเช่นมัน… คำพูดในเรื่องที่ผมเห็นว่ามีความหมายยิ่งก็คือคำพูดที่ผมจับความได้ว่า "ชีวิตของคนเราดำรงอยู่ได้ก็ด้วยความทรงจำของคนอื่น" และ "เรามีหน้าที่ทำให้สัตว์ประหลาดในตัวเราเชื่อง" สำหรับผม สองความคิดนี้สัมพันธ์กัน และสัมพันธ์กับความคิดเรื่อง "สิ่งที่เห็น" และ "สิ่งที่เป็น" ด้วย นั่นก็คือ ภาวะที่เราเป็นนั้นต่างจากที่คนอื่นเห็นเรา หรือแม้กระทั่งต่างจากที่เราอยากเห็นตัวเอง...

 

ไม่มีใครเห็น "สัตว์ประหลาด" อันดิบเถื่อนในตัวเราได้หากเราเลือกที่จะฆ่ามันเสียก่อน เพื่อที่ว่าเราจะได้ "ถูกมองเห็น" และดำรงอยู่ในความทรงจำของคนอื่น เพราะหากคนอื่นเห็นเราผิดไปจากที่เขาอยากเห็น เราก็จะถูกลบออกจากความทรงจำของเขา เมื่อนั้นเราก็จะไม่มีตัวตน…

 

แต่การฆ่าสัตว์ประหลาดย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ฉะนั้น หากเราอยากที่จะมีตัวตน ถูกเห็น และถูกจดจำ ทางที่เป็นไปได้ก็คือ เราต้องทำให้สัตว์ประหลาดในตัวเรา "เชื่อง" และเมื่อนั้น เราก็จะ "เป็น" ตามที่คนอื่น (รวมทั้งตัวเราเอง) คาดหวังจะ "เห็น" ในที่สุด... สำหรับเก่ง อาจเป็นไปได้ว่าในที่สุดเขาสามารถทำให้สัตว์ประหลาดตัวนั้นเชื่อง และกลับออกมาจากป่าพร้อมกับตอบคำถามให้กับตัวเองได้ว่า เขาจะ " เป็น " อย่างที่คนอยาก " เห็น " และจดจำได้อย่างไร

 

และไม่ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะ "เป็น" อะไร แต่นี่คือสิ่งที่ผม "เห็น"