Skip to main content

เอ็ม . บัตเตอร์ฟลาย กับการตายของผู้ไม่เป็นที่พึงปรารถนา

คอลัมน์/ชุมชน





































































































ข้อความสำคัญของภาพยนตร์เรื่อง เอ็ม. บัตเตอร์ฟลาย คือข้อความที่ว่า " ความตายอย่างมีเกียรติประเสริฐกว่าชีวิตที่ไร้เกียรติ " … ด้วยการปรากฏตัวของข้อความชุดดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนบทความนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเข้าใจว่า หาก " กัลลิมาร์ด " ตัวเอกของเรื่อง ไม่ฆ่าตัวตายในตอนจบ ชีวิตของเขาคงไร้เกียรติยิ่ง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ " ความเป็นกัลลิมาร์ด " (Gallimard-ness) ไม่มีคุณค่าพอที่จะดำรงอยู่ … แล้วอะไรเล่าคือ " ความเป็นกัลลิมาร์ด " ในที่นี้

 

บทความนี้พยายามที่จะตอบคำถามดังกล่าว โดยการทำความเข้าบทภาพยนตร์เรื่อง เอ็ม . บัตเตอร์ฟลาย ในฐานะที่เป็นรูปแบบ (form) การนำเสนอเรื่องราว ซึ่งสัมพันธ์กับวรรณกรรม / วรรณคดี (literature) รวมทั้งนำเสนอการตีความบทภาพยนตร์เรื่องนี้จากทั้งมุมมองของผู้เขียนบท และมุมมองของผู้วิจารณ์บางท่าน เพื่อเปรียบเทียบกับมุมมองของผู้เขียนบทความ ทั้งนี้ เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า การศึกษาบทภาพยนตร์ในฐานะวรรณกรรมนั้น สามารถกระทำได้ในหลายมิติ และ " ความเป็นกัลลิมาร์ด " ก็มิได้มีเพียงความหมายเดียว

 
ผู้หญิงกับผู้ชาย , ตะวันออกกับตะวันตก และกัลลิมาร์ด หมายเลข 1
 

ภาพยนตร์เรื่อง " เอ็ม . บัตเตอร์ฟลาย " สร้างจากบทละคอนเวทีที่เขียนโดย เดวิด เฮนรี หวัง (David Henry Hwang) ชื่อเรื่องนี้คงทำให้ผู้ที่คุ้นเคยกับศิลปะการแสดงนึกถึงอุปรากรชื่อดังเรื่อง " มาดาม บัตเตอร์ฟลาย " (Madame Butterfly) ของ ปุชชินี (Puccini) ซึ่งเป็นโศกนาฏกรรมที่กล่าวถึงโจโจ้ซัง หญิงเกอิชาญี่ปุ่นผู้ซึ่ง " ยอมปลิดชีพให้กับความรักที่มีต่อสามีผิวขาว เมื่อเขาทิ้งเธอและลูกน้อยไปแต่งงานกับเมียแหม่มของเขา " (1)  มาลินี 2545 : 119

 

เดวิด เฮนรี หวัง เห็นว่า คุณลักษณะแบบโจโจ้ซัง ซึ่งก็คือความซื่อสัตย์ เสียสละ อ่อนน้อม เชื่อฟัง และต้องการการปกป้องคุ้มครอง นัยหนึ่งก็คือภาพสะท้อนของความคิดของชายตะวันตกที่มีต่อหญิงตะวันออก อันเป็นภาพของหญิงผู้เพียบพร้อมสมบูรณ์แบบที่พึงปรารถนา ส่วนอีกนัยหนึ่งก็คือการสะท้อนวาทกรรม (discourse) ว่าด้วย " ภาวะความเป็นตะวันออก " (the Oriental) ที่ถูกสร้างโดยวิธีคิดแบบจักรวรรดินิยม (Imperialism) และลัทธิแสวงหาอาณานิคม (Colonialism) ของ ( ชาย ) โลกตะวันตก ดังนั้น ความเป็นชายที่ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองจึงเทียบได้กับความเป็นตะวันตก และความเป็นหญิง ( แบบ Butterfly- โจโจ้ซัง ) จึงเท่ากับความเป็นตะวันออก (2)  มาลินี 2545, เดวิด เฮนรี หวัง 2546

 

บทความแปลจากข้อเขียนของ เดวิด เฮนรี หวัง เรื่อง " ปัจฉิมลิขิตของผู้ประพันธ์ " ระบุว่า " เรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม ค . ศ . 1986 ในการสนทนาอย่างเป็นกันเองระหว่างรับประทานอาหารเย็น เพื่อนคนหนึ่งถามว่า เคยได้ยินไหม เรื่องนักการทูตฝรั่งเศสที่หลงรักนักแสดงหญิงจีนคนหนึ่ง ซึ่งภายหลังปรากฏว่า เธอไม่แต่เพียงเป็นสายลับเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ชายอีกด้วย …"

 

เหตุการณ์นี้ทำให้เดวิด เฮนรี หวัง นำ Madame Butterfly ของ Puccini มารื้อ (deconstruct) เพื่อชี้ให้เห็นถึงความคิดเรื่องผู้หญิง - ผู้ชาย และ ตะวันออก - ตะวันตก ตามที่กล่าวข้างต้น แล้วจัดการสร้างใหม่ (replace) ด้วยการสร้าง " กัลลิมาร์ด " นักการทูตฝรั่งเศสในประเทศจีนผู้มีคนรักเป็นหญิงนักแสดงงิ้ว และจินตนาการไปว่าคนรักคนนี้คือผู้หญิงแบบโจโจ้ซัง หรือ Butterfly ใน Madame Butterfly แต่ในตอนจบเรื่อง หลังจากที่เขาอยู่ร่วมกับนักแสดงหญิงคนนี้มายี่สิบปี กัลลิมาร์ดกลับพบว่า เขาเองต่างหากคือ Butterfly ที่ถูกหญิงคนรักที่เขาคิดว่าเป็น Butterfly ซึ่งแท้จริงแล้วคือผู้ชายและเป็นสายลับนั้น ใช้ความรักที่เขาจินตนาการขึ้นมาเป็นประโยชน์ในการหลอกลวงและเอาความลับจากเขา และท้ายที่สุด กัลลิมาร์ดก็ฆ่าตัวตายเพื่อรักษาเกียรติและความรักในจินตนาการนั้น

 

คำพูดของ กัลลิมาร์ดก่อนฆ่าตัวตาย ที่ว่า "I Gallimard was once loved by the Perfect Woman. I am a man loved by a woman created by a man." (" ครั้งหนึ่ง เรา กัลลิมาร์ด เคยได้รับความรักจากหญิงผู้เพียบพร้อมสมบูรณ์แบบ เราคือผู้ชายผู้ซึ่งได้รับความรักจากผู้หญิงผู้ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยผู้ชาย " - ถอดความเป็นภาษาไทยโดยผู้เขียนบทความ ) ทำให้มองเห็นว่า " พระเอกตะวันตกที่ควรจะเป็นผู้ชนะอย่างในอุปรากร Madame Butterfly กลับพลิกบทบาทกลับกลายเป็นนางเอกแต่งชุดกิโมโนพอกหน้า สวมวิก เป็น Butterfly ผู้แพ้ เป็น tragic heroine ( ตัวเอกหญิงของละคอนโศกนาฏกรรม ) และ The Perfect Woman ในอุดมคติของเขาเสียเอง " (3)  มัทนี 2546 : ไม่ระบุเลขหน้า

 

นอกจากนี้ คำพูดของกัลลิมาร์ดดังกล่าว ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า " ตะวันตกถูก outwitted ( ถูกเอาชนะด้วยการกระทำที่ชาญฉลาดกว่า ) โดยตะวันออกอย่างแท้จริง และเป็นการชนะโดยการ Beating the Master at His Own Game ( เอาชนะอีกฝ่ายด้วยวิธีการที่อีกฝ่ายสร้างขึ้น ) ด้วย เพราะความพ่ายแพ้ของกัลลิมาร์ดเป็นภัยที่เกิดขึ้นมาจากการสรรค์สร้างของเขาเอง … เพราะพอใจที่จะเพ้อคลั่งอยู่กับจินตนาการที่ไม่อิงอยู่กับภาพพจน์ในความเป็นจริงของตะวันออก การที่กัลลิมาร์ดไม่เคยล่วงรู้เลยว่าแท้จริงเขากำลังอยู่กินกับผู้ชายมาตลอดยี่สิบปีนั้น แม้จะฟังดูเหลือเชื่อ แต่ก็เป็นไปได้อย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงว่าแฟนตาซีนั้นมีความหมายในการหล่อเลี้ยงความรู้สึกที่ว่า เขายังคงเป็นศูนย์กลางของอำนาจอย่างไรบ้าง " (4)  มาลินี 2545 : 121

 

ดังนั้น "a man" หรือผู้ชายที่กัลลิมาร์ดพูดถึง จึงหมายถึง ( ชาย ) โลกตะวันตก ที่หมายรวมถึงตัวของเขาเองด้วย กัลลิมาร์ดหมายเลข 1จึงเป็นตัวแทนของ ( ชาย ) โลกตะวันตก ที่ติดกับและเสียท่าให้กับวาทกรรมว่าด้วยเรื่องความเป็นตะวันออกที่ตนได้สร้างไว้

 

การเมือง , เรื่องทางเพศ , และกัลลิมาร์ด หมายเลข 2

 

กัลลิมาร์ดเป็นนักการทูตฝรั่งเศสที่เข้ามาอยู่ประเทศจีนในช่วงทศวรรษ 1960s ซึ่งเป็นยุคสงครามเย็น (the Cold War) ระหว่างสองขั้วหลักของเวทีการเมืองโลก โลกที่หนึ่ง (the First World) คือเสรีประชาธิปไตยที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวแสดงหลัก โลกที่สอง (the Second World) คือโลกคอมมิวนิสต์ (Communism) ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ ในระยะเวลาดังกล่าว ทั้งสองขั้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกที่หนึ่ง ต่างแข่งขันกันขยายพื้นที่ทางการเมือง (geo-political area) เข้าไปในโลกที่สาม (the Third World) ซึ่งก็คือประเทศที่ไม่ได้อยู่ในโลกที่หนึ่งและโลกที่สอง ( และส่วนใหญ่เป็นประเทศยากจน ประเทศไทยจัดอยู่ในส่วนนี้ ) สำหรับฝรั่งเศสนั้น ถึงแม้ในทางการเมืองจะไม่กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับสหรัฐอเมริกา แต่ฝรั่งเศสก็คือประเทศในโลกที่หนึ่ง ซึ่งอยู่ในขั้วการเมืองตรงกันข้ามกับโลกที่สองซึ่งมีประเทศจีนเป็นสมาชิกอยู่

 

นักการทูต คือผู้ที่นำเสนอ รักษา และขยายอุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐแห่งตนต่อโลก ดังนั้น การที่กัลลิมาร์ดเป็นนักการทูตของประเทศในโลกที่หนึ่ง เขาย่อมถูกกำหนดให้คิดภายในปริมณฑลทางความคิดที่ว่าด้วยเรื่องรัฐ (discourse of the nation-state) และความคิดที่โลกที่หนึ่งสร้างขึ้น นั่นคือ เขาจะต้องมีจุดยืนทางการเมืองที่ตรงข้ามกับโลกที่สอง...

 

แต่เขาไม่เป็นเช่นนั้น โดยเจตนา เขาหลงรักคนของโลกที่สองผู้ซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองตรงข้ามกับจุดยืนที่เขาถูกคาดหวังให้เป็น อันเป็นเหตุสืบเนื่องไปยังเหตุการณ์ที่เขาไม่ได้เจตนา นั่นคือการให้ข้อมูลทางการเมืองอันเป็นความลับของโลกที่หนึ่งแก่โลกที่สอง ซึ่งเท่ากับว่าเขาย้ายจุดยืนทางการเมืองของเขาเข้าไปยืนร่วมอยู่กับผู้ที่เขาจะต้องต่อสู้ด้วย เมื่อพิจารณาขอบเขตของความเป็นรัฐฝรั่งเศสซึ่งสังกัดตัวเองอยู่ในโลกที่หนึ่งแล้วนั้น กัลลิมาร์ดจึงเป็นนักการทูตผู้ไม่เป็นที่พึงปรารถนา (the unwanted) เพราะเขาก้าวข้ามขอบเขตของความเป็นรัฐและขอบเขตของความเป็นโลกที่หนึ่ง

 

นอกจากคนรักของกัลลิมาร์ดจะเป็นคนของขั้วตรงข้ามทางการเมืองกับขั้วที่กัลลิมาร์ดถูกกำหนดให้ยืนแล้ว คนรักของเขายังเป็นผู้ชาย ดังนั้น ในบริบทที่คำว่าเพศยังหมายถึงเพียงเพศตามอวัยวะเพศหรือเพศทางชีวภาพ (biological sex) ไม่ใช่เพศสภาพ (gender) คำว่าความเป็นชาย (masculinity) จึงผูกติดอยู่กับผู้ที่มีอวัยวะเพศชาย และความเป็นหญิง (femininity) ก็ผูกติดอยู่กับผู้ที่มีอวัยวะเพศหญิง เรื่องทางเพศ (sexuality) ของบุคคลจึงถูกกำหนดด้วยวาทกรรมว่าด้วยเรื่องการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีอวัยวะเพศคนละแบบ (discourse of heterosexuality) การรักแบบคู่รักและการมีเพศสัมพันธ์ของคนที่มีอวัยวะเพศแบบเดียวกัน (homosexuality) จึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา

 

การที่กัลลิมาร์ดรักและมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เขาไม่รู้ว่ามีอวัยวะเพศแบบใด ( ซึ่งในที่สุดก็พบว่าเป็นแบบเดียวกับของเขา ) จึงเป็นการก้าวข้ามมายาคติที่ว่าเรื่องทางเพศ (sexuality) ถูกกำหนดโดยอวัยวะเพศ ดังนั้น เรื่องทางเพศของกัลลิมาร์ดจึงขัดแย้งกับความคิดเรื่องเพศของสังคม

 

กัลลิมาร์ดจึงถูกตัดสินโดย " ความจริง " ที่ถูกสร้างโดยกระบวนการทางสังคม (social construction of reality) ว่าเป็นผู้ที่ไม่พึงปรารถนาทั้งในทางการเมืองและเรื่องทางเพศ เขาถูกกันให้ออกไปอยู่ในพื้นที่ชายขอบ (to be marginalised) การตายของกัลลิมาร์ดจึงเป็นการตายของคนชายขอบผู้ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของความคิดกระแสหลักของสังคม และผู้ที่ฆ่ากัลลิมาร์ดก็คือความคิดกระแสหลักเหล่านี้ กัลลิมาร์ด หมายเลข 2 ในที่นี้ จึงมิได้ตายอย่างตัวเอกในโศกนาฏกรรมใด แต่ตายเพราะถูกฆาตกรรม

 
การตายของกัลลิมาร์ด
 

" ความเป็นกัลลิมาร์ด " หมายเลข 2 ไม่ใช่กัลลิมาร์ดในแบบที่เดวิด เฮนรี หวัง ตั้งใจจะให้เป็น กัลลิมาร์ด หมายเลข 2 คือกัลลิมาร์ดที่มี " ชีวิต " ต่างจากกัลลิมาร์ด หมายเลข 1 กัลลิมาร์ด หมายเลข 2 มิได้เป็นตัวแทนของ ( ชาย ) โลกตะวันตก และเขาก็ไม่ได้ตายอย่างมีศักดิ์ศรีแต่อย่างใด ตรงกันข้าม เขาไม่ได้อยากตาย แต่เขาเป็น " เหยื่อ " ที่ถูกฆาตกรรมโดยวาทกรรมทางสังคม (social discourse)

 

คำว่า " ผู้ชาย " (a man) ที่ปรากฏสองครั้งในประโยคที่ว่า I am a man loved by a woman created by a man. นั้นจึงหมายถึง a man ในสองความหมาย a man ที่หนึ่งคือความเป็นกัลลิมาร์ด อีก a man หนึ่งก็คือความคิดกระแสหลักของสังคม ( ที่มีวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่) " ความเป็นกัลลิมาร์ด " (Gallimard-ness) จึงถูกฆ่าให้ตายเพราะมันถูกตัดสินว่า " ไม่มีคุณค่าพอที่จะดำรงอยู่ "

 

กัลลิมาร์ด ในภาพยนตร์คือกัลลิมาร์ดที่ผู้สร้างเจตนาจะให้เป็นกัลลิมาร์ด หมายเลข 1 ที่เต็มไปด้วยจินตนาการความรัก และตายอย่างมีศักดิ์ศรี ตามที่ เดวิด เฮนรี หวัง ตั้งใจไว้... แต่จะเป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่ง หากผู้สร้างภาพยนตร์จะสร้างทางเลือกในการตีความ แทนที่จะเพียง " เชื่อ " ผู้เขียนบทและมุมมองของนักการละคอนในอดีตที่ผลิตซ้ำความคิดเดิมมากว่าทศวรรษ

 
เอกสารอ้างอิง
 

มัทนี โมชดารา รัตนิน (2546). " สารจากผู้แปล " ใน เอ็ม . บัตเตอร์ฟลาย . กรุงเทพ : เอกสารประกอบการแสดงละคอนเรื่อง เอ็ม . บัตเตอร์ฟลาย ภาควิชาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ , ไม่ระบุเลขหน้า .

 

มาลินี แก้วเนตร (2545). " เมื่อตะวันตกพบตะวันออกใน M. Butterfly" ใน แลหนังลอดแว่นวรรณกรรม . กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ศยาม , หน้า 115 – 124.

 

เฮนรี หวัง , เดวิด (2546). " ปัจฉิมลิขิตของผู้ประพันธ์ " ( แปล ) ใน เอ็ม . บัตเตอร์ฟลาย . กรุงเทพ : เอกสารประกอบการแสดงละคอนเรื่อง เอ็ม . บัตเตอร์ฟลาย ภาควิชาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ , ไม่ระบุเลขหน้า .