Skip to main content

เมื่อลูกศิษย์เป็นเกย์

คอลัมน์/ชุมชน

เกิดความกังวลมากมายกับพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือกับคุณครู ต่อเรื่องที่ว่ากลัวลูก หรือลูกศิษย์ตัวเองจะเป็นเกย์


กาลเวลาผ่านมา ความกลัวนั้นยิ่งมีเพิ่มขึ้นเป็นทวีคุณ ตอบรับกับกระแสความเชื่อที่ว่า ปัจจุบันนี้คนที่เป็นเกย์ กระเทย ดี้ ทอม จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นกว่าแต่ก่อน (ซึ่งในความเป็นจริง มีกลุ่มคนที่รัก-ชอบเพศเดียวกันมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควรเหมือนสมัยนี้ คนเหล่านี้จึงไม่กล้าแสดงออกถึงรสนิยมทางเพศของตัวเองที่แตกต่างจากที่สังคมคาดหวัง)


ความเชื่อชุดเดียวกันนี้เองที่ส่งผลให้เกิดการคิดหาวิธีป้องกัน หรือพยายามแก้ไขไม่ให้เกิดกลุ่มคนเหล่านี้ขึ้น ด้วยความคิด ความเชื่อ และความไม่เข้าใจต่างๆ นานา ซึ่งก็เป็นผลมาจากการรับรู้ การบอกเล่าจากคนรอบข้าง หรือจากสื่อกระแสหลัก (ที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีข้อเท็จจริง) ที่อยู่รายล้อมเรา จนเราคิด เราเชื่อว่าเป็นแบบนั้นด้วยจริงๆ


สื่อสิ่งพิมพ์บางฉบับ แม้จะมีผู้คิดผู้เขียน ซึ่งอ้างตัวเป็นกูรูในเรื่องนี้ หรือแม้กระทั่งเป็นคนในแวดวงนี้เอง ก็ล้วนออกมาตอกย้ำความคิด ความเชื่อ ที่เกี่ยวข้องกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่เรื่อยมา ยกตัวอย่างเช่น บอกว่าคนกลุ่มนี้เป็นความวิปริต ผิดปกติ, ไม่มีรักแท้ในคนกลุ่มนี้, คนกลุ่มนี้จะต้องเป็นคนตลก, คนกลุ่มนี้จะต้องมีพรสวรรค์ในงานศิลปะ, คนกลุ่มนี้จะต้องมีหน้าอกกล้ามปู, คนกลุ่มนี้จะต้องมีคู่หลายคน ต้องเป็นคนปากจัด และอื่นๆ อีกมากมาย ร้อยแปดพันเก้า ซึ่งปัญหาก็คือ ความเชื่อเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นความเชื่อที่คนทั่วไปคล้อยตาม และคิดว่าเป็นข้อเท็จจริง แต่ในความเป็นจริงแล้ว จะมีสักกี่คนที่ตระหนัก และมีสติรู้ว่าความเชื่อเหล่านั้นไม่ใช่ข้อเท็จจริง สำหรับคนกลุ่มนี้ทุกคนเสมอไป ดังนั้นจะมาเหมารวมไม่ได้


แน่นอนว่า ผลที่ตามมาจากความเชื่อ หรือทัศนคติแบบนั้น ส่วนใหญ่ออกมาในทางลบไม่เช่นนั้นคงจะไม่เกิดความกลัว ความกังวลในกลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครองทั้งหลาย บนฐานความหวังดีที่ว่าไม่อยากให้ลูกเป็นหรือเจอในสิ่งที่ไม่ดี (ตามความคิด ต่อความเชื่อนั้นๆ)


สิ่งที่น่าสนใจที่สุดและทำให้เกิดข้อเขียนในประเด็นนี้ ผมขออ้างอิงถึงเอกสารของ American Psychological Association ที่ได้พูดถึงและพยายามอธิบาย คำว่า วิถีทางเพศ เพื่ออธิบายต่อปรากฏการณ์นี้ บอกว่า วิถีทางเพศ คือความรู้สึกทางอารมณ์ของบุคคล ซึ่งอาจรู้สึกได้ ไม่ว่าจะเป็น ความรู้สึกรักชอบเพศเดียวกัน ต่างเพศ หรือ ความรู้สึกต่อทั้งสองเพศ ทั้งนี้ วิถีทางเพศนั้น ไม่ได้หมายถึง พฤติกรรมทางเพศ เพราะว่า เมื่อเกิดความรู้สึกแล้ว แต่ละคนอาจจะแสดงพฤติกรรมนั้นๆ ออกมา หรือไม่ก็ได้


มีเหตุผลหลายอย่างที่เกี่ยวกับวิถีทางเพศของคน ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นอาจแตกต่างไปสำหรับคนแต่ละคนด้วย


ในวิถีทางเพศที่สังคมยังไม่ยอมรับ คือ รักเพศเดียวกัน และรักสองเพศ มีความพยายามอย่างมากที่จะไปเปลี่ยนวิถีทางเพศนั้นด้วยวิธีต่างๆ เช่น การบำบัดรักษา ความเป็นจริงก็คือ การรักเพศเดียวกันไม่ใช่ความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ดังนั้น จึงไม่ต้องรักษา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เรารัก และปฏิบัติ ต่อลูก หรือลูกศิษย์ของเราอย่างเข้าใจในตัวตนของเค้ามากกว่า ไม่ใช่พยายามหาสาเหตุเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิถีทางเพศของลูกเรา


สำหรับ พ่อ แม่หรือ ครู ที่มีลูกหรือลูกศิษย์เป็นเกย์นั้น ผู้เขียนยอมรับว่าอาจจะเป็นเรื่องยากที่ท่านเหล่านั้นต้องเผชิญกับปรากฏการณ์นี้ แต่ก็เป็นเรื่องที่พ่อ แม่ หรือครูเองที่ต้องถามตัวเองด้วยเช่นกันว่า ที่เราไม่พอใจในเรื่องนี้เพราะเราต้องการให้ลูกเป็นไปตามความคาดหวังของเราใช่หรือไม่ อยากให้ทบทวนและหยุดการตั้งมาตรฐานกับลูกของเราจนทำให้เค้าไม่มีความสุขกับชีวิต เรื่องการตั้งมาตรฐานนั้นอาจไม่ใช่แค่เรื่องวิถีทางเพศของลูกอย่างเดียว อาจหมายความรวมถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การดำเนินชีวิต หน้าที่การงาน คือ พยายามอย่าให้การตั้งมาตรฐานนี้ไปทำร้ายลูกของเรา หรือตัวเราเอง โดยไม่รู้ตัว


เลิกคิด เลิกเข้าใจผิด ว่าคนรักเพศเดียวกันนั้นมักมีพฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมเสมอไป อย่าคิดโทษตัวเองที่การที่ลูกมีวิถีทางเพศที่แตกต่างนั้นเป็นความผิดของเรา เพราะทุกครอบครัวสามารถมีลูกที่รักเพศเดียวกันได้เสมอ มีรายงานมากมาย กล่าวถึงวิถีทางเพศในแบบรักเพศเดียวกันว่า หลายคนก็มาจากครอบครัวที่อบอุ่นด้วย ดังนั้น จึงไม่ใช่เกี่ยวข้องกับว่า ครอบครัวคุณจะไม่อบอุ่น หรือเพราะการเลี้ยงดูที่ผิดพลาดเพียงประการเดียว


ทั้งนี้เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในสังคมของเรา เราก็ควรงดการสนับสนุน และผลิตซ้ำ ความคิดความเชื่อที่ผิดต่อคนที่มีวิถีทางเพศที่แตกต่าง จนบางทีแม้แต่คนในกลุ่มนี้ ก็คล้อยตาม หรือเชื่อตามไปทั้งหมดอย่างนั้น ยกตัวอย่างเช่น ความเชื่อที่ว่าไม่มีรักจริงในหมู่คนเหล่านี้ คิดดูเถอะครับ เมื่อคนเชื่อว่าชีวิตรักไม่มีทางสมหวัง ไม่มีวันยั่งยืน แล้วคุณจะใช้ชีวิตรักของของคุณให้มีความสุข มีชีวิตชีวาได้อย่างไร และอีกอย่างคือ อย่าใช้ภาพลักษณ์ภายนอกมากำหนดมาตรฐานและตัดสินลูกของเราหรือลูกศิษย์ของเรา ตราบใดที่เขารู้จักกาลเทศะ และมีความมั่นใจในตัวเอง และคนในสังคมเองควรมีสติอยู่เสมอว่า ความแตกต่างหลากหลายของวิถีเพศ เป็นสิ่งปกติบนโลกนี้ ทีนี้ไม่ต้องปฏิบัติกับใครให้พิเศษกว่าใคร ให้ปฏิบัติอย่างเท่าเทียมโดยฐานที่ทุกคนเป็นมนุษย์ มีสิทธิ ศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน


แหล่งอ้างอิง : เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง การเป็นคนรักเพศเดียวกันไม่ใช่โรคจิต : แนวทางให้คำปรึกษาอย่างสร้างสรรค์ โดยกลุ่มอัญจารี : องค์กรสนับสนุนและปกป้องสิทธิคนรักเพศเดียวกัน