Skip to main content

แฟนฉัน : ฉันทำร้ายเธอ แต่เธอจะรักฉันเหมือนเดิม ฉันรู้...

คอลัมน์/ชุมชน

วันวานยังหวานอยู่









ผมดูภาพยนตร์เรื่อง " แฟนฉัน " จากแผ่นวีซีดี หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ลาโรงไปนานแล้ว ถึงจะดูทีหลัง แต่ผมก็อยู่ร่วมในบรรยากาศ " แฟนฉันฟีเวอร์ " มาโดยตลอด ผมเห็นนิตยสารที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ลงเรื่องราวเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมอ่านบทสัมภาษณ์ผู้อำนวยการสร้าง อ่านบทสัมภาษณ์ผู้กำกับการแสดงที่มีด้วยกันถึง 6 คน ซึ่งทำให้ผมสงสัยว่าเขาจะทำงานกันอย่างไร ผมอ่านบทวิจารณ์และฟังคนรอบข้างพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแง่มุมที่ชื่นชม



ภาพจาก www.waaak.com


เพื่อน (ผู้ชาย) ของผมคนหนึ่งพูดว่า ดูเรื่องแฟนฉันแล้วเห็นภาพตัวเองตอนเด็ก ๆ เห็นภาพตัวเองตอนที่ไปตะโกนเรียกเพื่อนให้ออกมาเล่นด้วยกัน เห็นตัวเองและเพื่อน ๆ กระโดดน้ำจากสะพาน เห็นตัวเองเป่ากบ... ภาพเช่นนี้สร้างความสุขให้เขา เพราะทำให้ เขาสามารถ "หลบหนี" (escape) จากความจริงของชีวิตในปัจจุบันไปสู่ความสนุกสนานและความทรงจำที่ดีงามใน "วัยเด็ก" อันหาได้ยากยิ่งในโลกของ "ผู้ใหญ่" ... หลายคนยิ้มและน้ำตาซึมเมื่อเห็นภาพเหล่านั้น ผมเองก็เช่นกันที่มีความสุขกับการได้เห็นภาพตัวเองในอดีต และผมก็คิดว่าสิ่งนี้นี่เองที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ประสบความสำเร็จเพราะมันได้ไปตอบสนองการ "โหยหาอดีต" (nostalgia) ของผู้คนที่ดำรงชีวิตแบบผู้ใหญ่อย่างเหน็ดเหนื่อย


ผมเองก็ชอบภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเหตุผลข้างต้นประการหนึ่ง แต่การพูดถึงอดีตของภาพยนตร์เรื่องนี้ สำหรับผมมันคือการพูดถึงความสัมพันธ์ของเรากับคนที่เราร่วมอดีตด้วย นอกจากนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ไม่ได้แค่พูดถึงอดีตเท่านั้น ตรงกันข้าม " แฟนฉัน " กำลังพูดถึงการจัดการตัวเองของคนในปัจจุบัน อันเนื่องมาแต่เรื่องราวในอดีต...


บาดแผลของวันวาน


อาจพูดได้ว่า เรื่องทั้งหมดที่เราได้รับรู้ เป็นเรื่องของชายหนุ่มชื่อ " เจี๊ยบ " ที่เล่าให้เราฟังผ่านมุมมองของเจี๊ยบเอง เจี๊ยบเล่าเรื่องราวใน " วัยเด็ก " ของเขาเมื่อเขาในวัยผู้ใหญ่กำลังจะกลับไปเจอกับ " น้อยหน่า " ผู้หญิงที่เคยร่วมอดีตกับเขาในวัยเด็ก... เจี๊ยบพูดให้เราฟังในตอนต้นเรื่องว่า " ...ภาพในอดีตจริง ๆ แล้วไม่เคยจากเราไปไหน มันอาจจะซุกอยู่ในซอกใดซอกหนึ่ง... ในลิ้นชักแห่งความทรงจำ... ถ้าเราไม่คุ้ยมันขึ้นมา ก็จะไม่รู้ว่า มันอยู่ในนั้นมาโดยตลอด... "


เจี๊ยบเริ่มคุ้ยอดีตของตัวเองเมื่อแม่โทรศัพท์มาบอกว่า น้อยหน่ากำลังจะแต่งงาน เจี๊ยบตัดสินใจไปงานของน้อยหน่า ทั้ง ๆ ที่ความตั้งใจเดิมของเจี๊ยบคือการไปงานแต่งของเพื่อนอีกคนหนึ่ง สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เพราะเหตุใดเจี๊ยบจึงเปลี่ยนใจไปงานของน้อยหน่า ทำไมเจี๊ยบจึงอยากคุ้ยอดีตขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่ที่ผ่านมาเจี๊ยบก็ไม่รู้สึกถึงการดำรงอยู่ของอดีตนั้น... คำตอบที่ดูเหมือนจะใช่ก็คือ เจี๊ยบต้องการไปเผชิญหน้ากับน้อยหน่าเพื่อชำระบาดแผลในอดีตที่เจี๊ยบกระทำต่อน้อยหน่าไว้ เพราะถ้าไม่ไปพบน้อยหน่าในครั้งนี้ เจี๊ยบก็ไม่รู้ว่าเขาจะมีโอกาสพบน้อยหน่าอีกหรือไม่... แล้วบาดแผลของวันวานนั้นคืออะไร


ตามเรื่อง ชุมชนที่เจี๊ยบอยู่ถูกแบ่งเป็นสองฝั่งด้วยถนนใหญ่ บ้านของเจี๊ยบอยู่ " ฝั่งศาลเจ้า " ที่ดูเหมือนจะมีแต่เด็กผู้หญิง ส่วนอีกฝั่ง " ฝั่งตลาด " ก็ดูเหมือนว่าจะมีแต่เด็กผู้ชาย แม่ของเจี๊ยบคอยห้ามเจี๊ยบเสมอว่า ไม่ให้ข้ามไป " ฝั่งโน้น " เพราะกลัวว่ารถจะชน เจี๊ยบเลยมีเพื่อนสนิทเป็นผู้หญิงชื่อน้อยหน่า เพราะบ้านอยู่เกือบจะติดกัน น้อยหน่ากับเด็กผู้หญิงในละแวกนั้นคอยชวนเจี๊ยบเล่นกระโดดยาง และเล่นพ่อ แม่ ลูก ในขณะที่กลุ่มเด็กผู้ชายอีกฝั่งหนึ่งที่มี " แจ็ค " เป็นหัวโจก เล่นเป่ากบ ต่อสู้วิทยายุทธแบบหนังจีนกำลังภายใน กระโดดน้ำ และเตะฟุตบอล เจี๊ยบจึงถูกล้อว่าเป็น " กะเทย " บ้าง เป็น " แฟน " กับน้อยหน่าบ้าง


เจี๊ยบรู้สึกมาโดยตลอดว่าตัวเองอยู่ " ผิดที่ " (dislocated) เพราะเขาต้องอยู่ในพื้นที่ (space) ของ " ผู้หญิง " เจี๊ยบจึงพยายามพาตัวเอง " ข้ามแดน " ไปอยู่ในพื้นที่ของเด็กผู้ชายด้วยการขี่จักรยานข้ามไป " ฝั่งโน้น " เพื่อแสดงตัวตน (identity) ในฐานะผู้ชาย และเล่นอย่างที่เด็กผู้ชายพึงจะเล่น นั่นคือเตะฟุตบอล ในช่วงแรก เจี๊ยบได้พิสูจน์ว่าเขาสามารถเตะฟุตบอลอย่างเด็กผู้ชายทั่วไปได้ และได้เป็นอย่างดีด้วย ขณะเดียวกันเขาก็ยังคงเล่นกับเด็กผู้หญิงได้ด้วยเช่นกัน


แต่การยืนอยู่ตรงกลางบนโลกที่แบ่งเป็น " สองฝั่ง " อย่างชัดเจนเช่นโลกที่แวดล้อมเจี๊ยบอยู่นี้ ทำให้การยืนยันตัวตนของเจี๊ยบไม่ใช่เรื่องง่าย เจี๊ยบจะแสดงความเป็นผู้ชายได้ก็ด้วยการเลือกฝั่ง และผ่านกระบวนการพิสูจน์ทางสังคม (social approval) ที่ถูกสร้างขึ้นโดยเด็กผู้ชาย " ฝั่งโน้น " ให้ได้ นั่นคือเจี๊ยบต้องสามารถขี่จักรยานปล่อยมือ แก้ผ้ากระโดดน้ำจากสะพาน และที่สำคัญที่สุดก็คือการ " ตัด " หนังยางที่กลุ่มของน้อยหน่าและเด็กผู้หญิง " อีกฝั่งหนึ่ง " ใช้เล่นกระโดด เพื่อที่เจี๊ยบจะได้ยืนยัน " ฝั่ง " ของตน กระบวนการสร้างตัวตน (formation of identity) ตามที่สังคมคาดหวังของเด็กผู้ชายเช่นเจี๊ยบ จึงเป็นกระบวนการ " ตัด " ตัวตนแบบอื่น ๆ เช่น แบบของน้อยหน่าทิ้ง


เจี๊ยบรู้สึกผิดที่ทำร้ายเพื่อนสนิทอย่างน้อยหน่า และพยายามจะหาทางแก้ไข สิ่งที่เจี๊ยบทำได้ก็คือการร้อยหนังยางเส้นใหม่เพื่อจะนำไปมอบให้น้อยหน่าในวันที่ทั้งสองต้องแยกจากกัน... แต่เจี๊ยบก็ไม่สามารถทำสำเร็จ ไม่สามารถเอาหนังยางเส้นใหม่ไปให้น้อยหน่าได้ทัน... และนี่กระมัง ที่เป็น " บาดแผลของวันวาน " ที่เจี๊ยบพยายามจะสะสางด้วยการตัดสินใจมางานแต่งงานของน้อยหน่า... เพื่อที่จะเผชิญหน้ากับน้อยหน่าอีกครั้ง


วันนี้ยังมีเธอ


เด็กหญิงน้อยหน่าไว้หางเปีย แต่เมื่อเธอเห็นแล้วว่า การที่เจี๊ยบเพื่อนของเธอจะยืนยันตัวตนของเขาได้นั้น เขาต้องสร้าง " ความเป็นอื่น " (the otherness) ให้กับเธอ เธอจึงตัดหางเปีย ทิ้งความเป็นเด็กไปกับหางเปียนั้น และก้าวล่วงเข้าสู่ความเข้าใจชีวิตในอีกระดับหนึ่ง ผิดกับเด็กชายเจี๊ยบ ที่ถึงแม้จะตัดผมเหมือนกัน แต่ผมของเจี๊ยบก็ไม่ต่างไปจากเดิม เจี๊ยบยังไม่สามารถก้าวล่วงสู่ความเข้าใจใด ๆ


เพราะที่ผ่านมา เจี๊ยบใช้ชีวิตโดยมีตัวเองเป็นศูนย์กลาง และทำทุกสิ่งเพื่อยืนยันตัวเอง แม้แต่ความพยายามที่จะแก้ไขความผิดพลาดที่เขากระทำต่อน้อยหน่า เขาก็ใช้ " เกม " ของเด็กผู้ชาย ซึ่งก็คือการเป่ากบเพื่อให้ได้หนังยางมาร้อยเป็นยางสำหรับกระโดดให้น้อยหน่า เจี๊ยบกำลังใช้วิธีการของเด็กผู้ชายเพื่อที่จะนำไปสู่การขอโทษเด็กผู้หญิง เจี๊ยบไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่าหนังยางที่ร้อยขึ้นมาใหม่นั้นไม่สามารถทดแทนความรู้สึกของน้อยหน่าที่สูญเสียไป จากการที่หนังยางเส้นเก่าของเธอถูก " ตัด " โดยคนที่เธอคิดว่าเข้าใจเธอ... ถึงตรงนี้ เจี๊ยบได้ก้าวไปยืนอยู่ " อีกฝั่ง " หนึ่งอย่างสมบูรณ์โดยไม่ได้เข้าใจอะไรมากขึ้นเลย


และเมื่อเจี๊ยบได้มาเผชิญหน้ากับน้อยหน่า แทนที่เจี๊ยบจะได้สะสางเรื่องราวความผิดพลาดของตน เขากลับยังคง " เห็น " น้อยหน่าเป็นเด็กหญิงหางเปียที่เคยเป็นเพื่อนรัก เป็นน้อยหน่า " คนเดิม " ก่อนตัดผม เป็นคนเดิมก่อนที่จะถูกเจี๊ยบทำร้าย เจี๊ยบยังคงมองไม่เห็นน้อยหน่าอย่างที่น้อยหน่าเป็น เจี๊ยบพึงพอใจที่จะ " แช่แข็ง " (freeze) น้อยหน่าแบบหางเปียไว้ เพื่อที่เจี๊ยบจะสามารถบอกกับตัวเอง ณ ปัจจุบันได้ว่า สิ่งที่เจี๊ยบทำลงไปในอดีตนั้นไม่ได้ทำให้น้อยหน่าเปลี่ยนไป ดังนั้น เจี๊ยบจึงไม่มีความผิดใด ๆ ค้างคาให้ต้องสะสาง... เจี๊ยบสามารถจัดการบาดแผลในอดีตของตัวเองได้ เพียงแค่การบอกกับตัวเองว่า ไม่ว่าสิ่งต่าง ๆ และคนอื่น ๆ จะเปลี่ยนไปอย่างไร น้อยหน่าจะยังคงเหมือนเดิม...


ถ้าผู้กำกับทั้ง 6 เป็นผู้หญิง และคนเล่าเรื่องเป็นน้อยหน่า เรื่องราวที่ออกมาจะเป็นเช่นไร...