Skip to main content

นักรบแห่งตันตระ (๓): ชีวิตหลุดๆของสิทธาทีโลปะ

คอลัมน์/ชุมชน

เรจินัลด์ เรย์ เขียน
วิจักขณ์ พานิช แปล



ทีโลปะเกิดมาในวรรณะพราหมณ์ ตัดสินใจออกบวชเมื่ออายุยังน้อย เขาศึกษาพระสูตรในวัดซึ่งลุงของเขาผู้เป็นพระให้การอบรมสั่งสอนและดูแลอย่างใกล้ชิด จนวันหนึ่งทีโลปะเกิดนิมิตพบกับหญิงทาคิณีผู้หนึ่ง เธอได้อภิเษกทีโลปะเข้าสู่คำสอนสูงสุดของตันตระในธรรมชาติเดิมแท้ของจิต แล้วบอกให้ทีโลปะนำคำสอนที่ได้ไปปฏิบัติ


"ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป จงทำตัวเหมือนคนบ้า สละผ้าเหลือง แล้วแยกตัวไปฝึกฝนภาวนาในที่ลับ" พอพูดจบ เธอก็หายตัวไปในพริบตา


เหมือนกับผู้ปฏิบัติตันตระคนอื่นๆ ด้วยการสละชีวิตนักบวช ใช้ชีวิตเหมือนคนบ้าไม่สมประกอบ ฝึกฝนภาวนาในที่ลับตาผู้คน ทีโลปะได้เลือกเดินบนเส้นทางที่ผิดแปลกไปจากกระแสหลักของสังคม โดยเฉพาะการดำรงชีวิตเยี่ยงคนวิกลจริตนั้น ถือว่าไม่ต่างอะไรกับวรรณะจัณฑาลเลยก็ว่าได้ แม้จะโดนทารุณและดูถูกเหยียดหยามโดยผู้มีวรรณะสูงกว่า แต่เหตุปัจจัยอันยากลำบากเช่นนั้นได้ช่วยให้ทีโลปะได้มองเห็นธรรมชาติแห่งทุกข์อันไม่จีรัง อีกทั้งยังทำให้เขาได้ตระหนักถึงมายาภาพของความสะดวกสบายและความปลอดภัยจอมปลอมที่มีอยู่ในชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม


ทีโลปะได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของนางทาคิณีอย่างเคร่งครัด เร่ร่อนจากหมู่บ้านหนึ่งไปสู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง แสวงหาความวิเวกเพื่อการฝึกภาวนา นอกเหนือจากการใช้ชีวิตอย่างไม่หวาดกลัวต่ออุปสรรคและความยากลำบากใดๆ ทีโลปะได้ออกเดินทางแสวงหาอาจารย์ เขาได้พบกับคุรุผู้รู้แจ้งหลายท่าน รับแก่นคำสอนมาฝึกฝนปฏิบัติอย่างอุทิศชีวิต ต่อมาเขาตัดสินใจเดินทางไปยังเบ็งกอล นำเทคนิคที่เขาได้รับจากอาจารย์ไปฝึกและดำเนินชีวิตอยู่ที่นั่นในฐานะคนรับใช้ของโสเภณีในเวลากลางคืน และงานประจำในเวลากลางวัน คือ การตำเมล็ดงา


ตลอดการใช้ชีวิตที่ดูไม่ค่อยปกติของเขา ทีโลปะได้อุทิศเวลาทุกวินาทีให้กับการภาวนาอย่างลับๆ เขาตัดสินใจที่จะสละวิถีชีวิตในแบบที่สังคมคาดหวัง อาศัยอยู่ในกระท่อมมุงจากเล็กๆพอกันแดดกันฝน ใช้เวลามุ่งมั่นกับการฝึกฝนจิตใจจนในที่สุดเขาได้ตื่นรู้สู่การพบกับธรรมชาติของสรรพสิ่งตามที่เป็นจริง ในนิมิตของ พระพุทธวัชรดารา ณ วินาทีนั้นทีโลปะปรารภว่า " ฉันไม่มีคุรุผู้เป็นมนุษย์ คุรุผู้เดียวของฉันคือพระสัพพัญญู ฉันได้สนทนาและรับคำสอนจากพระพุทธวัชรดาราโดยตรง"


หลังจากเข้าสู่ภาวะความตื่นรู้ของจิตโดยสมบูรณ์ ทีโลปะออกเดินทางร่อนเร่ไร้จุดหมายอีกครั้ง สั่งสอนผู้คนเข้าสู่สายธรรมอย่างไม่เลือกชั้นวรรณะ ผู้คนรู้จักเขาในนาม สิทธาทีโลปะ ตันตราจารย์ผู้ดำเนินชีวิตนอกกระแสสังคม ดำเนินชีวิตอยู่กับปัจจุบันอย่างที่ไม่มีใครสามารถคาดหมายได้ว่าเขาคิดจะทำอะไรในวินาทีถัดไป บ่อยครั้งที่ทีโลปะพูดหรือทำอะไรที่สร้างความตื่นตระหนกและความขุ่นเคืองให้กับผู้คนรอบตัวเขาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ภาวนาอยู่ตามป่าช้า ฝึกฝนและสอนภาวนาให้กับนักเรียนที่สนใจ ยามที่เขาต้องถกเถียงกับอาจารย์ในลัทธิและศาสนาอื่นๆ เขามักจะแสดงปาฏิหาริย์จากพื้นที่ว่างอันศักดิ์สิทธิ์ของจิตที่เป็นอิสระ แทนที่จะมัวแต่นั่งโต้เถียงกันในหลักพุทธปรัชญาแห้งๆอย่างไม่มีวันจบสิ้น


แม้ก่อนหน้าการรู้แจ้งเขาจะได้พบกับคุรุมากมาย ความสำคัญของทีโลปะในฐานะต้นน้ำแห่งสายคากิวของพุทธศาสนาทิเบตนั้น เกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่เขาได้พบกับพระพุทธวัชรดาราโดยตรง แก่นคำสอนของทีโลปะประกอบด้วยคำสอนในธรรมชาติเดิมแท้ของจิต (มหามุทรา) ที่เขาได้รับถ่ายทอดโดยตรงจากวัชรดารา คำสอนในปราณโยคะ (inner yoga) ที่ประกอบด้วย ๖ เทคนิคสำคัญอันรู้จักกันในนามของ "โยคะทั้งหกของนาโรปะ" (six yogas of Naropa) และ คำสอนในเรื่องอนุตตรโยคะตันตระ ซึ่งถือเป็นคำสอนตันตระในขั้นสูงสุด อันประกอบด้วย ปิตุโยคะ (father tantra) มาตุโยคะ (mother tantra) และอทวิโยคะ (nondual tantra)