Skip to main content

สังฆะหมู่บ้านพลัมและชาวสายรุ้ง

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ท่านติช นัท ฮันห์ พร้อมด้วยคณะภิกษุ ภิกษุณี จากหมู่บ้านพลัม ได้เดินทางมาถึงเมืองไทย

ท่านเป็นพระภิกษุชาวเวียดนาม ที่ทำงานและสอนธรรมะเพื่อสร้างสันติในจิตใจคน คำสอนของท่านเรียบง่ายและงดงามยิ่งนัก ท่านเน้นให้เรากลับมามีความสุขอยู่กับปัจจุบันขณะ ผ่านทางการตระหนักรู้กับลมหายใจเข้า ออก


สังฆะหมู่บ้านพลัมของท่านในประเทศฝรั่งเศสเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก ผู้คนที่ต้องการพบกับความสงบ ความสุขแท้จริงในชีวิต ต่างพากันไปปฏิบัติธรรมที่นั่น


งานเขียนของท่านและเรื่องราวเกี่ยวกับสังฆะของท่านได้รับการเผยแพร่ในเมืองไทยมานานแล้ว ท่านที่สนใจคงหาอ่านได้ไม่ยาก ในที่นี้ ฉันอยากจะเล่าถึงแง่มุมหนึ่ง ที่อาจจะยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนักในบ้านเรา และเป็นแง่มุมที่ฉันคิดว่าเป็นประโยชน์สำหรับคนรักเพศเดียวกัน หรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศอื่น ๆ


ฉันได้อ่านงานของท่านติช นัท ฮันห์ (ขอเรียกท่านสั้น ๆ ว่า "ไถ่" ซึ่งแปลว่า อาจารย์) มานาน และสิ่งหนึ่งที่ประทับใจมากก็คือ การที่ท่านสอนให้เราไม่ตัดสินมนุษย์ด้วยกัน แต่มองกันและกันอย่างลึกซึ้งด้วยความกรุณา จนเมื่อ 4 ปี ก่อน ฉันได้พบกับลูกศิษย์คนหนึ่งของไถ่ และได้สอบถามความคิดของไถ่ที่มีต่อคนรักเพศเดียวกัน ลูกศิษย์คนนั้นตอบว่า ไถ่เปิดกว้างมาก อย่างเช่นเคยมีคนถามว่า ท่านคิดยังไงกับเลสเบี้ยน ท่านตอบว่า "Lesbians are gods too."


"เลสเบี้ยนก็เป็นพระเจ้าเช่นกัน" ในคำสอนของศาสนาคริสต์ ทุกคนมีความเป็นพระเจ้าอยู่ภายใน ถึงกระนั้น


เลสเบี้ยนและเกย์ก็ยังถูกตัดสินจากผู้นำศาสนามาโดยตลอด คำพูดของไถ่แสดงให้เห็นว่า ไถ่เข้าใจแก่นคำสอนของคริสต์อย่างลึกซึ้ง และมองทะลุผ่านอคติของสังคมภายนอก เข้าไปสู่ความเป็นมนุษย์ภายใน


จากนั้นฉันได้พบปะกับลูกศิษย์ของท่านอีกหลายคน พวกเขาเล่าว่าไถ่ยังบวชให้กับเกย์เลสเบี้ยน หรือสำหรับฆราวาส ท่านก็แต่งตั้งให้เป็นธรรมาจารย์ บางครั้งก็ทำพิธีแต่งงานให้กับคู่รักเพศเดียวกันด้วย


เพราะด้วยการไม่ตัดสินเช่นนี้เอง จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่ชาวสายรุ้งในตะวันตกจำนวนมากมาย จะให้ความสนใจและปฏิบัติตามแนวทางของท่าน


เมื่อฉันเดินทางไปเรียนหนังสือในซาน ฟรานซิสโกนั้น ฉันมีโอกาสได้เข้าร่วมการปฏิบัติกับสังฆะชาวสายรุ้งที่ใช้แนวทางของท่าน ผู้นำการปฏิบัติเป็นธรรมาจารย์ที่ไถ่แต่งตั้ง เขาเป็นเกย์ชาวจีนอเมริกัน ที่ใช้ชีวิตอยู่กับแฟนอย่างเปิดเผย และเคยเป็นศาสนจารย์ในศาสนาคริสต์มาก่อน ผู้คนที่มาเข้าร่วมสังฆะนั้นมีแตกต่างหลากหลายกันไป บ้างก็ปวารณาตัวเป็นชาวพุทธ บ้างก็เป็นแม่มด บ้างก็เป็นยิว เป็นคริสต์ มีทั้งคนดำ คนขาว คนเอเชีย แม้จะหลากหลายแต่สิ่งที่นำพวกเขามาร่วมในสังฆะเดียวกันก็คือวิถีแห่งสติที่นำจิตกลับสู่ความสุขในปัจจุบันขณะ


การได้เข้าร่วมกับสังฆะที่เปิดกว้างเช่นนี้ ทำให้ฉันได้เห็นความแตกต่างบางอย่าง ก่อนหน้านั้น ฉันไม่เคยเจอสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ใดเลยในบ้านเราที่จะให้พื้นที่แก่คนรักเพศเดียวกัน แต่ที่สังฆะในซาน ฟรานซิสโกนี้ ฉันรู้สึกเป็นอิสระที่จะเป็นตัวของตัวเอง ที่จะพูดถึงแฟนผู้หญิงของฉันได้อย่างที่คนรักต่างเพศพูดถึงแฟนของตนตอนไปวัด ไม่มีสายตาแห่งการไม่ยอมรับ ไม่มีคำพูดที่เต็มไปด้วยอคติ


ในการปฏิบัติ เราตระหนักรู้กับลมหายใจเข้าและออก ฉันรับรู้ได้ว่า ในสังฆะเช่นนี้ ฉันหายใจได้โล่งและโปร่งเบาขึ้น


บางคนอาจถามว่าจำเป็นด้วยหรือที่ไปปฏิบัติธรรมแล้วยังต้อง "แบ่งแยก" หรือ "ยึดติด" กับตัวตนทางเพศเช่นนี้อีก

คำตอบของฉันคือ การมีที่มีทางทางธรรมสำหรับชาวสายรุ้งในสังฆะนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง เหตุผลไม่ใช่เพื่อต้องการแบ่งแยกให้พิเศษจากผู้อื่น แต่เหตุผลมาจากการ "ยึดติด" กับอคติต่อคนรักเพศเดียวกันของผู้คนในสังคม


ในขณะที่คนรักต่างเพศหลายต่อหลายคน ใช้พื้นที่ทางธรรมที่เป็นที่พึ่งพิงทางใจเมื่อเผชิญกับความทุกข์ คนรักเพศเดียวกันเมื่อหันหน้าเข้าวัด ยังต้องเผชิญกับอคติมากมาย ไม่ว่าจะจากคำสอนที่ว่า เราเป็นเช่นนี้เพราะทำผิดศีลในชาติที่แล้ว เราเป็นเช่นนี้ไม่สมควรที่จะมาทำให้ศาสนาแปดเปื้อน หรือเราเป็นเช่นนี้ไม่มีวันบรรลุธรรมได้ ต้องตายแล้วเกิดใหม่ให้ได้เป็นผู้ชายที่สมบูรณ์เสียก่อน ฯลฯ การ "ยึดติด" กับอคติเช่นนี้ยังมีอยู่มากจริง ๆ (ลองอ่าน "เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน" หนังสือธรรมะขายดีของ "ดังตฤณ" ดู)


แน่นอนว่าในความเข้าใจระดับโลกุตระแล้ว มันไม่มีความแตกต่าง ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพูดว่าใครเป็นเพศใด ไม่มีแม้แต่คำพูดหรือความคิด แต่ในระดับปุถุชนคนธรรมดา ที่ยังต้องกินข้าวและอยู่ร่วมกับคนด้วยกัน สังฆะที่เปิดกว้างสำหรับชาวสายรุ้งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนั่นจะเป็นที่ ๆ "ปลอดภัย" ให้เราได้เป็นตัวของตัวเองและยอมรับตัวเองอย่างแท้จริง สิ่งนี้สำคัญยิ่ง เพราะถ้าแม้แต่จะยอมรับตัวเองหรือยอมรับคนอื่นอย่างที่เขาเป็นยังทำไม่ได้แล้ว การปล่อยวางตัวตนจะเป็นไปได้อย่างไรกัน


ไม่เพียงแต่เปิดกว้าง สังฆะของหมู่บ้านพลัมที่เติบโตขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกนั้นยังมีความเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ผู้ปฏิบัติไม่ใช่เพียงแต่มาฟังธรรมแล้วแยกไปปฏิบัติคนเดียว หากจะมีการแบ่งปันชีวิต ช่วยเหลือและทำงานร่วมกับผู้อื่นในบรรยากาศแห่งความเป็นเป็นพี่เป็นน้อง และที่สำคัญก็คือ แต่ละคนจะเกื้อกูลกันด้วยการฟังอย่างลึกซึ้ง


ฉันเองเคยได้ยินมาว่า หลาย ๆ ครั้งในการแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตในกลุ่มย่อย ที่ไถ่เรียกว่า "กลุ่มครอบครัวธรรม" มีเกย์เลสเบี้ยนหลายคนได้เปิดเผยตัวตน บอกเล่าเรื่องราวความสุขในชีวิตและความทุกข์จากการถูกปฏิเสธจากครอบครัวและสังคม โดยที่คนอื่น ๆ รับฟังอย่างลึกซึ้งและไม่ตัดสิน เพียงแค่การได้รับการรับฟังอย่างเต็มเปี่ยมนี้ ความทุกข์ของพวกเขาก็คลายลงได้ บางครั้งเกย์เลสเบี้ยนคนอื่นในกลุ่มก็จะแบ่งปันเรื่องราวของตนเองและวิธีการผ่านความทุกข์นั้นมาได้ ซึ่งก็ช่วยให้ผู้ที่กำลังเผชิญกับความทุกข์มีกำลังใจหรืออาจจะได้แนวทางในการแก้ปัญหาของตนด้วยเช่นกัน ที่ว่ามานี้นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่ามีแต่เฉพาะแต่ชาวเกย์เลสเบี้ยนที่แบ่งปันเรื่องราวความทุกข์ความสุข หากแต่คนอื่น ๆ ในสังฆะก็ร่วมกันแบ่งปันเรื่องราวที่แตกต่างหลากหลายของตน ท่ามกลางบรรยากาศของการรับฟังอย่างลึกซึ้งเช่นกัน


การได้รับความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขจากสังฆะเช่นนี้ สามารถเอื้อให้คน ๆ หนึ่งเติบโตขึ้นในทางธรรมได้อย่างงดงาม


ในเมืองไทยขณะนี้ สังฆะหมู่บ้านพลัมกำลังเริ่มลงหลักปักฐาน เรามีภิกษุณีและสามเณรีชาวไทยที่บวชตามสายของไถ่ (มีของแถมนิดหน่อยคือ ฉันเคยคุยกับภิกษุชาวเวียดนามในสายนี้ ท่านเล่าให้ฟังว่า ในสายการปฏิบัติอื่น ๆ นั้นจะถือว่าภิกษุณีมีเกียรติน้อยกว่าภิกษุ และต้องเดินตามหลังภิกษุ แต่ไถ่ถือว่าทั้งภิกษุและภิกษุณีนั้นเท่าเทียมกัน และให้ทั้งสองฝ่ายเดินอย่างทัดเทียมกัน) รวมทั้งมีฆราวาสจำนวนมากที่สนใจ การมาเยือนเมืองไทยของไถ่ครั้งนี้คงทำให้สังฆะนี้เติบโตงอกงามขึ้นอีกมาก


ฉันมีความหวังอยู่ลึก ๆ ว่า สังฆะของท่านในเมืองไทยจะสามารถเป็นที่พักพิงให้กับผู้แสวงหาความสุขสงบภายใน ไม่ว่าเธอหรือเขาคนนั้นจะเป็นใคร หรือมีความแตกต่างหลากหลายทางเพศอย่างไรก็ตาม


*************************


* ท่านติช นัท ฮันห์ และคณะจะอยู่ในเมืองไทยจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ ระหว่างนี้จะมีการภาวนาและปาฐกถาธรรมทั้งในกรุงเทพและเชียงใหม่ สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiplumvillage.org


* ใน "เนชั่นสุดสัปดาห์" วันที่ 18 พฤษภาคมนี้ มีบทความเรื่อง "ครอบครัวแห่งธรรม" เขียนโดย "หนึ่งลมหายใจ" ซึ่งเป็นบทบันทึกการเดินทางไปร่วมกับคณะของไถ่ที่เวียดนาม ตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายแล้ว ตอนนี้น่าสนใจเพราะผู้เขียนเล่าถึงประสบการณ์ที่มีเลสเบี้ยนเปิดเผยตัวกับกลุ่มครอบครัวธรรมและทำให้ได้รับรู้ว่ามีผู้ปฏิบัติเกย์อีก 7-8 ท่านในกลุ่มด้วย


* ภาพประกอบ รูปท่านติช นัท ฮันห์ จาก www.livinglifefully.com