Skip to main content

ในโลกตัวหนังสือของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์

คอลัมน์/ชุมชน


"ฅนหนุ่มที่ประณามว่าฅนแก่มีความผูกพันกับบางสิ่งบางอย่างในชีวิตมากเกินไป..." ฅนงานท่า เรือที่ซานแฟรนซิสโกพูดนั้นออกจะเป็นการวู่วามสักหน่อย ฅนที่ไม่เคยปลูกต้นไม้ และต้นไม้นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของตนอย่างแท้จริง จึงจะกล้าพูดอะไรหยาบคายได้อย่างนั้น แต่ฅนที่ได้เคยเห็นบ้านเมืองของตน แหลกพินาศด้วยแผ่นดินไหวและไฟไหม้ แล้วฅนทุกฅนต่างพร้อมเพรียงกันสร้างขึ้นมาอีก...จะไม่กล้าแม้แต่จะคิดทำลายอิฐสักก้อน มันเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ ฅนหนุ่มรุ่นนี้พอเกิดมาก็ได้เห็นรากฐานที่เราสร้างขึ้นมาเป็นของเก่าสำหรับเขาไปเสียแล้ว เขาจึงต้องการเปลี่ยนแปลง ต้องการทำลาย ในขณะเดียวกับที่เขาบอกตัวเองว่าจะต้องหาความจริงให้พบ ทั้งที่ความจริงของชีวิตมันมีผู้ค้นพบได้แล้วตั้งแต่หลายพันปีก่อน แต่ใครจะพูดให้เขาชื่อฟังได้ ในเมื่อเขาลงความเห็นกันแล้วว่าฅนที่มีอายุเกินสามสิบห้าเป็นฅนระยำ – เชื่อถือไม่ได้ ใครที่เขาเคารพน่ะหรือ? ก็ใครที่กล้าพอจะขว้างแก๊สน้ำตาเข้าไปในฝูงฅน หรือใครที่ร้องตะโกนด่าตำรวจได้โดยไม่กลัวความผิด ผมคิดว่าเวลาเท่านั้นจะให้บทเรียนที่ถูกต้องกับเขา แต่เขาจะเสียใจหรือไม่? นั่นเป็นเรื่องที่ใครไม่อาจคาดคะเนได้เลย โลกของฅนหนุ่มวันนี้ในอีกยี่สิบปีข้างหน้า....เมื่อเขากลายเป็นฅนเก่าตามเงื่อนไขของเซลล์และกาลเวลา มันอาจจะวุ่นวายจนเขาไม่มีเวลาเสียใจก็น่าจะเป็นได้" ฅนหนุ่มคลั่งไคล้ของใหม่กันนักหรือ?
( ‘
รงค์ วงษ์สวรรค์ 00.00 .,พิมพ์ครั้งที่สอง วันอังคารสำนักพิมพ์)


ผมยกเอาข้อความค่อนข้างยาวจาก 00.00 . ของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ มา เพราะข้อความนี้เขียนไว้เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน ก็ยังอธิบายอะไรได้มากมาย และข้อความในลักษณะ "ความจริงของสังคมและมนุษย์" เช่นนี้ ก็มีอยู่ในหนังสือของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ทุกเล่ม นอกเหนือไปจากสำบัดสำนวนแบบเพรียวนม (ไม่ใช่เพรียวลม) แล้ว หากปราศจากความจริง งานแต่ละชิ้นย่อมไม่อาจเดินทางผ่านกาลเวลามาได้หลายทศวรรษอย่างแน่นอน


"ใต้ถุนป่าคอนกรีต" คือครั้งแรกที่ผมได้พบกับตัวหนังสือของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ในขณะที่ยังนุ่งขาสั้นอยู่นั้น ความรู้สึกเมื่อได้อ่านครั้งแรก ซึ่งจำได้แม่นมาก คือไม่รู้เรื่องเลย เพราะภาษาที่ใช้แตกต่างจากความคุ้นเคย มีทั้งคำสบถ ทั้งคำแปลกๆ สำนวนประหลาดๆ ทั้งเนื้อหาเรื่องราวก็อยู่ไกลเกินความเข้าใจของเด็กบ้านนอกอย่างผม ผมจึงอ่าน ใต้ถุนป่าคอนกรีต ไปได้เพียงไม่กี่หน้าเท่านั้น


หลายปีผ่านไป ผมได้มาเจอตัวหนังสือของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ อีกครั้งในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยกับ "ปีนตลิ่ง" นิยายความเปลี่ยนแปลงของชุมชนริมคลอง ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเป็นเรื่องชีวิตชนบทที่ใกล้เคียงกับความรู้ความเข้าใจ หรือเป็นเพราะผมโตขึ้น ผมจึงอ่านปีนตลิ่งแบบลื่นไหล รวดเดียวจบ และนับแต่นั้น ผมก็หลงเสน่ห์ตัวหนังสือของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ และติดตามอ่านงานเก่าและใหม่เรื่อยมา


ช่วงที่ผมมาทำงานที่สำนักข่าวเก่าแก่แห่งราชดำเนิน ผมได้รับโอกาสให้เขียนคอลัมน์เกี่ยวกับหนังสือชุด "เฟื่องนคร" ซึ่งเป็นแมกกาซีนในรูปแบบพ็อกเก็ตบุ๊ก (paperback maggazine) อันเป็นงานที่ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ทำร่วมกับเพื่อนหนุ่มมากมาย อาทิ ช่วง มูลพินิจ,เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์,ขรรค์ชัย บุนปาน,สุจิตต์ วงษ์เทศน์,อดุลพันธุ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา,สุรชัย จันทิมาธร ฯลฯ


นี่เป็นงานในฐานะ "บรรณาธิการ" ครั้งแรกของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ หลังจากกลับจากอเมริกา เฟื่องนครทั้ง 18 เล่ม อุดมไปด้วย บทความ,บทกวี,เรื่องสั้น,สารคดี,ขำขัน,การ์ตูน ฯลฯ ซึ่งคัดสรรมาแล้วว่าจะทำให้ผู้อ่าน "รื่นรมย์ด้วยรสนิยมวิไล" หลายๆ ชิ้น เป็นผลงานของนักเขียนรุ่นเก่าซึ่งหาอ่านได้ยาก หลายๆ ชิ้นเป็นผลงานของนักเขียนชั้นครูที่เอาไปเป็นตัวอย่างเพื่อการศึกษาสำหรับการเขียนหนังสือได้เลย


จำได้ว่า มีเรื่องสั้นที่ผมชอบมากคือเรื่อง "เขี้ยวหมูป่า" ของ "ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ" ปูชนียบุคคลด้านศิลปะของไทย ในเล่ม กันยายน นลิน ซึ่งผมคิดว่า หากใครได้อ่านแล้ว อาจจะนึกว่าเป็นเรื่องสั้นโพสต์โมเดิร์นหรืออะไรประมาณนั้น แต่ว่านี่เป็นเรื่องสั้นที่เขียนขึ้นเมื่อประมาณสี่สิบปี่ที่แล้ว


ผมเอาเฟื่องนครทั้ง 18 เล่ม มาเขียนถึงเนื้อหาในแต่ละเล่ม แต่จะเขียนแนะนำเฉยๆ มันก็น่าเบื่อ เลยลองเอามาผูกเป็นนิยายสั้นๆ ดู ที่จริงก็ตั้งใจว่าจะเขียนให้ครบนั่นละครับ แต่ด้วยสารพัดเหตุการณ์และเหตุผล ในที่สุด ผมก็เขียนจบแบบไม่ครบทุกเล่ม แต่สิ่งที่ผมได้มากๆ จากการอ่านงานชุดนี้ คือการได้ซึมซับผลงานของนักเขียนระดับที่เรายกย่องกันว่าเป็น "นายภาษา" ไม่ว่าจะเป็น ม...คึกฤทธิ์ ปราโมช,ประมูล อุณหธูป,"ยาขอบ" , "อิงอร" รวมทั้ง ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ แต่ละเรื่องที่เลือกเฟ้นมานั้น สะท้อนรสนิยมการคัดสรรของบรรณาธิการอย่างชัดเจน ทั้งยังได้เห็นร่องรอยความเป็นมาของสำนวนเพรียวนมแบบ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากนักเขียนชั้นครูรุ่นเก่าหลายท่าน


นอกเหนือไปจากการอ่านผลงานแล้ว การได้พิจารณาวิธีการทำงานในตำแหน่งบรรณาธิการของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ทำให้ผมได้มองเห็นความคิดและตัวตนอีกด้านหนึ่งของศิลปินแห่งชาติผู้นี้ด้วย ผมเชื่อว่า การเข้าใจตัวตนของศิลปิน ย่อมทำให้เราเข้าใจผลงานของเขาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น


นับเนื่องจากการขึ้นไปขอสัมภาษณ์เพื่อนำมาประกอบคอลัมน์เฟื่องนคร ต่อเนื่องไปจนถึงงานในวาระต่างๆ กัน หลายครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปเยือนสวนทูนอิน(tune in) บางครั้งก็ได้มีโอกาสพูดคุยอย่างใกล้ชิดกับท่านเจ้าของบ้าน ผมคิดว่า เมื่ออยู่ต่อหน้า ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ แล้ว ไม่มีสิ่งไหนจะดีไปกว่าการฟัง ด้วยประสบการณ์ชีวิตและการทำงานกว่าครึ่งศตวรรษ จากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนถึงยุคทุนนิยมถล่มโลกครั้งล่าสุด ดูเหมือนว่า ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ จะมองทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นอย่างทะลุปรุโปร่ง หลายสิ่งที่เคยเขียนไว้เมื่อสามทศวรรษก่อน ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น สิ่งที่ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ พูดจึงเป็นเช่นเดียวกับสิ่งที่เขาเขียน


ความจน ความหิว ชาวนา ชาวไร่ คนหาเช้ากินค่ำ ชีวิตในสลัม ชีวิตร่อนเร่ริมถนน ชีวิตเศรษฐีหลังแก้วไวน์ พ่อค้าหน้าเลือด รัฐมนตรีขี้โกงมะโรงมะเส็ง ขุนศึกผู้ทำกำไรจากการรัฐประหาร ประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกและบ้าสงครามที่สุดในโลก ความป่วยไข้ของผู้คนและสังคม ฯลฯ


ไม่น่าเชื่อว่า หลายสิบปีผ่านไป ความไม่เป็นธรรมในสังคมก็ยังคงอยู่ในรูปแบบเดิมๆ และไม่มีใครบอกได้ด้วยว่า อีกสามสิบปีข้างหน้า มันจะยังคงเป็นแบบเดิมหรือเปล่า ทั้งน่าทึ่งและน่าเศร้า


ชีวิตที่ผ่านมาค่อนศตวรรษ (75 ปี) ของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ มีสีสันแพรวพราวเช่นเดียวกับตัวหนังสือของผู้เขียน (แต่ยังไม่มีใครกล้าเขียนอัตชีวประวัติ เพราะเจ้าตัวประกาศว่า "งูยังไม่ตาย วัดความยาวไม่ได้" ) สิ่งเหล่านี้ปรากฎในผลงานนับร้อยเล่ม ทั้งรวมบทความ,คอลัมน์,สารคดี,รวมเรื่องสั้น,นิยาย ฯลฯ น่ายินดีที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีหนังสือของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ พิมพ์ใหม่หลายเล่ม ทั้งจากสำนักพิมพ์เก่าแก่และสำนักพิมพ์ของคนรุ่นใหม่ เราจึงมีงานทั้งเก่าและใหม่ของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ให้เลือกอ่านตามรสนิยม(วิไล)


ผมเองล่าสุด ได้อ่าน "มาเฟียก้นซอย" และพบว่า นี่เป็นหนังสือที่ สนุก มัน ฮา เยี่ยมยอดที่สุดเล่มหนึ่งที่ได้อ่าน ยิ่งอ่านซ้ำก็ยิ่งสนุก


แต่สิ่งที่น่าทึ่งยิ่งกว่าก็คือ เรื่องระดับ "มาสเตอร์พีซ" ของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ยังมีอีกตั้งหลายเล่ม อาทิ เสเพลบอยชาวไร่,ใต้ถุนป่าคอนกรีต(ที่ผมยังอ่านไม่จบสักที),หัวใจที่มีตีน,นักเลงโกเมน,สนิมสร้อย,หลงกลิ่นกัญชา,ผู้ดีน้ำครำ และอีกหลายเล่มที่ผมจำชื่อไม่ได้ แต่เท่าที่ได้อ่านมา ผมเชื่อว่า หนังสือของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ สนุกทุกเล่มครับ


เพราะตัวหนังสือของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ โดดเด่น ไม่เหมือนใคร รุ่มรวยเสน่ห์ ปอกเปลือกพวกศีลธรรมจัดมือถือสากปากถือศีล ทั้งให้ความรู้อย่างกว้างขวาง ทั้งยังแสดงให้เห็นความจริงที่ไม่เปลี่ยนผันของชนชั้น ผมว่า หากจะมีคนไม่ชอบตัวหนังสือของเขาบ้างก็คงจะเป็นครูภาษาไทยที่รังเกียจการเขียนแบบแหกขนบ


ครั้งหนึ่งเมื่อผมกลับบ้าน ไปเล่าให้แม่ฟังว่า ไปสัมภาษณ์ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ มา แล้วผมก็คุยเรื่องความชื่นชมที่มีต่อผลงาน และความแน่วแน่ในทำงานแม้ร่างกายจะป่วยไข้ แต่แม่กลับทำหน้าไม่ค่อยพอใจ แล้วก็บ่นว่า อย่าไปยุ่งกับพวกเขียนหนังสือไม่ปกติจะดีกว่า


ทีแรกผมก็นึกประหลาดใจว่าทำไมแม่จึงมีทีท่าอย่างนั้น ผ่านไปสักพักหนึ่งผมจึงคิดได้ ก็แม่ผมเป็นครูภาษาไทยนี่ครับ