Skip to main content

ความทรงจำอันงดงามที่การ์กาตัว : ภูเขาไฟแห่งประวัติอินโดนีเซีย

เพื่อนนักข่าวสาวบอกว่า มาถึงอินโดนีเซียแล้วไม่ไปเที่ยวภูเขาไฟแห่งใดแห่งหนึ่งนับว่ามาไม่ถึงอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่แล้วนักท่องเที่ยวจะไปเที่ยวภูเขาไฟแถบยอกยาการ์ตา บันดุง บาหลี สุมาตรา สุราเวสี ในอินโดนีเซียมีแหล่งท่องเที่ยวภูเขาไฟให้ดูมากมายเพราะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในดินแดนวงแหวนแห่งไฟ แต่ผู้เขียนไม่ค่อยสันทัดจึงไม่นึกอยาก นอกจากเดินทางไปเรื่อยๆ ในหมู่บ้านต่างๆ เมื่อเวลาออกสนามเก็บข้อมูลเท่านั้น อีกประการคือไม่ได้ศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับภูเขาไฟมากนัก จึงไม่ค่อยรู้เรื่อง ทราบแต่เพียงเลาๆ ว่า อินโดนีเซียยังมีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่เท่านั้น


แต่ใครบางคน- เพื่อนชาวมาเลเซีย ผู้หลงใหลใน Krakatau อย่างมาก เธอบอกว่า ในชีวิตนี้เธออยากไปเที่ยวภูเขาไฟแห่งใดแห่งหนึ่งในอินโดนีเซียสักครั้ง และเธออยากไปเยือน Krakatau มากเหลือเกิน เธอเฝ้ารอคอยมันมานานแสนนานแล้ว (เท่าอายุเธอ -50) แต่ไม่มีเพื่อนคนไหนทั้งชาวอินโดนีเซียหรือแม้แต่ชาวมาเลย์อยากไปด้วย อาจเป็นเพราะเป็นสิ่งใกล้ตัว คงเบื่อที่จะไปเยือน คงเหลือแต่ผู้เขียนที่ยอมให้เธอลากตัวไปด้วย แต่ก่อนอื่นก็พึ่งพาคนในถิ่นนั้นด้วย บังเอิญคนขับรถของเธอเชี่ยวชาญและชำนาญทาง รวมทั้งเชี่ยวชาญในการต่อรองราคาเรือโดยสารด้วย ซึ่งแพงเอามากๆ ครั้งแรกเจ้าของเรือบอกราคา 1.5 ล้านรูเปีย ตอนหลังต่อรองเหลือแค่ล้านรูเปีย (ประมาณ 5,000 บาท) เป้าหมายของเราคือ Anak krakatau หรือ child of krakatau ซึ่งต้องแล่นเรือบนท้องทะเลที่กว้างใหญ่ไพศาล เวิ้งว้าง เกือบสองชั่วโมงจึงถึงที่หมาย แต่เพื่อนคึกคักตั้งแต่ขึ้นเรือได้แล้ว จึงตั้งหน้าตั้งตาถ่ายรูปอย่างเดียว ก่อนที่จะเห็น Anak krakatau เสียอีก


แล้วเราก็ได้เหยียบดินแดนที่ครั้งหนึ่งเสียงของเธอก้องกัมปนาทไปไกลถึง 4 กิโลเมตร บางตำนานบันทึกว่า เสียงของเธอดังไปไกลจึงเกาะจาวา (ในช่วงคริสตวรรษ 416) kratatau ตั้งอยู่ระหว่างเกาะสุมาตรา และเกาะจาวา เรียกว่าซุนดา สเตรท (Sunda Strait) ณ เวลานั้น เราเห็นแต่ความสงบงาม และเงียบสงัดบนเกาะ ก่อนหน้านี้มีนักท่องเที่ยวชาวแคนาดามาเยือนอยู่ 2-3 วันแล้ว เขาและไกด์นั่งปิ้งปลาเป็นอาหารสำหรับมื้อกลางวันอยู่พอดี เราจึงมีโอกาสได้ชิมปลาปิ้งสดๆ ไกด์ ซึ่งเป็นชาวบ้านที่อยู่บนอีกฝั่งหนึ่ง หากันสดๆ ร้อนๆ ในท้องทะเลนั่นเอง

บนเกาะแห่งนี้ไม่มีคนอยู่ เพราะน้ำจืดหายาก นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มาเป็นประเภทชอบผจญภัย ไม่อาบน้ำได้หลายวัน กินนอนอย่างเรียบง่าย คือ นอนเต้นท์หรือกางเปลนอน อาหารก็ต้องแบกข้าวสาร น้ำจืด หม้อไหมาเองไม่เช่นนั้นอด ไกด์เล่าว่า วันนี้เราเห็นเกาะเงียบสงบ แต่แท้จริงแล้ว อารมณ์เธอแปรปรวนมาก บางวันคลื่นซัดแรงขึ้นไปบนฝั่ง ฝนฟ้าตกต้องไม่ตามฤดูกาล ผละจากนักท่องเที่ยวชาวแคนาดา เราก็เดินไปตามชายหาดที่เต็มไปด้วยกรวดสีดำ เรียกว่าหาดทรายดำ เพราะไฟแห่งท้องทะเลเผาผลาญทุกอย่าง หินที่นี่จึงดำมะเมื่อม และก็จริงดังที่ไกด์บอก เดินๆ อยู่ คลื่นลูกขนาดย่อมๆ แรงและดังมากพัดเข้าอย่างรวดเร็ว ซัดเพื่อนซะล้มหงาย แต่ก็ไม่เป็นอะไรมาก เรามีเวลาเดินตามชายหาดเพียง 1 ชั่วโมงตามที่ไกด์บอก เพราะว่าต้องใช้เวลาเดินทางกลับอีก 2 ชั่วโมง หรืออาจนานกว่านั้น เพราะขากลับต้านลม เราจึงได้แต่เสียดายภาพอันงดงามของท้องทะเล ชายหาด ป่าเขียวขจีที่อยู่เหนือขึ้นไปบนภูเขา เสียงนกร้องสลับเสียงคลื่น เราจึงเดินเงียบๆ เก็บสิ่งที่เห็นและได้ยินให้มากที่สุด


เราเดินทางกลับพร้อมกับความทรงจำอันงดงาม ครั้งหนึ่งกับ krakatau ภูเขาไฟแห่งประวัติศาสตร์มนุษยชาติ



Anak krakatau


ภูเขาไฟแห่งประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ krakatau ที่ระเบิดไปเมื่อสองศตวรรษ เป็นการระเบิดที่ใช้เวลาถึงสองวันเต็มๆ คือเที่ยงวันของวันที่ 26 – ไปสิ้นสุดในตอนเย็นของวันที่ 27 สิงหาคม ปี ค.. 1883 ในวันที่ krakatau แผลงฤทธิ์สองวัน นอกจากลาวาที่พวยพุ่งออกมาด้วยความสูงถึง 27 กิโลเมตรแล้ว ปรากฎการณ์ท้องฟ้าเป็นสีแดงเพลิงพร้อมเถ้าถ่านครอบคลุมพื้นที่บริเวณนั้นอย่างกว้างขวาง

มีชาวต่างชาติที่เห็นเหตุการณ์วาดภาพในวันนั้นด้วยท้องฟ้าที่เป็นสีแดงส้มทั่วท้องฟ้า เกิดปรากฎการณ์ฝนหรือน้ำร้อนที่ผ่านลาวาตกสู่บนเกาะใกล้เคียง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งยังได้เกิดคลื่นสึนามิขนาดมหึมาความสูง 40 เมตรถล่มหมู่เกาะใกล้เคียง มีหลายพันเกาะจมอยู่ใต้ท้องทะเล และอีกหลายเกาะถูกน้ำทะเลท่วมถึงสองเมตร กวาดเอาผู้คนไปจำนวนมาก บางส่วนไต่ขึ้นที่สูงและต้นไม้ได้ทัน นับเป็นปรากฎการณ์ประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกและเล่าขานอย่างไม่มีวันลืมเลือนได้ แต่ก่อนที่เธอจะระเบิด เธอได้ส่งสัญญาณให้ทราบก่อนถึงสามเดือนเต็มๆ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ด้วยเถ้าถ่านที่พวยพุ่งสูงถึง 6 กิโลเมตร รัศมีของเถ้าถ่านไกลไปถึงกรุงบัตตาเวีย (Batavia) หรือกรุงจาการ์ตาในปัจจุบัน ระยะทางระหว่าง krakatau ถึงกรุงจาการ์ตาประมาณ 160 กิโลเมตร



ภาพจาก
www.geology.com


เดิมทีเกาะภูเขาไฟ krakatau มีพื้นดินเป็นเกาะยาวถึง 9 กิโลเมตร กว้าง 5 กิโลเมตร และตลอดแนวมีปล่องภูเขาไฟถึง 3 แห่งจรดเหนือไปใต้ คือ Perboewatan, Danan, และ Rakata หลังจากเกิดระเบิดนานถึงสองวันพื้นดินบางส่วนคือ ตั้งแต่ Perboewatan, Danan ได้ยุบหายลงไปในท้องทะเล บางส่วนเป็นร่องรอยของการยุบตัวเป็นวงกว้างและลึกของระเบิด ยังคงเหลือร่องรอยให้ระลึกถึงเพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นดินแดนที่ใครๆ ก็อยากไปเยือน นั่นคือ Anak krakatau หรือ Child of krakatau



Krakatau

ก่อนระเบิด (ภาพจาก www.geology.com)


krataktau
หลังระเบิด


ปัจจุบัน Anak krakatau ยังคงเป็นภูเขาไฟที่แอคทีฟ ตามการจัดประเภทของผู้เชี่ยวชาญด้านภูเขาไฟ หากไม่มีประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ โดยตัวของเธอเองแล้ว ยังคงรอการท้าทายจากนักผจญภัย ผู้รักความสงบ งามตามแบบธรรมชาติ



ภูเขาเขียว



หาดทรายสีดำ