Skip to main content

คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)





































































































สัปดาห์ที่แล้ว วุฒิสภาได้ลงมติในการคัดเลือก คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ๗ ท่าน

 

คงจำกันได้ว่า มีการลงมติไม่เลือกคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติมาครั้งหนึ่งโดยวุฒิสภา ทั้งนี้เนื่องจากมีการสรรหามาโดยไม่ถูกต้องจากกรรมการสรรหา ก็เลยทำให้เกิดความล่าช้า เพราะต้องทำการสรรหามาใหม่ ให้วุฒิสภาทำการคัดเลือกจาก ๑๔ คน ให้เหลือ ๗ คน

 

ถามว่า คณะกรรมการ กทช. สำคัญอย่างไร?

 

รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ในมาตรา ๔๐ กำหนดว่า คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ

 

และยังกำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบกิจการต่าง ๆ โดย คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ดูแลกิจการด้านโทรคมนาคม

 

ถามว่าหน้าที่ กทช. คืออะไร กทช. จะทำหน้าที่เป็นกรรมการกำกับดูแลกิจากรด้านกิจการโทรคมนาคมของประเทศ เช่น

 

๑. ออกใบอนุญาตใหม่ให้ผู้ที่จะมาลงทุนในกิจการโทรคมนาคม อย่างเช่นโทรศัพท์มือถือ

 

๒. แปรสัญญาโทรคมนาคม เพราะสัญญาที่ทำไว้เดิมกับ องค์การโทรศัพท์ก็ดี หรือ สัญญาร่วมการงานเดิมทำไว้กับ การสื่อสารแห่งประเทศไทย ไว้ก็ดี ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องดูถึงความยุติธรรมและความเป็นไปได้ของการแปรสัญญาเหล่านี้ให้ถูกต้องยุติธรรม

 

๓. ต้องมีการประกาศใช้ค่าเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อให้รายใหม่ที่จะมาลงทุนได้มีต้นทุนที่คำนวณได้

 

คงจะเห็นแล้วว่า คณะกรรมการ กทช. มีบทบาทอย่างมากที่จะต้องตัดสินเรื่องของผลประโยชน์ในการใช้ความถี่โทรคมนาคมของชาติ

 

ในอดีตที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐ คือ องค์การโทรศัพท์การสื่อสารแห่งประเทศไทย ได้เป็นผู้ดูแลกำกับ และได้รับผลประโยชน์ในการใช้คลื่นความถี่

 

เอกชนที่จะมาทำกิจการด้านโทรคมนาคมต้องมาทำสัญญากับสององค์กรนี้ ถ้าเรื่องของโทรศัพท์ก็ทำกับองค์การโทรศัพท์ ถ้าเรื่องของโทรคมนาคมการโทรศัพท์ทางไกลก็ทำกับการสื่อสารแห่งประเทศไทย

 

พอมีรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีองค์กรอิสระดูแลกิจการโทรคมนาคม องค์การโทรศัพท์ การสื่อสารแห่งประเทศไทยก็เลยต้อง เปลี้ยนไป

 

เปลี่ยนจากผู้กำกับดูแลกิจการ เป็นผู้ดำเนินการ ต้องธุรกิจแข่งกับเอกชน

 

เดิมองค์การโทรศัพท์เก็บค่าโทรศัพท์ค่าเช่าวงจร การสื่อสารแห่งประเทศไทยเก็บค่าเชื่อมโครงข่าย พอมาเป็นผู้ปฎิบัติเสียเองก็เลยต้องปรับตัวเอง

 

เราจึงได้เห็นมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมมาเป็น บริษัท ทศท.คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) และบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

 

เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเป็นผู้ให้บริการ ไม่ใช่ผู้กำกับดูแลเหมือนในอดีต

 

เราจึงเห็นมีการลดราคาค่าบริการโทรศัพท์ทางไกลลงมา เพราะต่อจากนี้เป็นต้นไป การจะมาเป็นเสือนอนกินแบบในอดีตไม่ได้

 

เราจึงเห็น บริษัท ทศท. กับบริษัท กสท. ทะเลาะกัน มีความเห็นไม่ตรงกัน เพราะขณะนี้ทั้งคู่จะป็นผู้ร่วมแข่งขันเหมือนเอกชนรายอื่นๆ เช่น เอไอเอส , ดีแทค หรือ ที เอ ออแรนจ์

 

ต้องแข่งขันกับเอกชน และคณะกรรมการ กทช.นี้แหละจะทำหน้าที่เป็นคนดูแลความเป็นธรรมในการแข่งขัน

 

ดูแลสัญญาต่าง ๆ ที่ เอกชนทำไว้กับ ภาครัฐ ซึ่งต่างก็มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบที่ต่างกัน

 

เพราะทำในเวลาที่ต่างกัน และมีสัญญาสัมปทานที่แตกต่างกัน

 

ผมจะไม่เรียนว่าใครได้เป็นกรรมการทั้ง ๗ ท่าน ในการเลือกของวุฒิสภา ซึ่งได้ลงมติเลือกไปแล้ว

 

แต่ผมอยากเรียนให้ท่านได้ติดตามดูว่า บุคคลทั้ง ๗ ท่าน จะทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของชาติ หรือจะเห็นแก่ผลประโยชน์ของเอกชนผู้ที่ได้รับสัญญาสัมปทานไปแล้ว

 

โปรดติดตามอย่ากระพริบตา !