Skip to main content

วิถีคน-วิถีน้ำ ยามโขงเหนื่อยอ่อน

คอลัมน์/ชุมชน

ตะวันบ่ายคล้อยและร้อนแรงอ่อนแสงลงไปแล้ว ความหนาวเย็นทวีตัวขึ้นเรื่อยๆ ม่านหมอกลอยนิ่งเหนือสายน้ำในฤดูแห่งความหนาว นี่อาจเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของอำเภอเชียงของ อำเภอเล็กๆ แห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย


ด้วยความที่ชุมชนตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำนี่เอง คนในชุมชนบางส่วนของอำเภอเชียงของจึงยึดอาชีพหาปลาที่มีมาเนิ่นหลายชั่วอายุคน บนสายน้ำแห่งนี้


แม่น้ำโขง มีชื่อที่คนท้องถิ่นเรียกว่า "แม่น้ำของ" มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัยบนที่ราบสูง ธิเบต คนจีนทั่วไปเรียก "หลานซางเจียง" มีความหมายว่า แม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกราก แต่คนชนชาติไทลื้อในแคว้นสิบสองปันนาเรียกแม่น้ำสายนี้ว่าแม่น้ำ "ล้านช้าง"


มีความยาวทั้งสิ้น ๔,๙๐๙ กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับ ๑๐ ของโลก มีจำนวนพันธุ์ปลาที่สำรวจพบ ๑,๒๔๕ ชนิด มีพื้นที่ชุ่มน้ำ ๗๙๕,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร


แม่น้ำของตอนบนรับน้ำจากการละลายของหิมะเป็นส่วนใหญ่ ส่วนตอนล่างได้รับน้ำจากเทือกเขาต่างๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำสาขา แม่น้ำสาขาในภาคเหนือของไทยมีน้ำกก, น้ำอิง ,น้ำคำ, น้ำรวก ภาคอีสานมีน้ำมูน, น้ำสงคาม และอีกหลายสิบแม่น้ำในเขตประเทศอื่นๆ


แม่น้ำสายนี้เปรียบเหมือนเส้นเลือดหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิต ประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า ๖๐ ล้านคน ชีวิตผูกพันอยู่กับแม่น้ำสายนี้ ซึ่งเป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งน้ำสำหรับการเกษตร การเดินทาง ใช้ดื่มกิน และสันทนาการต่างๆ


ผู้คนส่วนหนึ่งในอำเภอเชียงของก็เช่นกัน พวกเขาอาศัยและพึ่งพาแม่น้ำของในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป


เหนือผิวน้ำในยามสายของวันหนึ่ง เรือพายพื้นบ้านลำเล็ก ซึ่งดัดแปลงให้เป็นเรือติดเครื่องยนต์เข้ากับด้านท้ายของเรือ กำลังลอยลำอยู่ใกล้ๆ กับแก่งหินที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางลำน้ำ


บนเรือลำนั้นมีคนหาปลาวัยกลางคนกำลังพาเรือออกไปเก็บกู้ตาข่ายที่ใส่ไว้ดักปลา


บนสายน้ำที่ไหลเอื่อยเหมือนคนกำลังอ่อนล้าในหน้าแล้งที่กำลังเดินทางมา คนหาปลากำลังทำงานของเขาอย่างขันแข็ง และไม่หวาดกลัวต่อสายน้ำที่ทอดตัวยาวไกลอยู่เบื้องหน้า


คนหาปลาบางคนวางตาข่ายดักปลาไว้หลายจุดโดยเฉพาะตามคก-ระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขง ซึ่งในหน้าแล้งน้ำในบริเวณคกจะลึกและมีปลามาอาศัยอยู่


เมื่ออยู่บนถนนเลียบริมน้ำ ภาพของคนหาปลาในมุมต่ำที่ไกลออกไป เมื่อเทียบกับสายน้ำ คนหาปลาตัวเล็กเพียงนิดเดียว แต่คนหาปลาบางคนก็มีความแกร่งและเก่งที่จะต่อสู้กับการดำเนินชีวิตด้วยการอาศัยสายน้ำเพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว


สายน้ำได้พร่ำสอนผู้คนให้เข้าใจและเรียนรู้วิธีทางแห่งการใช้ชีวิตให้เข้ากับธรรมชาติ แม้ว่าในบางวัน คนหาปลาอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะมีปลามาติดตาข่ายของเขาหรือไม่ แต่เขาก็รู้ว่าปลาที่ได้จากแม่น้ำด้วยฝีมือตนเองในแต่ละวัน มันมีชื่อว่าอะไร? กินอะไรเป็นอาหาร? และมีค่ามากมายเพียงใดต่อชีวิตของผู้คนริมฝั่งน้ำ



การหาปลาของคนในชุมชนริมฝั่งแม่น้ำของมีมานานแล้ว นานจนคนหาปลารู้ว่าในฤดูกาลไหน ปลาชนิดใดจะอพยพขึ้นมา ในฤดูกาลไหนปลาชนิดใดจะอพยพลง และก็จะเตรียมเครื่องมือไว้รอคอยการจับปลาได้ถูกต้องตามชนิดของปลาและฤดูกาล


"หน้าฝนนี่จะใส่ไซลั่นไว้ตามริมฝั่ง แต่บางคนก็ไหลมอง แต่ถ้าเป็นหน้าแล้งอย่างนี้ก็ใส่เบ็ดหรือมองยัง หรือบางคนก็ไหลมอง" วินัย อิ่นแก้ว คนหาปลาวัยหนุ่มกล่าว


คนที่อำเภอเชียงของจะรู้ดีว่ามีปลาจำนวนมากมายเพียงใด ที่เดินทางออกจากชุมชนริมฝั่งน้ำไปเลี้ยงผู้คนในที่ต่างๆ กันออกไปทั้งใกล้-ไกล บางวันปลาที่ได้จากแม่น้ำของก็จะเดินทางไปถึงตัวจังหวัดเชียงราย


ด้วยความที่คนหาปลาส่วนหนึ่งเป็นที่มีอายุมากและมีความรู้-ประสบการณ์ คนหาปลาจึงได้ร่วมกันเก็บข้อมูลพันธุ์ปลาในแม่น้ำของขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า "งานวิจัยจาวบ้าน" รวบรวมความรู้พื้นบ้านเกี่ยวกับปลาท้องถิ่น-พรรณพืช-ระบบนิเวศแม่น้ำ และสังคมวัฒนธรรมของคนหาปลา


คนหาปลาในแม่น้ำของส่วนมากจะใช้เครื่องมือที่ตัวเองถนัด เพราะความเสี่ยงในการไม่ได้ปลามีน้อยกว่า บางคนหาปลาทั้งปีก็ใช้เพียงเบ็ดอย่างเดียวก็มีปลามาขายอยู่สม่ำเสมอ


ณรงค์ฤทธิ์ บุตรดี ได้เล่าให้ฟังว่า "โตมาก็ได้มาหาปลากับพ่อแล้ว เวลาได้ปลามาก็พอรู้จักชื่อปลาบ้างว่ามันชื่ออะไร เวลาขายบางครั้งพ่อก็จะเป็นคนขาย แต่บางทีก็มีคนมารับซื้อถึงบ้าน ถ้าเป็นช่วงที่ปลาขาดตลาด ปลาจะแพง เหมือนอย่างช่วงนี้ ปลาแข้ถ้าไปซื้อตามตลาดทั่วไปก็กิโลกรัมละ ๑๘๐ บาท แต่ถ้าแม่ค้ามาซื้อถึงที่ก็ลดราคาให้ เพราะแม่ค้าก็ต้องเอาปลาไปขายต่อ ต่างคนก็ต่างพึ่งพาอาศัยกัน คนร่วมน้ำสายเดียวกันก็เป็นอย่างนี้แหละ

ในแต่วันจะออกเรือข้ามไปหาปลาฝั่งลาวบ้าง คนลาวก็ข้ามาหาปลาฝั่งไทยบ้าง ส่วนมากไปหาปลาก็เอามองไปใส่ไว้ตามคก-ตามแก่ง พอใส่เสร็จก็ไม่ได้ไปเฝ้า เมื่อถึงเวลาไปใจ (ไปเก็บกู้) บางวันไปใจสองรอบเช้า-เย็น ก็ได้ปลาบ้างไม่ได้ปลาบ้าง หาปลามันก็เหมือนเสี่ยงโชคนั่นแหละ"


เลาะเลียบไปบนถนนเลียบแม่น้ำของจะพบว่า คนหาปลามีอยู่แทบทุกหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำของ


ในช่วงหน้าแล้งจะพบเห็นกระท่อมที่ถูกปลูกสร้างขึ้นมาอย่างง่ายๆ ตั้งอยู่ตามแก่งหิน ซึ่งคนหาปลาได้ปลูกสร้างขึ้นมาไว้สำหรับพักแรมเวลาที่เดินทางไปหาปลาหลายวัน


ความเป็นเส้นพรมแดนของประเทศไม่ได้เป็นสิ่งขวางกั้นคนหาปลา แต่พวกเขาต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน


แม่น้ำทั้งสายไม่มีใครเป็นเจ้าของเพียงผู้เดียว


แม้ว่าผลผลิตที่ได้จากการหาปลาในแต่ละวันไม่คงที่ แต่คนหาปลาบางคนยังคงทำหน้าที่ของเขาต่อไป การหาปลาจึงเป็นเหมือนการสืบทอดวิถีของคนริมน้ำจากคนรุ่นหนึ่งก็เปลี่ยนผ่านไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง


การออกเรือไปหาปลาในแม่น้ำของไม่ใช่ว่าใครๆ ก็ทำได้ คนที่ไปหาปลาต้องมีความรู้พมควร เช่นรู้ว่าปลาจะอาศัยอยู่ตรงไหน ถ้าไปหว่านแหส่วนมากก็จะไปตามริมแก่ง เพราะที่แก่งหิน น้ำจะลึก และมีหินให้ปลาได้เข้าไปอาศัยอยู่ แก่งต่างๆ ที่มีอยู่ในแม่น้ำของจึงเปรียบเสมือนบ้านของปลา


"แม่น้ำไม่ได้เป็นของใคร พวกที่อยู่ข้างบนโน้นเขาเลยมาสร้างเขื่อนกั้นน้ำของ เดี๋ยวนี้หน้าแล้งน้ำขึ้นๆ ลงๆ ปลาหายไปเยอะ จับไม่ได้มากเหมือนก่อน"


ต๋าคำ ธรรมวงค์ คนหาปลาที่บ้านหาดบ้าย เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำของว่า อิทธิพลจาการรุกรานของการพัฒนาแม่น้ำที่ไม่คำนึงถึงชุมชนท้องถิ่นนั้นไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับชุมชน ไม่นานปลาที่มีอยู่มากมายก็อาจลดน้อยลงและหมดไปในที่สุด เนื่องจากความอุดมแห่งสายน้ำกำลังค่อยๆ จากไป ปลาน้อยใหญ่ไม่มีโอกาสในการผสมพันธุ์ เพื่อขายเผ่าพันธุ์ของปลาอีกต่อไป


ในอนาคตคนหาปลาที่หาปลาพื้นบ้านคงได้แต่นั่งมองเครื่องมือหาปลาของตัวเองอย่างเศร้าๆ เพราะคนที่คิดเอาแต่ได้มันมีมากขึ้นทุกวัน


ขณะแสงสุดท้ายของพระอาทิตย์จะลับขอบฟ้าที่ขอบสายตาไป เรือลำสุดท้ายของคนหาปลาที่บ้านหาดไคร้ก็ได้มุ่งหน้าเดินทางกลับเข้ามายังฝั่งพร้อมกับปลาเพี้ยตัวใหญ่ มันคงเป็นปลาตัวสุดท้ายหรือว่าตัวแรกของเขา--นั่นเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก


ฉากชีวิตของคนหาปลาคนหนึ่งก็ค่อยๆ รูดม่านการแสดงในวันนั้นลงอย่างช้าๆ พร้อมๆ กับการมาเยือนของดวงดาวและความหนาวเย็นแห่งค่ำคืน