Skip to main content

เมื่อน้ำมันขึ้นราคา เราควรจะโกรธใครมากที่สุด?

คอลัมน์/ชุมชน

1. คำนำ


ขณะนี้ราคาน้ำมันขายปลีกได้ขึ้นไปทำลายสถิติสูงสุดของประเทศไทยเรียบร้อยโรงเรียนรัฐบาล คมช. แล้ว โดยที่ประเภทเบนซิน 95 ราคาหน้าปั๊มในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 30.39 บาทต่อลิตร (21 .. 2550) สำหรับราคาในต่างจังหวัดจะสูงกว่านี้อีก ท่านที่เติมน้ำมันคงจะรู้สึกหงุดหงิดกับราคาที่เป็นอยู่ คำถามที่ผมอยากจะชวนท่านผู้อ่านมาร่วมกันคิดก็คือว่า เราจะโกรธหรือกล่าวโทษใครมากที่สุดที่ทำให้ราคาพุ่งสูงถึงขนาดนี้


เรามาตั้งตัวเลือกตามสไตล์ข้อสอบโอเนตกันก่อน แต่ในที่นี้ขอเป็น 5 ตัวเลือก คือ


() เจ้าของปั๊มน้ำมัน () เจ้าของบ่อน้ำมัน เช่น ประเทศซาอุฯ เป็นต้น () เจ้าของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย () รัฐบาลทักษิณที่เคยเอาเงินกองทุนน้ำมันมาชดเชยราคาในช่วงใกล้เลือกตั้งปี 2548 และ () รัฐบาลชุดปัจจุบัน


2. ความผิดปกติเรื่องราคา


มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า แม้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ค่าของเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นทุกวัน ดังนั้นราคาน้ำมันในประเทศไทยก็ไม่น่าจะสูงขึ้นถึงขนาดนี้


ผมได้เช็คข้อมูล ทั้งเรื่องราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันขายปลีกในกรุงเทพฯ และอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและเงินดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสองข้อมูลแรกผมขอนำเสนอในรูปกราฟตามลำดับ (ทีมา http://www.ptit.org/oilbusiness/statistic/crude_chart.html#index01)


กรุณาดูกราฟตามเนื้อหาที่ผมจะกล่าวถึงไปด้วยนะครับ




กราฟทั้งสองนี้ผมได้มาจากเว็บไซต์ของสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ในแต่ละเดือนจะมีกราฟสองแท่ง เพราะราคาน้ำมันดิบมาจากสองตลาดคือดูไบกับเบรนท์ ดังนั้นราคาน้ำมันดิบจึงเป็นค่าเฉลี่ยของกราฟสองแท่งนี้ (มีข้อความประกอบอยู่ข้างกราฟด้วย)


ต่อไปนี้เป็นข้อสังเกตเบื้องต้น ท่านผู้อ่านกรุณาดูกราฟตามไปด้วย


1. เมื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันดิบกับราคาขายปลีกในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เราพบว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว การขึ้นลงมีลักษณะสอดคล้องกันแบบเดือนต่อเดือน เช่น ในเดือนกันยายน เมื่อราคาน้ำมันดิบลดลงจากเดือนสิงหาคม ราคาน้ำมันในกรุงเทพฯ ก็ลดลง


ดังนั้น จากข้อมูลที่มีการกล่าวกันว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นราคาล่วงหน้า 1 เดือน แต่ทำไมราคาขายปลีกในประเทศส่วนมากจึงขึ้นลงพร้อมกับราคาตลาดโลก


2. ในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2549 ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยเกือบคงที่ ไม่ขึ้นไม่ลง แต่ราคาน้ำมันเบนซิน 95 หน้าปั๊มในกรุงเทพฯ จากประมาณ 28 เป็น 29.8 บาท หรือเพิ่มขึ้น 6.43 % เมื่อตรวจสอบกับอัตราแลกเปลี่ยนพบว่า ค่าเงินบาทลดลงเพียง 1.86%


นั่นคือ ราคาน้ำมันขายปลีกเปลี่ยนเป็นเกือบ 3.46 เท่าของค่าเงินที่เปลี่ยนไป นี่คือ ความผิดปกติแรก แน่นอนว่าเรามีเหตุผลเรื่องภาษีและค่าอื่นๆ ซึ่งจะค่อยๆ ทำความเข้าใจกันต่อไป


3. ในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2549 ราคาน้ำมันดิบลดลงอย่างชัดเจน แต่ราคาขายปลีกในบ้านเราไม่ยอมลดครับ ทั้งๆ ที่ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ผมจะไม่ขอลงรายละเอียดเป็นตัวเลข เพียงแต่ชี้ให้เห็นความผิดปกติเท่านั้น


ข้อสังเกตต่อไป เป็นช่วงเวลาทั้งปีครับ


4. ราคาน้ำมันดิบตลอดปี 2549 เฉลี่ย $63.30 ต่อบาร์เรล (จากตลาด ดูไบ และเบรนท์) แต่ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2550 ราคาเฉลี่ย $56.62 ต่อบาร์เรล หรือราคาน้ำมันดิบลดลง $6.68 ต่อบาร์เรล หรือลดลง 10.55%


5. ในปี 2549 อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ 37.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่ใน 4 เดือนแรกของปี 2550 อยู่ที่ 33.54 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้น 10.56% ถ้านำปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาคิดด้วย ราคาน้ำมันดิบในรูปเงินบาทจะลดลงถึง 20%


แต่ราคาน้ำมันเบนซิน 95 ในช่วงเวลาเดียวกันลดลง 0.75 บาท ( 27.58-26.83) หรือราคาน้ำมันลดลงเพียงร้อยละ 2.72 เท่านั้น


สรุป ราคาน้ำมันดิบในรูปเงินบาทจะลดลงถึง 20% แต่น้ำมันขายปลีกลดลงเพียง 2.72% เท่านั้น


3. ค่าการกลั่นและกองทุนน้ำมัน กระทืบซ้ำผู้บริโภค


การคิดราคาน้ำมันขายปลีก นอกจากมีปัจจัยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินแล้ว ยังมีอีก 4 ปัจจัยใหญ่ๆ คือ (1) ค่าการกลั่น (2) ค่าการตลาด (3) ภาษีซึ่งประกอบด้วย ภาษีสรรพสามิต (ลิตรละ 3.685 บาท-คงที่ตลอด ไม่เปลี่ยนตามราคาน้ำมันดิบ) ภาษีเทศบาล (ลิตรละ 0.3685 บาท) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ประมาณลิตละ 1.8835 บาท-เปลี่ยนตามราคา) และ (4) กองทุนน้ำมัน ซึ่งประกอบด้วย กองทุนน้ำมันเพื่อการประกันราคา (ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในการชดเชยราคาก๊าซธรรมชาติ ลิตรละ 3.46 บาท) และกองทุนอนุรักษ์พลังงาน (ใช้เพื่อสิ่งแวดล้อม ลิตรละ 0.07 บาท)


สำหรับกองทุนน้ำมันนั้นเคยเก็บในอัตรา 2.50 บาทต่อลิตร (ก่อน 10 ตุลาคม 2549) แต่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 3.46 บาท เมื่อประมาณ 1 พฤศจิกายน 2549 ในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์นี้เอง


ต่อไปเราจะมาลงรายละเอียดเรื่องค่าการกลั่น


หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น (15 พฤษภาคม 2550) ได้นำเสนอข้อมูลของนักวิเคราะห์(คุณ Sutthichai Kumworachai) ว่าในช่วงไตรมาศแรกของปีนี้ โรงกลั่นน้ำมันของไทยมีกำไรรวมกันถึง 7,680 ล้านบาท คุณ Sutthichai ยังคาดการณ์ว่า ค่าการกลั่นจะยังคงอยู่ที่ $9.61 หรือ 332 บาทต่อบาร์เรล (หรือ 2.09 บาทต่อลิตร) สูงกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 41%


โปรดฟังอีกครั้ง 41%


คุณโสภณ สุภาพงษ์ ได้ให้ข้อมูลว่า "ในปี 2545 ค่าการกลั่นน้ำมันอยู่ที่อัตรา $2.6 บาเรลล์ แต่ได้เพิ่มเป็น 3.4, 7.5 และ 7.7 ดอลลาร์ต่อบาเรลล์ ในปี พ.. 2546, 2547 และ 2548 ตามลำดับ"


ผมพยายามค้นข้อมูลค่าการกลั่นของประเทศสิงคโปร์ พบว่าในปี 2548 ค่าการกลั่นแกว่งขึ้นลงอยู่ระหว่าง 2 ถึง 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือค่าเฉลี่ยประมาณ $6 ต่อบาร์เรลซึ่งต่ำกว่าของประเทศไทยเสียอีก


เนื่องจากการสืบค้นเรื่องค่าการกลั่นอย่างละเอียดต้องใช้เวลามาก ผมจึงขอยกมาเพียง 1 วันคือวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 พบว่า ค่าการกลั่นเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 2.8391 บาทต่อลิตร (ตัวเลขของกระทรวงพลังงาน)


เมื่อคิดย้อนเป็นดอลลาร์ต่อบาร์เรล พบว่าค่าการกลั่นของเมืองไทยอยู่ที่ $13.02 ต่อบาร์เรล สูงกว่าค่าสูงสุดของสิงคโปร์ในปี 2548


ยังมีรายละเอียดบางอย่างในกระบวนการค้าน้ำมันที่ผมยังไม่เข้าใจ เช่นค่าขนส่งน้ำมันดิบคิดจากใคร เป็นต้น ถ้ามีอะไรผิดพลาดผมต้องขออภัยด้วย และขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบออกมาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ


อย่างไรก็ตาม ผมจะขอคิดตามที่ผมเข้าใจก่อน เช่น เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2550 ราคาน้ำมันดิบตลาดเบรนท์อยู่ที่ $70.49 ต่อบาร์เรล เมื่อคิดออกมาเป็นเงินไทยจะได้ประมาณ 15.38 บาทต่อลิตร


คำถามก็คือว่า โรงกลั่นน้ำมันคิดค่าการกลั่นสูงถึง 2.8391 บาทต่อลิตรหรือ 18.46% ของราคาน้ำมันดิบเลยเชียวหรือ


สำหรับค่าการตลาดของเบนซิน 95 อยู่ที่ 0.4753 บาทต่อลิตร นั่นหมายถึงว่าปั๊มน้ำมันเองก็มีกำไรไม่มาก จะเรียกว่ากำไรก็ไม่น่าจะใช่ เพราะมีต้นทุนอยู่


สำหรับค่ากองทุนน้ำมันลิตรละ 3.46 บาทต่อลิตร นอกจากเป็นความผิดพลาดของรัฐบาลชุดก่อนแล้ว ยังเป็นผลประโยชน์โดยตรงให้กับพ่อค้าก๊าซธรรมชาติ เพราะเงินก้อนนี้เอาไปชดเชยราคาก๊าซ ให้คนหันมาใช้ก๊าซมากขึ้น


อีกปัจจัยหนึ่งคือภาษีทุกชนิดรวมกันประมาณ 6.0155 บาทต่อลิตรหรือ 20.06% ของราคาขายปลีก เรื่องนี้ผมว่าเป็นผลประโยชน์ของคนทั้งประเทศ เราไม่โทษกันอยู่แล้ว ขออย่างเดียว คืออย่าคอร์รัปชันก็แล้วกัน


สำหรับเจ้าของบ่อน้ำมัน เขากำไรไม่มากหรอก ยิ่งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐตกลง กำไรก็ยิ่งหด บางประเทศจึงคิดจะค้าน้ำมันในรูปของเงินยูโร สร้างความหมั่นไส้ให้กับสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างยิ่ง


4. สรุป


จากข้อมูลที่กล่าวมาแล้ว เราควรจะโกรธหรือกล่าวโทษโรงกลั่นมากที่สุดครับ แต่ถ้ากล่าวให้ถึงที่สุดแล้วก็ต้องโกรธรัฐบาลผ่านทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่ปล่อยให้โรงกลั่นน้ำมันขูดรีดประชาชนอย่างเลือดเย็น ในขณะที่นักธุรกิจฟันกำไรกันพุงปลิ้นเลย