Skip to main content

เบื้องหลัง "เรื่องเล่า-เผ่าชน"

คอลัมน์/ชุมชน

ครั้งยังเล็ก ยังจำได้ คราใดไห้ ฮ้าย ขี้ดื้อ (ซน ในภาษาลาว) ผู้ใหญ่กว่ามักขู่จะให้ไปอยู่กับคนต่างวัฒนธรรม


"ระวังเน้อ เดียวบอกมูเซอมายับเน้อ" ไม่ก้อ "ไปอยู่กับขมุดีก้า"


เออหนอ แปลกดีที่ข้าพเจ้ามาเรียนรู้ตอนหลังว่า พี่น้องชนเผ่าก็ถูกขู่แบบเดียวกัน แต่เปลี่ยนตัวผู้ร้ายเป็น "กอลอ" คนอู้คำเมืองแทน


ข้าพเจ้ายังจำได้ ยามใดผู้คนแต่งตัวสีสันแปลกตา พูดคุยกันด้วยภาษาไม่คุ้นหู เดินผ่านหน้าบ้านไป ได้ยินเสียงกรุ๊งกริ๊งของเครื่องประดับเงินกระทบกัน อยากเข้าไปทัก อยากเข้าไปถามไถ่ อยากเข้าไปชะเง้อดูในก๋วยที่เขาสะพายหลัง อยากเข้าไปดูลายปักกระโปรงสวยๆ ใกล้ๆ


ผู้ใหญ่กว่าก็ดึงไว้ ห้ามปรามในทำนองอย่าไปยุ่ง หาว่าพวกเขาสกปรก ไม่อาบน้ำ สารพัด


เติบใหญ่ ได้เข้าไปเรียนหนังสือในตัวเมืองเชียงใหม่ นั่งรถประจำทางครั้งใด ที่เห็นจนชินตา ไม่พ้นภาพตำรวจขอดูบัตรประจำตัวประชาชน ผู้คนที่ข้าพเจ้าเห็นเขาแต่งตัวสวยงามนั้น มักถูกเรียกให้ลงจากรถอยู่เสมอ หากไม่มีใบอนุญาตให้เดินทางออกนอกเขต บางคราวเจ้าหน้าที่ยังแถมคารมเชือดเฉือนทิ้งท้าย "พวกต่างด้าว…ถ้าตัดไม้โทออก ก็เป็นพวกต่างดาวสินะ" ทั้งที่พวกเขาอยู่ตรงนี้มานานกว่าตำรวจคนนี้ด้วยซ้ำไป


หลายครั้งเกินจะนับ ตำรวจปรับเงินพวกเขา 200 บาทบ้าง บางทีก็มากหรือน้อยกว่านั้น ตามจำนวนเงินที่เขาพอจะมี ก่อนจะปล่อยให้เดินทางเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ หลายคนต้องไปเสียเงินอีกที่ด่านตรวจถัดไป


ผู้โดยสารอื่นๆ ไม่มีใครอยากให้พวกเขามานั่งชิดใกล้ บางคนยกกระเป๋ามาวางขวางไว้ หรือแม้มีที่นั่งว่าง พวกเขาไม่กล้าแม้แต่จะขอให้ช่วยขยับให้พวกเขาได้นั่งบ้าง


ในห้องเรียน หนังสือเรียนและครูบอกพวกเรานักเรียนว่า พวกเขาเป็นพวก "ตัดไม้ทำลายป่า ปลูกฝิ่น ค้าฝิ่น เสพฝิ่น เป็นพวกล้าหลัง นับถือผี สกปรก ไม่มีการศึกษา" จำเป็นต้องได้รับการ "พัฒนา"


ตำราเรียนอาจจะล้มเหลวในการปลูกฝังหลายเรื่อง หากประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการสร้างภาพพี่น้องชนเผ่าในลักษณะข้างต้น ตอกย้ำฝังลึกอยู่ในความคิดความเชื่อของคนโดยทั่วไป โดยความร่วมมือของสื่อต่างๆ


หลานชายวัยเก้าขวบของข้าพเจ้ายังถูกขู่แบบเดียวกับที่ข้าพเจ้าเคยโดยมาอยู่เลย ยามซน


หากแต่ข้าพเจ้าไม่เข้าใจ ทำไมเวลาหมู่บ้าน หรือ อำเภอจัดงาน หรือกิจกรรมใหญ่ๆ มักนำพวกเขามาร่วมอยู่ในขบวนเสมอ แถมผู้ใหญ่กว่าทั้งหลาย ก็ถ่ายรูปคู่กับพวกเขา หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสกันดี


ภาพของพี่น้องชนเผ่าที่ข้าพเจ้ารู้จัก จึงเป็นภาพที่เห็นอยู่ไกลๆ รับรู้ผ่านทางหนังสือเรียนและครู ภาพที่เต็มไปด้วยแง่มุมเชิงลบ หมู่บ้านของพวกเขา ก็เป็นเพียงแค่ภาพประดับหนึ่งของสถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น


เมื่อเริ่มทำงานเป็นนักข่าว ข้าพเจ้าจึงมีโอกาสได้รู้จักกับพี่น้องชนเผ่ามากขึ้น ข้าพเจ้าพาตัวเองไปพบปะ เรียนรู้วิถีชีวิตคนโพล่ง (โผล่ว) แถบทุ่งใหญ่นเรศวร ไปรับรู้เรื่องราวความอยุติธรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำแก่ชาวบ้านลีซูที่อำเภอพร้าว ชาวดาระอั้งที่ปางแดงเชียงดาว คนไตที่ถูกถอนสัญชาติที่แม่อาย คนอาข่าไร้สัญชาติที่เชียงราย และที่อื่นๆ


ข้าพเจ้ารายงานเรื่องชีวิตและการต่อสู้ของพวกเขาอย่างกระตือรือร้นยิ่ง รู้สึกมีส่วนร่วมอย่างยิ่ง เจ็บปวด สะเทือนใจยิ่งในชะตากรรมของพวกเขา


ในโลกของสื่อสารมวลชน ที่เรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อยมักถูกมองข้ามนั้น ข้าพเจ้าเองก็ต้องต่อสู้ไม่น้อย เพื่อที่จะได้มีพื้นที่นำเสนอเรื่องราวของพวกเขา ในเมื่อหน้าหนึ่งนั้นมักถูกสงวนไว้ให้กับเรื่องประเภทเร้าอารมณ์คนอ่าน (บางกลุ่ม ที่สำคัญสำหรับยอดขายของสื่อ) ข้าพเจ้าหาทางออกด้วยการนำเสนอเป็นรายงานพิเศษ และบทความ


อาจบางทีนี่กลับเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะเรื่องราวของพวกเขาต้องการพื้นที่ในการอธิบายมากกว่า 5 นิ้ว หรือ 7 นิ้ว ตามความยาวมาตรฐานของข่าว (หน้าใน) ในหน้าหนังสือพิมพ์


หากแต่เรื่องราวที่ข้าพเจ้ารายงาน ก็เป็นเพียงสิ่งที่ได้รับรู้ในช่วงเวลาสั้นๆ ของการเข้าไปเก็บข้อมูล เพื่อรายงานข่าว


ไม่ใช่ 18 เดือน ของการเข้าไปใช้ชีวิตร่วมกันกับพวกเขา อย่างเช่นที่จะถ่ายทอดผ่าน "เรื่องเล่า-เผ่าชน" นี้


อะไรหนอที่รอข้าพเจ้าอยู่ในหมู่บ้านชนเผ่านั้น