Skip to main content

๙๕ ปี แห่งชีวิต ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (๑)

คอลัมน์/ชุมชน

"เมื่อข้าพเจ้ารำลึกถึงความหลังคราใด ก็รู้สึกซาบซึ้ง ที่นายปรีดีเสียสละไม่เห็นแก่ตัว ให้ความไว้วางใจข้าพเจ้าอย่างเต็มที่ และอดภูมิใจไม่ได้ว่า เป็นภริยานักการเมืองที่มุ่งบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรโดยมิเคยฉ้อราษฏร์บังหลวง หรือกอบโกยประโยชน์เพื่อตนเองและครอบครัวเลย"


ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
(
จากบทความ "รำลึกถึงความหลัง จากหนังสือ วัน "ปรีดี พนมยงค์" ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๖)


๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐…


หลังวันปรีดี พนมยงค์ ๑ วัน มีโทรสารฉบับสั้นๆ จากทายาทตระกูล "พนมยงค์" ส่งถึงสื่อมวลชนในประเทศไทยทุกแขนง มีเนื้อความว่า


ขอแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่า ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยารัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ ๘ มีอาการทางโรคหัวใจ จึงได้เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ต่อมา ในค่ำวันศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันปรีดี พนมยงค์ อาการของท่านผู้หญิงได้ทรุดหนักลงโดยลำดับ กระทั่งได้ถึงแก่อนิจกรรมโดยสงบ เมื่อเวลา ๐๒.๐๐ น. ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว สิริรวมอายุ ๙๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน


ทั้งนี้ ทายาทของท่านผู้หญิงขอขอบคุณคณะแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ได้พยายามดูแลรักษาจนสุดความสามารถอย่างดียิ่งทุกประการ


ในการจัดพิธีศพท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ทายาทจะปฏิบัติตาม "คำสั่งถึงลูก" ที่ท่านผู้หญิงเขียนไว้ด้วยลายมือ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๑…



๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐ - - กรุงเทพมหานคร


สายวันนั้นที่ชั้น ๒๐ ตึก สก. โรงพยาบาลจุฬาฯ ผมมีโอกาสกราบและรดน้ำลงบนอุ้งมือของหญิงชราท่านหนึ่งซึ่งนอนสงบอยู่บนเตียงขาวสะอาด แวดล้อมด้วยลูกหลานและผู้ใกล้ชิด


หกชั่วโมงแล้ว - - หลังดวงไฟแห่งชีวิตของหญิงสามัญผู้แกร่งกล้าคนนี้มอดดับลงหลังลุกโชติช่วงเป็นประทีปกลางพายุแห่งยุคสมัย ส่องเป็นแสงสว่างข้างรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ทำประโยชน์เพื่อแผ่นดินอันเป็นที่รัก เผชิญภัยทางการเมือง ทั้งยังทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวการอภิวัฒน์แห่งยุคสมัยให้อนุชนรุ่นหลังจนสายธารกาลเวลาผันผ่านไปเกือบ ๑ ศตวรรษ


เหลือทิ้งไว้แต่พินัยกรรมสั้นๆ มีใจความว่า


คำสั่งถึงลูกทุกคน
เมื่อแม่สิ้นชีวิต ขอให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้


. นำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันที เมื่อหมอตรวจว่าหมดลมหายใจแล้ว
. ไม่ขอรับเกียรติใดๆ ทั้งสิ้น
. ประกาศวิทยุ และลงหนังสือพิมพ์เพื่อแจ้งข่าวให้ญาติมิตรทราบ
. ไม่มีการสวดอภิธรรม ทั้งนี้ ไม่รบกวนญาติมิตรที่ต้องมาร่วมงาน
. มีพิธีไว้อาลัยที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยนิมนต์พระที่นับถือแสดงธรรมกถา (เช่นเดียวกับที่จัดให้ปาล) และทำบัตรสำหรับหนังสือที่ระลึก
. ไม่รบกวนญาติมิตร ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้หรือเงินช่วยทำบุญ
. เมื่อโรงพยาบาลคืนศพมาก็ทำการฌาปนกิจอย่างเรียบง่าย
. ให้นำอัฐิ และอังคารไปลอยที่ปากน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นสถานที่ ฯ แม่เกิด
. หากมีเงินบ้าง ก็ขอให้บริจาคเป็นทานแก่มูลนิธิต่างๆ ที่ทำการกุศล
๑๐. ขอให้ลูกทุกคนปฏิบัติตามหน้าที่แม่สั่งไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ต้องฟังความเห็นผู้หวังดีทั้งหลาย ลูกๆ ที่ปฏิบัติตามคำสั่งจงมีความสุขความเจริญ


พูนศุข พนมยงค์
เขียนไว้ที่บ้านเลขที่ ๑๗๒ สาธร ๓ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๑ แม่มีอายุครบ ๘๖ ปี ๙ เดือน



"ชะตากรรม (Destiny) ของพูนศุขภายหลังสมรสแล้วนั้น เป็นไปตามชะตากรรมของปรีดี ส่วนชะตากรรมของปรีดี ก็ขึ้นอยู่กับผลกรรมแห่งการงานทาง ‘อภิวัฒน์’ ที่รับใช้ประเทศชาติและราษฎรไทย เพื่อที่จะก้าวหน้าไปตามแนวทางแห่งการกู้อิสรภาพของมนุษย์ให้พ้นจากการถูกเบียดเบียน และเพื่อให้ชาติไทยมีเอกราชและประชาธิปไตยสมบูรณ์"


ปรีดี พนมยงค์
จาก "ชีวิตและการงานปรีดี-พูนศุข"


๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๑ , จังหวัดพระนคร


รุ่งอรุณของวันนั้น ที่บ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม นางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์ บุตรีพระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรกของสยามในวัยไม่ถึง ๑๗ ปี ได้เข้าพิธีแต่งงานกับดอกเตอร์หนุ่มนักกฎหมายลูกชาวนาซึ่งเรียนจบจากฝรั่งเศสและกำลังรุ่งโรจน์ในหน้าที่การงานหลังได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น "รองอำมาตย์เอกหลวงประดิษฐ์มนูธรรม"


พระสงฆ์ ๙ รูปเจริญพระพุทธมนต์ พอตกบ่ายญาติผู้ใหญ่และเพื่อนพ้องต่างมาร่วมอวยพรแขกหลายท่านทายอนาคตเจ้าบ่าวให้เจ้าสาวฟังว่ามีอนาคตไกลถึงเสนาบดี



พูนศุข ณ ป้อมเพชร์ กับปรีดี พนมยงค์ วันเริ่มต้นชีวิตคู่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๗๑


ท่านผู้หญิงพูนศุข เคยกล่าวถึงชีวิตช่วงนั้นว่า


นายปรีดีแก่กว่าฉัน ๑๑ ปี พ่อของฉันและพ่อของนายปรีดีเป็นญาติกัน จึงฝากฝังบุตรชายให้มาเรียนกฎหมายในกรุงเทพฯ นายปรีดีมาอยู่ที่บ้านจึงรู้จักกันตั้งแต่ฉันอายุ ๙ ขวบ พอเรียนจบได้เป็นเนติบัณฑิตแล้ว ก็ได้ทุนไปเรียนต่อทางกฎหมายที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลาเจ็ดปี พอนายปรีดีกลับมา ฉันอายุ ๑๖ ปี…ตอนที่นายปรีดีพาพ่อจากอยุธยามาขอหมั้น ฉันยังเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์…เมื่อนายปรีดีมาสู่ขอ คุณพ่อฉันก็ยอม และไม่ได้เรียกร้องอะไร นอกจากแหวนเพชรวงหนึ่ง


เมื่อเราแต่งงานกันในปีพุทธศักราช ๒๔๗๑ นายปรีดีอายุ ๒๘ ปี รับราชการเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย (ปัจจุบันคือคณะกรรมการกฤษฎีกา) และเป็นครูสอนที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ได้รับพระราชทานเงินเดือนเดือนละ ๓๒๐ บาท และค่าสอนอีกสัปดาห์ละสองชั่วโมง ชั่วโมงละ ๓๐ บาท แต่งงานแล้ว เราพำนักอยู่ที่เรือนหอซึ่งบิดาข้าพเจ้าปลูกไว้ในบริเวณบ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม อาหารการกินเราขึ้นไปรับประทานพร้อมคุณพ่อคุณแม่บนตึกใหญ่ เมื่อนายปรีดีรับเงินเดือนมา ได้มอบให้ข้าพเจ้าทั้งหมดโดยไม่หักไว้ใช้ส่วนตัวเลย"


สำหรับสามีภรรยาคู่หนึ่ง ชีวิตได้ดำเนินไปราบรื่นและอย่างสวยงาม ปรีดีก้าวหน้าในทางราชการอย่างรวดเร็ว มีโรงพิมพ์ส่วนตัวออกหนังสือกฎหมายรายเดือน มีรายได้จากการสอนหนังสือและจำหน่ายหนังสือที่เขียนขึ้นเอง - - แต่ถึงแม้จะมีชีวิตสุขสบาย ปรีดี ก็ไม่เคยลืมชีวิตในท้องนาในวัยเด็ก


อาชีพชาวนา ซึ่งประสบความยากลำบากมาตลอดประวัติศาสตร์สยาม


เขาเขียนเอาไว้ในคำปรารภเค้าโครงการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ตนเองร่างขึ้นภายหลังถึงอาชีพนี้ว่า "ข้าพเจ้าไม่ใช่คนกรุงเทพฯ จึงรู้หัวอกคนบ้านนอกเป็นอย่างดี..เพื่อนในหัวเมืองยังยากจนอีกมาก"


ซึ่งเวลานั้นถ้ามองไปที่ชนบทของสยาม จะพบว่าเศรษฐกิจตกต่ำอันเป็นผลจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้สร้างความยากแค้นให้คนทั่วประเทศ รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของรัชกาลที่ ๗ ซึ่งบริหารประเทศขณะนั้นได้พยายามแก้ปัญหาด้วยการปลดข้าราชการและตัดรายจ่ายส่วนพระองค์


แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าจะแก้ปัญหาได้ ด้วยส่วนหนึ่งเกิดจากระบอบปกครองแบบเบ็ดเสร็จและการผูกขาดคุณธรรมเอาไว้ที่องค์อธิปัตย์คือกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้ ยังรวมไปถึงข้อเสียที่ร้ายแรงที่สุดคือการเก็บตำแหน่งสำคัญเอาไว้ให้ผู้มีเชื้อเจ้าโดยมิได้พิจารณาบุคคลตามความสามารถ


คนดีน้อยคนนักที่จะมีโอกาสเข้าร่วมจัดการบ้านเมืองท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติ


ปรีดีเป็นคนสยามไม่กี่คนที่มองเห็นปัญหาดังกล่าว ด้วยเขามาจากครอบครัวชาวนา และซาบซึ้งชะตากรรม "โง่ จน เจ็บ" ของกระดูกสันหลังของประเทศตั้งแต่เด็ก โดยอายุได้ ๑๑ ขวบ ก็ได้ทราบเหตุการณ์ "กบฎ ร..๑๓๐" หรือเรียกในแบบที่ซื่อตรงต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ ก็ความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองของเมืองไทยที่มีความพยายามลงมืออย่างเป็นรูปธรรมแต่ถูกจับได้ก่อนทำการสำเร็จ


แต่การกระทำของคธณ ร.. ๑๓๐ ไม่เคยสูญเปล่า ด้วยหน่ออ่อนการ "อภิวัฒน์" ได้หยั่งรากลงในตัวของเด็กหนุ่มคนหนึ่งนามว่าปรีดีแล้ว


สี่ปีต่อมา …
เช้าตรู่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ - - พูนศุข พนมยงค์ มีอายุได้ ๒๐ ปี

เธอพบว่าเกิดความวุ่นวายขึ้นตลอดทั้งวัน ทั้งยังมีข่าวว่าเจ้านายถูกคุมตัวแพร่ทั่วพระนคร
ขณะเดียวกัน ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ก้าวออกมายืนอยู่หน้ากองทหารจำนวนมาก แล้วอ่านประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง


เมืองทั้งเมืองตกอยู่ในความสับสน - - ตกเย็นเธอจึงทราบว่าสามีตัดสินใจเสี่ยงชีวิตร่วมกับคณะราษฎรอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในเย็นวันนั้นเอง ทั้งที่อนาคตสดใสในชีวิตราชการรอคอยอยู่ข้างหน้า


แต่เขาก็เลือกที่จะทำให้ชาติเป็นของ "ประชาชน" มิใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง


เธอไม่ได้แสดงความประหลาดใจนัก ด้วยปู่ของเธอก็เคยเป็นหนึ่งผู้ลงชื่อกราบบังคมทูลขอให้กษํตริย์ทรงปรับปรุงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕


หลายสิบปีต่อมา ท่านผู้หญิงเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า
"
ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก่อนหน้านี้นายปรีดีเคยมาขออนุญาตว่าจะไปบวช ฉันก็ยินดีอนุโมทนา นายปรีดีบอกว่าวันที่ ๒๓ มิถุนายน จะไปหาบิดามารดาที่อยุธยาเพื่อขอลาบวช วันนั้นนายปรีดีกลับจากทำงานมาถึงบ้าน ฉันก็นั่งรถไปส่งพร้อมกับลูกตัวเล็กๆ ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ก็ไม่มีอะไรผิดสังเกต ขากลับยังแวะเยี่ยมเพื่อนที่จุฬาฯ…


ตกกลางคืน ลูกคนที่ ๒ ร้องไห้ เวลานั้นมีลูก ๒ คน คือลลิตาและปาล ลูกปาลส่งเสียงร้องไห้ไม่หยุด คุณพ่อคุณแม่ที่อยู่บนตึกใหญ่ท่านก็ให้คนมาถามว่าเป็นอะไร ฉันก็ไม่ทราบว่าเป็นอะไร แต่ตลอดคืนใจคอไม่ดี เป็นห่วงนายปรีดีว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่


ห้าทุ่ม ที่หน้าบ้านป้อมเพชร์ซึ่งเป็นประตูเหล็กคล้องกุญแจ มีคนมาหาสองคน บอกว่าจะมาขอเครื่องแต่งกายนายปรีดี ขอเสื้อกับผ้าม่วง เพราะว่าวันพรุ่งนี้จะมีประชุมเสนาบดี แล้วก็ขออาหาร สมัยก่อนอาหารใส่ตู้เย็นไม้ที่ใส่น้ำแข็ง ไม่ใช่ตู้เย็นสมัยนี้ มีแต่ขนมปังครีมแครกเกอร์ ก็ให้ขนมปังไป หมูหยองก็ดูจะไม่มี คุณพ่อไม่ยอมให้เข้าบ้านเพราะไม่รู้จักคนที่มา พอดีญาติที่อยู่ในบ้านรู้จักกันบอกว่าชื่อนายซิม วีระไวทยะ เป็นทนายความ…พอรับของเสร็จกลับไปก็เลยรู้แล้วว่านายปรีดีเป็นผู้ก่อการคนหนึ่ง…


จนกระทั่งวันที่ ๓ กรกฎาคม นายปรีดีจึงมีจดหมายมาถึงฉัน ขอโทษที่ไม่ได้เล่าความจริงให้ฟัง เพราะถ้าเล่าเรื่องให้ฟัง เดี๋ยวจะทำการไม่สำเร็จ ฉันยังอายุน้อย กลัวว่าจะไม่รักษาความลับ และอีกอย่างหนึ่งที่บ้านก็คุ้นเจ้านายหลายวัง"


ทายาทท่านผู้หญิงได้เขียนเอาไว้ในหนังสือ ๑๐๑ ปี ปรีดี-๙๐ ปี พูนศุข ว่า


"วันนั้น…คุณแม่เปลี่ยนสถานภาพจากแม่บ้านธรรมดาๆ มาเป็นภรรยานักการเมือง เริ่มซึมทราบเรื่องราวต่างๆ ในบ้านเมือง เป็นกำลังใจให้คุณพ่อต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ต่อไป"