Skip to main content

บ้านที่ต้องย้าย

คอลัมน์/ชุมชน

ยังอยู่ที่บ้านเกาะมุกด์นะคะ ยังไปไม่ถึงไหน ตอนนี้ใช้ชื่อว่า "บ้านที่ต้องย้าย" เพราะพวกเขา "ชาวบ้านเกาะมุกด์" กำลังจะย้ายออกจากพื้นที่


สำหรับคนที่ไม่เคยย้ายถิ่นยากที่จะเข้าใจได้ แต่คิดง่ายๆ ว่า แค่เราต้องย้ายบ้านบ่อยๆ ก็เป็นประสบการณ์ที่เหน็ดเหนื่อยและน่าเบื่อแล้ว ดังนั้นถ้าเทียบกับการย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยมันหนักหนาสาหัสมาก และยิ่งการย้ายแบบไม่มีที่รองรับหรือย้ายไปแล้วทำมาหากินไม่ได้ ก็ยิ่งเจ็บปวดเป็นทวีคูณ


ฉันเคยเดินทางไปบ้านชาวเขาเผ่าลีซูที่บ้านหัวน้ำ อำเภอแม่อาย เชียงใหม่ เมื่อสองปีก่อน พวกเขาถูกย้ายลงมาจากที่อยู่เดิม และมาพบกับปัญหาไม่มีที่ทำกินอดอยากและเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จนต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องหาความเป็นธรรมและสิทธิของตน แต่ชาวบ้านเกาะมุกด์ ยังโชคดีที่มีที่รองรับและความเป็นอยู่ก็เป็นเช่นเดิม ยังมีทะเลเป็นที่หากิน แต่หากว่าเมื่อใดที่ทะเลถูกจับจองเป็นเจ้าของ มีการสัมปทานหรือมีเอกสารขึ้นมาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


เช่นก่อนหน้านี้ นโยบายแปลงทรัพย์ สินเป็นทุนของรัฐบาลชุดก่อน มีโครงการซีฟู๊ดแบงค์ (Sea Food Bank)โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอโครงการซีฟู๊ดแบงค์เข้าสู่คณะรัฐมนตรี โครงการนี้ก็คือการทำให้ทะเลเป็นของรัฐ และมีการแบ่งพื้นที่ทางทะเลให้กับชาวประมงที่ได้ลงทะเบียนหรือแจ้งสิทธิไว้ เรียกกันง่าย ๆ ว่าการออก ‘โฉนดทะเล’

โชคดีเหลือเกินที่โครงการนี้ไม่สำเร็จ ไม่อย่างนั้นทะเลก็จะมีเจ้าของอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่มีสิทธิแบบหลอก ๆ เหมือนเช่น สิทธิในการยึดหาดทรายหน้าโรงแรมหรือรีสอร์ท ห้ามไม่ให้ใครเดินผ่าน นอกจากลูกค้าของตัวเอง ถือว่าเป็นการถือสิทธิ์แบบหลอก ๆ แต่พวกเราก็จำยอมและก็ขัดเคืองใจทุกครั้งที่ถูกกระทำเช่นนั้น เพราะเราถือว่าทะเลเป็นของสาธารณะเป็นของส่วนรวมหาดทรายก่อนถึงทะเลก็เช่นเดียวกัน


ถ้ามีโครงการซีฟู๊ดแบงค์ขึ้นมา มีโฉนดทะเลขึ้นมาจริง ๆ ก็เป็นการถือสิทธิ์โดยชอบธรรมแบบสมบูรณ์ มีการซื้อขายสิทธิ์ได้ เอาไปจำนองธนาคารได้ และในที่สุดก็เป็นของกลุ่มทุน นี่ยังไม่พูดถึงการสูญเสียในด้านสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากพยายามให้ได้สินค้าจากทะเลมาให้มากที่สุดของกลุ่มทุนที่ได้สิทธิ์มา เช่นการเพาะเลี้ยงหอย ปู ปลามากขึ้น จนส่งผลต่อระบบนิเวศน์ ส่วนวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมก็จะหมดไป ต่อไปชาวประมงก็จะเป็นได้แค่ลูกจ้างหรืออาจจะเช่าพื้นที่ทะเลหาปลาจากกลุ่มทุน หรือข้าราชการที่เข้ามาเป็นเจ้าของสิทธิก็เป็นได้ และอย่างนี้จะตอบสนองนโยบายช่วยเหลือชาวประมงได้อย่างไร


นับว่าโชคดี ที่โครงการนี้ไม่ดำเนินต่อไป แต่ไม่รู้ว่าจะโชคดีไปนานแค่ไหน เรียกว่าชีวิตนี้ประมาทกันไม่ได้เลย ประชาชนต้องท่องคำว่าสิทธิชุมชนเอาไว้ให้ขึ้นใจ และทันทีที่นโยบายของรัฐลงมาต้องก็ต้องใช้สิทธิตรวจสอบว่าพวกเขาต้องการทำเพื่ออะไรเพื่อใคร ผลที่ได้รับกับที่เสียไปในระยะสั้นและระยะยาว



แจ่มใสเบิกบานทั้งเจ้าบ้านและผู้มาเยือน


เอาละ...กลับมาที่ชาวบ้าน "บ้านเกาะมุกด์" ที่จะต้องย้ายออกจากถิ่นเดิม


อะไรล่ะ ที่ทำชาวบ้านเกาะมุกด์หย่อมหนึ่งจำนวนนับร้อยหลังคาเรือนต้องย้ายออกจากพื้นที่ มีเหตุอยู่สองส่วนด้วยกัน ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากสึนามิ และส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ของคนอื่น ตรงบริเวณอ่าวกลาง

เล่ากันว่า ที่ดินบ้านเกาะมุกด์ ตรงที่อยู่บริเวณอ่าวกลาง มีครอบครัวหนึ่งจับจองไว้ ในช่วงแรกเมื่อมาอยู่หลังเดียวก็กลัว ๆ เลยชวนคนอื่นมาอยู่ด้วย อยู่กันมานาน ชวนกันมาอยู่เรื่อย ๆ ครอบครัวเพิ่มขึ้นก็อยู่กันไปตามปกติ ซึ่งตอนนั้นที่ดินมันไม่ได้มีราคาอะไร ความเป็นกันเอง ความเป็นเครือญาติมันเยอะกว่าความรู้สึกที่ว่าเป็นผลประโยชน์ หรือจะเรียกว่าที่ดินมีเพื่ออยู่อาศัยทำกินกันไป สร้างบ้านใกล้ทะเลเพื่อจะได้หากินกับทะเลเป็นชาวประมงออกไปหาปลาจับปูได้สะดวก ตามวิถีชีวิตผู้ชายออกเรือผู้หญิงอยู่บ้านหุงข้าวทำแกง รอผัวกลับจากทะเล บางคนก็รอพ่อ บางคนก็รอลูกชาย แต่พอระยะหลังการท่องเที่ยวเข้ามามาก มีรีสอร์ทมากมาย และพอดีกับที่รุ่นลูกหลาน ของเจ้าของที่ได้ไปเรียนหนังสือกลับมา เห็นว่าให้ชาวบ้านอยู่อย่างนี้ไม่ดีแน่ เขาก็เลยให้ทำสัญญาเช่า ค่าเช่าเดือนละ50 บาทเท่านั้น แต่เมื่อทำสัญญาแล้วด้านกฎหมายเรียกร้องสิทธ์ได้ และสัญญาเช่าก็หมดลงในปี 2550 นี้


เมื่อถามว่าทำไมชาวบ้านถึงยอมรับสภาพโดยดีว่าต้องย้าย โดยไม่พยายามต่อสู้หรือหาทางออกใด ๆ หญิงสาวอาสาสมัคร มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ที่เข้ามาในช่วงที่เกิดคลื่นสึนามิและตกค้างอยู่ เธอบอกว่า ชาวบ้านเขารู้ว่าไม่ใช่ที่ของตัวเองและเขาก็แค่อาศัยอยู่ ที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชุมชนมุสลิมและมุสลิมเขาบอกว่าห้ามโกงของคนอื่น คือถ้ารู้ตัวอย่าโกงของคนอื่นที่ไม่ใช่ของเรา


ต่อไปก็คงคิดว่าตรงนั้นจะเป็นรีสอร์ทที่สวยงาม เพราะว่าชาวบ้านย้ายออกไปหมด ปัญหาต่อไปก็คือจะจอดเรือได้ไหม เพราะว่าต้องใช้หน้าหาดจอดเรือ ที่บ้านใหม่จอดได้แต่ต้องขุดคลองให้กว้างขึ้น และไม่รู้ว่าจอดได้มากพอกับจำนวนนับร้อยหรือไม่


บ้านเก่า


บ้านใหม่ที่ต้องย้ายอยู่ไม่ไกลจากบ้านเก่ามากนัก เย็น ๆ แม่บ้านที่ไม่ต้องเตรียมทำกับข้าว นำผู้มาเยือนเดินเล่นกลางสายฝนพรำ เพื่อไปบ้านใหม่ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ช่วงหนึ่งฝนตกลงมาอย่างแรงจนไม่สามารถเดินร้องเพลงเบาๆ กันได้อีกแล้ว ต้องหาที่หลบฝนและติดอยู่ในบ้านที่สร้างยังไม่เสร็จนานนับชั่วโมง ซึ่งเป็นการดีที่ได้หยุดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันจริง ๆ แบบเป็นธรรมชาติ นอกจากพูดคุยแล้วก็ได้ยืนดูชุมชนอย่างละเอียดท่ามกลางสายฝนที่สาดเข้ามาจนเปียกปอน เพราะบ้านมีแค่หลังคาและสะพานที่เชื่อมต่อกัน


บ้านถูกยกพื้นขึ้นสูงทั้งนี้เพราะเมื่อน้ำขึ้นมาบ้านทุกหลังก็จะอยู่ในน้ำ แต่เมื่อน้ำลดบ้านก็อยู่ในพื้นที่ชื่นแฉะที่มีร่องรอยป่าชายเลน



บ้านใหม่ในป่าชายเลเสื่อมโทรม


บ้านแต่ละหลังมีสะพานเชื่อมต่อกันหมด ด้านหนึ่งติดกับภูเขา ดูผิวเผินอย่างสายตาคนนอกก็เห็นว่าเป็นที่ที่น่าอยู่ ยามน้ำขึ้นเต็มที่บ้านอยู่ในน้ำคงจะสวยและเย็นสบาย


แต่เมื่อมองด้วยสายตาที่คิดถึงความเป็นอยู่จริง ๆ พบว่าบนภูเขาใกล้ ๆ นั้นไม่ค่อยจะสมบูรณ์นัก ไม่แน่ใจว่าบนนั้นจะพอมีพืชผักพื้นบ้านให้เก็บกินบ้างไหม เพราะเมื่อทะเลมีปลาปูน้อยลงก็คงต้องอาศัยอาหารจากป่าด้วย


เมื่อครั้งเป็นเด็กจำได้ว่าป่าภาคใต้นั้นอุดมสมบูรณ์มาก สารพัดยอดผักที่เก็บกินได้ จะต้มแกง หรือกินดิบ ๆ แต่หากว่าในป่าไม่มีของกิน ในทะเลก็มีอาหารน้อยลง อันนี้ถือว่าวิกฤต ป่าเคยเป็นที่หากินเช่นเดียวกับทะเล ดังนั้นถ้าแหล่งอาหารถูกทำลายก็หมดสิ้นจริง ๆ


สำหรับบ้านใหม่นั้น พวกเขาบอกว่าเป็นผืนดินที่เหมาะสม แต่ตอนนี้มันยังไม่เรียบร้อย อยู่ระหว่างการดำเนินการขอใช้ที่ดินอยู่ คือพอช.ที่ลงมาทำงานได้ทำหนังสือขอไปที่พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ที่รัฐบาลแต่งตั้งให้แก้ไขเกี่ยวกับปัญหาที่ดินสึนามิ ก็ได้ขอพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรม แต่เรื่องยังไม่เรียบร้อย ตอนนี้ยังอยู่ระดับจังหวัดอยู่เลย แต่บ้านเริ่มสร้างแล้วเพราะรอไม่ไหว และคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ชาวบ้านสัญญาว่าจะปลูกสร้างเท่าที่ขอไว้และจะดูแลเรื่องขยะอีกทั้งชายเลนป่าโกงกางที่เสื่อมโทรมก็จะช่วยกันฟื้นฟูขึ้นมา


นี่เป็นการยืนยันว่าจะอยู่แบบเกื้อกูลกัน หรือขอโอกาสให้เถอะ


ว่าไปแล้วพื้นที่ในเมืองไทยไม่ว่าจะเป็นริมเลหรือชายเขาน่าจะมีพื้นที่เหลือพอที่จะจัดการแบ่งปันอยู่กันได้อย่างเพียงพอ ถ้ามีวิธีการแบ่งปัน การอยู่การใช้อันเหมาะสม


การแบ่งปันและเกื้อกูลน่าจะเป็นหนึ่งที่ยืนยันได้ว่า เราจะอยู่ร่วมกันได้ และโลกนี้ยังน่าอยู่ชีวิตนี้ยังสวยงาม