Skip to main content

ละเมิดสิทธิ หรือคุ้มครองสิทธิ กรณีสิทธิบัตรยา

คอลัมน์/ชุมชน

ตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 .. 2549 ที่รัฐไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (มาตรา 51 พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ..2522 แก้ไข พ..2535 แก้ไข พ..2540) สำหรับยาที่มีสิทธิบัตรในประเทศไทย 3 ชนิด คือยาต้านไวรัสเอชไอวี 2 ชนิดและยาเกี่ยวกับหลอดเลือด เกี่ยวกับผู้ป่วยโรคหัวใจ ซึ่งพูดง่ายๆ คือการใช้สิทธิผลิตยาหรือนำเข้ายาราคาต่ำกว่ายาต้นแบบที่ขายในประเทศไทย ทั้งนี้ โดยมีเหตุผลว่าเพื่อประโยชน์สาธารณะอันเกี่ยวกับชีวิตและสุขภาพของประชาชน และเป็นการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรหรือเรียกว่า ซีแอล Compulsory Licensing : CL ที่ระบุไว้ชัดเจนในกฎหมายของไทย


เหตุผลคือยาเหล่านี้เป็นยาจำเป็นต่อการรักษาเพื่อดำรงชีวิต โดยเฉพาะยาต้านไวรัสเอชไอวี ที่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อดีขึ้น ไม่เจ็บป่วยตลอดเวลา ไม่ต้องสูญเสียเวลา ค่ารักษา ในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยด้วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เอดส์) เหล่านี้ แต่ราคายาต้านไวรัสที่ติดสิทธิบัตรหลายตัวมีราคาสูงมาก จนทำให้รัฐบาลไทยไม่สามารถจัดหาให้กับประชาชนทุกคนได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียมในระบบหลักประกันสุขภาพ หากสามารถมียาราคาถูกลงจะทำให้สามารถรักษาคนจำนวนมากขึ้นได้ เช่นเดียวกับยาหลอดเลือด ที่หากราคาถูกลงจะทำให้คนป่วยโรคหัวใจเข้าถึงยาได้มากขึ้น ระบบหลักประกันสุขภาพสามารถเอื้อให้หมอสามารถจ่ายยาได้มากขึ้น เข้าถึงคนจำนวนมากขึ้นได้ เพราะปัจจุบันมีความพยายามหลีกเลี่ยงใช้ยาเหล่านี้เพราะราคาแพงนั่นเอง แม้ว่าในระบบงบประมาณรายปีของรัฐจะจัดสรรงบประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาทเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน นับเป็นงบประมาณที่สูงมากรองจากงบด้านการศึกษาเท่านั้น ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องการซื้อยาที่ราคาแพงเกินจริงมารักษาประชาชน


สิ่งที่รัฐบาลไทยดำเนินการนั้นถือว่าเป็นการ "ละเมิดสิทธิ" บริษัทยาหรือไม่ นี่เป็นคำถามเชิงจริยธรรมว่า สิทธิของบริษัทยาต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองในฐานะที่เป็นผู้ลงทุนในการวิจัยและพัฒนายาใหม่ๆ ให้กับมนุษยชาติ ดังนั้น จึงเป็นความชอบธรรมที่บริษัทยาจะได้รับรางวัลและแรงจูงใจด้วยการได้รับ "สิทธิบัตร" แต่เพียงผู้เดียวในระยะเวลาหนึ่งๆ สำหรับประเทศไทยให้ระยะเวลาถึง 20 ปี หมายความว่าบริษัทยาที่ได้รับสิทธิบัตรยาตัวใด ก็มีสิทธิผูกขาดตลาดเพียงผู้เดียวในประเทศไทย 20 ปี โดยสามารถกำหนดราคาได้เอง ไม่มีคู่แข่ง จะปรับราคาขึ้นลงอย่างไรก็ได้ จะยืนยันไม่ลดราคาใดใดก็ได้เมื่อมีคนมาขอเจรจา เพื่อให้มีรายได้และกำไรสูงสุดอันจะสามารถนำไปใช้ในการวิจัยและพัฒนายาชนิดใหม่ๆต่อไป ฟังดูก็น่าจะยุติธรรมพอกับสังคมไทยที่ต้องเคารพสิทธิของบริษัทยา


อย่างไรก็ตาม ไม่อาจละเลยที่จะพิจารณาอีกด้านหนึ่งว่าด้วย "สิทธิมนุษยชน" อันรับรองการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์อย่างมีคุณภาพและสมศักดิ์ศรี การมียารักษาแต่ราคาแพงทำให้มนุษย์ส่วนใหญ่ต้องถูก "ละเมิดสิทธิ" ในการมีชีวิตอยู่ ในแง่จริยธรรมจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร เมื่อสังคมโลกให้โอกาสกับบริษัทยาผู้คิดค้นยาชนิดใหม่ๆ ก็ต้องสร้างความสมดุลให้กับชีวิตของมนุษย์ด้วย หากให้สิทธิบัตรสำหรับยา ก็ต้องมีมาตรการอื่นๆ รองรับไม่ให้มีการผูกขาดราคาจนประชาชนถูกละเมิดสิทธิ ดังนั้น ในพระราชบัญญัติสิทธิบัตรของไทย จึงระบุเรื่อง การใช้สิทธิตามสิทธิบัตร หรือการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory Licensing) จึงเป็นมาตรการที่รัฐบาลไทยสามารถใช้เพื่อทำให้มียาราคาถูกลงได้ ทั้งนี้ รัฐจะผลิตเอง หรือให้เอกชนผลิตให้ หรือนำเข้าจากประเทศอื่นที่มีราคาถูกกว่าก็ได้ สำหรับประเทศไทยนั้นแม้จะมีองค์การเภสัชกรรม ก็ไม่ได้หมายความว่ามีความสามารถถึงขั้นผลิตยาได้หลายรูปแบบ เพราะยังไม่มีศักยภาพพอจะผลิตวัตถุดิบต้นแบบสำหรับการผลิตยาได้ ดังนั้น การนำเข้ายาจากบริษัทยาในอินเดีย หรือประเทศอื่นๆ จึงเป็นแนวทางดำเนินการสำหรับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยาในครั้งนี้


สิ่งที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลอื่นๆ ทั่วโลกสามารถกระทำได้นี้ ไม่ถือว่าผิดกติกาการค้าโลก หรือกติกาสิทธิบัตรในโลกนี้ เพราะมีการทำข้อตกลงเปิดช่องไว้แล้วว่าทุกรัฐบาลที่เผชิญปัญหาสาธารณสุข และเพื่อให้ประชากรมีคุณภาพชีวิต มีสิทธิขั้นพื้นฐาน สามารถดำเนินการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของบริษัทยา


มากไปกว่านั้นในเรื่องนี้คือ การต้องทบทวนกระบวนการสร้างแรงจูงใจให้กับบริษัทยาโดยการมอบสิทธิบัตรเพื่อผูกขาดนั้นไม่เหมาะและไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน นั่นคือชีวิตไม่ควรผูกโยงกับการค้าขายสินค้ายา ไม่ควรให้เรื่องสิทธิบัตรยาเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ควรพิจารณาใหม่ว่า หากต้องการให้มีการคิดค้นยาใหม่ๆ ในโลกนี้ น่าจะเป็นการสร้างแรงจูงใจและผลตอบแทนต่อยาใหม่ๆ ด้วยระบบกองทุนวิจัยยาของรัฐ รางวัลทางสังคมและเงินทุนขนาดใหญ่ที่ทำให้นักวิจัยรู้สึกคุ้มกับแรงกายแรงใจที่ทุ่มไปในการค้นคว้าวิจัย ทั้งนี้ ดำเนินการภายใต้สถาบันทางวิชาการ มหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยอื่นๆ ของรัฐ หรือบริษัทยา แต่ต้องยกเลิกการให้สิทธิบัตรยา เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอันทำให้ราคาแพงเกินจริง ที่สำคัญกลายเป็นละเมิดสิทธิ ไม่ใช้คุ้มครองสิทธิ เฉกเช่นทุกวันนี้