Skip to main content

มนต์เพลงคาราบาว – เมื่อเขาควายถูกเพนท์สี

คอลัมน์/ชุมชน

ณ วินาทีนี้ เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเพลงของคาราบาวนั้นส่งอิทธิพลต่อวงการเพลงของไทยมากมายเหลือเกิน ทั้งในส่วนของภาคดนตรีที่แน่นปึ๊ก, ลักษณะดนตรีและภาพลักษณ์ที่เป็นภาพจำของผู้ฟัง (และยังเป็นพิมพ์เขียวให้บรรดา "เพื่อชีวิตซีร็อกซ์" ตามค่ายเทปและผับเพื่อชีวิตได้นำไปลอกใช้กันอย่างเอิกเกริก) และเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของสมาชิกในวง รวมทั้งฝีมือการเขียนเพลงของยืนยง โอภากุลที่ประกอบไปด้วยเนื้อหาที่สามารถนำเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงเวลานั้นๆมาบอกเล่าได้อย่างตรงประเด็น บวกกับลูกเหน็บเจ็บๆ คันๆ ผสานเนื้อหาลึกซึ้ง ผสมลูกหวาน (ที่แม้จะนานๆ เห็นที แต่ทุกครั้งที่น้าแอ๊ดแกจะเขียนเพลงรัก ก็มักจะ "จี๊ดใจ" คนฟังได้เสมอๆ) ได้อย่างลงตัว


องค์ประกอบเหล่านี้นี่เอง ที่นำพาคาราบาวไปสู่พรมแดนความนิยมที่กว้างไกลถึงระดับ "สิบ-ร้อย-พัน ยันรัฐมนตรี"...มากกว่าที่วงเพื่อชีวิตในรุ่นก่อนๆ จะทำได้ จวบจนถึงวันนี้ แม้ว่าคาราบาวจะเลยพ้นจุดสูงสุดของอาชีพมาแล้ว แต่พวกเขาก็ยังคงทำงานกันต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อน


เมื่อวาระ 25 ปี ของการก่อตั้งวงในปีที่แล้ว ก็เกิดโครงการ Tribute Album ของคาราบาวขึ้นมาเงียบๆ จนมาเสร็จเรียบร้อยในปีนี้

อัลบั้มที่ผมพูดถึงก็คืออัลบั้ม "มนต์เพลงคาราบาว" นั่นเองครับ




อัลบั้มนี้เป็นการนำเอาศิลปินหลากหลายแนวทางมาตีความเพลงของคาราบาว (รวมทั้งงานเดี่ยวของน้าแอ๊ดเองด้วย) ในลักษณะเฉพาะตัว [ที่ว่าหลากหลายนั้น ก็มีตั้งแต่รุ่นเดอะอย่างคุณชาย เมืองสิงห์ หรือแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ไปจนถึงรุ่นของพีระภัทร เถรว่อง (บี เครสเซนโด้) และธนชัย อุชชิน (ป๊อด โมเดิร์นด็อก) เชียวแหละ]


ผลที่ได้จึงเป็นภาพของเพลงของคาราบาวที่ถูกนำมาตีความใหม่ตามความถนัดของแต่ละคน (ถ้าจะเปรียบเอาขำๆ ก็คงเหมือนกับการนำเขาควายมาให้ศิลปินฝีมือดีหลายๆ คนเพนต์สีตามความถนัดนั่นแหละ)อย่างเช่นมนต์สิทธิ์ คำสร้อยที่ทำให้ "ตุ๊กตา" กลายเป็นเพลงลูกทุ่งที่เจือความเศร้าและมุมมองของคนที่ผ่านโลกมานานได้อย่างงดงาม หรืออย่าง "ลมพัดใจเพ" ที่น้าแต๋ม-ชรัส เฟื่องอารมณ์ทำให้เพลงนี้ออกมาน่ารักและ "หล่อ" เหมือนเพลงของน้าแต๋มเองเลยเชียว





เพลง "ตุ๊กตา"



เพลง "ลมพัดใจเพ"


ด้วยการที่นักร้องแต่ละคนมาจากแนวดนตรีที่หลากหลาย อัลบั้มนี้จึงเสี่ยงที่จะกระจัดกระจายไปคนละทิศทาง แต่อัลบั้มนี้ก็แก้ไขปัญหานี้ด้วยการใช้ทีมดนตรีหลักชุดเดียวกับที่มีส่วนร่วมในอัลบั้ม "ซึม เศร้า เหงา แฮงค์" (อัลบั้มที่น้าแอ๊ดของเราๆ ท่านๆ นำเพลงที่น้าทิวาเคยแต่งไว้มาร้องใหม่) อาทิเช่นนล สิงหลกะ (กลอง), สุเทพ ปานอำพัน(เบสส์), จักรินทร์ ดวงมณีรัตนชัย (กีตาร์ไฟฟ้า) และอีกหลายชีวิต แถมยังมีคุณเขียว – กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร สมาชิกคาราบาวรุ่น Classic Line-Up มาร่วมเล่นกีตาร์อะคูสติกในทีมดนตรีหลักด้วย รวมทั้งสมาชิกท่านอื่นๆ ของคาราบาวที่มาเป็นแขกรับเชิญในหลายๆ เพลง (เช่นน้าแอ๊ดที่มาเป่าฮาร์โมนิก้าในเพลง "แร้งคอย" ฉบับของน้าหงา คาราวาน หรือเทียรี่ เมฆวัฒนาที่รับผิดชอบเสียงกีตาร์ทั้งหมดในเพลง "สาธุชน" ที่ร้องโดยคุณสุรสีห์ อิทธิกุล เป็นต้น) จนทำให้อัลบั้มนี้มีดนตรีที่เข้มแข็งพอตัวทีเดียว


แต่ในเพลง "ทะเลใจ" ที่ร้องโดยป๊อด โมเดิร์นด็อกดูจะมีสี-กลิ่นที่แตกต่างออกไป ตรงที่ได้เมธี น้อยจินดา สมาชิกของโมเดิร์นด็อกเองมาเล่นเปียโนและอะคูสติกกีตาร์ ทำให้ "ทะเลใจ" ในเวอร์ชั่นนี้ฟังดูงามอย่างหม่นๆ เหมือนกับที่เราเคยได้ยินโมเดิร์นด็อกนำเพลง Somebody ของ Depeche Mode มาเล่นใหม่ในคอนเสิร์ต The Very Common of Moderndog ยังไงยังงั้น



เพลง "ทะเลใจ"



ขอแนะนำให้ฟังเพลงนี้ประกอบการอ่านสกู๊ป "15 ปีพฤษภา: ‘ผู้จัดการ’ กลางทะเลใจ"
ของคุณมุทิตา เชื้อชั่งครับ เธอเขียนดีทีเดียว
(
เฮ้ยๆ ปลา...แกเลี้ยงข้าวฉันมื้อนึงเลยนะเฟ้ย เราช่วยโฆษณาบทความให้แล้ว อิอิ...)


แม้ว่าผมจะรู้สึกชอบ "ทะเลใจ" เวอร์ชั่นนี้มากมายอย่างไรก็ตาม แต่ในการฟังอัลบั้มนี้ในมากรอบเข้า ก็ทำให้ผมพบว่าผมมีเพลงในอัลบั้มนี้ที่ผมชอบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น "ถามหาความรัก" ที่ร้องโดยคุณแป๋ม – สุภัทรา อินทรภักดี, "เทวดาท่าจะแย่" ที่พี่โต้ ชิริก – ติ๊ก ชิโร่ทำซะกลายเป็นเพลงของตัวเอง, "รักต้องสู้" เวอร์ชั่นใสๆของกิฟท์ โมโนโทน หรือ "หัวใจบ้าบิ่น" ที่ดูจะเข้าปากคุณศักดา พัทธสีมาเสียเหลือเกิน ฯลฯ




เพลง "ถามหาความรัก"



เพลง "รักต้องสู้"


และในการฟังอัลบั้มนี้หลายรอบ ก็ทำให้ผมรู้สึกถึงความเป็นนักแต่งเพลงฝีมือระดับ "อาวุธครบเครื่อง" ของน้าแอ๊ดมากขึ้น


...มากเสียจนมองข้ามความรู้สึกที่กังขากับ "ตัวตน" บางประการของน้าแอ๊ดเลยครับ







ข่าวประชาสัมพันธ์
มีข่าวการประกวดแต่งเนื้อเพลงที่น่าสนุก และน่าสนใจมากงานหนึ่งมาบอกเล่ากันครับ
งานที่ว่าคืองาน "ตัวกู ของกู Me My Music" ที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบ 101 ปี ชาตกาลของท่านพุทธทาสภิกขุ เพื่อให้ธรรมะเข้าสู่คนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น และเพื่อสืบทอดปณิธานที่ครั้งหนึ่งท่านพุทธทาสได้ดำริกับท่านปรีดี พนมยงค์ว่าเราควรมีสื่อธรรมะที่นำเอาเนื้อหาธรรมะมาใส่ในท่วงทำนองดนตรี หรือที่เรียกว่า "ธรรมสังคีต"


สำหรับกติกาการประกวดนั้นก็คือ คุณสามารถเลือกทำนองเพลงใดเพลงหนึ่ง (หรืออาจจะเลือกสองเพลง หรือถ้าฟิตจัดๆ จะเลือกทั้งสามเพลงเลยก็ไม่มีใครว่าครับ ) จากการแต่งของคุณอัยย์ – พรรณี วีรานุกูล, คุณติ๊ก ชีโร่ หรือเพลงของคุณตุล จากวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า แล้วนำมาเขียนเนื้อเพลงใหม่ โดยให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมะ (จะเป็นหลักธรรมของศาสนาใดไม่เกี่ยง) หลังจากนั้นก็ส่งเนื้อเพลง พร้อมทั้งใบสมัครไปที่


โครงการตัวกูของกู
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
.อังรีดูนังต์ แขวงวังใหม่ เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10330


การประกวดจะหมดเขตในวันที่ 31 กรกฎาคม 2550 ครับ


ซึ่งถ้าต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 084-147-8334 หรือทาง e-mail address info@tuaku-kongku.com หรือติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ http://www.tuaku-kongku.com ครับ


อ่านข่าวประกวดนี้น่าสนุกครับ ถ้าผมบิวต์ตัวเองได้มากกว่านี้ จะลองเขียนส่งดูสักหน่อย ;-)







ของฝากจากเด็กใหม่ฯ


"ของฝากจากเด็กใหม่ฯ" ครั้งนี้ขออนุญาตเลือกเพลงเพื่อรำลึกถึงการจากไปของคุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี ศิลปินแห่งชาติประจำปี 2534 ที่เพิ่งจากไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา


เพลงที่ผมจะเลือกมานี้คือเพลงที่ชื่อ "รัตติกาล" ที่มาจากอัลบั้มชื่อเดียวกันนี้ของวงดนตรี "พันดาว" (กลุ่มดนตรีที่เป็นการรวมของคนดนตรีสายเพื่อชีวิตยุคตุลาฯ ที่เพิ่งออกจากป่าในยุคนั้น) ที่ออกวางจำหน่ายเมื่อปี 2524 ซึ่งเพลงนี้เป็นการร้องคู่กันของคุณเพ็ญศรีกับคุณสุเทพ วงศ์กำแหง


ฟังเพลงนี้เพื่อระลึกถึงครับ



เพลง "รัตติกาล"