Skip to main content

"เยาวชนกลุ่มเสี่ยงจริงหรือ?"

คอลัมน์/ชุมชน

๑ ธันวาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้เป็นวันรณรงค์ร่วมใจกันป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "วันเอดส์โลก" (World AIDS Day) โดยในปีนี้กลุ่มเป้าหมายของการรณรงค์มุ่งไปที่กลุ่มแม่บ้านและเด็กหญิง (Women Girls HIV/AIDS) เพื่อให้ทั่วโลกตระหนักว่า เชื้อเอชไอวีเอดส์กำลังคุกคามเด็กและผู้หญิงอย่างรุนแรง


ในประเทศไทยปีนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดคำขวัญว่า "เยาวชนรุ่นใหม่ เข้าใจเรื่องเพศ ร่วมป้องกันเอดส์" สาเหตุที่พุ่งเป้าไปที่กลุ่มเยาวชน เนื่องจากสถิติการแพร่ระบาดเชื้อเอชไอวีเอดส์ในกลุ่มอายุ ๑๕ - ๒๔ ปี พบว่า ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์กว่า ๗๐,๐๐๐ ราย และ ๖๘ เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนี้เป็นเพศหญิง ซึ่งเกือบทั้งหมดติดเชื้อเอชไอวีเอดส์จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน


ดังนั้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดกิจกรรมในการรณรงค์ "รวมพลังของเยาวชน" ขึ้นในวันพุธที่ ๑ ธ.ค.นี้ เวลา ๑๒.๓๐ - ๑๕.๐๐ น. ซึ่งจะมีขบวนพาเหรดกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ดารา และศิลปินประมาณ ๒,๐๐๐ คน พร้อมใจกันเดินรณรงค์จากถนนอังรีดูนังต์ไปจนถึงบริเวณสยามสแควร์ และจะไปรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมและแจกถุงยางอนามัยให้วัยรุ่นที่เซ็นเตอร์พ้อยท์???


๒๐ ปีเต็มที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรชุมชน พยายามที่จะหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในบ้านเรา แต่ดูเหมือนว่า การสื่อสารเรื่องเอชไอวีเอดส์ของคนทำงานเอดส์ยังไปกันคนละทิศละทาง เช่นเดียวกับงานวันเอดส์โลกในแต่ละปี ที่แต่ละหน่วยงานต่างจัดกันเอง ดูกันเอง ทั้ง ๆ ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เดียวกัน


สิ่งที่ผู้เขียนกังวล คือ การนำเสนอสถิติ "กลุ่มที่เสี่ยงติดเชื้อเอดส์" เช่น กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น กลุ่มหญิงบริการ และกลุ่มวัยรุ่นนั้น จะนำไปสู่การเข้าใจผิดคิดว่า เอดส์เป็นเรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ แล้วขาดความเข้าใจเรื่อง"พฤติกรรมเสี่ยง" ของตนเอง ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อเอชไอวีเอดส์


เพราะเมื่อพูดว่าเอดส์เป็นเรื่องของ "กลุ่มเสี่ยง" คนฟังมักคิดว่า ไม่ใช่เรื่องของฉัน แต่เป็นเรื่องของคนอื่นที่มีพฤติกรรมไม่ดีไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หรือมีความประพฤติทางเพศที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ไม่ใช่ฉันซึ่งเป็นคนดีรักนวลสงวนตัวและประพฤติพรหมจรรย์ แต่…เมื่อสาเหตุของการติดเชื้อเอดส์คือการมีเพศสัมพันธ์ เอดส์จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศของคนสองคน…ขึ้นไป


หากว่า เราซึ่งเชื่อมั่นตัวเองเหลือเกินว่าเป็นคนดีบริสุทธิ์ผุดผ่อง อุตส่าห์อดเปรี้ยวไว้กินหวาน รักษาไข่แดงไว้จนถึงวันแต่งงานหรือมีคู่ แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า คู่ของเราปลอดภัย เพราะเราไม่สามารถดูได้ด้วยตาเปล่าว่าคนที่เราเลือกมาอย่างดีนั้นเขามีเชื้อเอชไอวีเอดส์หรือไม่ และการตรวจเลือดก็เป็นเพียงการตรวจหาสถานภาพการติดเชื้อในร่างกายของเราเมื่ออดีต ๓ เดือนที่ผ่านมาเท่านั้น???


การสื่อสารเรื่องเอดส์ที่จะนำไปสู่การป้องกันและปลอดภัย จึงไม่ใช่เพียงแค่บอกวิธีการสำเร็จรูปกับเยาวชนว่า ต้องไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่ง หรือเพราะมีกิ๊กจึงติดเอดส์ เพราะโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณเป็น "ใคร" จะเป็นเยาวชน หรือผู้ใหญ่ ผู้ชายหรือผู้หญิง จะมีอาชีพใด ฐานะร่ำรวยหรือจนแค่ไหน นิสัยดีหรือไม่ดีอย่างไร รูปร่างหน้าตาอย่างไร จะมีคู่คนเดียวหรือเปลี่ยนคู่ จะอยู่ก่อนแต่งหรือแต่งก่อนอยู่ ฯลฯ หากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อซึ่งดูไม่ออกโดยที่ไม่ได้ป้องกัน นั่นล่ะคือ พฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีเอดส์


ดังนั้น แม้ว่าเป้าหมายการรณรงค์ป้องกันเอดส์ปีนี้จะอยู่ที่ "กลุ่มเยาวชน" แต่ต้องช่วยกันบอกต่อให้ทั่วถึงว่า โอกาสเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ไม่ว่าจะปีนี้หรือปีไหนยังคงเป็นเรื่องของ "ทุกคน" …


เอ…แล้ววันเอดส์โลกปีนี้ คุณคิดอย่างไรกับความปลอดภัยของตัวเอง???