Skip to main content

The Jakarta Post : หนังสือพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษในอินโด

อินโดนีเซียคล้ายๆ กับไทย คือ บรรดาสื่อสิ่งพิมพ์ รายการทีวี วิทยุ ส่วนใหญ่จะใช้ภาษาประจำชาติเป็นหลัก หนังสือพิมพ์ในอินโดพิมพ์เป็นภาษาบาฮาซา มีหนังสือพิมพ์กระแสหลักฉบับภาษาอังกฤษเพียงฉบับเดียว คือ the Jakarta Post แม้ว่าจะเป็นประเทศอาณานิคมของดัชท์ แต่ภาษาอังกฤษ และภาษาดัชท์กลับไม่แพร่หลาย ประชากรส่วนน้อยที่เข้าใจภาษาอังกฤษ ต่างจากประเทศฟิลิปปินส์ที่หนังสือพิมพ์กระแสหลัก หรือกระแสรองล้วนแล้วแต่พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ การใช้ภาษาตากาล็อคสื่อสารกลับเป็นความท้าทายและเป็นความภาคภูมิใจของฟิลิปปิโน และเป็นสัญญะของการต่อสู้หลังยุคอาณานิคมและเรียกร้องหาความเป็นชาติฟิลิปปิโน หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่พยายามสร้างชาตินิยม หนึ่งในอุดมการณ์นั้นคือการประกาศใช้ภาษาตากาล็อคเป็นภาษาประจำชาติ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแวดวงสื่อในยุคร่วมสมัย ดูเหมือนว่า การใช้ภาษาตากาล็อคยังคงเป็นชนกลุ่มน้อย แต่เป็นกลุ่มที่ถูกชื่นชมเสมือนฮีโร

ในอินโดนีเซีย หลังอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตลงจากอำนาจ บรรดาสื่อสิ่งพิมพ์ได้เฮมากที่สุด เดิมทีสมัยอยู่ใต้เผด็จการซูฮาร์โต สื่อจะเปิดหัวหนังสือพิมพ์แต่ละครั้งต้องขออนุญาตจากสองหน่วยงานใหญ่ หน่วยงานแรกเรียกว่า The Department of Information เพื่อขอจดทะเบียนหัวหนังสือ แน่นอนว่ามีระเบียบปฏิบัติมากมายที่ทำให้คนเปิดต้องระมัดระวัง เพื่อไม่ให้หนังสือพิมพ์ต้องถูกปิด อีกหน่วยงานหนึ่งคือ หน่วยงานปฏิบัติการพิเศษด้านการทหารที่ทำหน้าที่ข่าวกรองและควบคุมสื่อ ในยุคมืดของเสรีภาพสื่อ เจ้าของหนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุต้องรายงานสคริปต์ข่าวในแต่ละวันต่อหน่วยข่าวกรองนี้ก่อนออกอากาศ หรือพิมพ์เผยแพร่ เมื่อปี ค.. 1998 สิ้นสุดยุคซูฮาร์โต หนึ่งปีต่อมาก็เกิด Press Law/1999 และ Broadcast Law/2002 ว่าด้วยเสรีภาพของสื่อด้วยปฏิบัติการอันรวดเร็วของบรรดาสื่อที่ต้องการปลดแอกตนเองออกจากพันธนาการแห่งการควบคุมเสรีภาพและการ เซ็นเซอร์
เสรีภาพในการเปิดสื่อสิ่งพิมพ์มีมากขึ้น โดยไม่ต้องถูกควบคุมจากหน่วยงาน The Department of Information อีกต่อไป ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้นหลัง ค.. 1998 จำนวน 1,600 ฉบับจากเดิม 260 ฉบับ และมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเต็มที่
ในบรรดาหนังสือพิมพ์เกือบทั้งหมด พิมพ์เป็นภาษาท้องถิ่น-บาฮาซา อินโดนีเซียมีหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษที่ดำเนินการโดยทีมงานชาวอินโดนีเซียล้วนๆ เพียงฉบับเดียว คือ the Jakarta Post เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารสำหรับคนต่างชาติ และจัดจำหน่ายทั่วไปในเมืองหลวงกรุงจาการ์ตา และมีสำนักข่าวระดับภูมิภาคอีกแห่งหนึ่ง คือ ที่บาหลี สำนักงานตั้งอยู่ที่เมืองเดนบาซาร์ อันเป็นเมืองสำคัญของบาหลี เป็นสำนักงานข่าวระดับภูมิภาคที่สำคัญและค่อนข้างทำเงินให้กับ the Jakarta Post อยู่มากทีเดียว เพราะกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นชาวต่างชาติส่วนใหญ่ที่มาทำงาน ท่องเที่ยวและปักหลักอยู่ที่บาหลีมีจำนวนมากทีเดียว

เหตุการณ์เดียวที่ทำให้ยอดขายและยอดโฆษณาตกต่ำลงและเคยทำให้ the Jakarta post Bali เกิดวิกฤตมารอบหนึ่งแล้วคือเหตุการณ์ "บอมบ์บาหลี" โดยเฉพาะในปี ค.. 2002 อันเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 202 คน เป็นชาวต่างชาติเสีย 164 คน ในจำนวนนั้นเป็นชาวออสเตรเลีย 88 คน เพราะบาหลีเป็นแหล่งพักผ่อนใหญ่แห่งหนึ่งของชาวออสเตรเลีย เนื่องจากการเดินทางโดยเครื่องบินสายตรงไปยังบาหลี ใช้เวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง กว่า the Jakarta Post บาหลีจะฟื้นตัวจากเหตุการณ์บอมบ์บาหลีครานั้นก็ใช้เวลานานถึง 2 ปีเต็มๆ แทบจะปิดสำนักงานภูมิภาคกันเลยทีเดียว เพราะเหตุการณ์เช่นนี้อ่อนไหวต่อนักท่องเที่ยว นักลงทุนต่างชาติมาก หลังเหตุการณ์บอมบ์ บก. ภูมิภาคบอกว่าบริษัทหลาแห่งปิดกิจการลงชั่วคราว หอบครอบครัวกลับประเทศกันหมด แต่ผู้เขียนไม่ได้ตามข่าว บอมบ์บาหลี 2006 ในแหล่งท่องเที่ยวที่ชื่อว่าจิมบารันว่าเป็นเช่นไร แต่ บก.ภูมิภาคจาการ์ตา โพสต์ - หญิงเหล็ก Mrs. Rita A. Widiadana เคยนำทัพผ่านพ้นวิกฤติ 2002 มาได้อย่างทรหดอดทน คิดว่า บอมบ์ 2006 คงไม่หนักหนาสำหรับเธอ ประสบการณ์คราวก่อนเป็นบทเรียนในการเตรียมตัวเตรียมใจ
The Jakarta Post วางแผนทุกเช้าในกรุงจาการ์ตา ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าพบสัมภาษณ์ บรรณาธิการผู้จัดการ (Managing Editor) Mr. Harry Bhaskara
 

Mr.Harry Bhaskara
ภายในสำนักงานจาการ์ตา โพสต์
ก่อนที่เขาจะดำรงตำแหน่งบรรณาธิการผู้จัดการหนังสือพิมพ์ the Jakarta Post เขาเคยเป็นผู้จัดการฝ่ายโฆษณาของบริษัททำโฆษณาแห่งหนึ่งในจาการ์ตาสองปี แต่ด้วยความรักในอาชีพนักหนังสือพิมพ์เขาจึงตัดสินใจก้าวเขามาสู่วงการน้ำหนัก ในปี ค.. 1984 หลังจากปีแรกของการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ the Jakarta Post ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี ค.. 1983 ประวัติศาสตร์การก่อตั้งจากคำบอกเล่าของ Harry มีความน่าสนใจ นอกจากวัตถุประสงค์หลักเพื่อการเผยแพร่เรื่องราวของประเทศอินโดนีเซียให้ประเทศเพื่อนบ้านทราบอย่างกว้างขวางแล้ว ยังเป็นการสร้างความสมดุลของข่าวเกี่ยวกับประเทศอินโดนีเซียที่นำเสนอโดยหนังสือพิมพ์หรือสำนักข่าวต่างชาติด้วย เพราะชาวอินโดเชื่อว่ามุมมองของสื่อตะวันตกมักจะมีความโน้มเอียงไปในทางใดทางหนึ่ง มักกล่าวหาว่าสื่อตะวันตกสร้างภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างบิดเบือนไปในทางเสียหายให้กับอินโดนีเซีย รวมถึงประเทศในแถบเอเชีย
อุดมการณ์การก่อตั้ง the Jakarta Post ให้เป็นหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอความเป็นกลาง เป็นอิสระทั้งจากการเมืองและจากอิทธิพลของกลุ่มทุน the Jakarta Post จึงมีหลักการของการร่วมทุนนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งว่า แต่ละกลุ่มทุนสามารถร่วมทุนไม่เกินยี่สิบเปอร์เซนต์ เพื่อไม่ให้กลุ่มทุนใดกลุ่มหนึ่งควบคุมและกำหนดทิศทางของหนังสือพิมพ์ กลุ่มทุนใหญ่ที่ลงทุนร่วมกันเช่น กลุ่มหนังสือพิมพ์เครือ tempo, กลุ่มหนังสือพิมพ์หลักใหญ่ Kompas กลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์ Suara Karya และกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งให้บรรดาพนักงานสามารถเป็นเจ้าของด้วยการแบ่งหุ้นขายให้พนักงาน เฉพาะชาวอินโดนีเซียเท่านั้น

หน้าสำนักงาน
the Jakarta Post
อย่างไรก็ตาม อุดมการณ์ของ the Jakarta Post ในแง่การนำเสนอข่าวอย่างสื่ออิสระ เพิ่งจะมีความสมบูรณ์หลังจากปี ค.. 1998 เช่นเดียวกับสื่ออื่นๆ (แม้ว่าจะมีสื่อที่กล้าหาญออกมาแฉข้อเท็จจริง กล้านำเสนอข่าวฉ้อฉลละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลซูฮาร์โต กองทัพและพรรคพวก และต่างก็โดนปิดสำนักงาน โดนแบนกันถ้วนหน้าเช่น Kompas โดนเมื่อปี ค..1978 Tempo, Detik, Editor สามฉบับโดนเมื่อปี 1994, และมีอีก 13 ฉบับเล็กๆ โดนปิดอย่างถาวรเมื่อปี 1977)
Harry กล่าวว่าในยุคนั้น นักข่าวและบรรณาธิการของ the Jakarta Post ไม่สามารถเขียนข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องการละเมิดสิทธิของชนกลุ่มน้อย ความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อย ไม่สามารถเขียนเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ไม่สามารถเขียนเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในแง่มุมใดๆ การเมือง วัฒนธรรม หรือเชื้อชาติ ไม่สามารถเขียนถึง วิพากษ์วิจารณ์การเมือง ไม่สามารถเขียนถึงชาติพันธุ์ที่ยากจน ไม่สามารถเขียนถึงสังคมของคนยากคนจน จากข้อเท็จจริงและจากจินตนาการของความเป็นนักข่าวได้

นั่นคือการดำรงอยู่ในอดีตของนักข่าว the Jakarta Post ทำให้พวกเขาไม่ได้พัฒนาความเป็นมืออาชีพเท่าที่ควรเป็น และเมื่อยุคแรกของเสรีภาพสื่อเบ่งบาน Harry พบว่า พฤติกรรมการเซ็นเซอร์ตนเอง เวลาเขียนหรือนำเสนอข่าวของนักข่าวในกองบรรณาธิการยังคงมีอยู่ ซึ่งเขาบอกว่าเป็นพฤติกรรมที่นักข่าวชิน อันเป็นผลพวงจากยุคเผด็จการ หมายความว่า แม้ว่าจะมีเสรีภาพของการนำเสนอแต่คนข่าวก็ยังใช้ไม่คล่องนัก เขาต้องกระตุ้นลูกทีมที่มีอาการดังกล่าวว่า ยุคนี้เป็นยุคที่คุณสามารถเขียน และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและกลุ่มอิทธิพลได้อย่างอิสระเสรี คุณสามารถเปิดโปงความฉ้อฉลของทุกกลุ่มอย่างไม่ต้องเกรงกลัวใคร

แม้ว่าปัจจุบันอาการเซ็นเซอร์ตนเองหมดไปแล้ว แต่ก็มีสิ่งที่ท้าทายเขา ก็คือในฐานะสื่อ จะใช้ประชาธิปไตยอย่างไรให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอินโดนีเซียให้มากที่สุด เขามองว่า ประชาชนประเทศอื่นเช่น ฟิลิปปินส์ ไทย กล้าแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่เขามองว่า คนอินโดนีเซียส่วนมากยังไม่กล้าแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างที่แหลมคมต่อสาธารณะ ภารกิจหนึ่งของหนังสือพิมพ์คือ สนับสนุนประชาธิปไตยในทุกรูปแบบ
Harry กล่าวว่า The Jakarta Post เกาะติดเหตุการณ์ในอาเจะห์อย่างต่อเนื่อง นำเสนอการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อย ตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เปิดโปงการคอรัปชั่นทุกรูปแบบ เปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และได้รับผลกระทบจากการทำงานของรัฐบาล เขาพยายามนำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น (ส่วนใหญ่เป็นปัญญาชน) เกือบยี่สิบเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่หนังสือพิมพ์ทั้งหมด เพราะเขามองว่า ประเทศอินโดนีเซียเพิ่งจะมีเสรีภาพสื่อไม่ถึง 10 ปี การสร้างวัฒนธรรมการกล้าแสดงออกทางความคิดจึงสิ่งสำคัญและจำเป็น