Skip to main content

ไสกลิ้ง-หัวป่า : ถนนสายมิตรภาพ

คอลัมน์/ชุมชน

ในแดดอุ่นของบ่ายวันเสาร์ที่ผ่าน ผมตัดสินใจพาหญิงสาวพักผ่อนชมเส้นทางธรรมชาติบนถนนสาย "ไสกลิ้ง-หัวป่า" ซึ่งพาดข้ามผ่านทะเลน้อยในเขตอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง สู่บ้านหัวป่าของอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

แน่นอนว่าถนนเส้นนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในหมู่คนทั่วไป แต่ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเป็นที่รู้จักกันดีของชาวพัทลุงและชาวสงขลา ไม่ใช่เฉพาะเรื่องที่เคยเป็นปัญหาคาราคาซังมานมนานหรืออะไรอีกมากมายที่เคยเป็นอุปสรรคในการก่อสร้างแต่ครั้งก่อน แม้ทุกวันนี้ถนนเส้นนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตามที จะอย่างไรก็ช่าง นั่นมันเป็นเพียงปัญหาที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเขาสร้างขึ้นก็เท่านั้น ผมจึงไม่อยากกล่าวถึงให้มากไปกว่านี้


คนพัทลุงโดยเฉพาะคนพื้นที่อำเภอควนขนุนหรือลึกไปกว่านั้นคือชาวบ้านแห่งทะเลน้อยต่างภูมิใจกับถนนสายนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นเส้นทางสัญจรทางบกอันสะดวกสบายแทนการสัญจรทางน้ำตามแบบเดิมของคนสองฝั่งฟากทะเลน้อย-ทะเลหลวง และระโนดเท่านั้น หากแต่ยังเป็นถนนเชื่อมสายสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องเสียมากกว่า (จริงๆ แล้วผมก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าบ้านใครเป็นเมืองพี่หรือบ้านใครเป็นเมืองน้องเสียด้วยซ้ำ)


"ไสกลิ้ง-หัวป่า" เป็นถนนยกระดับเหนือพื้นน้ำของทะเลน้อย (ผืนน้ำที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ "แรมซ่าร์ไซค์ (wet land)" ที่สำคัญของโลก หากรัฐประกาศให้ถนนเส้นนี้เป็นสะพานถนนเส้นนี้ก็คงแย่งตำแหน่งจากสะพานติณสูลานนท์ เป็นสะพานที่ยาวที่สุดในประเทศไทยไปแล้ว เมื่อฤดูน้ำนองมาถึง สองข้างทางเป็นผืนน้ำกว้างโอบกอดไม้น้ำและไม้บกนานาพันธุ์ ไกลออกไปเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และทะเลสาบสงขลาอันเป็นแหล่งสรรพอาหารของคนรอบลุ่มมาแต่โบราณ


ผมลองจินตนาการไปไกลถึงวันที่ถนนสายนี้เสร็จสมบูรณ์และมีการจัดการที่ดีจากผู้ดูแลรับผิดชอบทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ในจินตภาพผมมองเห็นมิตรภาพและผู้มาเยือนหลากหลาย มากไปกว่านั้นมันเป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่ความปลดปล่อย-พักผ่อน-และพัฒนา


เมื่อพูดถึงเรื่องการพัฒนา แน่นอนว่าบนเส้นทางนี้ก็ต้องพานพบกับความเสื่อมโทรมบางประการด้วย ทัศนียภาพอันงดงามก็อาจเลือนไปเมื่อความพัฒนาเดินทางมาถึงเช่นกัน


และนี่คือสิ่งที่ผมและชาวบ้านแถบนั้นรู้สึกหวงแหนเป็นที่สุด


บนฟ้าฟากตะวันตกเริ่มเห็นฝนตั้งเค้าแล้ว แดดบ่ายแก่ๆ ลอดผ่านฝูงเมฆทะมึนเป็นลำส่องพื้นโลก หญิงสาวผู้ร่วมทางของผมจับกล้องขึ้นถ่ายภาพเก็บไว้ก่อนฟ้าเปลี่ยนสี อีกฟากหนึ่งฝูงควายที่ชาวบ้านเลี้ยงแบบปล่อยทิ้งไว้ยังเล็มหญ้าอยู่อย่างไม่รู้ตัว เสียดายที่วันนี้น้ำแห้งลงกว่าเมื่อวันก่อนไม่อย่างนั้นภาพปรากฏเบื้องหน้าอาจงดงามกว่านี้


อย่างไรเสียเมื่อคุณเดินทางมาเห็นเหมือนผมกับหญิงสาวผู้ร่วมทางของผมบ้าง คุณอาจรู้สึกได้ถึงความงามและการเชื่อมต่อมิตรภาพของ ถนน "ไสกลิ้ง-หัวป่า" ถนนสายมิตรภาพนี้เหมือนกับผม


ปรเมศวร์ กาแก้ว
บนแผ่นดินเหนือทะเลสาบ-สงขลา
4
มิถุนายน 2550



บนเส้นทางสาย "ไสกลิ้ง-หัวป่า"




ฝูงควายของชาวบ้านที่เลี้ยงแบบปล่อยทิ้งไว้ให้หากินเอง นานๆ เจ้าของจะมาดูสักที





 




นี่คือภาพถ่ายฝีมือของหญิงสาวในวันร่วมทาง





หญิงสาวในวันร่วมทาง