Skip to main content

เรื่องของวัยรุ่น...ไม่ได้วุ่นอย่างที่คิด (หนังสือที่ใคร ๆ ก็อยากได้ )




คุณที่รัก


ถ้าคุณเปิดอ่านเว็บประชาไท คอลัมน์มุมคิดจากนักเรียนน้อยในช่วงหลัง ๆ นี่ คุณคงจะได้อ่านงานเขียนและบทสัมภาษณ์ของน้องๆ จากโครงการเยาวชนเรียนรู้ (Right to Know) หรือที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า RTK ที่ทยอยลงกันเป็นตอนๆ ไปแล้วหลายคน รวมทั้งบทสัมภาษณ์ผู้ใหญ่อีก 2-3 ท่านที่เรานำมาผนวกกับข้อเขียนและบทสัมภาษณ์พวกเขา ส่วนคนที่ไม่ได้อ่านคอลัมน์นี้ อาจจะสงสัยว่า RTK คืออะไร 


คำตอบคือ
โครงการที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกัน ระหว่างมูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์-สำนักงานภาคเหนือ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า "เอดส์เน็ท" ร่วมกับโครงการเอดส์ศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การยูนิเซฟประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อสื่อสารความรู้ความเข้าใจเรื่องเอดส์และเรื่องเพศกับเยาวชน เพื่อลดพฤติกรรมการเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เอชไอวี ในกลุ่มเยาวชนภาคเหนือตอนบน


 


โครงการนี้เริ่มดำเนินการโดยการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องเอดส์และเรื่องเพศ แก่แกนนำเยาวชนกลุ่มต่าง ๆ แล้วสนับสนุนให้พวกเขาออกไปทำกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้นี้ ให้ แก่เยาวชนในสังคมที่เขาสังกัดอยู่ ตลอดถึงสถาบันที่ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของงานนี้


ครับ
งานเขียนและบทสัมภาษณ์ของพวกเขา ที่คุณได้อ่านจากคอลัมน์มุมคิดจากนักเรียนน้อย คือการเล่าเรื่องจากประสบการณ์ จากการทำงานกิจกรรมนี้ของพวกเขานั่นเอง ซึ่งเบื้องหลังงานนี้ ผมเป็นบุคลากรคนหนึ่งที่ได้รับเกียรติจากโครงการนี้ ให้ช่วยไปอบรมการเขียนให้กับพวกเขา เพื่อให้ความมั่นใจกับคนที่พอจะเขียนได้ - ให้เขียนออกมาให้ได้ ส่วนคนที่เขียนไม่ได้หรือคนที่ไม่มีเวลา เราก็ใช้วิธีสัมภาษณ์เอา ก่อนจะได้งานนี้ออกมา โดยการทำงานร่วมกันกับกองบรรณาธิการเฉพาะกิจ ซึ่งมี แพร จารุ เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ และคณะผู้ร่วมงานอีก 3 ท่านได้แก่ คุณจีระเกียรติ ประสานธนกุล (ครูน้ำฝน) นักศึกษาปริญญาโทการศึกษานอกระบบ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณอัญชลี จอมธัญ รองผู้จัดการเอดส์เน็ท-สำนักงานภาคเหนือ และคุณณัฏฐยาน์ อภิธนานันท์ เจ้าหน้าที่ ไอที เอดส์เน็ท-สำนักงานภาคเหนือ 


เพื่อรวบรวมงานเขียนและบทสัมภาษณ์ของพวกเขา มารวมเล่มตีพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่  หลังจากรวบรวมผลงานทั้งหมดได้แล้ว ระหว่างดำเนินการตีพิมพ์ เพื่อประโยชน์ทางสังคมในวงกว้างอีกช่องทางหนึ่ง เราจึงนำต้นฉบับงานนี้อีกชุดหนึ่ง มาขอเนื้อที่เว็บประชาไทลงตีพิมพ์เผยแพร่ไปก่อนในคอลัมน์มุมคิดจากนักเขียนน้อย ซึ่งหลาย ๆ ท่านคงจะได้อ่านกันบ้างแล้ว


ครับ-หลังจากรอกันมานาน (ด้วยความระทึกใจ)
ตอนนี้หนังสือก็ได้พิมพ์เสร็จออกมาจากโรงพิมพ์เรียบร้อยแล้วโดยใช้ชื่อขึ้นปกว่า " เรื่องของวัยรุ่น…ไม่วุ่นอย่างที่คิด " คุณจิ๊บ-อัญชลี จอมธัญ ได้มอบหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นหนังสือพ็อค -เก็ตบุ๊คหนา 200 กว่าหน้า ปกและรูปเล่มสวยงามน่ารัก สมกับเป็นหนังสือสื่อสารจากเยาวชนมาให้ผมจำนวนหนึ่ง และกระซิบบอกผมให้ช่วยป่าวประกาศให้ผู้อ่านประชาไทด้วยว่า ท่านผู้ใดที่ต้องการหนังสือเล่มนี้ ซึ่งอ่านแล้วได้ประโยชน์ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เชิญเขียนจดหมายพร้อมกับสอดแสตมป์ 9 บาทเป็นค่าส่งหนังสือไปที่


คุณอัญชลี จอมธัญ
มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์-สำนักงานภาคเหนือ
145/1
ถนนศรีภูมิ ต. ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200


คุณที่รัก
เพื่อให้คุณมองเห็นภาพรวมของสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ระหว่างเรื่องเพศและเรื่องเอดส์กับเยาวชนในสังคมในปัจจุบัน ผมขอนำบทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งของท่าน ผศ.อ้อมทิพย์ เมฆรักษาวนิช แคมป์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเคยทำงานวิจัยเรื่องนี้ ในกลุ่มเยาวชนระดับนักศึกษามหาวิทยาลัย และปัจจุบันกำลังทำโครงการ "พัฒนาสื่อสารการเรียนรู้ เพื่อมีการเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและมีการรับผิดชอบ" ในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่พวกเราไปสัมภาษณ์มาผนวกลงหนังสือเล่มนี้ ซึ่งผมมองเห็นว่าข้อมูลของท่าน เป็นภาพรวมที่ครอบคลุมสถานการณ์เรื่องเอดส์และเรื่องเพศกับเยาวชนได้ทุกระดับ ดังต่อไปนี้ 


อาจารย์มีแรงบันดาลใจอะไรมาก่อนจะทำงานนี้
"
อย่างหนึ่งคือ จากการที่เราได้เห็นเด็กจับคู่กันมากขึ้นแล้วตัวเองก็เคยทำงานวิจัยเรื่องเอดส์มาก่อน ถ้ามาสังเกตจะเห็นว่าตอนหลัง ๆ นี้ การรณรงค์ การประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ลดลง เพราะงบประมาณ (ของรัฐ) ลดลง บางที...ทำให้ผู้คนคิดกันไปว่าเรื่องเอดส์มันหมดไปแล้ว พ้นวิกฤตไปแล้ว ซึ่งที่จริงแล้วมันตรงกันข้ามกับสภาพความจริง ที่เราเห็นได้จากพฤติกรรมของวัยรุ่นในสังคมปัจจุบันนี้"


"เพราะจากงานวิจัยพบว่า เด็กวัยรุ่นปัจจุบันมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น แม้กระทั่งงานวิจัยบางชิ้น พบว่าความต้องการใช้ถุงยางอนามัยที่มีขนาดเล็กมีปริมาณมากขึ้น เพราะคนที่มีเพศสัมพันธ์มีอายุน้อยลง ก็เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ประกอบกับพอมาทำงานวิจัยที่สำรวจพฤติกรรมของวัยรุ่นยังมีความประมาทกันอยู่ เพราะไม่มีการใช้ถุงยางอนามัยอย่างเป็นนิสัย"


"คือโครงการนี้ ไม่ได้ห้ามไม่ให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ เพราะเป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ เพราะจะมีหรือไม่มีก็เป็นสิทธิของเขา เพียงแต่อยากจะให้เด็กมีความเข้าใจ และมีสำนึกของความรับผิดชอบร่วมกัน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเห็นใจเพศเดียวกัน เพราะผู้หญิงต้องเป็นผู้รับเคราะห์จากสังคมที่ช่วยกันซ้ำเติม ไม่ว่าจะเป็นเคสของการท้องไม่มีพ่อ"


"เมื่อมีข่าวว่าเด็กแรกเกิดถูกทิ้ง ก็จะเห็นเนื้อข่าวต่อท้ายว่า แม่ใจยักษ์ คือผู้หญิงจะเป็นฝ่ายถูกประจานตลอด ซึ่งที่จริงสิ่งที่เกิดขึ้น เกิดจากการกระทำร่วมกัน เพราะผู้หญิงคงไม่ได้ไปยืนอยู่กลางถนนแล้วท้องได้เลย จึงได้เน้นเรื่องความปลอดภัยและความรับผิดชอบ..."


ครับ- ถ้าคุณสนใจบทสัมภาษณ์ที่ทันกับปัญหาของสังคมสมัยใหม่ และเต็มไปด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของท่านอาจารย์อ้อมทิพย์ ซึ่งยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกมากมาย รวมทั้งข้อเขียนและบทสัมภาษณ์ที่น่ารักน่าเอ็นดูของน้อง ๆ จากกลุ่มเยาวชน เช่น ปรัชญา เศวตรศิลา, little prince, พังพอน, จิราพร แสนนาบาล, สุนา, กระถิน, ดวง, แนน, อรพิน ฯลฯ เชิญเขียนจดหมายไปขอหนังสือที่เอดส์เน็ทด่วน !


เพราะได้ข่าวจากคุณจิ๊บ-อัญชลี บอกมาว่า หนังสือเล่มนี้ขายเอ๊ยแจกดีเป็นเทน้ำเทท่า ตอนนี้เหลือไม่กี่ร้อยเล่ม เพราะหนังสือสวยเหลือเกิน ใคร ๆ เห็นก็อยากได้จ้า !


27 พฤษภาคม 2550
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่