Skip to main content

วุฒิสภาในปีที่ห้า

































































ในที่สุดวุฒิสภาชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งก็ได้มาอยู่ในปีที่ห้าของการทำงาน ซึ่งได้ทำหน้าที่ครบทั้งสี่ประการคือ กลั่นกรองกฎหมาย ควบคุมการทำงานของรัฐบาล แต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระ และถอดถอนบุคคลทางการเมือง

 

ในตอนเริ่มต้นปีที่ห้านั้น คาดว่าเราคงจะทำงานได้แค่สามประการ เพราะการถอดถอนบุคลากรทางการเมืองคงทำได้ยาก เพราะหลักฐานที่จะเอาความผิดทางการเมืองทำได้ยาก เพราะต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน ต้องให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ตรวจสอบหามูลความผิด

 

คือ ส.ว. เสมือนเป็นด่านสุดท้ายในการลงมติถอดถอน ถ้า ป.ป.ช.ลงมติว่าบุคคลใดในทางการเมืองหรือตำแหน่งสูงในการบริหารงานราชการว่าไม่มีมูลความผิด การลงมติถอดถอนก็ไม่มี พูดง่าย ๆ ก็คือ ส.ว. เราชงเองกินเองไม่ได้

 

ปรากฏว่า มีปรากฏการณ์ครั้งแรกในเมืองไทยที่ ส.ว.ร่วมกับ ส.ส.ลงชื่อให้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถอดถอนกรรมการป.ป.ช. โดยตั้งข้อหาว่าประพฤติมิชอบ โดยเพิ่มค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนให้กับตัวเอง !

 

ขณะนี้ ป.ป.ช.เองก็แก้เกมด้วยการยื่นให้ ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่า การขึ้นค่าตอบแทน (เงินเดือน) ให้ตัวเองนั้นทำได้ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็รับเรื่องไว้ แต่ยังไม่ลงมติว่าจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวหรือไม่ เพราะไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้มีความขัดแย้งขององค์กร หรือว่าเป็นการตรวจสอบการให้อำนาจของคณะกรรมการป.ป.ช. จากทาง ส.ว.

 

ก็ต้องรอว่าระหว่างศาลรัฐธรรมนูญ กับศาลฎีกาคดีอาญาฯ ใครจะพิจารณาก่อน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณา ถือว่าขบวนการถอดถอนจะมีปัญหาทันที และต่อไปจะเป็นช่องทางในการหลบหลีกการตรวจสอบจากรัฐสภา ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิกฤติแห่งรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญต้องการให้มีการตรวจสอบคานอำนาจซึ่งกันและกัน ถ้าการตรวจสอบทำไม่ได้ แสดงว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ให้มีช่องโหว่ของกฎหมาย

 

สื่อมวลชนได้วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาว่า งานนี้เสมือนเขี้ยวเจอกับงา ! เพราะต่างองค์กรต่างทำหน้าที่ของตัวเอง ต้องตรวจสอบซึ่งกันและกัน

 

ขอให้พวกเราติดตามดูเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะจะได้เห็นประชาธิปไตย ซึ่งเราเป็นผู้แสวงหามาอย่างยากเย็น คงจำกันได้ว่า ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เราได้เกิดวันมหาวิปโยค นิสิตนักศึกษา ประชาชน ต้องเสียชีวิตและเลือดเนื้อ เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย

 

และเราก็ได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตย เรามีการเลือกตั้งที่ประชาชน มีสิทธิเท่าเทียมกันในการเลือกตั้ง เรามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เรามีสมาชิกวุฒิสภา ให้เป็นตัวแทนเป็นปากเป็นเสียงให้ในรัฐสภา

 

ซึ่งกระบวนการได้มาซึ่ง การปกครองในระบบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสูง สุด นั้น เป็นกระบวนการที่พัฒนามายาวนาน ยิ่งกว่าหลายประเทศในเอเซีย เราสามารถวิจารณ์รัฐบาลได้ หนังสือออกมาวิจารณ์นายกรัฐมนตรีได้ เราเห็นหนังสือแนวรู้ทันทักษิณตามแผงเยอะ โดยฝ่ายบริหารไม่มาเก็บ

 

ถ้าเป็นประเทศเผด็จการอื่น ๆ จะไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ เราได้เห็นการวิจารณ์การอภิปรายในรัฐสภา เราได้ฟังการตั้งกระทู้ให้รัฐมนตรีมาตอบในสภาทุกสัปดาห์ ต่างชาติหลายประเทศยังชื่นชมกับประชาธิปไตยในเมืองไทย แต่ที่เราไม่ได้เห็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตร ีนั้น เพราะรัฐธรรมนูญไปเขียนไว้ว่า ถ้าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีต้องใช้ ส.ส. ๒๐๐ คน เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญ ก็ต้องใช้แบบเดิมไปก่อน

 

นี่ก็จะถึงการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ ๑๓ เดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้าแล้ว ประชาชนก็ได้มีสิทธิ์อีกครั้งหนึ่งในการไปลงคะแนนเลือกผู้แทนราษฎร ตอนนี้ท่านอยากรู้อะไร ก็ให้ถามพรรคการเมืองได้เลยว่าแต่ละพรรคมีนโยบายอย่างไร

 

มีนโยบายในการแก้ปัญหาการศึกษาของชาติอย่างไร นโยบายในการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขอย่างไร จะมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือไม่ จะมีคาสิโนหรือไม่ สงสัยว่านโยบายในเรื่องต่าง ๆ จะเป็นอย่างไรก็ต้องตั้งคำถามหัวหน้าพรรคการเมืองตอนแถลงนโยบาย แล้วเราจะได้ฟังคำมั่นสัญญา ที่ให้ไว้กับประชาชน

 

แล้วอีกหนึ่งปีที่เหลือในวุฒิสภา เราสมาชิกวุฒิสภาก็จะเป็นฝ่ายตรวจสอบ การบริหารงานของรัฐบาลหน้าอีกหนึ่งปีเต็ม เพื่อให้แน่ใจว่าเขาทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ไม่ว่าพรรคใดจะได้เป็นฝ่ายบริหารเราก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบให้ท่าน

 

ซึ่งท่านจะได้สบายใจว่า ส.ว.ชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งทำงานให้ท่านสมกับที่ท่านไปลงคะแนนให้เมื่อหกปีก่อน !